บทความนี้แคมป์ฮับร่วมมือกับค่ายลานเกียร์ คณะวิศวจุฬาฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้กับน้องๆ ที่สนใจคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สวัสดีจ้า ทักทายน้องๆ แคมป์ฮับทุกคน ต่อจาก EP. ที่แล้ว ที่พี่ๆ ค่ายลานเกียร์ วิศวฯ จุฬาฯ ได้พาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับอาชีพวิศวกร และวิศวฯ จุฬาฯ กัน วันนี้พี่ๆ ก็จะมาเล่าให้น้องๆฟังต่อ ถึงสามภาค สุดคลาสสิคที่เรียกได้ว่า กำลังเป็นเทรนด์ในทุกๆ วันนี้เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นั่นเอง!วิศวคอม.. จัดไป เด็กชอบคอม
เอาล่ะ ภาคแรกเรามาเริ่มกันที่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) หรือที่อาจจะเคยได้ยินเรียกกันสั้นๆ ว่า ภาคคอมฯ นั่นเอง แล้วภาคคอมเรียนอะไร ? ก็ตามชื่อเลยครับ ภาคคอมจะเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น เขียนโปรแกรม วางระบบ ออกแบบเครือข่าย วิเคราะห์เป็นต้น
ไฟฟ้า + คอม = วิศวคอม
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์เป็นการรวมกันของ วิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งศาสตร์สองแขนงนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นั้นมีความรู้เรื่องไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ โดยที่ส่วนใหญ่เขาจะศึกษาลงลึกกว่าเกี่ยวกับการคำนวณ แต่วิศวกรคอมพิวเตอร์นั้นนอกเหนือจากความรู้พื้นฐานเช่นเดียวกับเขา เรายังมีความรู้ทางด้านฮาร์ดแวร์ และระบบเน็ตเวิร์กอีกด้วย
จบไปทำงานอะไร?
- วิศวกรเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นคนออกแบบ และดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
- วิศวกรซอฟท์แวร์ เป็นวิศวกรที่สามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- ผู้บริหารระบบและวิเคราะห์ระบบ เป็นผู้ดูแลจัดระบบ คอมพิวเตอร์ขององค์กร หรือบริษัทที่มี ระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในการประมวลผล เช่น ธนาคาร บริษัทด้านอินเทอร์เน็ต และมหาวิทยาลัย เป็นต้น
- โปรแกรมเมอร์ และงานอิสระ เป็นวิศวกรที่สามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในการพัฒนาโปรแกรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นสายที่มีตลาดกว้างขวางที่สุด มีทั้งเป็นพนักงานบริษัท หรือเป็นนักพัฒนาอิสระก็ได้
วิศวอุตสาหการ.. สายบริหารต้องมาทางนี้
ภาคที่สองที่พี่จะเล่าให้ฟังคือ วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) ซึ่ง หรือ IE นั่นเอง จริงๆ แล้ว ภาคนี้มีอีกชื่อที่บางคนอาจจะคุ้นเคย นั่นก็คือวิศวกรรมระบบ (System Engineering) เพราะว่าภาคนี้จะต้องศึกษา “ระบบ” การทำงานต่างๆ วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ และหาวิธีการที่ทำให้ระบบเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยคำนวณในส่วนที่คนไม่สามารถคำนวณได้
เข้าไปเรียนอะไร?
- กลุ่มวิชาสถิติ เพราะสายงานวิศวกรรมอุตสาหการจะเน้นการพยากรณ์ ปริมาณต่างๆ ในกระบวนการผลิต
- กลุ่มวิชาออกแบบโรงงาน ออกแบบว่า แผนกนี้ควรจะอยู่ตรงไหน รูปแบบของสายการผลิตควรจะเป็นอย่างไร
- กลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะแน่นอนว่า เราจะออกแบบอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องออกแบบให้คุ้มค่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ด้วย
- กลุ่มวิชาการเขียนโปรแกรม ศึกษาเกี่ยวกับการเขียนแอพพลิเคชั่น และการเขียนเว็บเบื้องต้น โดยจะเน้นการนำโปรแกรมไปใช้มากกว่าการเขียนโปรแกรม
- วิชาพื้นฐานของภาคอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจลักษณะโดยรวมของงานวิศกรรมสาขาอื่นๆ
จะไปทำงานอะไร?
