กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความ

พบกับ “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” และ Inspiration Talk จากวิทยากรมากประสบการณ์

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ได้จัดโครงการสำหรับน้องๆ คนรุ่นใหม่ในจังหวัดน่าน ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สร้างเงินและงานด้วยตัวเอง 💸 แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มแล้วก็อาจจะเจ๊งได้อีก 😔 โอกาสของน้องๆ มาถึงแล้ว ! กับ “เพาะพันธ์ุปัญญาแคมป์” แคมป์ที่จะปูพื้นฐานการทำธุรกิจ จากต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่การบ่มเพาะกระบวนการทางความคิดในการเริ่มต้นธุรกิจ มอบประสบการณ์ให้น้องๆ นักเรียนมัธยมปลาย ได้ทดลองทำธุรกิจจริง เห็นกำไร-ขาดทุน ความเสี่ยงและความสำเร็จกันจริงๆ 🤩

โดย ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธ์ุปัญญา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ ว่าเกิดจากดำริของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ตั้งแต่สมัยยังดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนโดยผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญโดยเฉพาะกับเยาวชน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนในการดำรงชีวิตและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น✨

อย่างไรก็ตาม เพาะพันธ์ุปัญญาแคมป์ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้น้องจบจากค่ายไปแล้วต้องไปเป็นนักธุรกิจ แต่มุ่งหวังให้น้องๆ ได้ความรู้ใหม่ ทักษะ และประสบการณ์การทำธุรกิจ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดชีวิต ! 😎💖



สำหรับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” น้องๆ จะได้ความรู้อย่างเต็มที่ ได้ประสบการณ์โดยตรง จากทั้งวิทยากร นักธุรกิจมืออาชีพระดับโลกและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดน่าน และได้รับเงินทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจ เพื่อให้น้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์การลงทุนทำธุรกิจจริง ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนถึงสรุปผลกำไรขาดทุนเลย 💞 ในครั้งแรกนี้ ทางโครงการได้เปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนจังหวัดน่าน ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธ์ุปัญญาจาก 8 โรงเรียน รวม 40 คน

โดยการเรียนรู้และทำกิจกรรมสนุกๆ เหล่านี้จะถูกจัดผ่าน 3 แคมป์ย่อยด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. “กล้าเรียน” แคมป์แรกที่เน้นการปูพื้นฐานการสร้างไอเดียธุรกิจให้กับน้องๆ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจจริงภายในระยะเวลา 5 วัน และหลังจากแคมป์แรก น้องๆ จะมีเวลา 23 วัน ในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อนำเข้าสู่ตลาด เรียกได้ว่าเริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นเลยทีเดียว 🔥
  2. “กล้าลุย” แคมป์ที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่น้องๆ ทุกคนจะได้ลงมือขาย ลุยตลาดจริง เพื่อเรียนรู้จุดเด่นจุดด้อยและนำไปพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ระยะเวลา 4 วัน และจะมีช่วงการดำเนินธุรกิจจริงอีก 30 วัน✨
  3. “กล้าก้าว” แคมป์สุดท้ายกับการสรุปผลรายงานและนำเสนอผลประกอบการของแต่ละกลุ่ม พร้อมรับแรงบันดาลใจ ระยะเวลา 4 วัน

สำหรับแคมป์แรก “กล้าเรียน” ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า ตลอดระยะเวลา 5 วันของการอยู่ในแคมป์มีกิจกรรมมากมายที่น้องๆ ได้เรียนรู้ มีครบทุกอารมณ์ความรู้สึก ทั้งสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจจากเกมส์การแข่งขัน สาระความเข้มข้นจากบทเรียนการสร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมในรูปแบบการบริหารธุรกิจ เรียนรู้ความผิดพลาด เรียกได้ว่าอัดแน่นไปด้วยความรู้และประสบการณ์การทำธุรกิจแบบจุกๆ และที่สำคัญน้องๆ ยังได้รับฟังประสบการณ์โดยตรง จากทั้งวิทยากร นักธุรกิจมืออาชีพระดับโลกจากหลายวงการ รวมถึงนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดน่านอีกด้วย 💖

แนวคิดและความรู้ดีๆ จากวิทยากรในแคมป์นี้จะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันได้เลย 💯✅



💥 พบกับช่วง Inspiration Talk ! กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิท่านแรกของเรา คือ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) 

