สวัสดีครับน้องๆ พี่ชื่อพี่ออฟนะครับ หลังจากพี่บอสและพี่จาบอนได้เขียนคอลัมน์ “แคมป์รีวิว” เป็นคอลัมน์ที่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับค่ายต่างๆ ไป 2 ตอนแล้ว (EP.1 HyperCubeXXII, Ep.2 E-Camp6) ในตอนที่ 3 นี้พี่ออฟได้รับหน้าที่ไปติดตามค่ายปล่อยจิต ครั้งที่ 6 ครับ ซึ่งค่ายนี้จัดโดย ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ เป็นค่ายที่จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับโลกแห่งจิตวิทยา โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 6 แล้วนะครับ ค่ายจัดมานานพอสมควรเลย และมีผู้สนใจค่ายนี้เยอะมาก จะเป็นยังไงบ้างตามมาเลยคร้าบ
ความเป็นมาของค่ายปล่อยจิต
ค่ายนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า “ค่ายพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น” ถึงจะบอกว่าค่ายนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แต่จริงๆ แล้วค่ายนี้จัดมา 8 ครั้งแล้ว คือในภาควิชาจิตวิทยาของ มศว นั้นมีนโยบายที่จะจัดค่ายที่สร้างเสริมความรู้ว่าภาควิชาจิตวิทยานั้นเรียนอะไร จบไปแล้วทำงานอะไร ก็เลยได้จัดค่ายนึงขึ้นมาซึ่งมีชื่อว่าค่าย “MPEG” (Meeting Psychology for Education Guideline) ซึ่งเป็นค่ายที่แนะนำภาควิชาจิตวิทยาครับ ในปีต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อค่ายเป็นค่าย “PCT” (Psychology Camp for Teen) ก็มีจุดประสงค์เดียวกับค่าย MPEG ซึ่งเป็นแนวประชาสัมพันธ์คณะ
ต่อมาในปีที่ 3 ก็เริ่มปรับปรุงจุดประสงค์ของค่ายที่ในปีแรกๆ ทำแนวแบบเป็นการประชาสัมพันธ์ของภาควิชามันอาจจะมีประโยชน์ไม่มากพอและเอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้เพราะคณะนี้ไม่ใช่คณะที่ยอดฮิตเหมือน คณะแพทย์ คณะวิศวะ ก็เลยเพิ่มจุดประสงค์ขึ้นมาใหม่ก็คือสร้างทักษะชีวิต เปิดใจ และการเข้าใจตัวเองมากขึ้นของวัยรุ่น ดังนั้นการจัดค่ายในครั้งที่ 3 ก็เลยตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่า “ค่ายปล่อยจิต” ทางพี่ๆ รุ่นก่อนก็เห็นว่ามัน “เวิร์ค” ก็เลยจัดต่อเนืองมาเป็นครั้งที่ 6 ครับผม ซึ่งภายในค่ายก็จะมีกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างคุณธรรมและหลักการบางอย่างในชีวิต เพื่อที่จะทำให้น้องๆ ได้เข้าถึงตัวเองมากขึ้น
กิจกรรมภายในค่าย
กิจกรรมที่มีต่างจากค่ายอื่นๆ ซึ่งคิดว่าเป็นจุดเด่นของค่ายนี้ก็คือกิจกรรม “Group Section” คือกิจกรรมที่นั่งคุยกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะมีพี่กลุ่มนั้นคอยให้คำแนะนำ เหมือนเช่นพี่กลุ่มนั้นเป็นคนเปิดประเด็นขึ้นมา และให้น้องๆ มีส่วนร่วมโดยการเปิดใจเข้ามาคุยกัน โดยพี่กลุ่มนั้นไม่ใช่พี่กลุ่มธรรมดาๆ คือจะเป็นพี่ที่เป็นนักจิตวิทยาที่จะผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี พี่กลุ่มจึงมีความสามารถในการเชื่อมน้องๆ ให้เปิดใจเข้าหากันพูดคุยกันมากขึ้น และในค่ายนี้ก็มีกิจกรรมสันทนาการเพื่อให้เด็กค่ายนั้นละลายพฤติกรรมต่างๆ เพื่อที่จะเปิดใจและร่วมสนุกกับค่ายนี้ค้าบบ
มาคุยกับพี่ค่ายปล่อยจิตกันน
