กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
บทความ

ส่งต่อเกร็ดความรู้ “การบันทึกภาพความหลากหลายทางชีวภาพ” กับค่าย Power Green Camp #13

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก  บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

สวัสดีปีใหม่ฮะชาวค่าย ในช่วงต้นปีนี้น้องๆ มีแผนจะไปถ่ายรูปธรรมชาติ / เที่ยวที่ไหนรึเปล่าเอ่ย ~

วันนี้พี่ช้างมีเกร็ดความรู้เรื่อง “การบันทึกภาพความหลากหลายทางชีวภาพ” หนึ่งในบทเรียนจากค่าย  Power Green Camp 13 พร้อมพูดคุยสั้นๆ กับตัวแทนน้องค่ายฯ มาฝากครับ

ก่อนอื่นพี่ช้างขอแนะนำเกี่ยวกับค่ายเพาเวอร์กรีนสักเล็กน้อยนะครับ

“ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ ค่ายเพาเวอร์กรีน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้ว ในหัวข้อ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”

โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้สัมผัสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้ากับทักษะด้านศิลปะ ผ่านการลงมือปฏิบัติในเวิร์คชอปต่างๆ ที่ทั้งสนุกสนาน และได้ความรู้

อ่านบทความค่ายเพาเวอร์กรีน 13

โดยหนึ่งในเวิร์คชอปที่พี่ช้างอยากหยิบยกมาเล่าให้ชาว CampHUB ได้ร่วมเรียนรู้ไปกับชาวค่ายเพาเวอร์กรีน 13 นั้นก็คือ เวิร์คชอป “การบันทึกภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วย หลัก 5 อ. – องคาพยพแห่งภาพ” โดย คุณโดม ประทุมทอง นักธรรมชาติวิทยา นักเขียนและช่างภาพด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ภายในค่ายฯ ครับ

ว่าแต่จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปอ่านกันได้เลยจ้า :)

การถ่ายภาพต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์

การถ่ายภาพถือเป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ ตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับระบบกลไกของกล้องและเลนส์ชนิดต่างๆ ไปจนถึงเทคนิคการล้าง อัด ขยายภาพ และการตกแต่งภาพถ่ายควบคู่ไปกับความรู้เกี่ยวกับหลักการจัดองค์ประกอบของภาพ ทั้งในด้านเรื่องราว สี และแสง

1. มาเริ่มกันที่ อ แรกกันเลยดีกว่าครับ องค์ความรู้

การชดเชยแสง (Exposure Value)

Exposure Value หมายถึง ค่าที่ใช้วัดความสว่างของแสงในการถ่ายภาพ

อย่างที่หลายคนรู้นะครับ ว่าเราสามารถตั้งค่าความสว่างของภาพได้เอง โดยจะให้ภาพดูสว่างขึ้น หรือมืดลงก็ได้ตามความต้องการ

แต่ถ้าจะถามว่าต้องตั้งค่าเป็นตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะถูกต้อง ขอบอกเลยว่าไม่มีครับ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความถูกใจของช่างภาพมากกว่า ที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราว หรืออารมณ์ของภาพในรูปแบบใด

ตัวอย่างการปรับ Exposure Value ที่ค่า -2, 0, +2 ตามลำดับ

ลองสังเกตจากภาพดูนะครับ ว่าทั้ง 3 ส่วนนั้นมีความสว่างไม่เท่ากัน เนื่องจากการปรับ Exposure Value นั่นเอง ต่อไปก็อยู่ที่น้องๆ แล้วครับว่าต้องการภาพที่มีความสว่างขนาดไหน ก็ลงมือปรับค่าได้ตามใจชอบกันเลย :)

การวัดแสง

เป็นฟังก์ชันหนึ่งของกล้องถ่ายภาพ ที่ทำให้เราได้แสงของภาพที่พอดี โดยฟังก์ชันการวัดแสงของกล้องถ่ายภาพทั่วไปจะมีด้วยกัน 4 แบบ ครับ ซึ่งแต่ละแบบนั้นก็เหมาะสมกับการถ่ายภาพในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ลองมาดูตัวอย่างของภาพที่ถูกถ่ายจากการวัดแสงทั้ง 4 แบบ กันครับ

การวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ (Evaluative Metering) เป็นระบบวัดแสงรอบด้าน เหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์หรือภาพบุคคลที่มีความเปรียบต่างของแสงน้อย
การวัดแสงแบบเฉพาะส่วน (Partial Metring) เป็นการวัดแสงเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่มีฉากหลังสว่างวัตถุ
การวัดแสงเฉพาะจุด (Spot Metering) ระบบเน้นเฉพาะจุดเล็กๆ ตรงกลางหรือวัตถุตรงกลางภาพ เพื่อนำมาคำนวณค่าแสงเท่านั้น ซึ่งเหมาะสมจะใช้งานเมื่อองค์ประกอบต่างๆ ในภาพมีความต่างของแสงมาก
การวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง (Center-weighted Matering) จะทำงานโดยให้ความสำคัญกับโทนสีบริเวณตรงกลางภาพมากกว่าบริเวณพื้นที่รอบๆ เหมาะสมกับการถ่ายภาพที่วัตถุมีขนาดใหญ่พอสมควรและไม่อยู่ในทิศทางย้อนแสง

เพื่อให้ได้แสงของภาพที่พอดี เราควรเลือกการวัดแสดงให้เหมาะกับความต้องการในสถานการณ์ต่างๆ

ทฤษฎีสี

ค่าสีของแสงหรืออุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นเช้ามืด กลางวัน บ่าย และกลางคืน ต่างส่งผลต่อภาพถ่ายที่ถูกบันทึกทั้งสิ้นครับ

ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาพแสงดังกล่าวให้ดี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของภาพตามที่ต้องการ

ตัวอย่างอุณหภูมิของภาพที่แตกต่างกัน โดยไล่จากโทนสีเย็นไปโทนสีอุ่น

2. องค์ประกอบศิลป์

การจัดองค์ประกอบภาพ

การจัดองค์ประกอบภาพ เป็นการเลือกวัตถุที่ต้องการถ่ายให้มาอยู่ในตำแหน่งของภาพตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะทางซ้าย ทางขวา หรือตรงกลาง

โดยการจัดองค์ประกอบภาพที่ดีนั้น จะช่วยให้ภาพดูสวยงาม ดึงดูดสายตา น่าสนใจ และเพิ่มคุณค่าทางศิลปะให้กับชิ้นงานชิ้นนั้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งก็มีผู้คิดค้นกฎต่างๆ เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบภาพขึ้นมาหลากหลาย แต่พี่ช้างขอยกตัวอย่างมาให้ดูเพียง 2 แบบ นะครับ

กฎจุดตัด 9 ช่อง แบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กันในแนวตั้งและแนวนอน โดยจะทำให้เกิดจุดทั้ง 4 จุด ซึ่งจุดตัดของเส้นทั้งสี่นี้ จะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดวางวัตถุที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่น
กฎ Golden Spiral มีลักษณะคล้ายก้นหอย โดยนิยมวางจุดเด่นของภาพไว้ที่ปลายของก้นหอย

ทิศทางของแสง

แสงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ รูปร่าง และพื้นผิว ของสิ่งต่างๆ และทิศทางของแสงยังทำให้เกิดภาพที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วยนะครับ

ดังนั้นหากรู้จักนำทิศทางของแสงมาใช้ เราก็สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายออกมาในรูปแบบที่หลากหลายได้ครับ

แสงด้านหน้า
แสงด้านหลัง

พอนึกออกแล้วใช่ไหมครับ ว่าถ้าเราเลือกถ่ายวัตถุที่ถูกแสงตกกระทบในทิศทางที่ต่างกัน ก็จะทำให้ได้ภาพในแบบที่ต่างกันด้วย ทีนี้ก็อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของเราเองนะครับ ว่าอยากจะให้ภาพออกมาในรูปแบบไหน

ช่วงเวลา

ช่วงเวลาในการถ่ายภาพที่เหมาะสม จะทำให้ได้ภาพถ่ายที่สวยงาม มีสีสัน และน่าสนใจอีกด้วยครับ

นอกจากนี้สภาพแสงในช่วงเวลาต่างๆ ของวันยังทำให้ได้ภาพถ่ายในหลากหลายอารมณ์อีกด้วย ทั้งสดใส เหี่ยวเฉา อ่อนล้า ก็สามารถถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายได้นะครับ

Mood and Tone

เป็นการทำให้ภาพมีความรู้สึก และอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสนุกสนาน ความเศร้า ความร่าเริง หรือความสงบ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ภาพนั้นมีองค์ประกอบศิลป์ที่ดีได้อีกด้วยครับ

มันก็จะเศร้าๆ หน่อย
อยู่คนเดียวมันเหงาจริงๆ นะ

3. อุปกรณ์

อุปกรณ์ถ่ายภาพก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการบันทึกภาพให้สวยงาม อุปกรณ์ที่น้องๆ ควรรู้จัก ได้แก่

