กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
บทความ

มารู้จักกับ “มดไฟ” 4 ภาควิชาแห่ง วิศวฯ บางมด ไฟฟ้า คอม อิเล็กฯ วัดคุม [EP.1]

สวัสดีจ้าน้องๆ แฟนๆ CAMPHUB ทุกคนนน น้องๆ คนไหนอยากเข้าวิศวฯ บ้าง ยกมือขึ้น!! แต่ถ้าอยากเข้าวิศวฯ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกภาควิชา สาขาไหนดี คอนเทนต์ซีรีส์ต่อจากนี้ พี่ๆ จากวิศวฯ บางมด ขอมาเล่าให้น้องๆ ฟังกันว่า 10 ภาควิชา วิศวฯ บางมด มีภาคอะไรบ้าง? เรียนอะไร? แล้วจบไปทำงานอะไรได้บ้าง? ซึ่งเราจะขอแบ่งออกเป็น 3 EP. ด้วยกัน แต่ก่อนจะเริ่ม เรามาสำรวจกันก่อนว่า 10 ภาคนี้ มีภาคอะไรบ้าง ขอบอกก่อนเลยว่าแต่ละภาควิชาน่าสนใจมากๆ ไม่เชื่อก็ไปดูกันเลยยย

วิศวฯ บางมด มีภาควิชาทั้งหมด 10 ภาควิชาด้วยกัน ได้แก่..

  • วิศวกรรมเครื่องกล
  • วิศวกรรมโยธา
  • วิศวกรรมไฟฟ้า
  • วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • วิศวกรรมเคมี
  • วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
  • วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
  • วิศวกรรมอุตสาหการและเมคคาทรอนิกส์
  • วิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ
  • วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ใน EP.1 นี้พี่จะมาขอแนะนำ มดไฟ 4 ภาควิชาของ วิศวฯ บางมด ทั้ง ไฟฟ้า คอม อิเล็กฯ วัดคุม จะร้อนแรงขนาดไหน ไปดูกันเลยย
(มดไฟคือชื่อเล่นที่ไว้เรียก 4 ภาควิชาของวิศวฯ บางมด ที่เกี่ยวกับด้านไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์)


วิศวกรรมไฟฟ้า.. ก้าวเข้าสู่พลังงานไฟฟ้าแห่งโลกอนาคต

ภาคแรกเรามาเริ่มกันที่ วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) คือการนำความรู้ไปประยุกต์และพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้องๆ จะได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมลงมือทดลองและเรียนเกี่ยวกับการออกแบบวิเคราะห์ด้านระบบไฟฟ้า วงจรไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำ อุปกรณ์ทางไฟฟ้า รวมไปถึงการสร้างอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า โดยปี 1 จะเป็นวิชาพื้นฐานที่ยังไม่ลงลึกในวิชาภาค จะได้นำความรู้ทางมัธยมปลายกลับมาใช้อีกครั้งทั้งในวิชา แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นการเรียนรวมกันของหลายๆ ภาควิชา วิชาที่มีชื่อเสียงว่าหินสำหรับการปรับตัวก็คงหนีไม่พ้นวิชา Drawing  เป็นการเขียนแบบตามหลักวิศวกรรม  และจะเริ่มลงลึกวิชาภาคตอนปี 2 ที่มีทั้งการเขียนโค้ด Arduino การเดินสายไฟ และทฤษฎีวงจรไฟฟ้าขั้นลึก ซึ่งก็จะนำความรู้ทางด้านทฤษฎีที่เรียนตอนปี 1 มาต่อยอดในวิชาเชิงปฏิบัติอีกครั้ง อีกทั้งภาควิชาของเรายังเเบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ

  • วิศวกรรมไฟฟ้า
  • วิศวกรรมไฟฟ้า (ระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ กำลัง และพลังงาน)

ซึ่งมีการเรียนพื้นฐานที่เหมือนกันเเต่จะมีการเจาะลึกไปในด้านระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์กำลังและพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

สามารถทำงานเป็นนักวิจัยในด้านสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า, ครู, อาจารย์, วิศวกรฝ่ายซ่อมบำรุง, วิศวกรฝ่ายออกแบบ, วิศวกรฝ่ายวิเคราะห์, วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถทำงานในการไฟฟ้าได้ ทั้งนครหลวง ภูมิภาค และฝ่ายผลิต


วิศวกรรมคอมพิวเตอร์.. มากกว่าการเขียนโปรแกรม

เรามาต่อกันที่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) ขึ้นชื่อว่า “คอมพิวเตอร์” ก็ต้องเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์ โดยวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่นี่จะแบ่งการเรียนทั้งหมดเป็น 4 หลักสูตร คือ..

