โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ได้เดินทางมาถึงกิจกรรมสุดท้าทายอย่าง “แคมป์กล้าลุย” แล้ว! กิจกรรมที่จะให้น้องๆ 8 ทีม จาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ได้นำสินค้าของตัวเองที่เฝ้าพัฒนาไอเดียกันมาตั้งแต่แคมป์กล้าเรียนมาทดลองขายให้กับลูกค้าตัวจริงกันที่ ‘ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน’ กิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้น้องๆ แต่ละคนได้ประสบการณ์การเป็นพ่อค้าแม่ขายกันอย่างเต็มที่ เก็บเอา Feedback กลับไปปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้งได้เรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่ว่าจะทั้งการได้ลองผิดลองถูกหรือการทำงานเป็นทีม
วันนี้เราจะมาพาไปส่องไอเดียธุรกิจของน้องๆ ทั้ง 8 ทีม รวมถึงไปฟังประสบการณ์และสิ่งที่น้องๆ ได้เรียนรู้จากการขายของจริงกันด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง

Ten bites – คุกกี้ 10 ชาติพันธ์ุ (ชนเผ่า)
ผลงานจากกลุ่มแรก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เป็นคุกกี้สอดไส้ 10 รสชาติ โดยแต่ละไส้จะใช้วัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า 10 ชนเผ่ามาเป็นตัวชูโรง เช่น ไส้หม่อนจากเผ่าลั้ว ไส้งาขี้ม่อนจากเผ่าม้ง หรือไส้โกโก้ที่ปลูกจากพื้นราบ ถือว่าเป็นไส้คุ้กกี้ที่เราหาจากที่ไหนไม่ได้เลย ซึ่งไอเดียของตัวไส้คุกกี้นี้ก็มาจากการที่ในกลุ่มน้องๆ เอง มีคนที่มาจาก 3 เผ่า เลยเอาของดีของแต่ละเผ่ามารวมกันนั่นเอง นอกจากนี้ น้องๆ ยังหยิบเอาผ้าปักลายม้งที่ปักกันขึ้นเองมาดึงดูดลูกค้าอีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวผ้าปักนี้ก็มีลักษณะเป็นเส้นซึ่งนำไปใช้งานได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโบว์มัดผม สายคล้องแว่น หรือเอาไปเป็นสายคล้องหน้ากากอนามัยก็ได้เหมือนกัน
น้องออม ตัวแทนของกลุ่มเล่าว่า กลุ่มตัวเองไม่เคยทำการค้าขายแบบนี้มาก่อนและไม่เคยเข้าใจวิธีการขายเลย พอได้ลงมือทำ ในช่วงแรกก็มีเขินอายอยู่บ้าง แต่สักพักก็สามารถก้าวข้ามความกลัวของตัวเองได้ เดินเอาสินค้าออกไปแนะนำลูกค้า เอาไปให้ชิมบ้าง พูดแนะนำบ้าง
“ตอนนั้น คือตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าจะขายหมดเป็นร้านแรกเลย คือจากที่เขิน ๆ อายๆ ไม่กล้าเรียกลูกค้า หรือเรียกเสียงเบาๆ ลูกค้าไม่ได้ยิน ก็ลองมาปรับที่ยืน ปรับจุดยืนขายบ้าง ลูกค้ามาเราก็เดินเข้าไปแนะนำสินค้าเราว่าเขาสนใจไหม”
จากที่ฟังน้องออมพูด ถึงแม้ว่าช่วงแรกจะมีการเขินอายกันไปบ้าง แต่สุดท้ายเมื่อขายเสร็จแล้วน้องก็เล่าว่าได้ผลลัพธ์ที่กลุ่มตัวเองพอใจ ซึ่งสิ่งที่น้องออมคิดว่าทำให้กลุ่มขับเคลื่อนมาได้คือการที่ทุกคนช่วยเหลือกันเต็มที่ เปิดใจรับฟังกันและกัน ใครมีไอเดียอะไรก็เสนอ ปรับปรุงกันเอง นอกจากนี้ยังมีการทดลองก่อนนำสินค้าออกมาขายจริง อย่างการนำคุกกี้ไปให้คุณครูจากต่างโรงเรียนที่เข้ามาอบรมลองชิมและนำข้อเสนอแนะอย่าง หวานไป ตัวฐานแตกง่าย หรือกินแล้วรู้สึกไม่กรอบ ออกมาปรับปรุงจนได้เป็นสูตรที่ขายในที่สุด

