กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB review บทความ

[แคมป์รีวิว Ep.15] ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ #15 เปิดโลก “การเมืองและความรุนแรง” กับพี่ๆ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สวัสดีค่าาา กลับมาเจอกันอีกครั้งกับ แคมป์รีวิว Ep.15 โดย พี่นะเอย คนเดิม เพิ่มเติมคือพารีวิวแซ่บๆ จาก “ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15” มาด้วย! โดยครั้งนี้เหล่าสิงห์ดำมาในธีม “FIFTY SHADES of VIOLENCE” หรือ “การเมืองและความรุนแรง” นั่นเอง และได้ยกทัพไปจัดขึ้นที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วันที่ 24-27 มีนาคม 2559

เรียกได้ว่าธีมในแต่ละปีนี่เด็ดจริงๆ ถ้าอยากรู้ว่าค่ายเยาว์ฯ เขาทำอะไรกัน แล้วประเด็นที่เสวนาจะเข้มข้นแค่ไหน ก็ตามมาดูกันเลยจ้าาา

12891641_1044535058949237_3432467076776225087_o

กำลังอภิปรายกันอย่างจริงจัง

photo11

ด้านนันทนาการก็ไม่เบานะคะ

คุยกับพี่ประธานค่าย

ประธานค่าย

พี่เต็นเต็น ปี 4 ภาค IR ประธานค่าย

พี่นะเอย – สวัสดีค่ะ แนะนำตัวหน่อยค่า
พี่เต็นเต็น – สวัสดีค่ะ เต็นเต็น วธัญญา วิจิตรเลขการ อยู่คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 4ค่ะ

พี่นะเอย – เล่าที่มาที่ไปของ “ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” หน่อยค่ะ
พี่เต็นเต็น – ถ้าจะเอาตั้งแต่ก่อตั้งค่าย 1 ขึ้นมานี่พี่ก็ไม่รู้มากนะ แต่จุดประสงค์ของค่ายก็คือ เปิดโอกาสให้น้องๆม.ปลายที่สนใจรัฐศาสตร์ ได้เข้ามาเรียนรู้ว่ารัฐศาสตร์เนี่ยเป็นยังไง เรียนอะไร ผ่านธีมต่างๆที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับประเด็นทางสังคมและการเมืองขณะนั้น ขณะเดียวกันก็ให้นิสิตของคณะรัฐศาสตร์ได้มีโอกาสถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้องๆด้วย

พี่นะเอย – ครั้งที่ 15 ที่เพิ่งผ่านมานี้ เป็นธีมเกี่ยวกับอะไรคะ
พี่เต็นเต็น – ธีมหลักของค่ายปีนี้คือ “การเมืองและความรุนแรง” ส่วนหัวข้อของค่ายใช้ชื่อ “FIFTY SHADES of VIOLENCE” ค่ะ ทีมงานผู้จัดหรือบอร์ดค่ายเลือกโดยการให้เสนอหัวข้อในที่ประชุมค่ะ แล้วโหวตกันฝ่ายที่เสนอหัวข้อจะเป็นฝ่ายวิชาการค่ะ

photo02

น้องๆค่าย กับการเผชิญหน้ากัน

พี่นะเอย – แล้วค่ายนี้ไปจัดไกลถึงสระบุรี มีนัยยะอะไรหรือเปล่าคะเนี่ย ฮ่าๆ
พี่เต็นเต็น – อ๋อ เปล่าๆ ปกติคือจัดที่วิทยาลัยการปกครอง จ.ปทุมธานี แต่ปีนี้สถานที่ไม่ว่าง เลยจัดที่นี่ค่ะ จุฬาฯ สนับสนุนให้มาใช้สถานที่นี้ด้วย ก็เลยตกลงมาจัดที่นี่ค่ะ คือที่สระบุรี เป็นศูนย์ของจุฬาฯ ค่ะ

