สวัสดีค่ะน้องๆ กลับมาเจอกันอีกแล้วใน CAMPHUB in focus เจาะลึกเรื่องราวของคนเจ๋งๆ ในสังคม ว่าเขามีวิธีมองโลกยังไง เขาเคยทำอะไรมาบ้าง และอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เขาโดดเด่นในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่
TODAY’s focus วันนี้จะพาน้องมาคุยกับ ป้าป้อม หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล หรือที่เรารู้จักกันดีในนามเชฟป้อมแห่งรายการมาสเตอร์เชฟนั่นเอง น้องๆ คนที่สงสัยว่ากว่าป้าป้อมจะมายืนจุดนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง หรือกว่าป้าป้อมจะหาเส้นทางอาชีพ และแพชชั่นในการทำอาหารเจอมันมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางบ้าง พี่แบมจะพาน้องๆ ไปพูดคุยกับป้าป้อมกัน มาเริ่มกันเลย
สวัสดีค่ะคุณป้า ป้าป้อมแนะนำตัวหน่อยค่ะ
สวัสดีค่ะ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุลนะคะ ตอนนี้เป็นกรรมการในมาสเตอร์เชฟประเทศไทย และทำรายการทำอาหาร “ครัวชั้นสูง” ทางยูทูบค่ะ
อย่างแรกเลย แบมอยากรู้ว่าเมื่อย้อนกลับไปตอนเด็ก อะไรที่ทำให้ป้าป้อมสนใจในการทำอาหารหรอคะ
ไม่ได้สนใจเลย แต่เป็นภาคบังคับจากครอบครัวจนทำให้เรานึกว่าเด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้ต้องเจอแบบเรา ไม่เคยคิดว่าครอบครัวเราให้ความเข้มข้นขนาดไหน
จริงๆ แล้ว เราโดนบังคับแต่เด็ก ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ตัวว่าชอบหรอก แต่เราก็ทำได้ และยิ่งตอนหลังๆ เนี่ยมันมีความรู้สึกว่า คนอื่นพูดแล้วเรารู้ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น นึกว่าทุกคนบนโลกนี้ก็รู้เหมือนเรา แต่ในที่สุดก็มาเข้าใจว่าสิ่งที่ครอบครัวเคี่ยวเข็ญเรามา ทั้งอาหารไทย ทั้งฝรั่ง อะไรทั้งหลายเนี่ย มันทำให้เรามีความรู้เรื่องอาหาร เรื่องการครัว และประสบการณ์ตรงนี้
แล้วการฝึกทำอาหารของป้าป้อมในตอนนั้น เคยคิดไหมคะว่าจะมาทำเป็นอาชีพเลย
ไม่คิดจะทำเป็นอาชีพเลยค่ะ เพราะว่าได้เรียนทำอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะไปร้องเพลง การใช้เสียงทั้งหลาย ไปเรียนรัฐศาสตร์ จบรัฐศาสตร์ เพราะไม่ได้คิดจะอยู่ในครัว เรื่องเรียนก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำอาหาร สิ่งที่เรารู้ เรารู้มันอยู่แล้ว ไม่รู้จะไปเรียนมันทำไม เพราะเคยไปเทคคอร์สแล้ว แต่ก็ยังเพิ่มพูนนะคะในส่วนที่เราไม่รู้เนี่ย คนเราความรู้มันไม่มีวันเต็ม
ตอนนั้นเรียนรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยามนุษยวิทยา ที่จุฬาฯ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถามว่าเราทำอะไรที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมาไหม มันไม่ตรงสายวิชาชีพหรอกนะ แต่สิ่งที่เราเรียนมาเนี่ย สอนให้เราคิดเป็น จัดการเป็น รับมือกับผู้คน รับมือการทำงาน และจัดระบบการทำงานเป็นมากกว่า