  • กล้องถ่ายภาพและเลนส์ถ่ายภาพ อุปกรณ์หลักสำหรับการถ่ายภาพที่มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หลายรูปแบบ สามารถเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับการใช้งานและชนิดของภาพที่ต้องการถ่าย
  • อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ขาตั้งกล้อง / แฟลช / สายลั่นชัตเตอร์

นอกจากกล้องถ่ายภาพแล้ว ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือก็นิยมถูกนำมาใช้ถ่ายภาพเช่นกัน เพราะทั้งใช้งานง่าย และสะดวกครบจบในเครื่องเดียว มือใหม่อย่างเราๆ ก็ฝึกถ่ายภาพจากโทรศัพท์มือถือกันก่อนได้นะครับ

4. โอกาส

ฤดูกาล ช่วงเวลา

การถ่ายภาพสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะพืชหรือสัตว์ จะต้องอาศัยฤดูกาลและช่วงเวลาด้วยนะครับ เพราะทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะฤดูกาลส่งผลต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป

เช่น ในช่วงฤดูร้อนนกมักจะเลี้ยงลูกในรัง เพราะต้องการให้ลูกเกิดและเติบโตมาทันในช่วงฤดูฝนที่อาหารสมบูรณ์ ดังนั้นในฤดูร้อนนกหลายชนิดจะพบได้ง่ายตามรังหรือโพรงนั่นเอง

เอาล่ะครับ!!! ฤดูร้อนนี้เตรียมถือกล้อง ส่องตามโพรงนกกันได้เลย ได้เจอทั้งแม่ทั้งลูกแน่ๆ แต่พี่ช้างขอเตือนว่า อย่าเข้าไปใกล้พวกเขามากนะครับ เดี๋ยวจะทำให้เขาจะตกใจ

ประสบการณ์สร้างโอกาส

การถ่ายภาพสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยจะอยู่นิ่งสักเท่าไหร่ ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งนะครับ

ในบางครั้งการเลือกกดชัตเตอร์ผิดจังหวะก็ทำให้เราพลาดภาพเด็ดๆ อย่างที่ใจเราต้องการ แต่เคล็ดลับเด็ด 1 อย่าง คือ ประสบการณ์ และการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างไร

ฉะนั้นอยากถ่ายภาพสัตว์ตัวไหนก็อย่าลืมไปศึกษาการเคลื่อนไหวของเขากันก่อนนะครับ จะได้ไม่พลาด :)

พฤติกรรม ท่วงท่า ลีลา

การทำความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีพฤติกรรมอย่างไร ก็เป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากครับ จะด้วยการสังเกต หรือการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เราจะถ่ายก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่น่าสนใจ และดูมีชีวิตชีวามากขึ้นครับ

ลูกฟลุค!

ปัจจัยบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก หรือไม่สามารถควบคุมได้เลย ดังนั้นก็ต้องอาศัยลูกฟลุคกันด้วย

5. มาถึง อ สุดท้ายแล้วนะครับ นั่นก็คือ อั้ยยะ!

หมายถึงโมเมนต์ความประทับใจขั้นสุดเมื่อพบเห็นสิ่งต่างๆ จนเผลออุทานออกมาว่า “อั้ยยะ” และต้องการบันทึกภาพเก็บไว้ เป็นที่ระลึกกันหน่อย

เป็นยังไงบ้างครับ เทคนิคต่างๆ ที่พี่ช้างนำมาฝาก หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ชาว CampHUB ทุกคนนะครับ และรับรองได้เลยว่าเมื่อใครก็ตามที่ได้มาเห็นผลงานภาพถ่าย ที่ถูกถ่ายทอดตามองค์ประกอบทั้ง 5 นี้แล้ว ก็ต้องถูกใจจนต้องร้อง “โอ้โหวววว” กันเลยทีเดียว

อย่าลืม!!! ฝึกฝนกันบ่อยๆ กันนะครับ

ผลงานของน้องๆ ค่าย

“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของที่มีประโยชน์
ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น
จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
งานศิลปะจะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า…ได้อีกแรงหนึ่ง”

– พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่แสดงไว้ ณ The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007

สัมภาษณ์น้องค่ายเพาเวอร์กรีน 13 หนึ่งในผู้ที่ได้ร่วมสัมผัสการเรียนรู้ที่ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้ากับทักษะด้านศิลปะ

สวัสดีฮะ แนะนำตัวกันหน่อย

สวัสดีค่ะ ชื่อจารุภา ชื่นชวน ชื่อเล่นแป้ง กำลังศึกษาที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี ชั้นม.5 ค่ะ

ทำไมถึงเลือกเข้าค่ายนี้ครับ

ก่อนอื่นเลยที่เลือกเข้าค่ายนี้ เพราะว่าเป็นค่ายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทางที่เราชอบ

เราชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบค้นหาอะไรใหม่ๆ อยากเรียนคณะสิ่งแวดล้อมของมหาลัยมหิดล ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตเราต้องเข้าไปอยู่ในรั้วมหิดล!