พี่ออฟก็ได้บรรยายเกี่ยวกับความเป็นมาและกิจกรรมของค่ายนี้มาพอหอมปากหอมคอแล้วนะครับ พี่ออฟจะพาคุยกะพี่ค่ายปล่อยจิต ครั้งที่ 6 นี้กันครับ ค่ายนี้เจ๋งใช่มั้ยละ? งั้นเรามาคุยกับพี่ค่ายนี้กันเลยย
พี่ออฟ:: สวัสดีครับพี่ ช่วยแนะนำตัวให้น้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่รู้จักหน่อยค้าบ
พี่นภ: พี่ชื่อพี่นภ กำลังขึ้นปี 3 ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มศว และเป็นรองประธานค่ายครับ
พี่ออฟ:: ค่ายนี้เป็นค่ายปล่อยจิต คือค่ายนี้คุยแต่เรื่องจิตวิทยารึเปล่าครับ
พี่นภ: ค่ายปล่อยจิต เป็นค่ายที่ปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเองออกมาครับ คือทางค่ายเราใช้หลักจิตวิทยาช่วยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา แต่เราไม่ได้เอาหลักทฤษฎีจิตวิทยาเอามายัดให้น้องนะครับ เราเอาทฤษฎีมาใช้เพื่อให้น้องได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองออกมา ค่ายอื่นๆ อาจจะแค่เพียงทำกิจกรรมร่วมกันแต่ค่ายนี้เป็นการพูดคุยร่วมกัน
ทางค่ายเราใช้หลักจิตวิทยาช่วยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา แต่เราไม่ได้เอาหลักทฤษฎีจิตวิทยาเอามายัดให้น้องนะครับ เราเอาทฤษฎีมาใช้เพื่อให้น้องได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองออกมา – พี่นภ
พี่ออฟ:: ค่ายนี้เป็นค่ายจิตวิทยาซึ่งมีน้องๆ ให้ความสนใจมากพอสมควร พี่นภมีเกณฑ์การคัดเลือกยังไงครับ
พี่นภ: คัดโดยใช้ใบสมัครครับ โดยคำถามแต่ละข้อนั้นก็จะมีการวัดบุคลิก วัดทัศนคติ วัดความเป็นผู้นำ แต่พี่ก็จะคัดเลือกแบบคละๆ กันเช่น คนมีความเป็นผู้นำ คนที่มีลักษณะกลางๆ คนที่มีลักษณะเป็นผู้ตามจะเอามาคละๆ กันเอามาเข้าค่ายแล้วใช้ชีวิตร่วมกัน และมาปรับจูนเข้าหากันครับ
พี่ออฟ:: พี่นภดูจากใบสมัครก็รู้ว่าน้องๆ มีบุคลิกยังไงใช่มั้ยครับ แล้วคำตอบนี่เน้น “ฮา” มั้ยอะครับ
พี่นภ: ใช่ครับ ถ้าบางข้อตอบมาฮาและดูมีเหตุผลก็โอเคนะครับ ถ้าบางคนตอบมาฮาแบบไร้สาระก็ไม่ได้ครับ
พี่ออฟ:: ถ้าสมมติผมเข้าค่ายนี้ และเรียนที่ภาควิชานี้ผมสามารถอ่านใจคนได้รึเปล่าครับ
พี่นภ: อันนี้เป็น Theme ของค่ายนี้เลยครับ คือคนทั่วไปชอบคิดว่าเรียนจิตวิทยาจะสามารถอ่านใจ สะกดจิต หรือมีพลังพิเศษอะไร แต่ค่ายนี้จะเป็นแนวๆ ว่า การเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการยอมรับในความแตกต่างในข้อดีและข้อเสียของเราครับ
คือคนทั่วไปชอบคิดว่าเรียนจิตวิทยาจะสามารถอ่านใจ สะกดจิต หรือมีพลังพิเศษอะไร แต่ค่ายนี้จะเป็นแนวๆ ว่า การเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการยอมรับในความแตกต่างของตัวเองและของผู้อื่น – พี่นภ
พี่ออฟ:: พี่นภอยากฝากอะไรเกี่ยวกับน้องๆ ที่อยากเข้าค่ายนี้ในปีต่อไปบ้างไหมครับ
พี่นภ: ถ้าน้องๆ อยากหากิจกรรมอะไรทำก็มาเข้าค่ายนี้ ถึงแม้คณะนี้ไม่ใช่คณะในฝันแต่ถ้าจบค่ายนี้พี่เชื่อว่าน้องๆ มีความสุขทุกคนครับ
[facebook] [tweet] [Google]
มาคุยกับน้องค่ายต่อเลย
จากที่เราพูดคุยเกี่ยวกับค่ายนี้กับพี่นภเกี่ยวกับค่ายปล่อยจิต นี้ไปแล้วนะครับ คราวนี้เราก็มาคุยกับน้องในค่ายนี้กันครับ
