กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB review

รีวิวค่ายกำยำ Vol.2 วิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาฯ [EP.63]

สิ่งที่น้องๆ จะรู้ได้จากรีวิวนี้

  • เปิดโลกวิทยาศาสตร์การกีฬา หนึ่งในคณะที่โด่งดังของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จบแล้วจะไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ โค้ช หรือครูพละจริงหรือ?
  • เจาะลึกประสบการณ์การเข้าค่ายกำยำ ครั้งที่ 2 ตั้งแต่การตอบคำถามจนจบค่าย

น้ำใจน้องพี่สีชมพู… สวัสดีค่า กลับมาพบกันอีกครั้งกับแคมป์รีวิว และตอนนี้ก็มาถึง EP.63 กันแล้ว ตั้งแต่มีคอลัมน์รีวิวมาก็ยังไม่มีการรีวิวค่ายเกี่ยวกับเรื่องการกีฬาเลย นี่ถือเป็นโอกาสดีที่พี่มนได้มาสัมภาษณ์พี่ค่าย และน้องค่ายจาก “ค่ายกำยำ ครั้งที่ 2” ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งจัดค่ายไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ใครที่ชื่นชอบกีฬา หรือมีความใฝ่ฝันอยากจะเติบโตในเส้นสายอาชีพนี้ อย่ารอช้า ไปอ่านกันต่อเลย!

เปิดโลกวิทยาศาสตร์การกีฬา

พี่ชะเอม (พี่ค่ายกำยำ ครั้งที่ 2) – วิทยาศาสตร์การกีฬา คือการนำหลักวิทยาศาสตร์และจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา เพื่อพานักกีฬา หรือบุคคลทั่วไป ไปสู่จุดสูงสุดของการพัฒนาร่างกายตนเองให้มีประสิทธิภาพ

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะที่สอนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้วิชาพลศึกษา และสุขศึกษา แต่ก่อนจะเริ่มต้นมาเป็นคณะอย่างทุกวันนี้ ก็แยกตัวออกมาจาก “คณะครุศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา” ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ หลังจากนั้นได้จัดตั้งเป็น “สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา” และท้ายที่สุดแล้ว ในปัจจุบันได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา” ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรต่างๆ ได้แก่

  • ระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
  • ระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา (หลักสูตรปกติ และหลักสูตรพิเศษ)
  • ระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา

สำหรับระดับปริญญาตรี ช่วงปี 1 และ ปี 2 จะเรียนวิชาปรับพื้นฐานทั้งหมดที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาควรรู้  เมื่อขึ้น ปี 2 เทอม 2 จะมีให้เลือก “แขนง” เพื่อแยกย้ายไปเรียนเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มวิชาชีพที่ตนสนใจ และเริ่มเรียนแยกแขนงวิชาจริงๆ ตอนปี 3 โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 แขนง ได้แก่

  • วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย เรียนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการบาดเจ็บและการรักษา ทักษะการเคลื่อนไหว หลักการโค้ชกีฬา เทคนิคการฝึกกล้ามเนื้อ และโปรแกรมการฝึกกล้ามเนื้อ
  • วิทยาการส่งเสริมสุขภาพ เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีพฤติกรรมสุขภาพ  ทฤษฎีและแนวทางปฎิบัติในการส่งเสริมสุขภาพของคนทั่วไป และบุคคลกลุ่มพิเศษภายใต้การดูแลของผู้สอน เช่น บุคคลในชุมชน การดูแลสุขภาพในเด็ก ผู้สูงอายุ และบุคคลที่เป็นโรค เป็นต้น
  • การจัดการกีฬาและนันทนาการ เรียนเกี่ยวกับการวางแผนจัดกิจกรรม เครื่องมือที่ใช้จัดกิจกรรม การจัดนันทนาการเพื่อธุรกิจหรือการประกอบการ

เรียนแล้วจบไปทำงานอะไร?