อาจารย์กล่าวว่า “ ชีวิตคนเราทุกคนไม่ได้มีบทบาทเดียว เป็นลูก เป็นนักเรียน ตัวครูเป็นนักวิทยาศาสตร์ หน้าที่หลักคือต้องค้นพบองค์ความรู้ใหม่ เนื่องจากมีความสนใจอยากจะทำให้เทคโนโลยีที่ทำออกมาแล้วใช้งานได้จริงจึงมีอีกบทบาทหน้าที่คือเป็น “นวัตกร” จะดูว่าเราอยากสร้างอะไรและต้องการแก้ปัญหาอะไร 

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก นำไปใช้ได้กับชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาธุรกิจเป็นวงจรที่เรียกว่า OAEC 🤔

O – Observation การสังเกต แต่มีความหมายมากกว่านั้น อย่างโจทย์สำหรับค่ายนี้ ก็คือการหาข้อมูล หรือเดินไปดูว่าจริงๆ แล้วลูกค้าที่เราอยากจะพัฒนาธุรกิจให้นั้น เรามีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง เค้ามีปัญหาอะไร และต้องการอะไร

A – Ask ตั้งคำถาม เรากำลังต้องการถามคำถามอะไร ยุคสมัยนี้ AI กำลังจะเข้ามาแทนเรา ถ้าเราทำไม่เป็น เราก็จะไม่มีตัวตนในโลกปัจจุบัน เพราะฉะนั้นกระบวนการตั้งคำถามจึงเป็นเรื่องสำคัญ

E – Experiment การทดลอง ในที่นี้สามารถแปลได้ว่า คือการลงมือทำ ต้องออกแบบมาให้หลากหลายรูปแบบและทดลองว่าสินค้าและบริการที่จะออกมาเป็นอย่างไร

C – Conclusion การเก็บข้อมูลและสรุปผล ในวงจรวิทยาศาสตร์ ไม่เคยมีการสรุปผลครั้งไหน ที่ทำเสร็จแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ โดยมากการทดลองจะล้มเหลว จะมีได้บ้างเสียบ้าง ให้นำสิ่งที่ได้เขาสู่วงจรการตั้งคำถามใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนา

ถือเป็นเรื่องที่คล้ายกัน ถ้าเรานำกระบวนการนี้เข้าไปใช้กับวงจรทำธุรกิจ คือ วิเคราะห์ ทดลอง ล้มเหลว ปรับปรุง ก็จะสามารถใช้กระบวนการนี้ให้เกิดประโยชน์ได้

โดยอาจารย์ยังพูดถึง “ความท้าทายในการเริ่มต้นธุรกิจ คือ การขายและการพัฒนานวัตกรรมหรือชิ้นงานให้ออกมาตอบโจทย์ลูกค้า จากนักวิทยาศาสตร์มาทำธุรกิจกลายเป็นคนหาเงิน โดยนำสินค้าไปขาย เมื่อคนไม่ซื้อของเรามันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดเราต้องยอมรับความจริงว่าโลกไม่ได้สวยงามอยู่ตลอดเวลาและไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ” 

“พูดถึงการก้าวข้ามปัญหา ต้องกลับมาถามคำถามแยกแยะประเด็นวิเคราะห์ จะพบว่าสาเหตุที่คนไม่ซื้อสินค้าเรามีหลายสาเหตุ สาเหตุไหนที่เราควรจะปรับปรุงหรือควรจะแก้พัฒนาผลิตภัณฑ์เรา ก็ต้องทำและสาเหตุไหนที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ วิธีการขายเป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก แต่เราต้องกลับมาทบทวนว่าตรงไหน เราจะสามารถเก็บปรับปรุงได้ ซึ่งใช้กระบวนการ OAEC มาตลอด” 

“ธุรกิจบางครั้งเป็นเรื่องของช่วงเวลาด้วย คือทำสินค้าออกมาแล้วขายให้กับคนรุ่นหนึ่งไม่ได้ พอรุ่นถัดไป สังคมเปลี่ยนไปเร็ว เขาเปิดกว้างมากขึ้นยอมรับสินค้าเรามากขึ้น ซึ่งช่วงเวลานั้นก็สำคัญ นอกจากนี้ หากจะรู้กระบวนการทดลองว่าสิ่งที่คิดถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องลองขายเลย ถ้าไม่ลองขายก็ไม่รู้ เริ่มด้วยการขายคนรู้จักก่อนก็ได้ เอา feedback ก่อนดูว่าเค้าชอบหรือไม่ชอบ คนที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นคนที่เรียกว่าไม่คิดเล็กคิดน้อย เปิดใจให้กว้าง ยอมรับความหลากหลาย ล้มเร็ว ลุกเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์หรือจุดต่างไปจากคนอื่นธุรกิจก็จะมีข้อได้เปรียบ แต่สำหรับตัวเองคิดว่าธุรกิจต้องพยายามนำเงินออกจากกระเป๋าคนอื่นมาเลี้ยงตัวเราเองให้ได้”

