หมอฟัน น่าจะเป็นอาชีพในฝันของเด็กมัธยมหลายคน บางคนอาจรู้แค่ว่า เรียนให้เก่ง สอบให้คะแนนเยอะ เพื่อจะได้เข้าเรียนสมใจ
สอบเข้าว่ายากแล้ว ตอนเรียนเปลี่ยนผ่านจากเด็กมัธยมวัยใสกลายเป็นทันตแพทย์นั้นยิ่งยากกว่า เพราะการเรียนไม่ใช่นั่งฟังฟังฟัง จดจดจด ท่องท่องท่อง สอบสอบสอบ แล้วจบมาทำฟันได้เลย ยังมีอะไรมากกว่านั้นที่ยังไม่เข้าไปเรียนเองก็อาจไม่รู้ วันนี้พี่ๆ ขอนำบทความของเพจ ห้องทำฟันหมายเลข 10 มาให้น้องๆ อ่านกันประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเองครับ
1. วิชาการอันหนักหน่วง
เรียนหนักถึงหนักมากถึงมากที่สุด หมอฟันไม่ใช่เรียนแต่เรื่องฟันนะจ๊ะเธอ ฟันน้ำนมมี 20 ซี่ ฟันแท้มี 32 ซี่ กินของหวานแล้วฟันผุ แปรงฟันหลังอาหารสิ นั่นมันวิชาสุขศึกษาแล้ว
แต่เราเรียนตั้งแต่วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิชาทางการแพทย์ วิชาเกี่ยวกับทันตแพทย์ ในทุกมิติที่เกี่ยวกับฟันและช่องปาก เรียนรู้แบบเจาะลึกถึงระดับเซลล์กันเลย รวมถึงวิชาเกี่ยวกับคน ชุมชน สังคมนี้อีกด้วย เพราะ หมอฟันที่ดีไม่ได้รักษาแค่ฟัน แต่หมอฟันที่ดีนั้นรักษาคนที่มีฟัน (คนที่ไม่มีฟันก็ด้วย) ต่างหาก
เคยเจอสอบข้อเขียน 8 วัน 15 วิชา แทบจะไม่ได้หลับได้นอนท่องตำรากันลูกเดียว คือลูกอึดต้องมีพอตัว
หลายคนอาจบอกว่าสบายมากหายห่วง เพราะเด็กนักเรียนไทยเรียนเยอะไม่แพ้ชาติใดในโลก ชั้นระดับท็อปของโรงเรียนเชียวนะเฟ่ย แต่…อย่าลืมว่าเพื่อนในรุ่นมันไม่ได้จับฉลากเข้ามานะจ๊ะ เค้าก็สอบแข่งขันเข้ามาเหมือนกัน ดังนั้นไม่แปลกเลยที่เราจะกลายเป็นระดับกลางๆ หรือท้ายๆ ของรุ่น บางคนรับไม่ได้ถึงกับจิตตกไปก็มี
2. ฝึกฝีมืองานศิลป์
มีคนกล่าวไว้ว่าการเรียนทันตแพทย์มันเป็น “Art & Science” คือต้องใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ แล้วตอนสอบเข้าเรียนสอบแต่วิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องศิลปะดันไม่มีสอบ
พอเรียนจริงเราจะถูกให้ฝึกศิลปะมากมายหลายแขนง งานแกะสลัก งานปูน งานปั้น งานหยอด งานแยง งานกรอ สารพัด
ถึงจะท่องตำราเรียนเก่งขั้นเทพแค่ไหน เจองานพวกนี้เข้าไปอาจมีมึน มารู้ตัวว่ามันไม่ใช่ทางของเราก็ปีสองปีสาม จะกลับตัวกลับใจไปเรียนอย่างอื่นก็ลำบากแล้ว
3. งานเนี้ยบละเอียดยิบ
จากข้อที่แล้วที่ว่างานศิลปะนั้นก็ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำแล้วแต่จินตนาการก็หาไม่ แต่เป็นงานศิลปะที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เป็นงานศิลปะที่ถูกระบุขนาดลักษณะขอบเขตระยะไว้แล้วทั้งนั้น เช่น ความหนาตรงนี้หนา2 มิลลิเมตรเท่ากันโดยตลอด ระยะตรงนี้ห่าง 1 มิลลิเมตร กรอลึกลงไปอีก 0.5 มิลลิเมตร หรือขั้นสุดของอาจารย์คือ “ระยะนิดนึง”