พี่นะเอย – กิจกรรมเป็นอย่างไร รูปแบบไหนบ้างคะพี่
พี่เต็นเต็น – ค่ายเยาว์ฯ เป็นค่ายที่วิชาการเป็นหลัก ส่วนกิจกรรมนันทนาการก็จะมีเนื้อหาวิชาการสอดแทรกไปด้วย เพื่อให้น้องเข้าใจเรื่องต่างๆได้สนุกขึ้น เช่น กิจกรรม walk rally, การจำลองสถานการณ์บทบาท (simulation) เป็นต้น

photo12

บรรยากาศการบรรยาย เข้มข้นถึงใจ

พี่นะเอย – ว่าแต่ ฟีดแบ็กจากน้องๆในค่ายเป็นยังไงบ้างคะ
พี่เต็นเต็น – ฟีดแบ็กดีเลยนะ จบกิจกรรมแต่ละวัน พอกลับที่พัก พี่ๆก็นั่งจับกลุ่มกันเพราะจะมีน้องๆที่สนใจประเด็นต่างๆอยากมาคุยต่อ

พี่นะเอย – ดูอบอุ่นมากเลย เมื่อกี้น้องที่หนูสัมภาษณ์ก็ดูเอ็นจอยกับค่ายมากๆ
พี่เต็นเต็น – น้องบางคนอยากให้เพิ่มเวลาทำกิจกรรมด้วย แต่สถานที่ที่นู่นเค้าไม่ให้ใช้ดึกมาก ส่วนพี่ๆสตาฟก็โอเคเลยนะ สนุก พี่ว่าสตาฟรู้สึกกระตือรือร้นอยากใช้สิ่งที่เรียนมาสอนน้องๆด้วย ยิ่งพอเห็นน้องๆสนใจก็เลยรู้สึกดีกัน แล้วในค่ายจะแบ่งน้องออกเป็นสีๆ แต่ละสีก็จะมีพี่สตาฟจำนวนหนึ่งคอยดูแล เหมือนเป็นพี่เลี้ยงอะค่ะ อยู่ด้วยกันตลอด4วันเลย ก็จะสนิทกับน้องๆมาก

photo03

สนิทกันจริงๆนะคะ ไม่เชื่อดูหน้าพี่-หน้าน้องได้

พี่นะเอย – งั้นฝากอะไรถึงน้องๆมัธยมฯ ที่อยากเข้าค่ายเยาว์ฯ หน่อยค่ะ

พี่เต็นเต็น – ถึงน้องๆมัธยมศึกษาตอนปลาย ถ้าน้องๆสนใจอยากรู้ว่าเรียนรัฐศาสตร์เป็นยังไง เรียนอะไรกัน ก็ลองมาเข้าค่ายดู จะอยู่สายวิทย์สายศิลป์ก็สามารถสมัครได้หมด และสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คเพจ singhnoy-ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

“สิงห์ดำรอน้องๆสิงห์น้อยกันอยู่ที่ค่ายเยาว์”
– คำนิยามค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15 โดยพี่เต็นเต็น

คุยกับพี่ค่าย

พี่เกรป

พี่เกรป ปี 1 ภาคสังคมฯ และมนุษยฯ พี่กลุ่มของน้องๆจ้า

พี่นะเอย – พี่ค่าย แนะนำตัวหน่อยค่า
พี่เกรป – สวัสดีค่า ชื่อเกรป เนรัญธิญา สรรพประเสริฐ คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ

พี่นะเอย – พี่เกรปมาเป็นพี่ค่ายได้ยังไงเอ่ย
พี่เกรป – มันเริ่มจากที่เราเป็นน้องค่าย 13 ตอนนั้นเราอยู่ม.5 ก็เริ่มสนใจในรัฐศาสตร์แล้วแหละ เลยลองส่งใบสมัครมากับเพื่อนอีกคน ติดค่ายทั้งสองคน การเข้ามาในค่ายนี้มันเปิดโลกของเราและมันสนุกมากกกก เป็นความทรงจำที่ดี เลยใช้สิ่งเนี้ยมาผลักดันให้เราพยายามเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อมาทำค่าย พอประกาศรับสมัครก็จะมีการ meeting แล้วจึงประกาศผลว่าใครได้เป็นสตาฟบ้าง