มองเดอพี – กาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ และพิซซ่าม้งที่บ่งบอกวัฒนธรรมชนเผ่า
แบรนด์มองเดอพี จากน้องๆ โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม เลือกขายกาแฟที่มาจากบ้านมณีพฤกษ์ซึ่งปลูกอยู่บนพื้นที่สูงจากน้ำทะเล 1,400 – 1,600 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์กาแฟที่มีความเป็นเอกลักษณ์และหาได้จากที่นี่ที่เดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีพิซซ่าม้งที่เป็นของกินในชนเผ่าม้งซึ่งจะทำกินกันเองปีละครั้ง โดยน้องๆ ตั้งใจว่าอยากจะยกระดับให้มีคนรู้จักมากขึ้นและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วย
เดิมทีน้องๆ เริ่มจากอยากทำธุรกิจทัวร์ แต่พอได้ไปลงพื้นที่จริงๆ ก็พบว่าการทำทัวร์อาจจะมีประเด็นทางกฎหมาย และตัวสถานที่เองก็ยังไม่พร้อมเพราะเป็นช่วงหน้าร้อน ทำให้เกิดไฟป่าหลายพื้นที่รวมทั้งทางขึ้นไปบนดอย นอกจากนี้ยังฝุ่นเจ้าปัญหาอย่าง PM2.5 ก็ตามมา ทำให้ต้องยกเลิกไอเดียการทำทัวร์ไปและมาจบที่การขายกาแฟและพิซซ่าม้งแทนซึ่งเป็นการเอาของดีของชุมชนตัวเองมาขาย
ปัญหาระหว่างการทำงานของทีมมองเดอพียังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังมีระยะทางเข้ามาเป็นอุปสรรค แต่ละคนในทีมอยู่ห่างกันซึ่งบนดอยในบางทีเองก็สัญญาญไม่ดีหรือบางคนก็ต้องแยกไปทำงานของตัวเอง ทำให้การจะนัดเจอกันแต่ละทีค่อนข้างลำบากพอสมควร แต่สุดท้ายก็หาเวลามาเจอกันจนได้เป็นไอเดียที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา น้องท่อตัวแทนทีมยังบอกอีกว่า ความสามัคคีและความร่วมมือกันในทีมเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ทีมเคลื่อนต่อไปและฝ่าอุปสรรคมากมายกันมาได้
ทีมมองเดอพีเองก็เป็นอีกแบรนด์ที่ไม่เคยขายของมาก่อนและต้องก้าวข้ามความกลัวออกไปเรียกลูกค้า แถมระหว่างการขายยังเกิดปัญหาตัวพิซซ่าเสียและขึ้นราจนเอาไปขายไม่ได้ ก็นำปัญหาไปปรับปรุงกันต่อไป แต่ถึงแม้จะอุปสรรคเยอะกันขนาดนี้ น้องๆ ก็ออกปากท้าชนกันไปเลยว่า ถึงจะเจออุปสรรค แต่ก็พร้อมลุย

NALANA – ยกระดับของดังน่านให้เป็นที่รู้จัก
ทีมจากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร มาในแบรนด์ NALANA เป็นแบรนด์ที่นำเอาขนมทานเล่นดังๆ ของจังหวัดน่านมารวมกันในกล่องเดียว โดยจุดยืนคือการขายเป็นของฝากหรือเป็นของทานเล่นก็ได้ จุดเริ่มต้นของแบรนด์ไม่เหมือนใคร น้องออมจาก NALANA บอกว่า ทีมของน้องๆ ชอบกินเลยอยากจะส่งต่อขนมอร่อยๆ ไปให้คนอื่นได้ทานด้วย โดยเสริมว่าเวลาที่คนชอบกินหลายอย่างก็จำเป็นต้องซื้อทีละอย่างแยกกัน เลยเอามารวมกันไว้ในกล่องเดียวซะเลย