อาจารย์ยังคงพูดถึงหัวข้อแนวทางการสร้างนวัตกรรมไว้ว่า “อยากทำอะไรให้ดูรอบตัวเราก่อน ลองสังเกตดูว่าเจอปัญหาอะไรซ้ำๆ ที่เราเบื่อมาก อยากมีอะไรที่ดีกว่านี้ ใช้ของที่ดีกว่านี้ แล้วถ้าง่ายที่สุดในการพัฒนาสินค้า ก็คือการทำธุรกิจที่เราอยากซื้ออยากใช้ด้วย จะทำให้เข้าใจมุมมองปัญหาของลูกค้าได้ดี ซึ่งนี้เป็นหนทางลัด และก็ คิดว่าอยากจะทำเรื่องใดต้องสนุกกับมันด้วยเพราะไม่ว่าเราจะเริ่มทำอะไรก็ตามจะไม่มีใครทำสำเร็จจากการทดลองครั้งแรก เพราะฉะนั้นหากต้องทำอะไรซ้ำๆ แก้ไขลองใหม่บ่อยครั้งแล้วอาจเกิดความเบื่อหน่ายสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราไม่เบื่อคือเรื่องนั้นต้องเป็นสิ่งที่เราสนุกและอยากทำ”

สุดท้ายอาจารย์พิมพ์ใจได้ฝากไว้ว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยได้ในเชิงธุรกิจเรียกว่า Connecting the dots และจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มจะมี dots ในสมองก็คือการอ่านเพื่อให้มีความรู้ และจะต้องมีความรู้ที่หลากหลาย เพราะการเป็นผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้เชิงกว้าง ซึ่งก็มาจากการเรียนรู้ด้วย การอ่าน การฟัง การพูดคุยถามคำถาม เปิดรับการเรียนรู้ตลอดเวลานั้น จะทำให้มี dots อยู่ในหัวเยอะและถ้ามีเยอะก็จะเกิดการเชื่อมต่อและความคิดสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้น”

“คุณสมบัติที่ดีของการเริ่มต้นธุรกิจ คือ ต้องชัดเจนกับตัวเองก่อนว่า สิ่งที่จะทำนั้นทำไมถึงอยากทำ วิเคราะห์ออกมาให้ชัดเจน และมีการวางแผนที่ดีอย่ายอมแพ้ ท่องไว้เลยว่าเราอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่หากทำแล้วล้ม แผลที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลและการเรียนรู้ หากเจ็บก็เจ็บให้เป็นประโยชน์ และความรู้ว่าทำไมไม่ประสบความสำเร็จ ก็นำข้อมูลกลับไปเข้าสู่วงจรถัดไปเค้าจะเกิดเป็นการพัฒนา”



💥 วิทยากรท่านถัดมา เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัทอุ๊คบี (Ookbee) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Tuk Tuk 500 “คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” 

โดยคุณณัฐวุฒิได้เริ่มต้นพูดถึงคุณสมบัติของผู้ประกอบการไว้ว่า “สิ่งแรกที่เราต้องคิดไว้ก่อนคือ ‘เราทำได้’ เชื่อว่าทุกคนตอนที่เริ่มต้นธุรกิจ เขาไม่รู้ว่าตัวเองจะไปจบลงที่ไหน หรือว่าจะไปทำอะไรต่อ แม้กระทั่งตัวผมเองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คิดแค่ว่าตัวเองทำได้ไว้ก่อน และเมื่อมีหนึ่งแล้ว ก็จะตอบไปสองไปสามได้ ผมเชื่อว่าทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็น แจ็ค หม่า, บิล เกต, หรือ อีลอน มัสก์ ก็คงไม่คิดตั้งแต่แรกเริ่มว่าเขาจะส่งจรวดไปดาวอังคาร ดังนั้นทุกอย่างจะคิดไปทีละขั้นทีละตอน สิ่งสำคัญคือ เวลาเราเจอปัญหาหรือเจออะไร ให้คิดว่าเราทำได้ไว้ก่อน ส่วนความล้มเหลวก็คือบทเรียน”