พี่นะเอย – แบบนี้การแข่งขันก็สูงตั้งแต่ตอนสมัครเป็นสตาฟเลยสิ
พี่เกรป – ก็นิดนึง… เราพูดในส่วนนี้มากไม่ได้ ต้องลองมาสมัครเอง อิอิ

พี่นะเอย – แล้วอย่างตอนคัดน้องมาเข้าค่ายนี่คำถามโหดมั้ยคะ
พี่เกรป – ไม่โหดนะเราว่า มันก็ดูกันตามเนื้อผ้า ดูจากคำตอบที่น้องๆตอบมาว่าเข้ากับบริบทไหนอย่างไร คำถามคัดเข้าค่ายพี่ๆฝ่ายวิชาการรับผิดชอบในเรื่องนี้ ส่วนคำถามของปีนี้มาในธีมความรุนแรงโดยการอ้างอิงจากบริบทของสังคมไทย เช่น ภาษาที่เราใช้กันทุกวันนี้ ตุ๊ด, กะเทย, ดำ, เตี้ย ฯลฯ เป็นคำที่รุนแรงหรือไม่ หรือคิดว่ามาตรา ๔๔ เกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างไร   ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบปีนี้ค่อนข้างยาก น้องๆ ต้องใช้เวลาหาข้อมูลและวิเคราะห์กันนิดนึง ซึ่งเราก็คาดหวังตรงนี้แหละ อยากให้วิเคราะห์กันเยอะๆ ดูเหตุผลที่น้องๆตอบมา แต่ก็มีข้อง่าย คือให้น้องวาดรูปอุปกรณ์ป้องกันความรุนแรง อันนี้ตามใจน้องๆเลย

photo10

น้องๆค่ายเยาว์ฯ รุ่น 15 เกาะกันไปให้ถึงฝั่งฝัน

พี่นะเอย – ได้ยินว่ามีกิจกรรมเด็ดๆมากมาย อย่างเช่น “จำลองสถานการณ์บทบาท” ช่วยเล่ากิจกรรมนี้ให้ฟังหน่อยค่ะ
พี่เกรป – ปีนี้จำลองมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Purge เลย คือมีฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการให้มีวันนี้ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านและชนชั้นล่างคัดค้าน ยังมีกลุ่มนายทุน ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง มาคานอำนาจกัน น้องๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการเจรจาต่อรองกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เนี่ยมันทำให้เรารู้ว่าเบื้องต้นการเมืองเป็นอย่างไร พอเข้าประเด็นความรุนแรงที่มีวัน The Purge เกิดขึ้น อย่างที่รู้ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ วันนี้จะไม่มีกฏหมาย ทุกอย่าง unavailable หมด ทุกคนก็ฆ่ากัน (ไม่ได้ฆ่ากันจริงๆนะ ฮ่าๆๆ ครั้งนี้สมมุติโดยการเป่ายิงฉุบ)

พี่นะเอย – เห็นว่ามีการดูภาพยนตร์แล้วอภิปรายกันด้วย
พี่เกรป – ใช่ มีกิจกรรมชมภาพยนตร์เรื่อง The District 9 และอภิปรายเกี่ยวกับความรุนแรง นี่คือสิ่งที่อยากให้น้องๆตระหนัก ว่ายังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเชิงประจักษ์ น้องจะเห็นภาพความรุนแรงชัดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้

photo04

กล้าคิด กล้าแสดงออก แบบรัฐศาสตร์สไตล์

พี่นะเอย – พี่เกรปคิดว่าน้องๆค่ายได้รับประโยชน์และความสนุกสนานตามที่เราคาดหวังไว้มั้ย
พี่เกรป – คิดว่าโอเคนะ เพราะถามน้องน้องก็บอกว่าสนุก เย้ย ฮ่าๆๆ คิดว่าน้องคงได้อะไรกลับบ้านไปไม่มากก็น้อยแหละ อย่างน้อยน้อยที่สุดก็คงได้การคิดวิเคราะห์ติดตัวไป  จริงๆแล้วนอกจากกิจกรรมข้างบนยังมีกิจกรรมวิชาการอื่นๆอีก รวมไปถึงสันทนาการด้วยย ขนมนมเนยน้ำก็เยอะ เราเห็นว่าน้องๆเอ็นจอยเพราะเราก็เอ็นจอยไปด้วย อิอิ