ในเรื่องความโดดเด่นของตัวสินค้า ขนมแต่ละอย่างที่น้องๆ เลือกมาเป็นขนมที่มีแค่ในจังหวัดน่านเท่านั้น โดยเลือกจากของเด็ดหลายๆ อำเภอ อย่างสาหร่ายไก จากอำเภอท่าวังผา ที่เป็นสาหร่ายน้ำจืดซึ่งมีธาตุเหล็กเยอะกว่าสาหร่ายทะเล หรือกระท้อนแก้ว จากอำเภอภูเพียงที่ได้รับโอท็อป 5 ดาวมา
ในส่วนของการทำงานกันบ้าง น้องออมบอกว่า ทีมเริ่มจากการออกแบบแพคเกจจิ้งก่อน จากนั้นไปติดต่อโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์กล่อง และติดต่อพาร์ทเนอร์ที่เป็นคนทำขนมแต่ละอย่าง
“ก็ทำข้อตกลง ในเรื่องราคาด้วยว่าลงตัวไหม และเขาจะส่งให้เราอย่างไร จากนั้นจะมีการคิดเรื่องกำไร ต้นทุน คิดจุดคุ้มทุนว่าเรากำหนดราคาเท่านี้ จะคุ้มกับเงินที่เราเสียไปไหม”
สุดท้ายเป็นการวางแผนการตลาด การโปรโมทต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดูว่าจะขายหน้าร้านยังไง เรียกได้ว่าเป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากค่ายไปใช้จริงๆ
แม้ว่าในเชิงธุรกิจจะไม่ใช่ครั้งแรกของน้องๆ แต่การขายหน้าร้านถือว่าเป็นครั้งแรก ทำให้ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไรนัก แต่พอเวลากระชั้นเข้ามาก็ทำให้ได้ออกไปพูดเรียกลูกค้าได้ และถึงแม้จะมีติดขัดบ้างแต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาในแบบที่ทีมคาดหวังไว้ โดยน้องออมได้พูดถึงความรู้สึกตอนขายว่า
“รู้สึกสนุกมาก จากตอนแรกคิดว่าจะเหนื่อยหรือเปล่า ต้องยืน 3 ชั่วโมงเลยนะ แต่พอรู้ว่าสินค้าเราขายออก มีคนมาซื้อมีคนมาสนใจ เข้ามาถามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้า เราก็รู้สึกปลื้มใจมาก จากที่คิดว่า 3 ชั่วโมงจะยาวนานมาก แต่เมื่อครบเวลา ยังคิดว่าอยากจะขายต่อด้วยซ้ำ”

หลามรวย – ข้าวหลามแนวใหม่ กินง่าย ส่งได้ หลากหลายรสชาติ
มาดูทีมจากโรงเรียนสากันบ้าง ทีมนี้มาในชื่อแบรนด์หลามรวย เป็นข้าวหลามถอดเสื้อ โดยความโดดเด่นอยู่ที่ตัวข้าวหลามมีรสชาติที่หลากหลายและมีไส้ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนอย่าง ไส้หมูฝอยและไส้หมูสับมะแขว่น อีกทั้งแพคเกจจิ้งยังออกแบบมาให้สามารถจัดส่งได้ทุกพื้นที่โดยเก็บได้ถึง 7-14 วัน ทำให้ลูกค้าทั่วไปสามารถซื้อได้ ไม่จำเป็นต้องมาถึงจังหวัดเท่านั้น
ที่มาของหลามรวยเริ่มมาจากการที่เคยไปซื้อข้าวหลามที่บ้านนาลัย อำเภอเวียงสา ซึ่งถือเป็นของขึ้นชื่อของแถบนั้น ร้านแถวนั้นก็เล่าว่า ขายดีมาก มีลูกค้าจากต่างจังหวัดมาซื้อเยอะ แล้วก็กลายเป็นไอเดียว่า หากลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดมีโอกาสได้ซื้อโดยที่ไม่ต้องมาถึงน่าน และมีใส้แปลกใหม่เพิ่มขึ้น ก็คงดี