คุณณัฐวุฒิได้พูดถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการที่ดีประการที่สอง ไว้ว่า “คือการที่เราสามารถสร้างทีมงานที่ดี สร้างความฝันที่ดีให้กับคนจะเดินไปกับเราได้ การเป็นผู้ประกอบการที่ดีกับการเป็นคนเก่งเป็นเรื่องใกล้ๆ กันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่าง อีลอน มัสก์ ไม่ได้ทำจรวดเอง แจ็ค หม่า ไม่ได้เป็นคนเขียนเว็บอาลีบาบาเอง แต่พวกเขานี้เก่ง เขามีวิชั่นมากพอที่จะชวนคนเก่งๆ มาร่วมงานกับเขา เก่งมากพอที่จะชวนเพื่อนๆ ที่มีความฝันเดียวกัน รวบรวมกันเข้ามาทำงานกับเขาได้” 💯

นอกจากนี้คุณณัฐวุฒิยังได้ระบุอีกว่า “Journey ของเราอาจเป็นเรื่องประสบการณ์เท่านั้นเอง เวลาเราเจออะไรที่ไหน สิ่งที่เราต้องการคือประสบการณ์การไปร่วมกิจกรรมนั้นๆ โอกาสสำหรับน้องๆ ยังมีอีกเยอะได้มาเรียนทำธุรกิจมีพี่ๆ มาสอน มีคนเก่งๆ มาเล่าให้ฟัง แต่สมัยก่อนไม่มีแบบนี้อินเตอร์เน็ต จะหาข้อมูลก็ไม่มี แต่พอมาเป็นปัจจุบันโอกาสเยอะมาก ดังนั้นสิ่งที่เราทำจะต้องฝันให้ใหญ่กว่าเดิม”

“เงินทุนในการทำธุรกิจคือการนำไปต่อยอดเพื่อได้เงินกลับมาเยอะกว่าเดิม ถ้าเราตั้งใจทำแล้วให้ถือเป็นบทเรียน ได้เรียนรู้ช่วงเวลาที่เราทำแล้วเจ๊ง ถามว่าคนเราจะโง่ทำแล้วเจ๊งสักกี่ครั้ง  คนที่ไม่เคยเจ๊งเลยน่าจะเป็นคนที่ไม่เคยทำอะไร คนที่ไม่เคยแพ้น่าจะเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ลองคิดดูว่านักบอลที่เก่งที่สุดในโลกนักเทนนิสเก่งที่สุดในโลก นักกอล์ฟที่เก่งที่สุดในโลก ทุกคนเคยแพ้มากกว่าชนะ ทุกคนกระจอกมาก่อนทั้งนั้น ตอนเริ่มแพ้บ้างชนะบ้างและฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อแผลมากๆ แล้วไม่ล้มเลิกก็จะชนะ ไม่หยุดก็เลยชนะไปเรื่อยๆ การเริ่มทำครั้งแรกมั่นใจได้หรือว่าทำเพื่อเจ๊ง เจ๊งนิดหน่อยเผื่อจะได้มาเป็นบทเรียนและเป็นค่าเล่าเรียนของเรา มันอยู่ที่เราเมื่อเจ๊งและจะลุกขึ้นมาได้ไหม”

คุณณัฐพงศ์ยังเสริมอีกว่า “แต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกันการที่เราจะเอาจุดอ่อนของเราไปเป็นอาชีพคงไม่ใช่เรื่องดีอยู่แล้วแต่ว่าบริษัทหนึ่งต้องประกอบด้วยคนให้ครบถึงจะดำเนินการได้อย่างน้อยตอนเริ่มต้นจะต้องประกอบทีมกันก่อนถึงจะเป็นประโยชน์ การทำธุรกิจจะต้องมีทุกด้าน” 😎โดยได้แบ่งออกมาเป็น 4 องค์ประกอบ ดังนี้

คนแรกคือ “นักธุรกิจ (CEO)” จะต้องเป็นคนที่ฝันใหญ่ ต้องมีคนนี้ก่อนธุรกิจถึงจะทำได้ มีหน้าที่ฝันและหาเงินทำอย่างไรก็ได้ หาเงินให้ได้มากที่สุด คนที่สอง “ศิลปิน” นักออกแบบแฟชั่นดีไซน์เนอร์การทำธุรกิจต้องมีคนคนนี้อยู่ด้วยปัจจุบันเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก คนที่สาม “นักประดิษฐ์คิดค้น” นักวิทยาศาสตร์และคนที่สี่คนสุดท้าย “นักเขียนโปรแกรม” มีความจำเป็นในโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คนที่สามและคนที่สี่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีครบ” 

คุณณัฐวุฒิได้พูดถึงจุดที่สำคัญไว้ว่าคือ “ปัจจุบันและเราเริ่มต้นทำมัน”