พี่นะเอย – คำถามเบาๆบ้างดีกว่า เป็นพี่กลุ่มทำอะไรบ้างเอ่ย
พี่เกรป – ทำทุกอย่างเหมือนน้องเลย ต้องทำกิจกรรมร่วมกับน้องทุกกิจกรรม นั่งรวมกัน กินข้าวด้วยกันหมด แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือการดูแล เราดูแลน้อง ดูว่าน้องครบยัง คนนี้เป็นอะไรไม่สบายมั้ย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้น้องเอ็นจอยไปกับทุกกิจกรรม ทำให้น้องอยากไฝว้เพื่อสี ทำให้น้องสนิทกัน

photo05

พี่เล่นกับน้องๆ บันเทิงค่ะงานนี้

พี่นะเอย – มีกิจกรรมไหนที่เราประทับใจเป็นพิเศษมั้ยคะ
พี่เกรป – จริงๆเราประทับใจทุกกิจกรรมเลยเพราะตอนที่เราเป็นน้องเราชอบทุกกิจกรรมอะ มันลงตัวมากระหว่างวิชาการและสันทนาการ แต่ถ้าให้พูดในมุมของการเป็นพี่ค่าย เราคิดว่ามันคือการที่ทำให้น้องสนิทกันได้ เห็นน้องไฝว้เพื่อสีเงี้ย เราบิลท์น้องได้ มันรู้สึกดี บิลท์จนชนะเลยด้วย อิอิ อีกอย่างคือน้องๆทุกคนน่ารักมาก พี่ๆก็เช่นกัน เราเป็นพี่ที่เด็กสุดในกลุ่มละ พี่ทุกคนช่วยกันทำให้ค่ายออกมาสนุกที่สุด สรุปง่ายๆเลย ทุกคนดูแลกันค่ะ

พี่นะเอย – ช่วยฝากถึงน้องๆมัธยมฯ ที่อยากเข้าค่ายเยาว์ฯ ครั้งหน้าหน่อยจ้า
พี่เกรป – เราว่าค่ายนี้เหมาะสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเรียนสายวิทย์หรือศิลป์ เรารู้สึกว่ามันคือการเปิดโลก ทำให้เราได้คิดในมุมที่แตกต่างไปจากเดิม ถ้าใครอยากเข้ารัฐศาสตร์เราว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะมา survey บรรยากาศในคณะ ฮ่าๆๆ ถ้าเจอประกาศรับสมัครครั้งหน้าก็อย่าลังเล รีบโหลดใบสมัคร เขียนตอบแล้วส่งมาเลยจ้า พี่ๆรออยู่  ป.ล. คอยติดตามข่าวสารดีๆน้า เพราะค่ายนี้มันจะมาโดยที่ไม่รู้ตัว

“คุ้ม”
– คำนิยามค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15 โดยพี่เกรป

ทักทายน้องๆ

น้องจิ๊บ

น้องจิ๊บ ม.6 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

พี่นะเอย – สวัสดีค่ะ แนะนำตัวหน่อยค่า
น้องจิ๊บ – สวัสดีค่ะ ชื่อจิ๊บ พัชราภรณ์ ดีปักษี กำลังขึ้นม.6 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า แผนการเรียนวิทย์-คณิตค่ะ