“หมอทำตรงนี้อีกนิดนึงนะคะ น่าจะได้แล้ว” นิดนึงอยู่ห้ารอบยังไม่ผ่านเลย ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่า “นิดนึง” มันระยะแค่ไหน
(นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหมอฟันชอบพูดคำว่า “นิดนึง” เพราะมันดูคลุมเครือดี “เจ็บนิดนึง” “เสียวนิดนึง” “อ้าปากนิดนึง”)
ดังนั้นคนที่มีทักษะการใช้มือดีประดิษฐ์ประดอยนู่นนั่นนี่แต่เด็กย่อมได้เปรียบคนที่จับแต่ปากกา ไอโฟน ไอแพดไปวันๆ ไม่เคยหยิบจับงานฝีมืออะไร
4. เรียนจากการปฏิบัติจริง
พอร่ำเรียนความรู้ ฝึกฝนฝีมือมาอย่างหนัก เราก็จะได้เป็นหมอจริงๆ ทำคนไข้จริงๆ กัน ดังนั้นการทำงานเล็กๆ ในช่องแคบๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งอาจารย์ที่ตรวจงานเราย่อมกวดขันให้เราทำงานที่ดีที่สุดให้คนไข้ ความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดต้องไม่มี อาจารย์จึงต้องเข้มงวดเรื่องความรู้และงานที่ทำอย่างหนัก (มากกกกกก)
คนไข้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับการเรียน ใครได้คนไข้มาได้ตลอดมาตรงเวลานับว่าโชคดี บางคนเจอคนไข้เบี้ยวมาสาย ต้องเปลี่ยนงานทำล่าช้าก็ลำบาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพที่ดีของหมอและคนไข้ด้วยเช่นกัน นับเป็นอีกทักษะหนึ่งที่หมอฟันควรมี
5. จิตใจต้องแข็งแกร่ง
จากทุกข้อที่กล่าวผ่านมาจะเห็นว่าความเครียดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่เรียน คะแนนไม่ดีก็เครียด ทำงานไม่ดีก็เครียด อาจารย์เข้มงวดก็เครียด คนไข้ไม่มาก็เครียด โอย เครียดไปหมดเลยโว้ย
การรับมือกับมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางเรื่องเราก็ควบคุมไม่ได้ จิตใจจึงต้องแกร่งพอ ใครจิตใจเปราะบางทนแรงเสียดทานไม่ไหว จัดการความเครียดไม่ได้ จิตตกไปก็เยอะ เลิกเรียนไปบ้างก็มี
อ่านจนจบหลายคนอาจบอกมันลำบากขนาดนั้นเลยเหรอ เวอร์ไปหรือเปล่า?
โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเรียนเพื่อจะประกอบวิชาชีพอะไรสักอย่าง กว่าจะมีความรู้ความชำนาญไม่มีอันไหนง่าย มีความยากลำบากแตกต่างกันไป เลยเอามาแนะแนวกันโดยเฉพาะวัยมัธยม จะได้สำรวจตัวเองว่ามันถูกจริตกับเราจริงหรือเปล่า ไม่ใช่แค่เรียนเพราะสอบได้คะแนนสูง หรืออยากเป็นหมอฟันนั่งทำฟันชิคๆ ชิลล์ๆ เพียงแค่นั้น เพราะกว่าจะถึงจุดนั้น มันต้องผ่านอะไรมาเยอะนะเธอ
เมื่ออ่านจบแล้ว จงถามตัวเองอีกครา
แน่ใจแล้วนะ ว่าอยากเป็นหมอฟัน?
ที่มา : เพจห้องทำฟันหมายเลข 10
ภาพประกอบ : คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.พะเยา
หมอฟัน น่าจะเป็นอาชีพในฝันของเด็กมัธยมหลายคน บางคนอาจรู้แค่ว่า เรียนให้เก่ง สอบให้คะแนนเยอะ เพื่อจะได้เข้าเรียนสมใจสอบ…
โพสต์โดย ห้องทำฟันหมายเลข 10 บน 24 สิงหาคม 2015