“เวลาจะทำอะไรมันไม่มีทางที่จะทำสำเร็จไปจนถึงขั้นสุดท้ายเลย เหมือนต้นสายและเราเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่มีทางที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ในวันพรุ่งนี้ แต่เราต้องโตขึ้นทุกวันเพราะฉะนั้นงานของเราตอนนี้ที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ไม่ใช่เรื่องฝันใหญ่ จะมีเงิน 100 ล้านหรือ 1,000 ล้าน งานของเราตอนนี้มีแค่อย่างเดียวคือ พรุ่งนี้เราจะโตกว่านี้ได้อย่างไร และเมื่อวานนี้พอมีปัญหาอะไรเพื่อที่จะแก้ไข และให้พรุ่งนี้ปัญหานั้นหายไปดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือคิดเร็วๆ ทำเร็วๆ”

คุณณัฐวุฒิยังเน้นวิธีการทำธุรกิจประกอบด้วย 3 คำ ได้แก่ “Build (สร้าง) Measure (วัดผล) และ Learn (เรียนรู้) แล้วทำอย่างเร็ว คือเวลาเราสร้าง เราจะได้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง ได้ไอเดียบางอย่าง แต่ของพวกนี้จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราไม่ได้วัดผล และไม่มีวันเสร็จ ก็คือการเรียนรู้ได้ตัวเลขออกมาแล้วเราได้เรียนรู้อะไร แล้วพรุ่งนี้เรามีนัดสร้างใหม่ทำให้ดีกว่าเดิม ทำไปเรื่อยๆ แค่ดีกว่าเดิมมันก็จะมีการเติบโต ในโลกธุรกิจก็มีเท่านี้แหล่ะเมื่อวานขายได้เท่าไหร่ ปัญหาคืออะไร และวันนี้เราจะทำให้ดีกว่าเดิม และไม่ว่าเราจะเจอปัญหาชีวิตอันไหนก็ให้กลับมาดูตรงนี้ ก็จะบอกว่าไม่เป็นไรหรอกเพราะทำพรุ่งนี้ให้เด็กเด็กก่อนเผื่อทำให้ดีกว่าวันนี้”

“ทุกคนเริ่มจากเล็กๆ ทั้งนั้น ผมก็เริ่มจากเล็กๆ บริษัทที่เราไปลงทุนทุกบริษัทตั้งแต่วันแรก เป็นเงินลงทุนไม่กี่ล้าน จนทุกวันนี้บางอันก็เจ๊ง บางอันก็ใหญ่มาก คือเราต้องเริ่มจากเล็กๆ ทั้งนั้นเพราะฉะนั้นอยู่ที่ความฝันของแต่ละคน เรื่องที่สำคัญที่สุดให้คิดก่อนว่า ‘คุณทำได้’ ถ้าคุณไม่คิดว่าจะทำได้ในชีวิตนี้ก็ไม่มีใครจับคุณไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ นักลงทุนเขาเวลาเขาจะช่วยใคร เขาจะคิดว่าต้องมีโอกาสในการช่วย ดังนั้นความฝันที่คิดว่าใหญ่ต้องมีเป็นอันแรก อย่าไปมองอะไรเป็นปัญหาปัญหามีไว้แก้ ทุกคนมีปัญหาทั้งนั้น“

💥 มาถึงเรื่องสุดท้าย คุณณัฐวุฒิได้ฝากวิธีการคิดของการจะเป็นผู้ประกอบการ (Start Up) ไว้ 7 ข้อ เรียกว่า “Fuck up Lesson (บทเรียนความห่วย ความล้มเหลว)” 