  • หลักสูตรปกติ
  • หลักสูตรอินเตอร์
  • หลักสูตร Health Data Science (HDS) – เป็นความร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  • หลักสูตร Residential College (RC)

ซึ่งแต่ละหลักสูตรก็จะเน้นความโดดเด่นในด้านที่ต่างกันออกไป แต่สำหรับใครที่คิดว่าเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ต้องเขียนแต่โปรแกรมแน่เลย จริงๆ แล้วภาควิชาเรายังมีการเรียนวิชาอื่นๆ เช่น สถิติ เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมายเลย นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่การนั่งเขียนโปรแกรม และที่สุดของที่สุดในภาควิชาของเรา คือการทำโปรเจคเกือบทุกวิชาเหมือนเป็นการทบทวนความรู้จากที่เรียนและได้นำมาใช้จริง มีการสอบนำเสนอโปรเจคจากรุ่นพี่ให้รุ่นน้องได้ชมทุกปี! ทำให้รุ่นน้องได้เรียนรู้จากโปรเจคของรุ่นพี่ด้วยเช่นกัน หากน้องๆ สนใจการเขียนโปรแกรมและอยากรู้จักกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มากกว่านี้แล้วล่ะก็.. ต้องมาเรียนแล้ว!!

จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

เมื่อเรียนจบ น้องๆ สามารถไปเป็นวิศวกรวางระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี, วิศวกรดูแลระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ, วิศวกรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบโครงข่าย, วิศวกรพัฒนาโปรแกรมและระบบคอมพิวเตอร์อิสระ, ประกอบธุรกิจส่วนตัว, Web Developer, Application Developer, Software Developer, Programmer, Blockchain Developer, Computer Systems Analyst, Data science, Data analysis


วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม.. ไฟฟ้า + สื่อสาร

ผ่านมาแล้วกับ 2 ภาควิชาแรก เป็นยังไงกันบ้าง ไม่รอช้า เรามาต่อกันที่ภาควิชาที่สาม นั่นก็คือ.. วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (Electronics & Telecommunications Engineering) โดยที่นี่เราได้แบ่งการเรียนเป็น 2 สาขา คือ..

  • ระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์
  • ระบบสื่อสารโทรคมนาคม

ในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ น้องๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับการทำวิจัยและพัฒนาในด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ระบบควบคุม อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร และสารสนเทศ ซึ่งปูพื้นฐานให้หลายทักษะ เช่น การต่อวงจรไฟฟ้า การดูคลื่นสัญญาณ การเขียน Code ด้วยภาษา Python ในหลักสูตรภาษาไทยปกติ และเรียน Code ภาษา C ในหลักสูตรอินเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการเรียนการเขียนแบบพื้นฐาน Drawing ส่วนในเรื่องของภาคปฏิบัติต้องบอกเลยว่าได้ลงมือทำจริงแน่นอนโดยภาควิชาของเรานั้นมีแลปไฟฟ้า ที่จะให้น้องๆ ได้ลงมือปฏิบัติกับอุปกรณ์จริง โดยมีทั้งการต่อวงจรใน Protoboard ของจริงและในตัวโปรแกรมจำลองเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้การนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่น โดยภาควิชาของเรานั้นเรียนเน้นทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติเลย โดยในปี 1 และ 2 จะเรียนแบบยังไม่แบ่งสาขาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมเพื่อให้น้องๆ ได้มีทางเลือกในตอนปี 3 โดยเลือกได้ตามความชอบจากพื้นฐานที่เรียนมาแล้ว 2 ปี ภาควิชาของเรานั้นมีการทำ Project ตั้งแต่ปี 2 เพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศด้วยหากน้องๆ คนไหนสนใจก็ขอบอกเลยว่าห้ามพลาด!

จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

น้องๆ สามารถทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้า, นักวิจัยวิศวกรรมไฟฟ้า, ทำงานเกี่ยวกับระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์สื่อสารและสารสนเทศ, อาจารย์, นักวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า, โทรคมนาคมสื่อสารทางไกลจราจรทางอากาศกับนักบิน, Network operation support, Data engineer, System analyst, ZTE site supervisor engineer swap 4G to 5G, Presale network engineer, AIS noc, Security network engineer, Software Business owner, Technical service, RF engineer, IT Risk management, Cyber security consulyant, Application development associate, Software engineer


วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด.. หลากหลายไม่ซ้ำใคร

เดินทางมาถึงภาควิชาสุดท้ายแล้ว นั่นก็คือ.. วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด (Control Systems and Instrumentation Engineering) เป็นภาควิชาที่มีการรวบรวมความรู้ในหลากหลายแขนงเข้าด้วยกันทั้ง วิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอุตสาหการ รวมเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองการทำงานของระบบต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมให้ทำงานเป็นระบบได้โดยใช้คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรมในการควบคุม ยกตัวอย่างให้น้องๆ เห็นได้ชัดก็คือ ระบบแขนกลในโรงงานอุตสหากรรม ซึ่งจะต้องใช้โปรแกรมคำสั่งการทำงานจากคอมพิวเตอร์เพื่อทำการควบคุมการหมุนของมอเตอร์และฟันเฟืองภายในตัวแขนกลให้ทำงานตามออกแบบไว้ หรือยกตัวอย่างง่ายๆ อีกหนึ่งตัวอย่าง ก็คือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องผลิตออกมาในจำนวนมาก เพราะฉะนั้นสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ต้องถูกควบคุมให้เท่ากันในทุกๆ ส่วนของการผลิต เพื่อให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเท่ากันในทุกๆ ชิ้น ซึ่งนี่ก็คืองานของภาควิชานี้ที่จะควบคุมระบบการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้นั่นเอง

ในหลักสูตรนี้นอกจากวิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนในชั้นปีต้นๆ อย่างเช่น หลักการจัดสัญญาณ ระบบการวัดแบบเพื่อประมวลผล ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายในการออกแบบระบบการวัด การเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักร การเก็บข้อมูล ในระหว่างเรียนน้องๆ ก็จะได้ทำผลงานประจำภาคการศึกษาทุกชั้นปี ซึ่งเป็นการฝึกฝนการทำงานเป็นกลุ่ม การวางแผน การค้นคว้าด้วยตนเอง ตลอดจนการนำเสนอผลงานอย่างเป็นระบบ และสำหรับในชั้นปีที่ 4 จะมีการทำโครงงานศึกษาเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการวิจัยเบื้องต้นให้กับนักศึกษาก่อนออกไปทำงานจริงนั่นเอง

จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

เมื่อเรียนจบ น้องๆ สามารถเป็นวิศวกรที่ทำงานได้หลากหลายมากๆ ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น หรือถ้าน้องๆ ไม่ชอบสายงานภาคอุตสาหกรรมก็สามารถทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ควบคุมและพัฒนาระบบต่างๆ ได้ หรือจะไปสายปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ก็สามารถไปได้เช่นกัน จะเห็นว่าสายงานของภาควิชานี้ค่อนข้างกว้างมากๆ และในอนาคตการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้ทำงาน วิศวกรรมภาควิชานี้ก็ย่อมตอบโจทย์ต่อความต้องการในตลาดงานในอนาคตอย่างแน่นอน


ก็จบไปแล้วกับ 4 ภาควิชา “มดไฟ” ที่พี่มาแนะนำให้ฟัง แต่ แต่ แต่ แต่!!! นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าน้องๆ อยากรู้ข้อมูลอย่างละเอียด และมาดูของจริงแล้วล่ะก็ อย่าลืมมาเข้าร่วมกิจกรรม “Engineering Open House Carnival at Bangmod” เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องมอปลาย (หรือเทียบเท่า) คุณครูแนะแนว และผู้ปกครองเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ สัมผัสบรรยากาศ และทำกิจกรรมร่วมกันกับนักศึกษาในภาควิชาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยกำหนดจัดกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2566 แล้วมาพบกันที่ วิศวฯ บางมด ⚙️🐜





ขอขอบคุณพี่ๆ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คอม อิเล็กฯ และวัดคุม ที่มาช่วยกันแบ่งปันข้อมูลให้กับน้องๆ ทุกคนนะครับ 🙏🙏

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"