แต่ละแขนงได้แบ่งตามสายอาชีพ ได้แก่

  • วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย จะเน้นการทำงานกับนักกีฬา เช่น การออกแบบโปรแกรมฝึก การพัฒนาทักษะ ศักยภาพ การกินอาหารช่วงเก็บตัว ฯลฯ แขนงวิชานี้สามารถเป็นฟิตเนสเทรนเนอร์ได้ค่ะ เนื่องจากเรียนด้านนี้มาโดยตรง
  • วิทยาการส่งเสริมสุขภาพ จะเน้นการทำงานกับบุคคลทั่วไป(ไม่ใช่นักกีฬา) ให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพ โภชนาการในกลุ่มบุคคล หากทำงานในโรงพยาบาลร่วมกันกับหมอ หรือแผนกที่เกี่ยวข้องออกแบบโปรแกรมสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ หรือใช้รักษาอาการ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ฯลฯ
  • การจัดการกีฬาและนันทนาการ จะเน้นไปเรื่องของการเป็นผู้จัดอีเว้นท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเว้นท์การแข่งขันกีฬา หรือแม้แต่อีเว้นท์คอนเสิร์ต(แล้วแต่ความชื่นชอบของตัวบุคคล) เพราะเนื้อหาที่เรียนครอบคลุมสายงานอาชีพนี้ทั้งหมด

พอจะเข้าใจมากขึ้นกันแล้วรึยังเอ่ย ถ้าน้องๆ อยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่เลย

เข้าค่ายกำยำมีอะไรน่าสนุกบ้าง?

ค่ายกำยำ ครั้งที่ 2 เป็นค่ายที่จัดมาขึ้นเพื่ออธิบายแนวทางการศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าทำอย่างไร เรียนอย่างไร จบแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง แนะนำการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพเบื้องต้นว่าทำอย่างไรอย่างถูกวิธี ในปีนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนด้วยกัน แน่นอนว่าค่ายกำยำจะมาสอนๆ ทฤษฎีแล้วจบๆ ไปก็คงไม่สนุก มาเยี่ยมคณะวิทย์กีฬาฯ จุฬาฯ ทั้งทีก็ต้องมาเหมือนรีเล็กซ์กันซะหน่อยยย พี่มนก็ได้แอบไปถามพี่ค่ายมาให้ช่วยบอกคร่าวๆ ว่าแต่ละวันมีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง อะไปดูกัน!

Day 1 

  • กิจกรรมแนะนำคณะ พาไปดูสถานที่ต่างๆ ภายในคณะ
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ เช่น ลู่กลน้ำ (Swimming flume) ซึ่งใช้ทดสอบและช่วยนักกีฬาว่ายน้ำฟื้นฟูจากอาการบาดเจ็บได้ดีขึ้น ในค่ายจะให้ความรู้ว่าลู่กลน้ำคืออะไร ทำงานอย่างไร อีกสิ่งหนึ่งก็คือ เครื่องไอโซคิเนติก (Isokinetic machine) นั้นใช้ทำอะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง
  • สอนทำ Sports drink ว่าควรมีส่วนผสมอะไรบ้าง ในสัดส่วนเท่าไหร่

Day 2 

  • จะมีกิจกรรมลองเรียนดู เป็นกิจกรรมที่ให้น้องๆ ได้มาเรียนรู้วิชาต่างๆ ที่เรียนภายในคณะ เช่น กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) สรีรวิทยา (Physiology) เป็นต้น
  • มีกิจกรรม Lab แบ่งออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ ฐานทดสอบสมรรถภาพทางกาย ฐานปฐมพยาบาลเบื้องต้น และฐานออกกำลังกาย รวมถึงมีการสอนออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายเบื้องต้น สำหรับน้องๆที่อยากเริ่มออกกำลังกายอีกด้วย
  • นอกจากนี้ภายในค่ายยังมีกิจกรรมสนุกๆ ให้กับน้องๆ ได้มาร่วมสนุก สร้างมิตรภาพใหม่ๆ และได้ความรู้อีกด้วย

Day 3 

  • กิจกรรมสันทนาการ
  • ถ่ายรูปรวมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะร่ำลาอวยพรให้น้องๆ กลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

น้องๆ พอจะนึกภาพกันออกแล้วใช่มั้ยล่ะ ว่าแต่ละวันจะสนุกแค่ไหน แต่จะเจาะลงรายละเอียดมากกว่านี้ก็ลงไปอ่านบทสัมภาษณ์พี่ค่าย และน้องค่ายกันต่อเลยยย

เริ่มต้นที่พี่ค่ายกันก่อนเลยยย

พี่โจ๋ – สวัสดีครับ พี่โจ๋ครับ ตอนนี้อยู่ปี 3 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นประธานค่ายกำยำครั้งที่ 2 ครับ

พี่ชะเอม – สวัสดีค่า พี่ชะเอมค่ะ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำหน้าที่อำนวยการ 1- เฮดพี่บ้าน ค่า

หน้าที่แต่ละตำแหน่งของตัวเองนี่มีอะไรบ้างหรอคะ

พี่โจ๋ – หน้าที่หลักของประธานค่าย คือ ควบคุมดูแลการจัดค่ายในครั้งนี้ คอยติดต่อประสานงานกับอาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อนๆ และน้องๆ เพื่อให้สามารถจัดค่ายกำยำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดค่ายนะครับ

พี่ชะเอม – อำนวยการ 1 ก็คือเราต้องทำหน้าที่ก่อนวันงาน ซึ่งก็คือการเตรียมงานนั้นเองค่ะ เฮดพี่บ้าน คือ คนที่คอยจัดสรรบุคคล(ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตปี 2) ไปดูแลน้องๆ ตามบ้าน(กลุ่ม) โดยจะกระจายคนที่กล้าแสดงออก คนที่มีความเฮฮา ให้ครบทุกบ้าน เพื่อความเอนเตอร์เทรนของน้องๆ ที่มาค่ายค่ะ ส่วนน้องๆ ที่ผ่านข้อสอบคัดเลือกเข้ามา ค่ายเราก็จะมีเกณฑ์ในการกระจายน้องๆ ไปแต่บ้านเช่นกัน เช่น การคละโรงเรียน คละจังหวัด เป็นต้น

อันนี้คือสมัครหน้าที่ที่ทำเองใช่มั้ยคะ หรือว่ามีการคัดเลือกว่าใครควรทำหน้าที่อะไร

พี่ชะเอม – ต้องบอกก่อนว่าค่ายกำยำ เป็นหนึ่งในโครงการของสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นการคัดเลือกหน้าที่นี้จะอ้างอิงจากตำแหน่งในสโมสรนิสิตของคณะค่ะ เช่น เราเป็นหัวหน้าชั้นปี ปีที่2 ก็จะได้นับมอบหมายหน้าที่ให้จัดพี่บ้าน(ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2) ซึ่งคือการเลือกหน้าที่จะดูความเหมาะสมกับตัวบุคคล เพื่อการกระจายงาน และการดูแลที่ทั่วถึงค่ะ ในสโมสรเราจะแบ่งเป็นแต่ละฝ่าย เช่นฝ่ายสวัสดิการ จะดูแลเรื่องอาหาร ฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมก็จะได้ดูแลเรื่องการออกแบบสถานที่ อุปกรณ์ ดังนั้นหน้าที่อื่นๆในค่าย เช่น ฝ่ายสวัสฯ เฮดก็จะเป็นคนที่มีตำแหน่งเป็นฝ่ายสวัสดิการของสโมฯ ถ้าหากมีภาระงานมากกว่าจำนวนคนในฝ่ายก็จะรีคูดสตาฟซึ่งเป็นนิสิตทุกชั้นปีเพิ่มค่ะ

อยากจะถามเผื่อน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ว่า พี่โจ๋รู้ได้ยังไงว่าชอบทางด้านนี้ แล้วก็ทำยังไงถึงมาสอบติดคณะนี้ได้

พี่โจ๋ – พี่เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาและออกกำลังกายอยู่แล้ว ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายผมก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนต่อที่คณะอะไร มหาวิทยาลัยใด จนกระทั่งผมไปอ่านเจอเกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ว่าเรียนแล้วสามารถไปทำงานในทีมกีฬา เป็น personal trainer นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้วยความที่ผมชอบกีฬาอยู่แล้ว จึงอยากจะศึกษาหาข้อมูลให้มากขึ้นแล้วมาพบว่าคณะนี้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด จึงสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การกีฬามาด้วยโครงการแอดมิชชั่นครับ

วิทยาศาสตร์กีฬานี่จบไปทำอะไรได้บ้างคะ เห็นส่วนใหญ่จะครูพละจะมาจากคณะนี้กันด้วย

พี่ชะเอม – คำถามยอดฮิตเลยนะคะ (หัวเราะ) ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาคืออะไร วิทยาศาสตร์การกีฬาคือการนำหลักวิทยาศาสตร์ เช่นรายวิชาฟิสิกส์ชีวิตวิทยา เคมี ร่วมไปถึงจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเล่นกีฬา เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา ซึ่งตัวนักวิทย์กีฯนี้ ไม่จำเป็นต้องเล่นกีฬาเป็นถึงขั้น expert แค่ต้องรู้หลักการ(ที่นำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้) เพื่อพานักกีฬาไปถึงขีดจำกัดสูงสุด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อจบมาจะได้วุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต(วิทยาศาสตร์การกีฬา) นั่นเองค่ะ ดังนั้นเราจะไม่สามารถไปสอน หรือเรียกตนเองว่าเป็นครูพละได้ค่ะ เพราะเราไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ส่วนครูพละ จะเน้นไปในทางการนำความรู้แต่ละวิชากีฬานั้นไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่น การสอนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพกับตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งจะต้องเรียนคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สาขาพละศึกษา หรือสถาบันพละศึกษาต่างๆ ค่ะ ซึ่งจะมีวุฒิครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขศึกษา และพลศึกษา(แล้วแต่มหาวิทยาลัย) พร้อมใบประกอบวิชาชีพเพื่อรับรองในการทำงานค่ะ เพราะฉะนั้น “วิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ใช่ครูพละ” ค่ะ ?

ส่วนนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จบไปและสามารถไปสอนกีฬา ตามสถาบันเอกชนต่างๆ จะถือได้ว่าเป็นโค้ช(ซึ่งไม่ใช่คุณครูพละ) อาจเป็นเพราะมีความเชี่ยวชาญ หรือเป็นนักกีฬาเก่ามาก่อน นั่นเองค่ะ

ภายในค่ายมีกิจกรรมไหนที่อยากแนะนำน้องๆ เป็นพิเศษมั้ยคะ

พี่โจ๋ – จริงๆ ก็เลือกไม่ถูกเลยครับ เพราะแต่ละกิจกรรมก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ถ้าจะเลือกก็กิจกรรม lab ครับ เพราะเป็นกิจกรรมที่น้องๆ ได้ทดลองปฏิบัติจริง สามารถนำไปความรู้ทั้งในด้านการออกกำลังกายและการปฐมพยาบาลไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการนำไปสอนให้กับบุคคลอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้นครับ

พี่ชะเอม – มีหลายกิจกรรมที่น่าสนใจมากๆ เลยไม่สามารถตัดสินใจได้จริงๆ ค่ะ แต่สำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจจะเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็คงหนีไม่พ้นกิจกรรม “ลองเรียนดู” ซึ่งจะมีการจำลองห้องเรียน จัดสอนทฤษฏี หรือเนื้อหาจริงๆ ที่เมื่อน้องเข้ามาจะต้องเจอ และภาคปฏิบัติ ให้ลองทำจริง เช่น กายวิภาคศาสตร์ โภชนาการ การออกกำลังกาย ฯลฯ และนี่อาจจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจสำหรับน้องว่าจริงๆ แล้ววิชาชีพนี้เหมาะสมกับเราหรือไม่ ภายในคลาสก็จะมีรุ่นพี่คอยประกบกลุ่มน้องๆ หากว่ามีข้อสงสัย ก็สามารถถามได้ทันทีค่ะ

ช่วยเล่าความประทับใจในค่ายให้ฟังหน่อยค่ะ

พี่โจ๋ – จริงๆ ประทับใจหลายอย่างเลย เป็นค่ายที่ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้กล้าแสดงออกมากขึ้น ในตอนแรกก็มีอุปสรรคหลายอย่างๆกว่าจะมาเป็นค่ายกำยำแต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ สิ่งที่ประทับใจอย่างแรกก็คือ พี่ฟิล์ม ครับ พี่เขาเป็นคนที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ คอยให้คำแนะนำต่างๆ และเป็นผู้ที่ริเริ่มค่ายกำยำด้วยนะครับ ต่อมาก็คือพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆคณะทุกๆคน ที่คอยช่วยเหลือกันทำงานอย่างเต็มที่ ทุ่มเทให้กับค่ายนี้เพื่อให้ค่ายออกมาได้ดีที่สุด ผมรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของทุกๆคนนะครับ ละก็น้องๆทุกคนที่ให้ความสนใจมาสมัครเข้าร่วมค่ายกำยำครับ ที่ให้การตอบรับที่ดีต่อค่ายกำยำ หวังว่าจะมีโอกาสได้เจอกันในฐานะนิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬานะครับ

พี่ชะเอม – พูดถึงความประทับใจ ถ้ามองในมุมมองของส่วนหนึ่งในผู้จัดทำค่ายก็ได้เห็นความร่วมมือของคนทั้งคณะ ที่มีความตั้งใจ ทุ่มเทและเต็มที่ที่จะทำค่ายนี้ แม้จะต้องเหนื่อยแค่ไหน เจอปัญหาที่ไม่คาดคิดมากเท่าไหร่ เราก็ช่วยกันทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเป็นมุมมองของพี่ค่ายคนนึงก็คงเป็นรอยยิ้ม ความกล้าแสดงออก ความร่วมของน้องๆในแต่ละกิจกรรม และความประทับใจของน้องที่มีต่อค่ายนี้ ซึ่งบางส่วนได้กล่าวออกมาก่อนวันจบค่ายกำยำ อีกทั้งมิตรภาพรุ่นพี่รุ่นน้อง และที่สำคัญของรุ่นน้องกันเอง ที่มาจากต่างภูมิภาค ต่างวัฒนธรรม ต่างโรงเรียนได้มารู้จักกันสนิทกัน และส่วนนึงมี passion ในด้านเดียวกัน นั้นคือก็คือ ความใฝ่ฝันที่จะเข้ามาเป็นรุ่นน้องของพวกเราค่ะ ?

ฝากค่ายนี้กับน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร หรือกำลังสนใจในด้านนี้อยู่หน่อยค่ะ

พี่โจ๋ – สำหรับน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองว่าอยากเรียนคณะอะไรหรือชอบอะไร ก็อยากให้ทบทวนตนเอง ว่าจริงๆแล้วเราชอบอะไร อยากเรียนอะไร ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนตามที่คนอื่นคาดหวัง เพียงตั้งใจทำในสิ่งที่รัก ก็จะทำให้น้องๆมีความสุขในสิ่งที่เลือก ถ้าหากยังไม่รู้ว่าตนเองชอบเรียนอะไรหรือมีความสนใจในด้านการกีฬาและการออกกำลังกาย ผมก็ขอฝากค่ายกำยำของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจของน้องๆด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

พี่ชะเอม – ค่ะ สำหรับน้องๆ คนไหนที่มีความสนใจในด้านนี้ และอยากลองมาดูให้รู้ว่านี่ใช่ตัวตนเราหรือเปล่า หรือว่าอยากลองมาทำความรู้จักกับคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และสายวิชาชีพนี้ “ค่ายกำยำ” ถือได้ว่าตอบโจทน์น้องๆ มากเลยค่ะ ค่ายนี้สำหรับน้องๆ ม.ปลายทุกคน ซึ่งจะจัดช่วงในช่วงเดือน พค-กค เป็นค่ายพักแรม(ประมาณ 3 วัน 2 คืน) ค่าใช้จ่ายมีแค่ค่าเสื้อค่ายและของที่ระลึกเท่านั้น(ไม่รวมค่าเดินทางในการมาค่าย) นอกนั้นค่าอาหาร ค่าดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ฟรี!! ขอแค่น้องๆมีความตั้งใจ และเขียนใบสมัครเข้ามา ซึ่งพี่หวังว่าสักวันเราจะได้เจอกันในค่ายนะคะ ?

คุยกับน้องค่าย

น้องกิ๊ฟ – สวัสดีค่า ชื่อกิ๊ฟ ค่ะ ตอนนี้อยู่ ม.5 โรงเรียนพนัสพิทยาคาร จังหวัดชลบุรีค่ะ

น้องดีม – สวัสดีครับบบ ชื่อดีม ม.6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ครับผมม

รู้จักค่ายนี้ได้ยังไงเอ่ย

น้องกิ๊ฟ – รู้จักค่ายนี้จากเห็นเพจของเเคมป์ฮับลงค่ะ เลยตัดสินใจสมัคร ไปพร้อมกับเพื่อนอีกคน แต่กิ๊ฟติดคนเดียว ตอนเเรกจะไม่ไปเเล้ว เพราะสงสารเพื่อนค่ะ เเต่เพื่อนบอกว่าไปเถอะ ไปเเทนเค้าเเล้วกลับมาเล่าให้เค้าฟัง

น้องดีม – มีเพื่อนเเนะนำมาครับ เพราะว่าผมชอบพูดในห้องว่าอยากเข้าคณะเกี่ยวกับวิทย์กีฯ เพื่อนได้ยินก็เลยส่งค่ายมาให้ผมดู