  1. คนชนะไม่ต้องโกง คนโกงท้ายที่สุดจะไม่ชนะ และให้ใช้เข็มทิศศีลธรรม ก่อนจะทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ เราต้องมีเรื่องนี้ด้วย คือเข็มทิศศีลธรรม
  2. การลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงคือการลงทุนในตัวเอง ให้ลงทุนแล้วลงทุนอีกจนมีคนอยากจะมาลงทุนกับเรา การลงทุนกับตัวเราเองให้ผลตอบแทน 100%  นักลงทุนเค้าจะมาลงทุนกับคุณก็ต่อเมื่อคุณมีการลงทุนตัวเองมากพอ จนคุณมีคุณค่าที่ทำให้เขาอยากจะลงทุน 
  3. เวลามีค่าที่สุด ⏱ อย่าเสียเวลาในการวางแผนเยอะ (อย่าไปคิดเยอะในการวางแผน เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว เรามีวันพรุ่งนี้เสมอ ให้เราทำเร็วๆ และแก้ไขไปเรื่อยๆ)
  4. โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก 🏃ให้เราโฟกัสสั้นๆ (ไม่ต้องคิดถึงปีหน้าว่าจะขายได้เท่าไหร่ เอาแค่พรุ่งนี้เราจะขายได้เท่าไหร่ เมื่อวานขายไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร)
  5. การทำธุรกิจไม่ต้องคิดเรื่องมาร์เก็ตแชร์ แค่ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมทุกๆ วัน จริงๆ แล้วบริษัทขนาดใหญ่เค้าคิดเรื่องมาร์เก็ตแชร์ แต่ในความเป็นจริงโลกปัจจุบันไม่มีสิ่งเหล่านั้น เราแค่ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมทุกๆ วัน 
  6. “เรารู้ดีกว่าคนอื่น” สิ่งนี้ไม่มีอยู่จริง 😎 ความคิดที่ว่าเราเก่งกว่าใครมันไม่มีอยู่จริงในโลก ทุกคนเก่งในเรื่องที่เขาทำ การเป็นผู้ประกอบการที่เก่งคือ คุณเอาคนเก่งมาทำงานกับคุณได้อย่างไร 
  7. ท้ายที่สุดเราจะเสียใจในเรื่องที่เราไม่ได้ทำ (ตอนอายุน้อยเรื่องทุกเรื่องถือเป็นเรื่องใหญ่มากในชีวิต วันหนึ่งทุกเรื่องจะผ่านไปและกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ หายไปแต่สิ่งที่เราจะเสียใจคือ รู้งี้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำเรื่องนั้นในวันนี้เพื่อไม่ให้เสียใจทีหลัง)

“เราทำธุรกิจเจ๊ง ไม่มีใครว่าเรา ถ้าเราผิดศีลธรรมอย่างนั้นควรโดนด่า แต่ถ้าเราทำธุรกิจแล้วเจ๊งคือมันเท่ อย่างน้อยก็เคยทำแล้ว แต่เจ๊งแล้วเราจะทำให้ดีกว่าเดิม” ✨



💥 วิทยากรมือฉมัง ผู้มากความสามารถท่านต่อไปคือ คุณวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาโปรตีนจากพืชแบรนด์ MORE MEAT ได้เล่าประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพของตัวเองไว้ดังนี้

“บริษัทเราเป็นสตาร์ทอัพ คิดแบบสตาร์ทอัพ เข้าไปบ่มเพาะความคิดในโครงการต่างๆ เพื่อให้ตกตะกอนเกี่ยวกับสินค้าเราไปเรื่อยๆ เราไปหลายเวทีมาก พร้อมกันหลายๆ เวทีช่วยให้เราตกตะกอนความคิดเรื่องการทำธุรกิจ รู้ว่าจะขายอะไร ขายใคร จะดันสินค้าไปอย่างไร ให้เข้าสู่ตลาดทางไหน เพื่อตอบโจทย์ตลาดพอทำไปเรื่อยๆ หาคำตอบได้จะเริ่มรู้หมดแล้วว่า ตลาดที่แท้จริงอยู่ตรงไหน การที่เราเข้าโครงการเป็นตัวจุดสำคัญที่เราตกตะกอนว่า เราจะขายอย่างไร ขายใครสินค้าเราจะปรับไปเรื่อยๆ ตามฟีดแบ็คลูกค้า เรายิ่งขายก็ยิ่งเข้าใจว่าลูกค้าคือใคร”

คุณวรกันต์ได้อธิบายหัวข้อของการเจ๊ง ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การทำธุรกิจและกลัวเจ๊ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนกลัว แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนก็ควรจะไม่กลัว การคิดต่างมันจะคาบเกี่ยวกับเจ๊งหรือไม่เจ๊ง การที่เราทำของยิ่งแปลกโอกาสเจ๊งก็สูง แต่โอกาสจะไปต่อได้ก็สูงเช่นกัน จึงมองว่าทำอย่างไรให้เจ๊งอย่างมีคุณภาพดีกว่า ถ้าเราเจ๊งก็ยังมีคนช่วยสนับสนุนเราได้ เพราะฉะนั้นการที่เราเป็นสตาร์ทอัพ เราจึงต้องหานักลงทุน ยิ่งเราเข้าโครงการบ่มเพาะธุรกิจในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มีนักลงทุนสนใจมากขึ้น”