งานของวิศวกรอุตสาหการจะแบ่งเป็น 2 สายหลัก คือ..
- สายโรงงาน ในโรงงาน วิศวกรอุตสาหการจะดูแลตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบการผลิต การออกแบบคลังสินค้าเพื่อรองรับการผลิต การพยากรณ์ยอดสั่งซื้อในอนาคต
- สายบริการ ใช้ความรู้ด้านสถิติมาช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า เนื่องจากความต้องการของลูกค้าในอนาคตมีความไม่แน่นอน
วิศวเครื่องกล.. ไม่ได้มีแค่รถยนต์
ภาคสุดท้ายที่พี่จะเล่าให้ฟังในตอนนี้ ก็คือ วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ภาคเครื่อง” นั่นเอง ขึ้นชื่อว่าภาควิชาเครื่องกลแล้วน้องๆ คงนึกถึงเกี่ยวกับเครื่องจักรกลต่างๆ รถยนต์หรือหุ่นยนต์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของภาควิชาเครื่องกลเท่านั้น
แล้วภาคเครื่องเรียนอะไร?
วิศวกรรมเครื่องกลจะศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 สายย่อย คือ
- กลศาสตร์เกี่ยวกับการเคลื่อนที่และวัตถุ เช่น ของแข็ง พลวัต (การเคลื่อนที่ของวัตถุ) สถิตย์ (วัตถุที่อยู่นิ่ง) การสั่นสะเทือน
- พลังงาน กลศาสตร์ของไหลและความร้อน อุณหพลศาสตร์ (Thermodynamics) การส่งถ่ายความร้อน การทำความเย็น การเผาไหม้ ระบบโรงไฟฟ้า
- การควบคุม Automatic Control, Signal and system และ Instrument and Measurement
นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ และการเขียนแปลนอีกด้วย
จบไปทำงานอะไร?
วิศวกรเครื่องกล สามารถทำงานได้ในทุกๆ ที่ ที่มีพลังงาน (โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับกลศาสตร์ความร้อน) และการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องจักรในระบบอุตสาหกรรม ระบบควบคุมอัตโนมัติ ยานยนต์ ไปจนถึงระบบท่อ และของไหลต่างๆ ทั้งเครื่องปรับอากาศ ระบบท่อในโรงงาน ตู้เย็น หรือกระทั่งท่อประปา
เอาล่ะ ก็จบไปแล้ว กับภาคทั้งสามสุดฮิตที่พี่ได้เอามาเล่าให้ฟังในวันนี้ ถ้าน้องๆ อยากรู้เรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติม ก็อย่าลืมสมัคร ค่ายลานเกียร์ ค่ายแนะแนวทางวิชาการที่จะทำให้น้องได้รู้จักกับคำว่า วิศวฯ และ วิศวกร มากยิ่งขึ้น วันพรุ่งนี้จะปิดรับสมัครแล้วนะ เลื่อนวันรับสมัคร ถึงวันอังคารที่ 16 ตุลาคมนี้ละนะ รีบๆ ไปสมัครกันเลย ดูรายละเอียดได้ที่ www.camphub.in.th/larngear-camp-18 (เสียงหม่อมป้อม มาสเตอร์เชฟ : เตือนแล้วนะ !!) ใน EP. หน้า พี่ๆ จะมาเล่าให้ฟังอีก 3 ภาควิชา แต่จะเป็นภาคไหนนั้น ต้องมาติดตามกันทางแคมป์ฮับนี่เลย สำหรับวันนี้พี่ขอลา ไปก่อน แล้วพบกันใหม่ ใน EP. หน้านะ :)
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อ..
Facebook : LarnGear Camp
พี่แพ็ค 085-167-2293
พี่ป่าน 087-830-9292
พี่ลูกไม้ 097-921-4568
อย่ารอเวลาให้ความฝันเข้ามาหาเรา
ออกมาตามหาตัวตนไปด้วยกันที่ “ค่ายลานเกียร์”
#LARNGEARCAMP #LG18