ทำไมเราถึงอยากมาสมัครค่ายนี้ เพราะชอบเล่นกีฬาด้วยรึเปล่า

น้องกิ๊ฟ – เพราะหนูเห็นว่าค่ายนี้ ยังเเปลกใหม่สำหรับหนูค่ะ หนูอยากรู้ว่าเค้าเรียนอะไรบ้าง จบไปมีงานอะไรรองรับบ้าง เเละที่จุฬาฯ สังคมพี่ๆ เป็นยังไง
น้องดีม – ส่วนตัวไม่ได้เป็นนักกีฬาอะไรครับ เเต่หันมาชอบยกเวทละก็เริ่มเปลี่ยนเเปลงตัวเองครับผมมม

มาคนเดียวแบบนี้ หาเพื่อนใหม่ในค่ายยากมั้ยเอ่ย

น้องกิ๊ฟ – ไม่เลยค่ะ เพื่อนๆ น่ารักกันมาก ได้เพื่อนจากชลบุรีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ตอนติดค่ายเพื่อนทักไลน์มาค่ะ เพราะเห็นตอนเเนะนำตัวในไลน์กลุ่มค่าย เราเลยตัดสินใจนั่งรถไปด้วยกัน และกลับด้วยกันค่ะ ขาไปถึงค่ายพวกเราเป็น 2 คนเกือบสุดท้ายเลย ?

แล้วเราเคยเข้าค่ายที่อื่นมาก่อนมั้ย

น้องกิ๊ฟ – เคยไป…ค่ายจุฬา-ชลบุรี (อันนี้จัดที่ชลบุรี), ค่ายเพาะ(สา)สุข มธ., ทำก่อนฝัน Trueplookpanya ปี2 เเละ3, ค่ายเภสัชฯ ศิลปากร, ค่าย open capsule ของเภสัชฯ มหิดล, ค่ายรามาปณิธาน ของ คณะเเพทย์ รพ.รามาฯ, ค่ายจิตอาสา ของค่ายทำมือ และค่าย TUYEC ของคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ค่ะ

น้องดีม – ไม่เคยเลยครับ เป็นค่ายเเรกเลยยย

น้องกิ๊ฟเข้าค่ายไม่ค่อยซ้ำคณะกันเลยนะเนี่ย หลังจากจบค่ายมาแล้ว วิทย์กีฬาฯ เป็นหนึ่งในตัวเลือกของเรารึเปล่า

น้องกิ๊ฟ – หนูไปค่ายมาเยอะมาก เพราะสับสนค่ะ เเต่การไปค่ายทำให้หนูตัดช้อยคณะที่ไม่ใช่ไปได้เยอะเลย แต่สำหรับค่ายกำยำ หนูร่างกายไม่เเข็งเเรงค่ะ ทางบ้านเลยไม่อยากให้เล่นกีฬาหนักเลยให้เลือกอย่างอื่น กลัวหนูไม่ไหว เเต่หนูก็อยากเรียนนะคะ ที่นั่นสังคมดีมากกก??

ตอนที่สมัครเข้ามา ได้มีให้ตอบคำถามอะไรมั้ยคะ

น้องดีม – มีครับผมมม เป็นข้อสอบของทางกำยำเลย คัดเด็กเหลือ 60 คน สำหรับผม อาจจะเป็นเพราะผมชอบนะครับ เลยไม่คิดว่ายาก ยกตัวอย่างคำถามนะครับ ถ้านาย A ต้องการลดน้ำหนัก จาก 50 ให้เหลือ 45 ควรใช้เวลากี่เดือน เเละวิธีการลดน้ำหนักควรเป็นไปในทางใด นี่เเค่ข้อเดียวแล้วก็จะให้อธิบายยาวเลย

มีกิจกรรมไหนที่เราชอบที่สุดในค่ายมั้ยคะ

น้องกิ๊ฟ – ที่หนูชอบมากๆ ก็คือได้ ออกกำลังกายด้วยกันกับพี่ๆ เเละเพื่อนๆ ค่ะ ตอนเย็นเเละตอนเช้าของอีกวันได้เต้นซุมบ้า เเบบเหนื่อยยมากก เเต่สนุกสุดๆ พี่ๆ คอยเต้นอยู่ข้างๆ ด้วยตลอด มีตอนกลางคืนกิจกรรม คล้ายๆ ละครค่ะ เค้าจะมีเพลงมาให้ เเละเราก็จะเเสดงค่ะ อันนี้กลุ่มหนูทุ่มเทกันมากเเต่ตอนท้ายผิดคิวกันนิดนึง (หัวเราะ) และมีกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้หนูมีโอกาสได้คุยกับพี่ประธานค่ายด้วยค่ะ ปกติเเล้ว พี่เค้าพูดไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่หนูเเทบจะไม่เห็นเค้าพูดเลยในค่ายเเต่ตอนหนูเข้าไปหา พี่เค้าพยายามคุยกับหนูเเบบเห็นได้ชัด ซึ้งใจในพี่เค้ามากเลยค่ะ (หัวเราะ)