💫 นอกจากนี้คุณวรกันต์ยังได้พูดเล่าถึงประเด็นความเสี่ยงไว้เพิ่มเติมว่า “หากเราขายเองทำเองคนเดียว เมื่อแบกรับภาระหลายอย่างก็อาจตายคนเดียว อย่างนั้นความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจก็จะสั้นมาก แต่หากมีพาร์ทเนอร์ มีผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขยิ่งเยอะยิ่งใหญ่มีสายป่าน โอกาสต่อยอดธุรกิจจะค่อนข้างไปได้ไกล ความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นจริงๆ แล้วความยากในการขายสินค้าคือ การขายชิ้นแรกยากที่สุด ถ้าเราขายได้ เราจะได้รู้ทางแล้วว่า เราจะไปทางไหนต่อ แต่ว่าของที่ยังขายไม่ได้ตอนแรกเราอาจจะต้องให้ระยะเวลามันหน่อย แม้ว่าเราจะทำมาแล้วคิดมาเป็นอย่างดีแล้ว เป็นระยะเวลาหนึ่ง เราต้องเริ่มกลับมาคิดแสดงว่าเราเริ่มมีปัญหา แล้วเราจะต้องกลับมามองใหม่ว่า ทำไมขายไม่ได้ แต่ถ้าเรามั่นใจว่าสินค้าเราขายได้และขายได้ในวันแรก แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว จากนั้นมาดูต่อว่าทำอย่างไรที่จะให้ตอบโจทย์ได้กว้างขึ้น หรือใหญ่ขึ้น”

“ผมมองว่าการประกอบธุรกิจเสน่ห์ของมัน คือความหลากหลายที่เราจะเดิน ทุกครั้งที่เราเดินมีโอกาสได้หมด แค่เราจะโตไปเป็นแบบไหน และควบคุมคุณภาพสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงคุณภาพสินค้าก่อนถึงผู้บริโภค นั่นเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด สำคัญที่สุด เป็นต้นทุนที่เราลงทุนกับมันแล้วสร้างความสบายในระยะยาวให้กับเราได้ เมื่อไหร่ที่เจ้าใหญ่ลงมาแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว นั่นแสดงว่าตลาดมีโอกาสเพราะเจ้าใหญ่เค้ามองถึงโอกาสทางการตลาด แต่ที่เรามองคือการตอบโจทย์ผู้บริโภค ความเป็นตัวตนของเราเป็นสิ่งที่ไม่มีใครแย่งไปจากเราได้”

คุณวรกันต์ได้แชร์วิธีเปลี่ยนไอเดียให้เป็นสินค้าธุรกิจจริง มี 3 คำถาม

  1. “ทำไมเรายังไม่เริ่มทำ” ถ้าเรามีไอเดียทำไมเราไม่เริ่มทำ เชื่อว่าทุกคนมีอะไรคล้ายกันคือความกังวลและความกลัว แต่ต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้
  2. “เราทำอะไรได้บ้าง” ถ้าเป็นตัวเราวันนี้เราทำอะไรได้บ้าง ผมทำการตลาดได้ ทำพีอาร์ได้ การที่เราทำอะไรได้บ้างเราไม่จำเป็นต้องเป็นจุดหลักในสินค้านั้นนั้นแต่เป็นจุดที่เราเก่งดีกว่า
  3. “เราทำแล้วใครได้ประโยชน์” ถ้าเราทำแล้วใครได้ประโยชน์ ทั้งเรื่องภาพธุรกิจ เรื่องผู้บริโภค ถ้าทำแล้วเราได้ประโยชน์เองคนเดียวไม่มีใครได้ประโยชน์กับเรา เชื่อได้ว่าเราทำแป๊บเดียวเดี๋ยวหยุดเลยจะทำระยะสั้นเท่านั้น

คุณวรกันต์ได้สรุปทิ้งท้ายว่า “การฝ่าฟันอุปสรรค คือการเปลี่ยนแนวคิดตัวเองอุปสรรคจริงๆ แล้วเป็นแค่ปัญหาที่มาให้เราตอบในช่วงนั้นถ้าเราตอบได้ประมาณหนึ่งและสามารถไปต่อได้ในเรื่องยอดขายก็เป็นการตอบโจทย์โฆษณาไปได้เพราะฉะนั้น อย่ากลัวอุปสรรค และเรื่องคอนเน็คชั่นส์เป็นสิ่งสำคัญแทบจะทุกอย่างในการธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมี”



💥 สุดท้ายพบกับ 2 นักธุรกิจจังหวัดน่าน ผู้ร่วมก่อตั้ง Cocoa Valley แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน “คุณมนูญ ทนะวัง” และ “คุณจารุวรรณ จิณเสน” 

