กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB in focus

ชวนคุยกับครูจุ๊ย.. ในวันที่สังคมตั้งคำถามกับการศึกษาไทย

รู้จัก CAMPHUB in focus

สวัสดีค่าน้องๆ วันนี้ก็เป็นฤกษ์งามยามดี ที่เราจะมาเปิดคอลัมน์ใหม่ของ CAMPHUB นั่นก็คือ CAMPHUB in focus ซึ่งจะต่างจากคอลัมน์ idol และ inspire ตรงที่เราไม่ได้จะมาแนะนำอาชีพ หรือชวนน้องๆ ศึกษาเส้นทางเรียนต่อ แต่เราจะเจาะลึกเรื่องราวของคนเจ๋งๆในสังคม ว่าเขามีวิธีมองโลกยังไง เขาเคยทำอะไรมาบ้าง และอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เขาโดดเด่นในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ค่า

TODAY’s focus ครูจุ๊ย อดีต ส.ส. ผู้มีแพชชั่นกับการพัฒนาการศึกษา

สำหรับคอลัมน์แรก พี่แบมขอพาทุกคนมารู้จักกับ ครูจุ๊ย หญิงแกร่งในวงการการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ ก่อนหน้านี้ครูจุ๊ยยังเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ที่เราเคยเห็นในทีวีอีกด้วย วันนี้เราก็จะพาทุกคนมาเข้าใจวิธีคิดในการทำงาน วิธีการมองปัญหา และคติในการใช้ชีวิตของครูจุ๊ยกันน

แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักหน่อยค่า

สวัสดีค่ะ ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติค่ะ ตอนนี้เป็นกรรมการบริหารของคณะก้าวหน้า, ประธานกรรมการบริหารงานโรงเรียนต้นกล้าจังหวัดเชียงใหม่, ที่ปรึกษาประธานกรรมธิการการศึกษา และรองประธานอนุกรรมธิการด้านโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนและสวัสดิภาพผู้เรียนค่ะ

ทำไมครูจุ๊ยถึงสนใจเรื่องการศึกษาคะ มีเหตุการณ์ไหนในช่วงชีวิตที่ส่งผลให้ครูจุ๊ยมาอยู่ตรงนี้ได้?

สิ่งที่ทำให้เราสนใจ และอยากทำงานการศึกษาคือประสบการณ์ตอนไปฟินแลนด์ ตอนนั้นอายุ 15-16 ปี พอเราไปถึง มีคนมาถามเราว่าเราชอบเรียนอะไร เราอยากทำอะไร เราสนใจอะไร เขาไม่บังคับอะไรเลย แม้แต่การเรียนภาษาฟินแลนด์ เขาก็ถามความสมัครใจ ว่าอยากเรียนไหม ถ้าอยากเขาจะสนับสนุน 

การที่มีคนมาเคารพเราขนาดนี้ แล้วสนใจกับสิ่งที่เราทำจริงๆ มันทำให้เรารู้สึกว่า เออ มันทำการศึกษาแบบนี้ก็ได้นี่หว่า ทำให้เรารู้สึกดีกับสิ่งนี้มากๆ และมันก็ทำให้เราอยากไปเรียนในที่ที่มันมีคนแคร์และใส่ใจเราได้เท่านี้ เลยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราอยากพัฒนาการศึกษาที่มีความรัก ความใส่ใจอยู่ในนั้น

แล้วตอนมหาลัย ครูจุ๊ยเลือกเรียนคณะอะไรคะ ใช่ครุศาสตร์รึเปล่า?

ตอนเลือกคณะจุ๊ยไม่มีความฝันอยากเป็นครูเลย จุ๊ยเรียนอักษร จุฬาฯ เอกภาษาอังกฤษ โทศิลปะการละคร พอเรียนจบตรี ก็ออกมาทำงานปีนึง แล้วก็ไปเรียนปริญญาโทที่ฟินแลนด์ต่อ เพราะมันฟรีในยุคนั้น

คิดว่าปัญหาการศึกษา เช่น การที่เด็กหาตัวเองไม่เจอ มันมีที่มาจากอะไรบ้าง? 