พี่นะเอย – น้องจิ๊บอยากเข้ารัฐศาสตร์จุฬาฯ อยู่แล้วก็เลยมาค่ายนี้ หรือว่ากำลังหาตัวเองอยู่คะ
น้องจิ๊บ – คือตอนนั้นหนูได้มางานเปิดบ้านจุฬา ก็พาเพื่อนมาดูคณะรัฐศาสตร์ ก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่หนูจำได้ว่าวันนั้นมีพี่คนหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์มาพูดอะไรสักอย่างกับหนู แล้วมันกินใจมาก เลยลองไปหาข้อมูลคณะนี้ดู จากตอนแรกที่ไม่ได้สนใจด้านนี้เพราะคิดว่าคณะนี้คงเรียนการเมืองจ๋าไปเลย ดูวุ่นวาย พอเห็นข่าวการเมืองก็ปิดทีวีไปเลยก็มี แต่ด้วยในใจลึกๆเราก็มีความคิดที่ว่า เฮ้ย ทำไมประเทศเราการเมืองดูวุ่นวาย ดูมีปัญหาเยอะแยะมากมาย ดูไม่ค่อยพัฒนาเลย ทำยังไงถึงประเทศจะพัฒนาได้มากกว่านี้ล่ะ เป็นเพราะคนที่กำลังทำอยู่ไม่ดีหรอ ไม่มีความรู้หรอ จนเกิดคำถามว่า ถ้าเรามาทำเองล่ะ จะไหวมั้ย แต่การเมืองดูวุ่นวายนะ

บวกกับหนูเป็นคนชอบคิด ชอบถาม ขี้สงสัยด้วยค่ะ ช่วงนั้นเลยสับสนกับคณะครุศาสตร์ เอกสังคม เพราะหนูคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราควรปลูกฝังคนเป็นคนที่มีคุณภาพ ให้เข้าใจการเมือง ให้เป็นพลเมืองที่ดีที่มีคุณธรรม คิดถึงส่วนรวม แล้วเอาความมีคุณธรรมมาบวกกับความรู้ อีกทั้งหนูชอบสอนหนังสือ แม้ว่าจะไม่มีคนถามก็ตาม ฮ่าๆ ช่วงนั้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะนี้เยอะมากๆ พอหาไปก็รู้ว่าคณะนี้ไม่มีอาชีพที่แน่นอนนะ ก็รู้สึกไม่โอเคเท่าไหร่ แต่ด้วยในใจเราอินกับเรื่องแบบนี้อยู่มาก ก็รู้สึกอยากเรียนค่ะ พอได้มาค่ายเยาว์ฯ ก็รู้สึกว่าชอบมากค่ะ

สรุปคือ จริงๆที่คิดไว้ก็น่าจะเข้าสาขาการปกครอง ไม่ก็สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาค่ะ แต่สุดท้ายสิ่งที่อยากทำแม้จะเรียนรัฐศาสตร์ก็อยากเป็นครูอยู่ดีค่ะ

photo06

แรกเราพบกัน

พี่นะเอย – ว้าว มาเต็มจริงๆ ว่าแต่ น้องจิ๊บมาค่ายคนเดียวหรือมากับเพื่อนคะเนี่ย
น้องจิ๊บ – เพื่อนก็สมัครค่ะแต่ไม่ติด คำถามยากมากค่ะ หนูยอมรับเลยว่าทำนานมาก เหมือนออกแนวให้แสดงความเห็น มีการถามเรื่อง มาตรา ๔๔ ด้วยค่ะ ก็ต้องค้นหาข้อมูล ถามผู้รู้ รวบรวมข้อมูลต่างๆ และมาสรุปตามความคิดเราค่ะ

พี่นะเอย – พอได้มาค่ายแล้ว เป็นยังไงบ้างคะ
น้องจิ๊บ – สนุกและได้สาระเยอะมากค่ะ  พวกพี่สอนให้อย่าเชื่อใครง่าย ให้คิดในหลายๆแง่มุม และไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหนควรมีคุณธรรม เพื่อนที่เจอส่วนใหญ่กล้าแสดงความเห็น กล้าแสดงออก มีความคิดเป็นของตัวเอง ปกติในสังคมไม่ค่อยได้เจอ ก็รู้สึกดีที่ได้เจอค่ะ หนูอยู่สีน้ำเงินสนุกมากกกกกกกกกกก รักทุกคนค่ะ