เริ่มต้นจากคุณจารุวรรณได้พูดถึงจุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ไว้ว่า “ถ้าเป็นการทำช็อกโกแลตหรือโกโก้ทั่วโลก คือแค่หย่อนเมล็ดลงไปในเครื่อง ก็จบมาเป็นช็อกโกแลตเลย แต่ของ Cocoa Valley ไม่ใช่ พี่นูญได้คิดค้นและพัฒนา โดยย้อนกลับไปดูว่าภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยมีอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอนและกรรมวิธีในการแปรรูป แล้วเราสามารถช่วยให้ชุมชนมีรายได้กับเราอย่างไรบ้าง จึงตัดบางขั้นตอนออกไปและนำมาสร้างรายได้กับแม่ๆ ยายๆ ป้าๆ ในชุมชน ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

คุณมนูญ ได้เสริมต่ออีกว่า “แน่นอนว่า product ของเราทั้งหมดเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ บวกกับวัตถุดิบท้องถิ่นของบ้านเรา แต่ข้อควรระวังคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องดูแนวโน้ม จำลองตัวเองเป็นลูกค้า ถามดูว่าถ้าเราทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วลูกค้าจะซื้อไหม สนใจไหม และลูกค้าจะรับรู้สิ่งที่เราทำไหม”

“Packaging ที่จังหวัดน่านมีเยอะมาก แต่เราสามารถได้รับรางวัลระดับโลกในงานแพคเกจจิ้งถึงสามรางวัล และผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งปี สิ่งสำคัญหนึ่งเดียวเลยเป็นเพราะว่าเราให้คุณค่ากับอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมน่าน เช่น การนำรูปปู่ม่านย่าม่านมาใช้กับผลิตภัณฑ์ เราไม่ได้ทำรูปปู่ม่านย่าม่านเพื่อขาย แต่เราทำเพื่อให้ทั่วโลกและคนไทยรู้ว่ารูปกระซิบรักบรรลือโลกมีคุณค่าจังหวัดน่านอย่างไร”

ถัดมา คุณมนูญได้พูดถึงการบริหาจัดการระบบของธุรกิจไว้ดังนี้ “เราจะให้พนักงานของเราลองผิดลองถูก และมีการแบ่งปันไอเดีย ซึ่งมุมมองของพนักงานแต่ละคนจะมีมุมมองคล้ายๆ ลูกค้า เราสามารถหยิบยกนำมาใช้ได้ การทำธุรกิจเราอยากให้ยั่งยืนและเติบโตด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องสนับสนุนนข้างหลังบ้าน ทำให้แบรนด์เติบโตตามอุดมการณ์และความต้องการมากที่สุดด้วย”

“การตลาดสำหรับพี่คือการที่เราทำผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุดก่อน แต่หัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์จริงๆ คือลูกค้าจะบอกต่อสินค้าของเราอย่างไร เขามีเรื่องราวอะไรบอกเพื่อนให้ซื้อ ซึ่งเราต้องหาจุดนี้ให้ได้ การมองหาผลิตภัณฑ์หนึ่งมันจะยาก เพราะเรายังไม่เห็นข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าเริ่มต้นต้องหาให้ได้ว่าคืออะไร ให้มองหาแนวโน้มก่อน เราต้องทำโจทย์ให้ได้ หาอ่านและดูตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่เค้าทำกันในท้องตลาดแล้วเค้าประสบความสำเร็จ เมื่อเติบโตไป สิ่งที่เราจะเจอแน่นอนว่าเราต้องเชื่อมโยงกับคนที่มีความหลากหลาย ทั้งพนักงานค้นหาวัตถุดิบ คนทำ คนขาย ลูกค้า ซึ่งเราจะค่อยๆ พัฒนาและค่อยๆ แก้ปัญหาไป”

💫 สุดท้ายนี้คุณมนูญได้ฝากแง่คิดการทำธุรกิจกับน้องๆ ว่า “การทำแล้วเฟล ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี สำหรับพี่เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เราต้องมีสติและทบทวนว่าทำไมเราถึงไปต่อไม่ได้ ลูกค้าทำไมถึงยังตำหนิอยู่ ทำไมถึงไม่อร่อย แล้วทำอย่างไรถึงจะขายได้ ดังนั้น เราต้องมีสติในการทบทวนข้อผิดพลาดให้ได้ การประสานงานกับคน อย่างที่บอกทุกคนมีความหลากหลายมีความต้องการแตกต่าง พนักงานเขาต้องการได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เราก็ต้องทำบริษัทให้เราเติบโต แต่พี่เชื่อว่าทุกคนนอกเหนือจากการทำให้ชีวิตดีขึ้นมันกลับกลายเป็นความสุขมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงพยายามสร้าง Cocoa Valley ให้มีความเป็นครอบครัว เราไม่ได้ดูแลพนักงานเหมือนลูกจ้าง เราดูแลเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนกับว่าเราต้องใส่ใจ และเข้าใจความรู้สึกคนในการทำธุรกิจ”

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน