บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
สิ่งที่น้องๆ จะได้จากบทความนี้
- ทำความรู้จักค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 14 (Power Green Camp 14) และกิจกรรมการเรียนรู้ของค่ายฯ ในปีนี้
- สัมผัสประสบการณ์สนุกๆ และความประทับใจที่เกิดขึ้นในค่าย Power Green 14 จากตัวแทนน้องในค่ายและพี่เลี้ยงค่าย
- แง่คิดดีๆ ในการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และดูแลโลกของเราให้น่าอยู่ต่อไป
สวัสดีฮะน้องๆ ชาวค่าย ช่วงนี้จะเห็นได้ว่าใครๆ ก็พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การล้มตายของสิ่งมีชีวิต และภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน..
ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากอากาศร้อนเพิ่มขึ้นจาก 98 ราย ในปี 2556 เป็น 3,500 ราย ในปี 2561[1]
สัตว์ในบางพื้นที่ทั่วโลก[2]มีโอกาสสูญพันธุ์เกือบ 25% หากโลกร้อนขึ้น 2 ºC
ชาวประมงจับปลาทูในพื้นที่อ่าวไทยได้ลดลงกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554[3]
บทความพิเศษวันนี้ พี่ช้าง เลยจะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 14 (Power Green Camp 14) ที่พาเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวที่เรียนอยู่ชั้นม. 4 – 5 สายวิทย์ จำนวน 70 คนจากทั่วประเทศ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เพื่อร่วมกันแสดงพลังในการต่อสู่กับวิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและโลกของเรา ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล
พร้อมพูดคุยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมและพี่เลี้ยงค่ายจากศิษย์เก่าค่ายฯ ปีก่อนๆ ถึงความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้เก็บเกี่ยวจากการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด รวมถึงความรู้สึก ความประทับใจ และสายใยที่เน้นเฟ้นของชาวค่ายฯ
ถ้าพร้อมแล้วก็เลื่อนไปอ่านกันได้เลยจ้า :)
ทำความรู้จักค่าย Power Green 14
ค่าย Power Green 14 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” เพื่อส่งเสริมให้น้องๆ ได้ศึกษาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงเรียนรู้แนวทางการรับมือ และร่วมคิดค้นวิธีการจัดการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากวิกฤตดังกล่าว เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และการลงมือปฏิบัติอย่างเข้มข้นตลอด 8 วันเต็ม
เช่น การฟังบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และการเดินทางไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่างๆ รวมถึงร่องรอยของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากห้องเรียนธรรมชาติ
นอกจากนี้ ในวันสุดท้ายของค่ายฯ น้องๆ ยังมีโอกาสได้สร้างสรรค์และนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ตกผลึกจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งค่ายฯ อีกด้วย
กิจกรรมไฮไลท์ในค่ายฯ
1. เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งอาจารย์ นักอนุรักษ์ และผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ คุณวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน พร้อมแบ่งปันมุมมองด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสาขาอาชีพของตนเอง เพื่อกระตุ้นให้น้องๆ เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป
2. เรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ จากการเดินทางไปทัศนศึกษา ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงอย่างสนุกสนาน และเข้าใจบทเรียนได้อย่างชัดเจน
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด : สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่างๆ และร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตและวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่ง
- สวนสนประดิพันธ์ : ร่วมกันช่วยเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอาด และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศริมชายหาดไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เกี่ยวกับการแยกประเภทขยะ และผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
3. เรียนรู้สู่การปฏิบัติ โดยนำความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ มาจัดทำเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนำเสนอต่อเพื่อนๆ พี่ๆ อาจารย์ และผู้ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละโครงงานของน้องๆ ในปีนี้ มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากความตั้งใจเดียวกันที่ต้องการร่วมกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
สัมภาษณ์น้องค่ายฯ
สวัสดีฮะ แนะนำตัวกันหน่อย
น้องกู๊ด – สวัสดีครับ ชื่อนายธีรายุวัฒน์ ศิริรักษ์ (กู๊ด) กำลังเรียนอยู่ชั้นม. 5 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพมหานคร ครับ
น้องใหม่ – สวัสดีค่ะ นางสาวสุปรียา ศรีมณี (ใหม่) กำลังเรียนอยู่ชั้นม. 4 โรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม (นิคมวัฒนา) จ.สตูล ค่ะ
น้องพี – สวัสดีครับ ผมชื่อนายกิตติภูมิ ตรีสาม (พี) กำลังเรียนอยู่ชั้นม. 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา ครับผม
รู้จักค่ายนี้ได้อย่างไรครับ
น้องกู๊ด – รู้จักจากโปสเตอร์หน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของโรงเรียนครับ
น้องใหม่ – รู้จักและติดตามค่ายนี้มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมต้นค่ะ รวมถึงได้ทราบรายละเอียดค่ายฯ ต่างๆ จากเอกสารที่ส่งมาที่โรงเรียน และติดตามทางเพจ Power Green Camp และ CampHUB ค่ะ
น้องพี – รู้จักค่ายนี้ผ่าน CampHUB ครับ
ทำไมถึงเลือกสมัครเข้าค่ายนี้ครับ
น้องกู๊ด – เนื่องจากได้แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากการไปชมมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติที่เมืองทองธานี
ประกอบกับได้ทราบข้อมูลว่าค่ายนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้จัดทำและนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีอาจารย์ประจำกลุ่มเป็นที่ปรึกษา จึงอยากมาค่ายนี้มากครับ
น้องใหม่ – เพราะอยากศึกษาต่อด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วค่ะ และโดยส่วนตัวหนูชอบเกี่ยวกับธรรมชาติ ป่าเขา พื้นที่สีเขียว และการผจญภัย จึงเลือกสมัครเข้าค่าย Power Green 14 ค่ะ
น้องพี – เห็นว่าเป็นค่ายที่มีกิจกรรมการเรียนรู้มากมายที่น่าสนใจ และไม่มีค่าใช้จ่าย ที่จัดขึ้นโดยบ้านปูฯ และ มหาวิทยาลัยมหิดล เลยคิดว่าน่าจะเป็นค่ายที่มีคุณภาพครับ
ตอนรู้ตัวว่าได้รับการคัดเลือกให้เข้าค่ายนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง และเตรียมตัวอะไรกันอย่างไรเอ่ย
น้องกู๊ด – รู้สึกดีใจมากครับ ไม่คิดว่าเรียงความที่เราส่งไปจะทำให้เราได้รับคัดเลือก และหลังรู้ผลก็รีบจัดเสื้อผ้าเตรียมไปค่ายฯ ไว้ล่วงหน้าเลย นอกจากนี้ ยังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมค่ายฯ ในปีที่ผ่านๆ มาทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม และเตรียมคิดหัวข้อโครงงานฯ ล่วงหน้าอีกด้วยนะครับ เพราะเราตั้งใจมาค่ายนี้มากจริงๆ
น้องใหม่ – ตื่นเต้นมากค่ะ และยังไม่เชื่อว่าตัวเองได้รับคัดเลือกจริงๆ เลยตรวจรายชื่อซ้ำๆ หลายรอบมาก 55 และก่อนจะมาค่ายฯ ได้ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวไปค่ายฯ ล่วงหน้า เพราะกลัวไปสาย รวมถึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะเดินทางไปทัศนศึกษาว่ามีความน่าสนใจด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง
น้องพี – ดีใจมากๆ ครับ ที่เรียงความเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผมส่งไปได้รับคัดเลือก และผมก็เตรียมสิ่งของและเตรียมตัวตามที่ค่ายฯ แจ้งมา รวมถึงเตรียมเรื่องสภาพจิตใจเพราะว่าต้องไปอยู่ที่ค่ายฯ ถึง 8 วัน 7 คืน
เรื่องราวในค่าย Power Green
ชอบกิจกรรมอะไรในค่าย Power Green มากที่สุด
น้องกู๊ด – ชอบกิจกรรมจัดแสดงและนำเสนอโครงงานฯ ครับ เพราะเป็นกิจกรรมที่ให้เราได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดตลอดค่ายฯ มาสร้างสรรค์เป็นโครงงานฯ ร่วมกับเพื่อนในทีม ซึ่งทำให้เราได้ฝึกทั้งทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม และความกล้าแสดงออกครับ
น้องใหม่ – ชอบทุกกิจกรรมที่ค่ายฯ จัดค่ะ แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ทำให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และได้รับความรู้ใหม่ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมมากมายเลยค่ะ
น้องพี – ชอบตอนลงพื้นที่ศึกษาในสถานที่จริง ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพราะว่าได้ไปเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง และยังได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้สนุกๆ มากมายครับ
มีเหตุการณ์ประทับใจอะไรที่อยากเล่าให้ฟังไหมเอ่ย
น้องกู๊ด – การได้ออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ ลงมือปฏิบัติ ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และนำความรู้จากค่ายฯ มา ต่อยอดใช้ทำโครงงานฯ ร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มครับ ซึ่งเรียกได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมาตลอด 8 วัน พอจบค่ายฯ แล้ว เพื่อนๆ ทุกคนก็คิดถึงกันมากเลยครับ
น้องใหม่ – การที่ได้จัดทำและนำเสนอโครงงานร่วมกับเพื่อนต่างโรงเรียน ซึ่งเป็นการนำเสนอโครงงานต่อหน้าคณะกรรมการ อาจารย์ เพื่อนๆ และบุคคลทั่วไปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับหนูเลยค่ะ
น้องพี – คงเป็นตอนที่รู้ผลว่าโครงงานที่กลุ่มผมร่วมกันทำได้รับรางวัล Popular Vote และรางวัลชนะเลิศนี่แหละครับ ?
กลุ่มพวกผมดีใจกันมากๆ เพราะทำงานกันหนักแล้วก็เครียดกันมาก แต่สุดท้ายผลตอบแทนมันก็คุ้มค่าครับ
เห็นว่าทุกคนประทับใจกับการทำโครงงานฯ ช่วยเล่าผลงานของกลุ่มตัวเองให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ
น้องกู๊ด – กลุ่มของผมทำเกี่ยวกับการสกัดคลอโรพลาสต์จากสาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) มาทำปะการังเทียมครับ
โดยนำประโยชน์จากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่เกิดกระบวนการสังเคราะห์แสงและการปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ธรรมชาติ ไปใช้ในการช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งปะการังเทียมยังสามารถเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ให้สัตว์น้ำได้ สามารถช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย
น้องใหม่ – เป็นโครงงานการทำนากุ้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Shrimp Farm) ค่ะ
ในกลุ่มพวกเรามีแนวคิดเกี่ยวกับการบำบัดน้ำและดินเค็มจากการทำนากุ้ง ด้วยพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตไปสร้างรายได้ต่อไป โดยจะนำต้นชะครามมาปลูกในพื้นที่หลังการทำนากุ้ง เพื่อเป็นการบำบัดดินเค็ม เพราะชะครามเป็นพืชที่ทนทานความเค็มสูงมาก และใช้ต้นธูปฤาษีในการบำบัดน้ำเสียจากการทำนากุ้ง โดยจะปลูกต้นธูปฤาษีเป็นขั้นบันไดในบ่อบำบัด ก่อนปล่อยเข้าสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูให้พื้นที่นากุ้งนั้นมีสภาพที่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังลดการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อทำนากุ้งอีกด้วย
น้องพี – โครงงานของผมมีชื่อว่า “นำขยะทะเล มาสร้างทะเล” โดยได้คิดค้น “สามเหลี่ยมโกงกาง” ตัวช่วยในการป้องกันการกัดเซาะ และฟื้นฟูชายฝั่ง ไปพร้อมๆ กับคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกผสมคอนกรีต ช่วยลดขยะ และลดต้นทุน โดยรูปทรงสามเหลี่ยมถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจ เพื่อให้สามารถลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบชายฝั่ง นอกจากนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานแล้วยังสามารถนำไป Re-Use เป็นวัสดุในการทำถนนต่อได้อีกด้วย
มีเรื่องแอบเมาท์พี่ค่ายให้ฟังไหม 555
น้องกู๊ด – พี่ค่ายนี้น่ารักมากครับ เปย์ขนมเก่งมาก มาค่ายนี้รับรองอ้วนครับ 55555
น้องใหม่ – พี่ค่ายน่ารักทุกคนเลยค่ะ โดยเฉพาะพี่ปันปัน เป็นกันเองมากๆ และเล่นได้กับทุกคน
น้องพี – ประทับใจความใส่ใจของพี่ค่ายแล้วก็ได้รับการอบรมอย่างดีจากพี่แอน (พี่จากมหิดลที่ดูแลและจัดการกิจกรรมต่างๆ ของค่ายฯ) ด้วยแหละครับ 55555
ฝากถึงเพื่อนๆ ที่กำลังสนใจในค่าย Power Green
คิดว่าค่ายนี้ให้อะไรกับเราบ้าง
น้องกู๊ด – ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากครับ เพราะนอกจากเราจะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาแล้ว วิทยาศาสตร์ยังสอนให้เรารู้จักคิดอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือในค่ายนี้เราได้ทำงานเป็นทีม ได้มิตรภาพที่ดี ประสบการณ์ทั้งหมดในค่ายนี้ถือว่ามีค่าและหาได้ยากครับ
น้องใหม่ – ค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้ประสบการณ์ ให้มิตรภาพ ให้หนูได้เป็นครอบครัวค่าย Power Green รวมถึงทำให้หนูได้ตระหนักและคิดที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปแบบไม่มีวันหยุดค่ะ
น้องพี – ให้เรื่องการพัฒนาทักษะของตัวเอง โดยเฉพาะทักษะการนำเสนอครับ เพราะค่ายนี้มีการพรีเซนต์เยอะมากกกกกกกกก 55555
ตอนแรกผมก็ยังติดๆ ขัดๆ แต่พอเวลาผ่านไปผมก็พัฒนาขึ้นเยอะ รวมถึงได้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และมีความตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการดำเนินกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ครับ
คิดว่าจะเลือกเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อมไหม
น้องกู๊ด – ค่ายนี้ทำให้ผมมีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นครับ
สิ่งแวดล้อมทุกระบบนิเวศนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กัน หากเราสร้างปัญหาแม้เพียงจุดเดียวก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้ และค่ายนี้ทำให้ผมได้สนุกกับวิทยาศาสตร์มากครับ เห็นเลยว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา รู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากแค่ไหน เลยคิดอยากจะเรียนต่อเกี่ยวกับสาขาทางวิทยาศาสตร์และการวิจัย เช่น วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ
น้องใหม่ – การเข้าค่ายนี้ทำให้มั่นใจเลยว่าอยากเรียนต่อในคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังทำให้หนูเข้าใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนควรจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ซึ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราก่อนค่ะ
น้องพี – ไม่ครับ เพราะผมอยากเรียนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ แต่การมาค่ายนี้ก็ทำให้ผมตระหนักว่าไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ ที่ผมอยากทำในอนาคตผมก็ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยครับ
สุดท้ายแล้ว ขอ 3 คำกับค่ายนี้ครับ
น้องกู๊ด – มัน ดี มากกกกกกกกกกก
น้องใหม่ – รัก ค่าย นี้
น้องพี – เค้า เปย์ หนัก!
พูดคุยกับพี่เลี้ยงค่ายฯ
สวัสดีฮะ แนะนำตัวกันหน่อย
พี่ทิว – สวัสดีครับ ชื่อนายทวีศักดิ์ กณารักษ์ (ทิว) เรียนอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย จ.เลย
เป็นพี่เลี้ยง Power Green 14 บ้านสีฟ้าครับ หน้าที่หลักๆ ของพี่เลี้ยง คือ ดูแลและอำนวยความสะดวกให้น้องในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องการเรียน สุขภาพ การกิน และการนอน ดูแลการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ประสานงานพี่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการจัดกิจกรรม ควบคุมน้องๆ ให้ตรงต่อเวลา รวมถึงร่วมเล่นเกมและทำกิจกรรมกับน้องๆ บ้างในบางครั้ง
ทำไมถึงตัดสินใจมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายฯ
พี่ทิว – ผมเคยเข้าร่วมค่าย Power Green 13 ครับ
และในปีนี้ที่ค่ายฯ ได้เปิดรับสมัครพี่เลี้ยง เป็นช่วงที่ผมรู้สึกอยากทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง ก็เลยตัดสินใจสมัครลองดู อยากรู้ว่าถ้าเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นน้องค่ายฯ มาเป็นพี่เลี้ยงค่ายฯ จะเป็นอย่างไร รวมถึงได้ชวนเพื่อนที่เคยเข้าค่ายฯ รุ่นเดียวกันมาสมัครด้วย เพื่อหาประสบการณ์ หาเพื่อน และหาความรู้ใหม่ๆ ครับ
มีความรู้สึกอย่างไรที่ได้มาเป็นพี่เลี้ยงค่ายฯ
พี่ทิว – อย่างแรก คือ ตื่นเต้น และดีใจมาก แล้วก็มีกังวลนิดหน่อย
อย่างที่สอง คือ เครียดและกังวลนิดหน่อย เพราะกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ กลัวว่าน้องๆ จะไม่เชื่อฟัง แต่พอถึงวันจริงไม่เหมือนกับที่เราคิดไว้เลย ทุกอย่างโอเค เลยรู้สึกดีขึ้น คุ้นเคย และสนิทกับพี่เลี้ยงคนอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี และด้วยความที่เคยเข้าค่ายนี้มาก่อน ทำให้เรารู้และเข้าใจว่าจะเกิดกิจกรรมอะไร แบบไหนขึ้นบ้าง ซึ่งก็ช่วยลดภาวะความกังวลลงได้