ชอบกิจกรรมอะไรในค่ายฯ มากที่สุด

กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดเลย คือกิจกรรม การเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในมหาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาค่ะ เป็นการได้อยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ

ช่วยเล่าตอนไปทัวร์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ม.มหิดลให้ฟังได้มั้ยครับ

ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติอากาศดีมากๆ

เราได้เดินสำรวจสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติหลายๆ อย่างเลยค่ะ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ แมลง ที่เรายังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยรู้จัก ได้เข้าฐานการเรียนรู้ คือ ฐานเทคนิคการวาดภาพธรรมชาติยังไงให้ดูสวย ฐานเทคนิคการถ่ายภาพสิ่งแวดล้อม มันเป็นอะไรที่ดีมากเลยค่ะ

ภาพที่ถ่ายคืออะไร

ภาพที่ถ่ายคือลูกน้ำเต้าค่ะ!

แรงบันดาลใจก็คือ ได้ไปลงพื้นที่เห็นลูกน้ำเต้าที่ได้รับแสงที่กำลังค่อยๆ เปิดส่องมายังลูกน้ำเต้าให้มีความสวยงาม เปรียบเหมือน คนเราเติบโตด้วยความธรรมชาติ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

เตรียมตัวถ่ายภาพอะไรกันยังไงเอ่ย

ใช้หลัก 5 องค์ประกอบที่วิทยากรแนะนำไว้ค่ะ

ดูตามรอบอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติตรงไหนมีความธรรมชาติที่สุด ตรงไหนที่เหมาะกับการถ่ายรูปมากที่สุด

คิดว่ากิจกรรมถ่ายภาพนี้ให้อะไรกับเราบ้าง

เราได้ทั้งแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ ได้ความรู้จากการถ่ายภาพยังไงให้ดูสวย การจัดองค์ประกอบของภาพ ที่สำคัญคือได้รู้จักธรรมชาติอย่างแท้จริงค่ะ

พอจบค่ายฯ ไปแล้ว เราคิดว่า จะเลือกเรียนต่อในเส้นทางนี้มั้ย

คิดว่าอยากเรียนสาขานี้ เข้าทางเลยค่ะ เราได้รู้ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมที่เราใช้มันอยู่ สิ่งแวดล้อมถ้าเราไม่รักษามันไว้ เราคงไม่มีความสุข พวกเราทุกคนควรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น ชีวภาพ ต่างๆไว้ค่ะ

สุดท้ายแล้ว ขอ 3 คำกับค่ายนี้ครับ

มัน ดี มาก!

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย กับเกร็ดความรู้การบันทึกภาพความหลากหลายทางชีวภาพและบทสัมภาษณ์ของน้องค่าย Power Green Camp ตอนนี้ ได้ไอเดียและแรงบันดาลใจในการไปถ่ายรูปธรรมชาติกันมั้ยเอ่ย ~

สำหรับน้องๆ ที่สนใจค่ายนี้คงต้องอดใจรอกันนิดนึง เพราะปกติค่าย Power Green จะจัดขึ้นทุกปี โดยจะเปิดรับสมัครช่วงเดือนกรกฎาคม และจัดค่ายในช่วงเดือนตุลาคม ถ้าค่าย Power Green Camp 14 เปิดรับสมัครเมื่อไหร่ แคมป์ฮับ จะรีบมารายงานให้น้องๆ รู้กันให้เร็วที่สุดเลย !!

สวัสดีปีใหม่ครับ :)

คลิกที่รูปเพื่ออ่านรีวิวค่าย Power Green Camp 13

ติดตามค่าย Power Green Camp

เว็บไซต์ค่าย

เขียนโดย: พี่ช้าง แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณรูปภาพ: บมจ.บ้านปูฯ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล
เครดิตรูปภาพ:
1. ^ By Wolfgang Wander, Papa Lima Whiskey – http://www.pbase.com/wwcsig/image/86468128, CC BY-SA 3.0, Link
2. ^ By Nihaljabinedk, CC BY-SA 4.0, Link
3. ^ By I, Malene, CC BY 2.5, Link

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ช้าง

พี่ช้าง ทีมงานแคมป์ฮับสุดคิ้วท์ นักศึกษาคณะ ICT มหิดลที่มีใจรักในค่าย :)