น้องดีม – สนุกหมดครับ เเต่จะชอบมากก็เรื่องเกี่ยวกับเวทเทรนนิ่งอะไรพวกนี้ มันเหมือนกับเป็นยิมเล็กๆ เเต่มีอุปกรณ์เเปลกๆ เเบบใช้ลมเเทนน้ำหนักอะไรประมาณนี้ พี่เขาก็ให้ลองเล่นดูอะครับ แล้วอธิบาย ผมก็คอยช่วยสอนเพื่อนในค่ายว่าเล่นยังไง มีเครื่องนู้นเครื่องนี่ด้วย พี่ๆ ใจดีมาก แต่ที่สอนจะเน้นทางทฤษฎี ให้น้องๆ ซะมากกว่า อาจจะกลัวเรื่องบาดเจ็บอะไรพวกนี้

ที่น้องกิ๊ฟบอกว่ามีการแสดง คือเป็นของแต่ละบ้านหรอคะ

น้องกิ๊ฟ – ใช่แล้วค่ะ หนูอยู่บ้านเกาะช้าง หนูจำได้ว่าหนูร้องไห้เลยตอนจบเพราะหนูเป็นคนวางเเพลนเรื่องตอนหลักเเล้วเเบ่งบทให้พี่ๆ ในบ้านเเต่ละคนเล่น เเล้วการเเสดงออกมาผิดคิวนิดนึง หนูเลยคิดว่าเป็นเพราะหนูเเน่ๆ ทำให้ทีมออกมาไม่ดี ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าพี่ๆ ม.6 ต้องรู้สึกเเย่เเน่ๆ เพราะพี่เค้ามีโอกาสเเสดงครั้งสุดท้ายจนร้องไห้ออกมา (หัวเราะ) งอเเงสุดๆ แต่พี่เค้าบอกไม่เป็นไรเลยอย่าคิดมากๆ พอจบค่ายนี้มาเรื่องนั้นก็กลายเป็นเรื่องตลกไปเลย ปล. พี่บ้านหนูนี่นักกีฬาทีมชาติเเฮนบอลเลยนะคะ (หัวเราะ) ขอขายพี่บ้านหน่อย!

ก่อนเข้าค่ายกับหลังเข้าค่าย เข้าใจความเป็นคณะวิทย์กีฬาฯ แตกต่างกันมั้ย

น้องดีม – ต่างนะครับ ตอนเเรกๆ จะคิดว่าต้องเป็นนักกีฬาระดับชาติอย่างเดียวรึเปล่า เเต่พอมารู้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นครับ

เราคิดว่าค่ายนี้ต่างกับค่ายอื่นๆ ที่เราเคยเข้ามายังไงบ้าง

น้องกิ๊ฟ – ค่ายนี้จะมีความต่างที่ได้ออกกำลังกายจริงค่ะ เเบบสุดจริงๆ ได้ลงมือจริงๆ พี่ๆ มีความเป็นกันเองมากๆ ถามไถ่ตลอดจนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่เเละเพื่อนๆ ที่มีก็มีความมุ่งมั่นในคณะนี้มากค่ะ บางคนตั้งใจอยากจะติดทีมชาติเลย บางคนทานเวย์เพราะเล่นกล้ามอยู่หนูว่ามันเป็นค่ายที่ใครรักกีฬาต้องมาจริงๆ ค่ะ

เหตุการณ์ไหนที่เราประทับใจมากที่สุดในค่ายคะ

น้องดีม – ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นขวัญใจค่ายครับ กว่าจะได้เป็นก็คัดกัน โหหห อย่างกับเดอะสตาร์เลย มีให้โชว์การเเสดงความเป็นตัวเรา จาก 6 คนเหลือ 3 คน ก็จะมีให้ตอบคำถาม คำถามของผมคือ “อะไรสำคัญที่สุดในการเริ่มออกกำลังกาย” ผมก็ตอบเเบบยกประสบการณ์ของตัวเองมาพูด แล้วก็บอกว่า passion คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ค่ายกำยำให้อะไรกับเราบ้าง