เตรียมตัวนานไหม ก่อนจะมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายนี้
พี่ทิว – มีเวลาในการเตรียมตัวกันอาทิตย์กว่าๆ ครับ และก่อนถึงวันจัดค่ายฯ 2 วัน พี่เลี้ยงค่ายจะมาเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับทำกิจกรรม รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมอบรมในหัวข้อต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพี่เลี้ยงค่าย เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ภาวะผู้นำ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น
รู้สึกอย่างไรกับน้องค่ายฯ และคิดว่าการมานี้พี่เลี้ยงได้อะไรบ้าง
พี่ทิว – รู้สึกรักและผูกพันกับน้องมาก 555
เมื่อตอนที่เราเป็นน้องค่ายฯ มันเป็นอีกบริบทหนึ่ง แต่พอมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายฯ แล้ว มันทำให้เข้าใจเลยว่า พี่เลี้ยงต้องทำงานหนักขนาดไหน และต้องทำอะไรบ้าง เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้วก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเราได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ได้มาร่วมกิจกรรมของค่าย Power Green อีกครั้ง
สิ่งที่เราได้จากการเป็นพี่เลี้ยงค่าย คือ ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ มากขึ้น รวมถึงได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ฝึกฝนทักษะการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา การบริหารจัดการเวลา และที่สำคัญเลย คือ ความรับผิดชอบ เพราะเราต้องดูแลน้องๆ ให้ได้ทุกคน
ฝากบอกน้องๆ ที่กำลังสนใจเข้าค่ายฯ
พี่ทิว – สำหรับน้องๆ ที่สนใจค่ายนี้ พี่อยากให้น้องเปิดใจมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาหาประสบการณ์ แล้วหลายๆ สิ่งก็จะตามมา ทั้งมิตรภาพจากเพื่อน พี่ และน้อง และที่สำคัญ คือ เราจะได้มาเป็นครอบครัวค่าย Power Green ด้วยกัน
ขอฝากไว้อีกนิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็น คือ ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา หากเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมโดยเล็งเห็นประโยชน์ ความสำคัญ และไม่ทำลาย สิ่งแวดล้อมก็จะยังคงอยู่เพื่อสร้างประโยชน์มากมายให้แก่มนุษย์อย่างพวกเราต่อไป
ถ้าใครสนใจก็มาสมัครได้นะครับ รับรองเลยว่าคุ้มเกินคุ้ม
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย กับบทสัมภาษณ์ความประทับใจและค่าย Power Green ตอนนี้ ~
และสำหรับน้องๆ ที่สนใจค่ายนี้คงต้องอดใจรอกันนิดนึง เพราะปกติค่าย Power Green จะจัดขึ้นทุกปี โดยเรื่มเปิดรับสมัครช่วงเดือนกรกฎาคม และจัดค่ายในช่วงเดือนตุลาคม ถ้าค่าย Power Green 15 เปิดรับสมัครเมื่อไหร่ แคมป์ฮับ จะรีบมารายงานให้น้องๆ รู้กันให้เร็วที่สุดเลย !!
ติดตามค่าย Power Green Camp
เว็บไซต์ค่าย สอบถามพี่ค่ายทาง Facebook Twitter @powergreencamp
เขียนโดย: พี่ช้าง แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณรูปภาพ: บมจ.บ้านปูฯ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล
อ้างอิง:
1. ^ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข
2. ^ พื้นที่สำคัญ 35 แห่งทั่วโลก ที่มีความโดดเด่นในเชิงระบบนิเวศและเป็นถิ่นอาศัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำแอมะซอน มาดากัสการ์ และลุ่มแม่น้ำโขง โดยเป็นข้อมูลจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย East Anglia มหาวิทยาลัย James Cook และองค์กรนอกภาครัฐ ที่เผลแพร่โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
3. ^ สถิติจากกรมประมง