ในระหว่างทำแบรนด์ก็ต้องเจอปัญหาบ้าง และสำหรับของทีมหลามรวยก็คือการที่ในทีมไม่ได้มีความชำนาญเรื่องการทำข้าวหลาม จึงเกิดปัญหาในขั้นตอนการผลิตค่อนข้างเยอะ อีกทั้งยังมีเรื่องที่แพคเกจจิ้งสั่งทำไม่ทันเพราะต้องรอให้สูตรคงที่ ทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยการใช้ถุงแบบซีลที่ยังไม่ได้สกรีนลายแทนไปก่อน น้องนับหนึ่งตัวแทนพูดถึงการผ่านอุปสรรคมากมายว่า
“หนูจะบอกคนในทีมเสมอ ไม่ว่าจะทะเลาะหรือเกิดปัญหาอะไรขึ้น ขออย่างเดียวคือขอแค่ทุกคนเชื่อใจ และเชื่อในอุดมการณ์ของกันและกัน ถ้าเราไม่เชื่อใจกัน ก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ อย่างหนึ่งที่เราต้องมี คืออุดมการณ์ร่วมกัน หนูบอกกับทุกคนในทีมเลยว่า ขอให้มีอุดมการณ์เดียวกันเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข แม้ว่าจะเกิดอุปสรรค”
มาถึงตอนที่ลงตลาดกันจริงๆ ของน้องๆ กันบ้าง น้องนับหนึ่งเล่าว่า ทางทีมค่อนข้างตกใจที่สูตรหมูมะแขว่นขายดี เพราะเป็นสูตรที่ในทีมกังวลว่ากลิ่นจะแรงไปหรือเปล่า ทำให้ทีมได้เรียนรู้หลายอย่าง ถึงแม้ตอนแรกจะเก้ๆ กังๆ กันบ้าง แต่ก็ขายได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ น้องนับหนึ่งยังเสริมอีกว่า ในรอบหน้าจะทำตัวแพคเกจจิ้งให้พร้อมและมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาไส้อื่นๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

KADO – ซอสจากเนื้ออะโวคาโดแท้กับดอกเกลือสินเธาว์จังหวัดน่าน
ทีมจากโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคมมากันด้วยแบรนด์ KADO เป็นซอสอะโวคาโดที่มาจากจังหวัดน่านที่นิยมปลูกอะโวคาโดกันเยอะ แต่ไม่ค่อยมีคนนำมาต่อยอดเท่าไรนัก น้องๆ จึงเลือกหยิบขึ้นมาชูโรงด้วยเหตุผลที่ว่า อยากช่วยเกษตรกรยกระดับอะโวคาโดในท้องถิ่นให้มีราคาสูงขึ้น จุดเด่นของซอสอะโวคาโดจากแบรนด์ KADO คือแพคเกจจิ้งใช้ง่าย ถูกบรรจุอยู่ในหลอด บีบง่าย และมีส่วนผสมของเกลือสินเธาว์ที่ถือเป็นอีกของเด็ดของจังหวัดน่าน เป็นเกลือที่ไม่มีโซเดียมแต่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ไม่ส่งผลเสียต่อไต
ในช่วงแรก น้องพลูโตตัวแทนจากทีม KADO ได้พูดถึงอุปสรรคของทีมไว้ว่า สูตรแรกที่ทำนั้นเสียง่าย ก็ทดลองกันไปเรื่อยๆ ได้ความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาน่านเรื่องการยืดอายุสินค้าจนได้เป็นสินค้าตัวนี้ออกมา
ถึงแม้ว่าน้องๆ จะยังไม่ได้ขายจริง แต่ก็มีตัวอย่างออกมาให้ลูกค้าได้ลองชิมและได้เก็บฟีดแบคกลับไปเพื่อพัฒนาต่อ ซึ่งน้องพลูโตก็พูดถึงประสบการณ์การไปออกบูธครั้งแรกไว้ว่า
“ถามว่ายากไหม ยากครับ เพราะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และตื่นเต้นด้วยครับ ตอนมาออกบูธ ก็จะแนะนำเกี่ยวกับสินค้าของเราเป็นซอสอะโวคาโด ซึ่งดีต่อสุขภาพ และมีให้ชิมฟรี ”
ถึงแม้จะเจอปัญหาเท่าไร แต่พอถามว่าพร้อมไหม น้องพลูโตก็ตอบอย่างหนักแน่นว่า “พร้อมครับผม”

ลินา – ยกระดับข้าวแคบสินค้าชุมชนให้กินง่าย เป็นที่รู้จักมากขึ้น