น้องกิ๊ฟ – อย่างเเรกเลยนะคะให้ความเข้าใจกับหนูว่าคณะนี้เค้าเรียนอะไรยังไงกันบ้าง ช่วยสร้างมิตรภาพดีๆ ระหว่างเพื่อนๆ ในค่ายเเละพี่ๆ ให้กับหนู ให้ความรู้สึกว่า จุฬา ไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงยากสำหรับเด็กต่างจังหวัดเเบบหนูอีกต่อไป ช่วยสร้างเเรงบันดาลใจในการเรียนต่อในระดับมหาลัยให้กับหนู ได้ความเป็นครอบครัว จริงๆ ค่ะ

น้องดีม – หลักๆ เลยคือทำให้ผมได้รู้ตัวตนของผม แล้วก็ได้รู้ว่ามหา’ลัยที่จะต่อก็มีเเค่ที่เดียวเลยครับก็คือที่นี่ แล้วก็ได้มิตรภาพ เพื่อนๆ วันที่นึงจะไม่ค่อยคุยกันมาก พอวันที่ 2 คือคุยกันกระจายเลย เริ่มออกลาย (หัวเราะ) พี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนตอนนี้ก็ยังติดต่อกันทางไอจี หรือเฟซบุ๊คอยู่เลยครับ

ฝากค่ายนี้กับเพื่อนๆ น้องๆ หน่อยจ้า

น้องกิ๊ฟ – ค่ายนี้ดีมากๆ เลยค่ะ อยากให้ทุกคนได้เข้ามาลองสัมผัสความเป็นวิทยาศาสตร์การกีฬาจริงๆ ที่เราไม่สามารถหาได้จากที่ไหนได้ เข้ามาสัมผัสความเป็นจุฬาฯ พี่ๆ ค่ายนี้ดูเเลดีมากเหมือนครอบครัวอยากให้ทุกคนได้มา เเละจะสามารถบอกกับตัวเองได้เลยว่าค่ายนี้ใช่คณะที่เราใฝ่ฝันมั้ย ถ้าใช่ก็ลุยย ได้ตรงเป้าเลย ยังไงก็อยากให้ลองมาก่อน ถ้าไม่ใช่ก็ยังได้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องมิตรภาพดีๆ ความทรงจำดีๆ จากค่ายนี้เเน่นอน

น้องดีม – ก็ค่ายกำยำนะครับ ถ้าใครที่สนใจด้านวิทย์กีฬาฯ อยู่เเล้ว หรือว่าอยากลองดู ผมบอกเลย เปิดใจมาดู ลองให้กำยำเป็นค่ายเเรกของพวกคุณ เพราะตัวผมเองไม่เคยสนใจค่ายอะไรพวกนี้ เเต่พอได้ไปกำยำก็ได้รู้เลยว่าที่ๆ เราไปครั้งนี้จะเป็นที่ๆ เราอยากอยู่รึเปล่า ซึ่งสำหรับตัวผมไม่ผิดหวังเลยครับ

และแล้วก็เดินทางมาถึงจุดสุดท้ายของบทความ เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย รู้สึกอยากจะไปเข้าค่ายกำยำแบบน้องกิ๊ฟ – น้องดีมกันบ้างรึยัง ของอย่างนี้อย่ามัวรีรอให้เวลาผ่านไป ถ้าค่ายกำยำมีจัดครั้งที่ 3 อีกเมื่อไหร่ รับรองว่าพี่มนและพี่แคมป์ฮับทุกคนจะรีบมาอัปเดทให้น้องๆ ทราบกันได้ทันท่วงได้แน่นอน หรือถ้าน้องๆ อยากจะติดตามผ่านแฟนเพจของทางค่ายเลยก็ย่อมได้เช่นกัน

และสำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากเล่าเรื่องราวดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากค่ายที่ไปมา สามารถส่งเรื่องราวของน้องๆ มาที่อีเมล [email protected] หรือส่งมาในเฟซบุ๊กแฟนเพจของแคมป์ฮับก็น้า ไม่ต้องกลัวว่าเราจะเขียนไม่ดีเพราะพี่ๆ แคมป์ฮับรอช่วยแนะนำน้องๆ อยู่ แล้วเจอกันใหม่แคมป์รีวิว EP. ถัดไป จะไปที่ค่ายไหน คอยติดตามกันนะคะ บ้ายบายยยย

เขียนโดย พี่มน แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่มน