พี่ออฟ:: สวัสดีค้าบ ช่วยแนะนำตัวให้เพื่อนๆ ที่กำลังอ่านอยู่ได้รู้จักหน่อยค้าบ
น้องณัท: ชื่อณัทครับ ชื่อจริง ณภัทร แสงนา มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยครับบ
น้องแพรวา: ชื่อแพรวา ชื่อจริง มนสิชา ศรีสวนแตง มัธยมศึกษาปีที่ 6 สาธิตศิลปากร ค่ะ
พี่ออฟ:: น้องๆ เคยเข้าค่ายอื่นๆ มาก่อนมั้ยครับ
น้องณัท: สำหรับค่ายจิตวิทยาผมเข้าเป็นครั้งแรกครับ
นัองแพรวา: เคยค่ะ แต่นี่เป็นการเข้าค่ายแนวจิตวิทยาเป็นค่ายแรกด้วย
พี่ออฟ:: น้องๆ มีความรู้สึกยังไงต่อค่ายนี้บ้างครับ
น้องณัท: ค่ายนี้ก็อบอุ่นดีครับ ได้อยู่กับเพื่อนๆ และได้อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตครับ
น้องแพรวา: ก็สนุกดีพี่ๆ ดูแลดีมาก
พี่ออฟ:: แล้วน้องๆ มีความประทับใจอะไรใจค่ายเป็นพิเศษมั้ยครับ
น้องณัท: เพื่อนๆ ครับอบอุ่นกันดี โดยมานั่งคุยกัน รวมถึงทั้งพี่กลุ่มด้วยครับ และได้มีเพื่อนใหม่ๆ
น้องแพรวา: ก็ประทับใจเพื่อนๆ และพี่ๆ ก็ชอบแบบว่าที่ได้คุยกันอะ 555+ แล้วเราก็จะสนิทกับเพื่อนได้มากกว่าค่ายอื่นๆ มันได้คุยกันและได้สื่อสารพูดคุยกับเพื่อนมากขึ้น
พี่ออฟ:: น้องมาเข้าค่ายนี้แล้วอยากเป็นนักจิตวิทยามั้ยครับ
น้องแพรวา: ไม่ค่ะ 555+
พี่ออฟ:: แล้วไม่มีความสนใจในด้านนี้บ้างหรอครับ
น้องแพรวา: ก็คือไม่ได้อยากเข้าอยู่แล้วค่ะ ค่ายนี้มันไม่จำเป็นที่อยากเข้าคณะนี้ จิตวิทยาเหมือนได้ทำกิจกรรม เหมือนรู้จักความเป็นจิตวิทยามากขึ้น จิตวิทยามันอยู่ในทุกอย่างอะไรแบบนี้ค่ะ
ค่ายนี้มันไม่จำเป็นที่อยากเข้าคณะนี้ จิตวิทยาเหมือนได้ทำกิจกรรม เหมือนรู้จักความเป็นจิตวิทยามากขึ้น จิตวิทยามันอยู่ในทุกอย่างอะไรแบบนี้ค่ะ – น้องแพรวา
พี่ออฟ:: น้องๆอยากฝากอะไรกับเพื่อนๆ ที่สนใจค่ายนี้แต่ไม่ได้มาเข้าค่ายบ้างครับ
น้องณัท: สมัครเข้ามาได้เลยครับ ค่ายนี้สนุกดีสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ได้รู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่น เพื่อนค่ายที่ไม่ได้รู้จักพี่เขาก็ปรับ “จูน” เข้าหากัน คุยด้วยกันเล่าเรื่องของเราและฟังเรื่องของเขาด้วยครับ
น้องแพรวา: มามา มาสมัครมา สนุกดีถ้าน้องมาก็จะได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ได้รู้จักตนเองและได้รู้จักคนอื่นด้วยค่ะ
ค่ายนี้สนุกดีสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ได้รู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่น เพื่อนค่ายที่ไม่ได้รู้จักพี่เขาก็ปรับ “จูน” เข้าหากัน – น้องณัท
สุดท้ายนี้
มาถึงส่วนท้ายสุดของ Episode 3 แล้วนะครับกับค่ายปล่อยจิต ครั้งที่ 6 ตอน The 6th Sense ค่ายนี้เป็นอีกค่ายที่มีความรู้สึกอบอุ่นและจะสนิทสนมกับพี่กลุ่มและเพื่อนในกลุ่มมากๆ เลย ใครที่อยากได้ประสบการณ์ดีๆ จากการไปค่ายก็ลองมองหาค่ายที่สนใจได้ในเว็บแคมป์ฮับนะครับ รับรองว่าได้อะไรกลับมาคุ้มค่าแน่นอน สำหรับวันนี้พี่ออฟก็ต้องขอจบการรีวิวไว้เท่านี้ ในตอนต่อไปจะเป็นค่ายอะไรนั้นก็ติดตาม “แคมป์รีวิว” ในสัปดาห์หน้าเวลา 6 โมงเย็นนะครับผม สวัสดีครับ