แบรนด์ลินา จากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี เลือกทำข้าวแคบที่ทำจากข้าว 100% และเป็นข้าวที่มาจากท้องถิ่นของตัวเอง จุดเด่นของข้าวแคบแบรนด์ลินาคือ เป็นข้าวแคบที่ใช้วิธีการอบแทนการทอด ดังนั้นน้ำมันไม่เยิ้มแน่นอน
โดยที่มาที่ไปของแบรนด์คือคนในทีมทุกคนชอบกินข้าวแคบ แต่ว่าข้าวแคบที่กินกันมาตั้งแต่เด็กนั้นมีขนาดใหญ่ หากจะกินก็ต้องทอดก่อน จึงเกิดเป็นไอเดียว่าจะทำยังไงให้กินง่ายขึ้น ไม่เลอะเทอะ จึงจบลงที่สินค้าตัวนี้ อีกทั้งยังได้เพิ่มรสชาติเข้าไป จากที่แต่เดิมเป็นรสจืด ก็ใส่เผือกใส่ฟักทอง และมีซอสสำหรับจิ้มเพื่อเพิ่มอรรถรสในการกินอีกด้วย
หลังจากกลับจากค่ายแรกของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ทีมลินาก็ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายคอนเทนท์ และฝ่ายผลิต ใน 1 สัปดาห์ มีการเรียกประชุม 2 ครั้งเพื่อรวบรวมและแชร์งานให้แต่ละฝ่ายรับฟัง ถือว่าเป็นทีมที่การทำงานค่อนข้างเป็นระบบกันเลยทีเดียว
ปัญหาระหว่างทำแบรนด์ของทีมลินาเองก็มีเช่นกัน น้องจีโน่ตัวแทนทีมลินาเล่าว่า มีปัญหาเยอะมาก อย่างระหว่างตอนทดลองทำข้าวแคบก็เกิดปัญหาหม้อรั่ว หรือตอนที่จะเพิ่มรสชาติจากการใช้ผง(ซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนมาเป็นใส่วัตถุดิบเพิ่มไปในตัวข้าวแคบ) ก็ปรากฏว่าผงเคลือบไม่ติด ก็ต้องแก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นสูตรปัจจุบัน หรือจะเป็นปัญหาในทีมเองที่บางครั้งก็มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็ต้องพยายามปรับความเข้าใจกันและคุยกันให้มากขึ้น
พอถึงวันจริงที่ได้ลงไปขายที่ตลาด น้องจีโน่ก็เล่าว่า ผลลัพธ์เป็นไปตามที่หวัง มีบางส่วนเกินคาดด้วย สิ่งที่ได้จากการลงไปขายจริงๆ เลยก็คือ การได้ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ ได้เห็นว่าทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญมาก และถึงแม้จะยากขนาดไหน น้องจีโน่ก็บอกว่าทีมพร้อมไปต่อแน่นอน

มะมื่นบัตเตอร์ – มะมื่นจากป่า สู่เนยถั่วสัญชาติไทย จากใจชาวน่าน
ทีมมะมื่นบัตเตอร์จากโรงเรียนปัว ได้นำมะมื่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัลมอนด์เมืองไทยมาทำเป็นเนยถั่วมะมื่น ที่มามาจากการที่น้องๆ เห็นว่ามะมื่นมีสรรพคุณเยอะ แต่คนไม่ค่อยรู้จัก เลยอยากนำมะมื่นมาทำเป็นสินค้าที่มีคุณค่าให้คนรู้จักมากขึ้น โดยจุดเด่นเนยถั่วมะมื่นคือมีโปรตีนสูง มีไขมันดีที่ช่วยลดไขมันในเลือดและช่วยเรื่องดีท็อกซ์ลำไส้ บำรุงกระดูก มีแคลเซียมและธาตุเหล็กสูง เป็นสินค้าที่คนทานเจหรือคีโตสามารถทานได้หายห่วง
การทำงานของทีมมะมื่นบัตเตอร์เขาจะแบ่งกันเป็น 2 ทีม คือทีมที่ไปหาซื้อมะมื่น ที่ต้องขึ้นดอยไปหาถึงแหล่งกันเลย และทีมพัฒนาสูตร โดยพัฒนากันไปทั้งหมด 20 สูตรด้วยกันกว่าจะได้เป็นสูตรที่พร้อมขาย ในระหว่างทำก็มีปัญหาเข้ามาอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื่องแพคเกจจิ้งที่แก้กันไปรอบหลายกว่าจะลงตัว หรือขั้นตอนการทำตัวเนยถั่วมะมื่นเอง ที่หากคั่วไม่ดีก็จะทำให้แกะยาก