พี่นะเอย – มีกิจกรรมไหนที่ชอบเป็นพิเศษมั้ย
น้องจิ๊บ – ชอบ “กระทู้พันทิป” ค่ะ ถ้าจำชื่อกิจกรรมไม่ผิดนะคะ ก็ให้แบ่งกลุ่มคุยกันตามประเด็นที่สนใจที่พี่เขาเตรียมไว้ มีท้งกลุ่มแนะแนว กลุ่มเรียนต่อต่างประเทศ กลุ่มความรัก และอีกมากมาย หนูอยู่กลุ่มหลากสีเกี่ยวกับเพศที่สาม พี่เขาก็ถามว่ามองยังไงกับเพศที่สามในสังคมไทย ถ้าคนในครอบครัวเป็นเพศที่สามล่ะ ยอมรับได้มั้ย เหมือนเป็นการได้แลกเปลี่ยนความคิดกันค่ะ อีกทั้งตอนหลังก็รู้ว่าพี่ที่ถามเขาเป็น ก็เลยได้แลกเปลี่ยนมุมมองทั้งตัวคนที่เป็น และคนที่มองไปยังคนเหล่านั้นว่าคิดยังไง ชอบค่ะ รู้สึกได้ถึงการมองหลายๆแง่มุม คิดถึงใจเขาใจเรา

photo07

จัดมาแพ็คใหญ่ๆ เลยเพ่!!

พี่นะเอย – ช่วยฝากอะไรถึงเพื่อนๆเกี่ยวกับ “ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” หน่อยค่ะ
น้องจิ๊บ – ค่ายนี้เป็นค่ายที่ดีมาก เห็นคำถามแล้วอย่าเพิ่งท้อนะ เราเชื่อว่าถ้าคนมันจะติดยังไงก็ต้องติด ค่ายนี้ไม่ได้ให้แค่ความรู้  มันให้หลายๆสิ่ง ที่ถึงแม้จะไม่ได้สุดท้ายจะไม่ได้เข้าคณะนี้ แต่มันสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆนะ สู้ๆ

“ค่ายที่รู้สึกรักและใช้ได้จริง”
– คำนิยามค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15 โดยน้องจิ๊บ

น้องผักบุ้ง

น้องผักบุ้ง ม.4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

พี่นะเอย – สวัสดีค่า แนะนำตัวหน่อยค่ะน้อง
น้องผักบุ้ง – สวัสดีค่า หนูชื่อผักบุ้ง พัทธนันท์ กาญจนธานีค่ะ อยู่ม.4 แผนศิลป์-คำณวน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีค่ะ

พี่นะเอย – ทำไมถึงอยากมาค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คะ
น้องผักบุ้ง – หนูอยากเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มากๆค่ะพี่ แต่ก็ไม่รู้ว่าฝันจะเป็นจริงรึเปล่า

พี่นะเอย – แล้วรู้จักค่ายนี้ได้ยังไงเอ่ย
น้องผักบุ้ง – ตอนมา CU Open House ค่ะพี่ แล้วก็ไปแอบดูใน CampHUB ด้วยยยย

photo08

มิตรภาพ.. เกิดขึ้น ณ ค่ายเยาว์ฯ

พี่นะเอย – อุ๊ย ดีงาม ชวนเพื่อนมาด้วยหรือเปล่าเนี่ย
น้องผักบุ้ง – ตอนสมัคร สมัครทั้งกลุ่มเลยค่ะพี่ แต่ติดกัน 2 คน ฮ่าๆ ถามว่าคำถามสมัครยากมั้ย ก็พอสมควรนะคะพี่ คำถามแต่ละคำถามคือมีคำตอบที่หลากหลายมากค่ะพี่ แต่หนูต้องจับจุดสำคัญให้ได้แล้วก็ต้องเขียนให้ได้ใจความ ให้พี่เขาอ่านแล้วเข้าใจ

พี่นะเอย – แล้วในค่ายล่ะ เป็นยังไงบ้างคะ
น้องผักบุ้ง – สนุกมากค่ะพี่ คือคิดไม่ถึงเลยว่าจะสนุกขนาดนี้ รู้สึกผูกพันกับพี่ๆทุกคนมากค่ะ นี่เป็นค่ายแรกของหนู และเป็นค่ายที่สร้างความประทับใจให้หนูมากๆเลย

