กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
บทความ

แนะนำ 3 ภาควิชาสุดฮอตของ วิศวฯ บางมด “เครื่องกล อุตเมคคาฯ เคมี” [EP.2]

ฮัลโหลล กลับมาเจอกันอีกครั้งใน EP. ที่ 2 วันนี้ CAMPHUB และพี่ๆ วิศวฯ บางมด จะพาไปรู้จักกับภาควิชาสุดฮอตของ วิศวฯ บางมด นั่นก็คือ.. วิศวกรรมเครื่องกล อุตสาหการและเมคคาทรอนิกส์ และเคมี นั่นเองงง ขอบอกเลยว่า พี่ไปถามพี่ๆ แต่ละภาควิชามาโดยตรงเลยนะ ถ้าใครสนใจ อยากรู้ว่าพี่ๆ เรียนอะไรกัน? แล้วจบแล้วจะไปทำอะไรได้บ้าง? จะพลาดไม่ได้เด็ดขาดเลย!! ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยย


วิศวกรรมเครื่องกล.. หลากหลายมากกว่านั้น

EP. นี้เริ่มต้นที่ภาคแรก นั่นก็คือ.. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) ขึ้นชื่อว่า วิศวกรรมเครื่องกล เชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกถึงภาพการทำงานกับเครื่องจักรอยู่ในโรงงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิศวกรรมเครื่องกลของเรามีความหลากหลายมากกว่านั้น

แน่นอนว่าถ้าเราเข้ามาในคณะนี้ก็จะได้เจอกับวิชา Manufacturing Process ซึ่งเป็นวิชาที่เราจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการขึ้นรูปชิ้นงานที่เป็นโลหะ แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีการเรียนวิชา Material Science and Engineering ซึ่งวิชานี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของวัสดุลึกถึงระดับการจัดเรียงของผลึกเลยทีเดียว ทำให้วิชานี้เป็นประตูบานสำคัญที่จะพาเราหลุดจากกรอบของวิศวกรรมเครื่องกลแบบเดิมๆ เช่น เราสามารถที่จะผลิตวัสดุ 1 ชิ้นที่มีคุณสมบัติคือ เมื่อเราเปลี่ยนรูปมัน และจุ่มลงไปในน้ำ วัสดุชิ้นนั้นจะสามารถคืนรูปกลับได้เหมือนเดิม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างมหาศาล และแน่นอนว่ายังมีวิชาอีกมากมายที่เมื่อเราได้เข้ามาเรียน ก็จะสามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้แทบทุกอย่าง

การเรียนในวิศวกรรมเครื่องกลสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่เกริ่นไปข้างต้นนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนวิศวกรรมเครื่องกลเท่านั้น ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่รอให้เรามาตื่นตาตื่นใจ และสัมผัสมันด้วยตัวของเราเอง โดยการเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่นี่จะแบ่งการเรียนเป็น 2 สาขา คือ

  1. สาขาปกติ
  2. สาขายานยนต์

โดยที่สาขายานยนต์จะให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับรถยนต์มากกว่าสาขาปกติ แต่โดยภาพรวมแล้ววิชาหลักๆ ก็ยังคงเรียนเหมือนกับสาขาปกติ มีเพียงบางวิชาเท่านั้นที่เพิ่มเติมขึ้นมา


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

วิศวกรรมเครื่องกล มีเส้นทางให้เลือกหลากหลายมาก มีทั้งทำงานกับวิศกรเครื่องกลด้วยกันเอง และร่วมงานกับวิศวกรด้านอื่นด้วย ที่ยกมาคร่าวๆ คือ

  • วิศวกรออกแบบและติดตั้งระบบเครื่องกลในอาคาร เช่น ทำหน้าที่วางแผนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ
  • วิศวกรบริหารโครงการ เกี่ยวกับการจัดการระบบ โครงสร้างต่างๆ
  • วิศวกรออกแบบผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนเครื่องกล ก็ตามชื่อเลย
  • วิศวกรด้านอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ทำงานในโรงไฟฟ้า เพราะการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็ยังใช้ถ่านหินในการเผาไหม้ เพื่อให้ความร้อนแก่ไอน้ำ แล้วไปหมุนใบพัดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่
  • เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล หรือที่เรียกกันในชื่อ Sale Engineer มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ลูกค้า ว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นต้องใช้วัสดุอะไร เกรดไหน มีกระบวนการในการผลิตอย่างไรจึงจะคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งรายได้สูงสุดก็หลักแสนเลยทีเดียว

วิศวกรรมอุตสาหการและเมคคาทรอนิกส์.. จัดการ เชื่อมโยง สร้างสรรค์

เป็นยังไงกันบ้าง เครื่องติดกันแล้วรึยังง งั้นเรามาต่อกันที่ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและเมคคาทรอนิกส์ (Production & Mechatronics Engineering) เป็นการรวมวิศวกรรมเครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบและควบคุม และเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการเข้าด้วยกัน โดยจะแบ่งการเรียนออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์


วิศวกรรมอุตสาหการ (Production Engineering)

เรียนเกี่ยวกับ โลหการ ส่วนประกอบของวัสดุต่างๆ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น และมีการลงมือปฏิบัติในช้อปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหล่อโลหะ การเชื่อมโลหะ รวมทั้งการสร้างชิ้นงานจากกระบวนการเจาะ การกลึง การไส การกัด การขัดและอื่นๆ อีกมากมาย และยังมีการเรียนการจัดการบริหารต่างๆ อีกด้วย ขึ้นชื่อว่า วิศวอุตสาหการ เราก็จะมีการเรียนเกี่ยวกับศาสตร์อื่นๆ ของวิศวกรรมด้วย เพราะว่าเราจะเรียนเป็นนักจัดการ นักออกแบบ นักพัฒนา นักวิเคราะห์ และนักประเมินผล ดังนั้นจึงต้องมีการเรียนเพื่อนำความรู้ความเข้าใจของวิศวสาขาอื่นๆ เข้ามาประยุกต์ใช้อีกด้วย


วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronic Engineering)

ถ้าพูดถึงคำว่า “เมคาทรอนิกส์” เป็นการรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งวิชาทางไฟฟ้า เครื่องกล ระบบควบคุม ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ สาขาวิชานี้ต้องการให้เรามีความรู้ในหลากหลายศาสตร์ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการทำงานของวิศวฯ สาขาต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วมกับวิศวฯ สาขาอื่นๆ ได้ แล้วเป็นการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งวิศวเมคคาทรอนิกส์จะเป็นการเรียนให้มี Basic ความรู้ของหลายๆ สาขาแบบกว้างๆ ไม่ได้ลงเจาะลึกไปทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถนำ Basic Ideal มาผสมผสานเพื่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้อย่างลงตัว ถ้าน้องๆ คนไหนอยากได้พื้นฐานความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในสาขาอื่นๆ ได้ในอนาคต วิศวเมคคาทรอนิกส์ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่พลาดไม่ได้!


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

วิศวกรรมอุตสาหการจบมาแล้วสามารถเข้าไปทำงานได้ในทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการ ช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มกำไรและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

วิศวกรรมเมคคาโทรนิกส์สามารถไปทำงานในโรงงานและงานตามบริษัทเทคโนโลยี งานโรงงานจะเป็นแนวควบคุมเครื่องจักร งานในสาขานี้ค่อนข้างกว้างมาก เพราะเรียนรอบด้าน ทำให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสาขา ส่วนงานบริษัทเทคโนโลยีจะเป็นการออกแบบเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ หรือออกแบบการใช้แขนกล หุ่นยนต์ช่วยมนุษย์ทำงาน ซึ่งสายงานที่น้องรู้จักก็จะเป็น วิศวกรเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineer), วิศวกรหุ่นยนต์ (Robotics Engineer), วิศวกรออกแบบระบบอัตโนมัติ (Automation System Design Engineer), วิศวกรซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ (Robot Maintenance Engineer), วิศวกรระบบควบคุม (Controls Engineer), วิศวกรตรวจสอบคุณภาพ (Quality Engineer), วิศวกรฝ่ายขาย (Sale Engineer), นักวิจัย (Researcher)


วิศวกรรมเคมี.. ที่ไม่ได้มีแค่เคมี

ขึ้นชื่อว่า วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) แต่ขอบอกก่อนเลยนะว่า ไม่ได้เรียนแค่เคมีอย่างเดียว ยังมีเรียนเกี่ยวกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ รวมถึงมีการเรียนวิชาพื้นฐานของวิศวกรรมจากของภาคอื่นๆ อีกด้วย เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความรู้ในหลายๆ ด้าน เช่น แล็บไฟฟ้าของภาคไฟฟ้า, Drawing ของภาคเครื่องกล, และยังมีการเขียน Code ของภาคคอมอีกด้วย เรียกได้ว่าได้ความรู้ในสาขาอื่นไปด้วยแบบเต็มคาราเบล!!

ภาควิชาวิศวกรรมเคมีนั้นเราก็จะเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพ การออกแบบอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมและมีความปลอดภัยต่อกระบวนการทางเคมี ไปจนถึงการควบคุมกระบวนการทางเคมีอีกด้วย แล้วก็ยังมีแล็บภาคให้เราได้ลงมือทำจริง! ใช้อุปกรณ์จริง! ได้ใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งจะมีความน่าสนใจและความไม่ธรรมดากว่าตอนที่เราทำแล็บที่โรงเรียนอย่างแน่นอน


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

สายงานวิศกรรมเคมีนั้นสามารถทำงานได้ทุกๆ ที่ที่มีกระบวนการทางเคมี ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านกระบวนการผลิต, งานโครงการ, การวางแผนงานด้านการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน โดยงานวิศวกรเคมีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุตสากรรมผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลกนอกจากนี้ยังสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหามลพิษต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อโลก และยังสามารถเป็นนักวิชาการและเป็นอาจารย์ได้อีกด้วย! ดังนั้นจึงถือว่าอีกหนึ่งสาขาที่มีความสำคัญ และมีความน่าสนใจ ห้ามพลาด!!


ใน EP. หน้า พี่จะมาแนะนำอีก 3 ภาควิชาสุดท้ายของ วิศวฯ บางมด จะเป็นภาควิชาอะไร น้องๆ ห้ามพลาดเด็ดขาด แล้วมาเจอกันใน EP. หน้าน้าาา


จบไปแล้วกับอีก 3 ภาควิชาสุดฮอตของ วิศวฯ บางมด แต่ถ้าน้องๆ อยากมาดูของจริง และมาพบปะกับพี่ๆ แต่ละภาควิชาแล้วล่ะก็ อย่าลืมมาเข้าร่วมกิจกรรม “Engineering Open House Carnival at Bangmod” เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องมอปลาย (หรือเทียบเท่า) คุณครูแนะแนว และผู้ปกครองเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ สัมผัสบรรยากาศ และทำกิจกรรมร่วมกันกับนักศึกษาในภาควิชาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยกำหนดจัดกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2566 แล้วมาพบกันที่ วิศวฯ บางมด ⚙️🐜





ขอขอบคุณพี่ๆ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล อุตเมคคาฯ และเคมี ที่มาช่วยกันแบ่งปันข้อมูลให้กับน้องๆ ทุกคนนะครับ 🙏

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"