ปัญหามันมาจากทั้งโครงสร้าง และวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อให้เด็กล้มแล้วลุก หรือเข้าใจว่าความชอบในวันนี้ อาจไม่ใช่ความชอบของ 3-4 ปีข้างหน้า

ปัญหาคือคุณบังคับให้เด็กต้องตัดสินใจสิ่งที่มันจะส่งผลกับเขาทั้งชีวิต คุณไม่สามารถทำให้การศึกษามันเป็นสิ่งที่เด็กรู้สึกเอนจอยหรืออยากทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆได้ 

สิ่งที่ควรจะเป็นคือเด็กต้องรู้สึกว่า ได้ลอง ได้รู้ว่าชอบ ไม่ชอบอะไรก่อนเลือก หรือมีโอกาสเลือกใหม่ถ้าไม่โอเค แต่ปัจจุบันไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสแบบนี้ 

ดังนั้นเมื่อโครงสร้างและวัฒนธรรมเองไม่ช่วยตรงนี้ เด็กไม่สามารถมีพื้นที่ที่จะทดลองได้ มันทำให้เขาต้องฟัง Second-hand experiences อ่ะ หรืออาจจะไปค่ายต่างๆ เพื่อลอง แต่ตัวระบบเองไม่อนุญาตให้เขาเปลี่ยนใจ โครงสร้างวัฒนธรรมก็ไม่เอื้อให้คนเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์และได้ทดลองอย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องกลัวล้ม

ทุกวันนี้ระบบศึกษามันพัฒนาขึ้นบ้างรึยังคะ จากที่เราบ่นๆ กันมาตลอด

ตัวระบบมันอยู่ที่เดิม ระบบโครงสร้างทั้งหมดมันแทบไม่เปลี่ยนไปเลย อย่างจุ๊ยเข้ามาทำงานนโยบาย ปีแรกเราวิพากษ์ตัวระบบยังไง ปีถัดไปมันก็ยังเป็นอย่างงั้น แทบไม่เปลี่ยนอะไรเลย คือเชิงระบบมันหมุนอยู่ที่เดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือผู้เรียน เพราะเขาเติบโตมาในยุคที่แตกต่างจากระบบ และคนสร้างระบบอย่างเต็มที่ เขาแตกต่าง และห่างจากระบบไปเรื่อยๆ

แล้วพวกนวัตกรรมการเรียนการสอนที่เข้ามาเสริม พอจะช่วยระบบการศึกษาของเราได้บ้างมั้ยคะ

ถ้าโครงสร้าง และวิธีการจัดการปัญหามันยังเหมือนเดิม ต่อให้เราเอานวัตกรรมการเรียนเจ๋งๆ ของฟินแลนด์มาใส่ในโรงเรียนไทยขนาดเล็ก มันก็ไม่เกิดหรอกค่ะ เพราะข้าวกลางวัน เด็กยังไม่อิ่มเลย ห้องน้ำยังสกปรก ครูยังตีเด็กโดยไม่มีเหตุผลอยู่เลย ดังนั้นคุณจะมาคาดหวังว่ามาเรียนอะไรล้ำๆ มันแทบไม่มีประโยชน์ เพราะว่ากายภาพเขายังไม่พร้อม

ถ้าโครงสร้าง และวิธีการจัดการปัญหามันยังเหมือนเดิม ต่อให้เราเอานวัตกรรมการเรียนเจ๋งๆ ของฟินแลนด์มาใส่ในโรงเรียนไทยขนาดเล็ก มันก็ไม่เกิดหรอกค่ะ

แล้วเราจะทำให้โรงเรียนไทยดีขึ้นได้ยังไงบ้าง มีนโยบายอะไรที่พอจะเป็นไปได้มั้ย

ปัญหาจริงๆ คือความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เรามีโรงเรียน 30,000 โรง ครึ่งนึงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่กระทรวงศึกษาฯ ใช้สูตรการคิดคำนวนการจัดสรรทรัพยากรแบบเดียวกันหมด ในการจัดการโรงเรียนที่ต่างกันคนละโลก ส่งผลให้โรงเรียนที่เล็กก็จะเล็ก และป่วยไปเรื่อยๆ

วิธีการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน (ระบบงบประมาณต่อหัว) ทำให้เด็กที่อยู่ในโรงเรียนห่างไกล ได้งบน้อยมาก ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะกลับหัวกันเลย โรงเรียนไกลที่มีเด็กอยู่ไม่เยอะ แต่จำเป็นต้องเปิดไม่งั้นเด็กไปเรียนที่ไหนไม่ได้แล้ว คุณต้องให้เงินเขาเยอะ เพราะค่าขนส่ง อาหารต่างๆ เขาต้องจ่ายเพิ่ม ค่าบริหารจัดการเขาต้องจ่ายเพิ่มเพราะโรงเรียนเขาไกล แต่ตอนนี้เขาได้เงินน้อยมาก บุคลากรก็น้อย แปลว่าครูคนเดียวต้องทำทุกอย่างยันขัดพื้นยันตัดหญ้า ยันต้องสอน ครูคนนึงทำทุกอย่าง ดังนั้นมันต้องไปแก้ที่การกระจายทรัพยากรของทั้งงบประมาณ และทรัพยากรที่เป็นครู เราจะใช้แบบแพทเทิร์นโหลเหมือนกันหมดไม่ได้แล้ว 

ทางออกคือคุณไปจัดเลยว่าโรงเรียนมีกี่ประเภท ต้องการทรัพยากรแบบไหนบ้าง แล้วคุณก็ให้ไปตามความเหมาะสม มันจะจัดได้ ประเทศไทยไม่ได้ขาดงบประมาณนะคะ ประเทศไทยกระจายงบได้แย่มาก อย่างเงินรายหัวเด็กตอนนี้ ไม่ขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อมาสิบปีแล้ว มันจะพอได้ไง

คิดยังไงกับคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักต่อปัญหาการศึกษา การเมือง และสิทธิมนุษชนมากขึ้นขนาดนี้

คิดว่าชีวิตคนรุ่นใหม่ กับบริบททางการเมืองภาพใหญ่มันเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งถามว่ารู้สึกยังไง ก็ดีใจที่เยาวชนเริ่มตั้งคำถามกับปัญหาและสิ่งที่เป็นอยู่ 

เราอยู่ในยุคที่เยาวชนกำลังตั้งคำถามเพื่อพัฒนา ในทวิตเตอร์จุ๊ยจะมีนักเรียนส่งคำถามมาหาตลอด เขาถามว่าระบบคุณครูเป็นแบบนี้ได้มั้ย ถ้าหนูคิดว่ามันไม่แฟร์มันควรจะเป็นแบบไหน สภานักเรียนจะจัดการยังไงดีอะไรอย่างงี้ คือมันเกิดการตั้งคำถาม และเขาไม่กลัวที่จะมาหาความรู้เพิ่มเติม 

จุ๊ยประทับใจที่เขาไม่ได้แค่ตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของตัวเอง แต่มันยังไปไกลถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสังคมด้วย มันไม่ใช่การเรียกร้องว่าแบบ “ฉันจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น” แต่ “ฉันและเพื่อนของฉันในรุ่นเดียวกันจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น” ถ้าสรุปคือนี่แหละคือสังคมที่จุ๊ยอยากเห็นและอยากให้มันเป็น

อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับครูจุ๊ยในฐานะคนขับเคลื่อนการศึกษาและการเมืองคะ

จุ๊ยจะกลับไปทบทวนตลอดว่าเป้าหมายที่เราเลือกมาทำงานตรงนี้ เรายังเดินไปสู่เป้าหมายนั้นอยู่รึเปล่า เราได้ทำงานเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมทางการศึกษาขึ้นในทุกๆ งานที่เราทำรึเปล่า สำหรับจุ๊ยมันคือการตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่หยุดที่จะถามตัวเองและยอมรับว่าระหว่างทางมันเกิดความผิดพลาดบ้าง และมีสิ่งที่เราต้องพัฒนาบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับการศึกษาภาพใหญ่ ที่เราต้องคอยตั้งคำถามกับมนัอยู่เรื่อยๆ ตรงไหนเราต้องพัฒนาบ้าง เราวิ่งไปเรื่อยๆ และต้องคอยกลับมาถามตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันใช่หรือไม่ใช่

ถ้าน้องๆ อยากเป็นเหมือนครูจุ๊ย ต้องทำยังไง

ไม่อยากให้เป็นเหมือนจุ๊ย อยากให้เป็นแบบน้องๆ อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสถามตัวเองว่าอยากทำอะไร และให้โอกาสตัวเองในการตอบไม่ได้ หรือตอบได้ หรือตอบว่าชอบ ไม่ชอบ แต่ขอให้ทุกคนได้มีโอกาสในการทดลองและถามตัวเองว่าอยากทำอะไร 

คติของจุ๊ยคือเราต้องใจดีในการใช้ชีวิตกับตัวเองประมาณนึง เพราะถ้าเราคาดหวังกับตัวเองในปริมาณที่สูงลิ่ว เหมือนที่จุ๊ยเคยเป็นมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลยอ่ะ มันทำให้คุณภาพการทำงานเราแย่ เพราะเรากดดันตัวเองจนเกินเหตุ เราควรรู้ข้อจำกัดและยอมรับข้อจำกัดของเรา ใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น วางแผน และทดลองในสิ่งที่เราอยากทำ และผลจะเป็นยังไงก็ไม่เป็นไร เราได้รู้ว่ามันเป็นยังไง

ถ้าน้องๆ อยากช่วยพัฒนาการศึกษามีอะไรจะบอกเขามั้ยคะ

การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีบทบาทส่วนใดส่วนนึงทั้งสิ้น ในการช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศนี้ ในระดับปัจเจค ถ้าคุณมีเพื่อนข้างบ้านที่เขาถูกกัดดันให้เรียนหนัก การที่คุณอยู่ข้างๆ เด็กคนนั้นแล้วรับฟังเขา คุณก็ได้ช่วยแล้ว แต่ถ้าอยากมาทำงานภาพใหญ่ขึ้นหน่อย มันก็จะมีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ ที่ช่วยเรื่องการศึกษา ถ้าออกไปแล้วก็อยากให้ไปตั้งคำถามต่อ ถึงตัวโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ อยากให้ไป อยากให้เห็น และไม่อยากให้หยุดที่แค่เราไปสร้างห้องสมุดแล้วจบ แต่อยากให้ตั้งคำถามต่อว่าอะไรทำให้เขาไม่มีห้องสมุดดีๆ เหมือนในกรุง

การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีบทบาทส่วนใดส่วนนึงทั้งสิ้น

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ยสำหรับอีพีแรกของ CAMPHUB in focus อ่านมาถึงกันตรงนี้แล้ว คำถามที่ทุกคนสงสัยเกี่ยวกับการศึกษาไทย บทความนี้ก็น่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้กันมากขึ้น ถ้าน้องๆ คนไหนที่อยากมาทำงานในด้านการพัฒนาการศึกษา พี่แบมก็หวังว่าน้องๆ จะได้เชื้อเพลิงชั้นดีในการเติมไฟให้น้องๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของบ้านเราเนาะ แต่จะให้ประชาชนออกมาขับเคลื่อนอยู่ฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เราก็หวังว่าภาครัฐจะเข้าใจในปัญหาแล้วมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังด้วยนะ สำหรับวันนี้พี่แบมและครูจุ๊ยต้องไปก่อน สวัสดี บั๊ยบายจ้าาา..

เขียนและสัมภาษณ์ พี่แบม พี่ฟิวส์ CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่โอ CAMPHUB
ขอขอบคุณสถานที่ สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่แบม

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"