พี่นะเอย – เราชอบกิจกรรมไหนมากที่สุดคะ เล่าให้ฟังหน่อย
น้องผักบุ้ง – โห ถ้าถามว่าชอบอันไหนสุด… คือตอบยากมากค่ะพี่ แต่ถ้าชอบที่สุดคงเป็นกิจกรรม walk rally ค่ะ ได้วิ่ง ได้ใช้ความคิด เผาผลาญไปหลายแคลเลย ฮ่าๆ ก็คือ พี่เขาจะจัดเป็นฐานๆ หนูก็ต้องใช้ความสามัคคีกันในสีของตัวเองช่วยกันคิดคำตอบค่ะ แต่ละซุ้มก็จะมีเกมที่ต่างกันไป พอหนูเล่นเสร็จหนึ่งซุ้ม หนูก็ต้องไป check point กับจุดกองกลางค่ะ คือเล่นฐานหนึ่งก็ต้องไป check point ครั้งหนึ่ง ส่วนมากเกมจะแทรกความรู้เกี่ยวกับวิชาสังคมเยอะมากๆค่ะพี่ เช่นเกมใบ้คำ ก็จะแทรกสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ และร้านอาหารดังๆในรั้วจุฬาฯ ฮ่าๆๆ

พี่นะเอย – พี่กลุ่มล่ะเป็นไงบ้าง ดุมั้ยคะ
น้องผักบุ้ง – พี่ๆทุกคนน่ารักมาก อย่างที่หนูบอกไปตอนแรกว่าพี่เขาทำให้หนูรู้สึกผูกพันมากๆค่ะพี่ อยู่ 4วันเหมือนอยู่ 4 ปี ฮ่าๆๆ พี่ๆทุกคนดูแลทุกคนอย่างทั่วถึงมาก ให้ความสำคัญกับน้องทุกคนเลยค่ะ ที่สำคัญพี่ๆเขาตลกมากๆ ชอบแซวหนู

photo09

โฉมหน้าของพี่ค่ายและพี่กลุ่มผู้ที่ได้รับคำนิยามจากน้องค่ายว่า “ทั้งตลกและน่ารัก”

พี่นะเอย – แล้วคิดว่าจะเข้าค่ายที่จัดโดยมหาวิทยาลัยค่ายอื่นๆอีกมั้ยเอ่ย
น้องผักบุ้ง – เข้าค่ะพี่ แต่ค่ายนี้คงไม่ได้แล้ว พี่ๆเขาบอกว่า… ค่ายนี้เข้าได้ครั้งเดียว (ตึ่งโป๊ะ)

พี่นะเอย – ว้าย ก็ต้องเข้าได้ครั้งเดียวสิคะ ฮ่าๆๆๆ รอเป็นพี่ค่ายเลยละกันนะ
น้องผักบุ้ง – สาธุค่ะพี่

“มาแล้วไม่อยากกลับ กลับแล้วก็คิดถึง”
– คำนิยามค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15 โดยน้องผักบุ้ง

photo13

แสงเทียนในคืนอำลา

ไม่ใช่แค่ค่ายแนะแนว แต่ยังเป็นการพาน้องมาแชร์ความคิดเห็น…

photo14

ทีมค่ายเยาว์ฯ #15 จ้าาาา

“ค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งที่ 15” เรียกได้ว่าทั้งเจาะลึกคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ และพาน้องๆเปิดโลกสู่ “การเมืองและความรุนแรง” กันแบบเต็มอิ่ม แถมสนุกสนานเฮฮามากๆอีกด้วย เห็นอย่างนี้แล้ว พี่นะเอย ไม่อยากให้น้องๆคนไหนพลาด “ค่ายเยาว์ฯ #16” เลยค่ะคุณน้องขาาา เช็คปฏิทินค่ายกับแคมป์ฮับกันให้ดี เปิดรับสมัครเมื่อไหร่…อย่าลืมส่งใบสมัครพร้อมคำตอบเด็ดๆกันไปนะจ๊ะ สำหรับ แคมป์รีวิว ครั้งหน้าจะเป็นค่ายอะไรนั้น ขอส่งต่อให้กับพี่ฟิวส์ สำหรับวันนี้พี่นะเอยต้องขอลาไปก่อน สวัสดีค่าาา

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

Na-oei (พี่นะเอย)

สวัสดีค่ะ พี่นะเอย รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 4 ค่ะ