น้องปูนปูนตัวแทนทีมมะมื่นบัตเตอร์พูดถึงสิ่งที่คิดว่าทำให้ผ่านอุปสรรคมาได้ว่าเป็นที่ความอดทนและความสามัคคีของทีม มีทะเลาะกันบ้างก็ต้องคุยกัน หาจุดที่ลงตัว
มาถึงการลงขายกันบ้าง น้องปูนปูนพูดถึงไว้ว่า
“สนุกค่ะ ต่างจากที่คิดไว้มาก คือเราขายผลิตภัณฑ์ที่เป็น เนยมะมื่น ก่อนที่หนูจะมาขายตรงนี้ มีความคิดว่าเราจะขายได้หรอ คนจะรู้จักมะมื่นหรอ หรือว่าเราจะเน้นขายที่ออนไลน์ดีกว่าไหม แต่พอได้มาวันนี้ ได้มาเปิดหูเปิดตา เปิดโลก เก็บฟีดแบคต่าง ๆ จากลูกค้าที่มีหลากหลายมากเลย ทั้งที่แวะเวียนเข้ามาชิม ซื้อติดมือกลับไป หรือไม่ก็เข้ามาชิมและมาให้กำลังใจค่ะ”
น้องก็เสริมมาอีกว่าหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คิด แต่ไปในทางที่ดีกว่าที่คิดซึ่งอาจจะมาจากมุมมองที่แคบไป และการมาลงตลาดจริงทำให้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้สำรวจความเห็นจากลูกค้า แต่ต่อจากนี้ถึงจะยากแค่ไหนทีมมะมื่นบัตเตอร์ก็พร้อมลุย

น้ำพริกสามช่า – น้ำพริกสามสไตล์ พร้อมสาหร่ายไกยี
โรงเรียนสุดท้าย โรงเรียนเชียงกลาง ประชาพัฒนา มาพร้อมกับน้ำพริกสามช่า เป็นน้ำพริกที่คล้ายน้ำพริกอ่องแต่ไม่มีส่วนผสมของหมู มีด้วยกัน 3 สูตร คือสูตรไม่มีปลาร้า สูตรใส่ปลาร้า และสูตรใส่กะปิ กินคู่กับสาหร่ายไกยีที่มีมากในจังหวัดน่าน โดยขายพร้อมกันเป็นชุด กินพร้อมกันได้เลย
ในตอนแรกทีมน้ำพริกสามช่าตั้งใจว่าจะทำที่ข่วนเล็บแมว แต่เนื่องจากระยะเวลาที่มีไม่พอจะทำวิจัยเกี่ยวกับอุปนิสัยของแมวจึงเลือกเปลี่ยนมาทำน้ำพริกแทน ซึ่งก็มีปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมาอยู่ดีอย่างคนที่น้ำพริกเกิดติดธุระทำให้ต้องเปลี่ยนคนทำ รสชาติ หน้าตาจึงเปลี่ยนและไม่ได้ตามที่ต้องการ ต้องทำใหม่ก่อนวันขาย ซึ่งน้องออโต้ตัวแทนทีมก็เล่าว่าแทบมองหน้ากันไม่ติดเพราะเครียดมาก แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ก็ออกมาดี มีลูกค้าชมว่าอร่อย ใจชื้นกันไป
เมื่อถามถึงว่าอะไรที่ทำให้กลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง น้องออโต้ตัวแทนทีมน้ำพริกสามช่าก็ตอบว่า
“ผมคิดว่าถ้ายอมตอนนี้มันก็ไม่ได้ครับ เพิ่งจะเริ่มเอง และเราก็มากันขนาดนี้แล้ว ถ้าท้อไปก็เสียชื่อเราหรือเปล่า เพราะนี่ก็ตรงสายกับการที่อยากเรียนต่อด้วย ผมอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ต้องฮึดให้เพื่อน ๆ สู้ เรียกกันมาทำใหม่ และทำให้เห็นขึ้นมา”
พร้อมเสริมต่ออีกว่าพร้อมลุยต่ออย่างแน่นอน
มาถึงช่วง Inspiration Talk กันแล้ว รอบนี้ได้วิทยากรมากประสบการณ์ มาให้ข้อคิดดีๆ กัน 2 ท่านด้วยกัน เริ่มที่คนแรกกันเลย

“คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ผู้ก่อตั้งศิริวัฒน์แซนด์วิช” ได้พูดถึงสมัยที่ทำธุรกิจเมื่อก่อนไว้ว่า ไม่เคยคิดว่าจากที่เคยอยู่ข้างบนจะต้องลงมาสู่ดิน ยืนขายของข้างถนน แต่สิ่งเดียวที่คิดตอนนั้นก็คือ เมื่อล้มแล้วต้องลุก อดีตเราแก้ไขไม่ได้แต่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรา เมื่อพูดถึงความท้อ คุณศิริวัฒน์ ก็บอกว่า เกิดความท้อ แต่บอกกับตัวเองเสมอว่าจะต้องไม่ถอย เมื่อเกิดความผิดพลาดต้องตั้งสติให้ดี แล้วคิดต่อว่าจะทำสิ่งเดิมหรือสิ่งใหม่
มี 3 สิ่งที่คุณศิริวัฒน์ได้เรียนรู้และจำมาตลอดการทำธุรกิจแซนวิชคือ
- ต้องกล้าที่จะทำ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เราจะเรียนรู้ขณะที่ก้าวออกไปเรื่อยๆ
- ต้องเป็นคนแรกที่ทำ
- ต้องกล้าที่จะแตกต่างจากคนอื่น
โดยก่อนไปคุณศิริวัฒน์ได้ทิ้งท้ายถึงน้องๆ ทั้ง 8 ทีมไว้ว่า การที่น้องเป็นคนน่าน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำ คนในจังหวัดน่านจะได้ประโยชน์ไปด้วย เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์เป็นเหมือนการเตรียมตัว ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วออกไปจะประสบความสำเร็จ แต่คือการที่น้องๆ ต้องกล้าที่จะก้าวออกไป และไม่ยอมแพ้เมื่อต้องเจอกับอะไรก็ตาม

“คุณดาริน สุทธพงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Hato Hub” พูดถึงเรื่องอุปสรรคไว้ว่า การทำธุรกิจนั้นต้องมีอุปสรรคเสมอ อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เราจะไม่สามารถก้าวข้ามมันไปได้เลยหากเราคิดแบบเดิมๆ เพราะเราก็ได้ผลลัพธ์แบบเดิม อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรแก้ปัญหาจนกว่าใจเราจะปกติ หากเราคิดตอนที่กำลังเสียใจก็จะไม่มีสติที่เต็มร้อย ต้องทำอารมณ์ให้กลับมาปกติก่อน ต้องตั้งสติว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติ พอเริ่มตั้งสติได้ให้กลับมานั่งคิดว่า ปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร คุณดารินได้ยกตัวอย่างตอนที่ตัดสินใจปิด อินดี้ ดิช ลง เพราะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดจึงต้องหยุดทำ
และคุณดารินก็มี 4 บทเรียนที่อยากฝากน้องๆ ไว้ก็คือ
- ในการทำธุรกิจจะต้องรักลูกค้ามากกว่าไอเดียของตัวเอง ลูกค้าจะไม่สนใจว่าเราชอบไอเดียนั้นแค่ไหน แต่จะสนใจว่าสินค้าของเรานั้นแก้ปัญหาให้เขาได้หรือเปล่า
- หัวใจของการขายคือการแก้ปัญหา
- ทำสิ่งที่เรารู้จัก และใช้จุดแข็งของเรา
- การทำธุรกิจอาหารให้คิดถึงโอกาสการกิน ต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำไปขายนั้น ตอบโจทย์ส่วนไหนของลูกค้า
และสุดท้ายคุณดารินก็ยังคงเน้นย้ำว่า อุปสรรคนั้นเป็นเรื่องปกติ ให้เรารู้จักเรียนรู้ทุกความล้มเหลวและทุกความสำเร็จ แล้วจะสามารถพัฒนาธุรกิจของเราได้อย่างแน่นอน