แล้วไปมายังไง ถึงได้ไปเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือคะ
ตอนนั้นการสอบเข้าจะเลือกคณะก่อนแล้วจึงสอบ จริงๆ อยากเลือกบัญชีเพราะเรียนศิลป์คำนวณ แต่ว่าปีนั้นเนี่ยเขาไปตัดโควตาให้กับคนที่เรียนวิทย์ได้ที่นั่งมากกว่าศิลป์คำนวณ ซึ่งบัญชีจุฬาฯ เนี่ยรับศิลป์คำนวณแค่ 125 คน ในขณะที่สายวิทย์ได้ 250 คน แล้วสุดท้ายเราก็เลือกด้วยความขี้เกียจ ไม่ใช่คนขยันเลย ก็เลยเลือกกลุ่มวิชาที่เหมือนๆ กันมาคือรัฐศาสตร์สองอันดับ แล้วก็มาครุศาสตร์ นิเทศศาสตร์
ในมหาลัยก็ไม่ใช่เด็กเรียน แต่ไม่เคยได้เอฟนะคะ เป็นคนที่เรียนได้ผ่าน แต่ไม่ได้เก่งขนาดเกียรตินิยมหรืออะไร สิ่งที่ได้ก็คือเล่น ทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬาหลายๆ อย่าง บอกแล้ว การเรียนไม่เท่าไหร่ กิจกรรมดีมาก
พอจบออกมา ป้าป้อมได้ทำงานเกี่ยวกับอะไร แล้วจุดไหนที่วกกลับเข้ามาสู่วงการอาหาร
ตอนจบใหม่มาทำงานบริษัท เป็นงานออฟฟิศ ซึ่งก็ไม่ตรงอีก ตอนนั้นทำพวกอุปกรณ์ไอทีสำหรับการใช้ในสำนักงาน แล้วก็ได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ในแนวสำนักงาน สิ่งที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์เลย ก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด แล้วหลังจากนั้นก็ออกจากงานไปแต่งงานและต้องไปอยู่ต่างประเทศ กลับมาอีกทีก็เข้าทำงาน แต่คราวนี้มาเป็นตำแหน่งที่ดูแลกิจกรรมใดๆ ที่เกิดในออฟฟิศ หรือ Office Manager
ที่ทำให้สนใจเรื่องอาหารอีกที คือตอนไปอยู่ต่างประเทศ มันทำให้เรารู้ว่าเราอยากกินอะไร มันเป็นภาพย้อนกลับมาในสมอง เหมือนกรอเทปกลับมาเลย ว่าเราเคยทำอะไร พอจับปุ๊บ ก็ทำได้หมดเลย ทีแรกนึกว่าแค่ทำให้ชีวิตตัวเองอยู่รอด แต่ในที่สุดก็มารู้ว่าตัวเองรู้อะไรมากขึ้นเมื่อมีญาติชวนเปิดร้าน เราก็จะเป็นตัวตั้งเรื่องอาหารให้หมด และจากนั้นเราก็กระโดดเข้ามาอยู่กับอาหาร แล้วก็พบว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากกว่าที่คิด
มันเหมือนกับชีวิตได้บ่มมาระยะนึง มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ คนเราเรียนจบอาหารแล้วจะมายืนอยู่ตรงนี้ได้ ข้อแรกคุณต้องมีประสบการณ์ การทำเสีย การผ่านอะไรมาก่อน ไม่ใช่ว่าทำหนแรกปั๊บได้เลย เก่งเลย ประสบการณ์เนี่ยมันสำคัญ ทั้งชีวิตมา ดิฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกจาน ในทุกอย่าง มันมีบางครั้งที่เราลองคิดอะไรใหม่ๆ ที่ดูเหมือนดี แต่สุดท้ายไม่รอด ดังนั้นชีวิตไม่ใช่ว่าสำเร็จในทุกจาน แต่คนเราบอกเลยว่ามันไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ อย่าท้อนะมันมีทาง ปัญหาแก้ได้ทุกปัญหา เราผิดเราก็ต้องแก้ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลองทำ
งานชิ้นแรกเกี่ยวกับอาหารจริงๆ ของป้าป้อมคืออะไรคะ
งานชิ้นแรกเกี่ยวกับอาหารจริงๆ คือทำร้านอาหาร แต่พอทำร้านอาหารเนี่ย ทำให้เราพบคำตอบอีกอย่างว่า การที่เราชอบเรื่องอาหารเนี่ย การเปิดร้านอาหารไม่ใช่คำตอบเดียว เพราะว่าพอเปิดร้านอาหารเรานึกว่าเราจะได้สนุกกับการสร้างสรรค์นู่นนี่ แต่ความจริง มันมีปัจจัยที่บั่นทอนเราเยอะมาก เราพร้อมก็จริง แต่คนกินเขาจะเข้ามาไหม มันไม่ใช่พอเปิดร้านปั๊บเราจะได้พันหมื่นแสน วันนี้อาจจะเหลือสิบบาท วันหน้าได้หมื่นนึง มันมีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เรามี Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) นั่นคือค่าจ้างคน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใดๆ เนี่ย มันเครียดค่ะ ตอนนั้นก็รู้สึกไม่ไหว มันเครียด และขาดแรงบันดาลใจจะทำอะไร แค่เครียดกับตัวเลขก็แย่แล้ว ตอนนั้นก็มานั่งคิดว่าดีจังที่ไม่ติดบัญชี ไม่งั้นคงเครียดกว่านี้
ในที่สุดสิ่งที่จับได้ในตัวเองตอนหลังเนี่ย คือเราชอบการสอน และมีความสุขกับการสอนให้ใครทำอะไรแล้วเขาทำได้ แล้วพอมาถึงมาสเตอร์เชฟเนี่ย ตอนแรกที่ทีมงานโทรมาชวน เขาบอกจะมีรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทย เราตอบเขาเลย “ไม่แข่งหรอก แก่แล้ว” ทางทีมก็อึ้ง อ้าว! ยังไม่ได้พูดอะไรเลย เขาก็บอกจะขอเชิญมาสัมภาษณ์ ไม่ใช่ว่าได้ชื่อมาแล้วเอาเลย เขาก็ดูว่าอย่างน้อยเนี่ย เราก็ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่การที่จะเป็นกรรมการรายการนี้คุณต้องมีความรู้พอควร และคุณต้องมีพลัง อย่าลืมว่าอาจารย์อาหารไทยเก่งๆ เนี่ยเยอะ แต่ท่านสุขภาพไม่ได้แล้ว ท่านจะมาวิ่งไล่ผู้เข้าแข่งขันแบบเราไม่ได้แล้ว
ดังนั้นการทำตรงนี้มันไม่ใช่แค่คุณรู้มากรู้น้อยเท่าไหร่ คุณต้องมีองค์ความรู้ประมาณนึง คุณต้องแข็งแรง คุณต้องมีไหวพริบและมีภาษา เพราะรายการนี้ไม่มีสคริปต์ ใครที่บอกว่ารายการเซ็ตให้เราเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ เพราะเราเป็นคนแบบนี้โดยธรรมชาติ ดุโดยธรรมชาติ ไม่งั้นก็คงไม่ได้อยู่ในมาสเตอร์เชฟมาถึงสี่ปีแบบนี้ จะมีเด็ก หรือเซเล็บยังไง คาแรคเตอร์ก็ยังคงเดิม
จากบทบาทในรายการมาสเตอร์เชฟ ป้าป้อมเห็นอะไรในเด็กรุ่นใหม่บ้างคะ
จริงๆ ชอบนะ เพราะด้วยความที่เขาเป็นเด็กเนี่ย เขาจะกล้าได้กล้าเสีย เพราะงั้นเขาจะทดลองอะไรใหม่ๆ มากกว่าเรา ในขณะที่เราเป็นรุ่นเก่า เราจะติดอยู่กับสิ่งที่โดนสอนมา ต้องอย่างงั้นต้องอย่างงี้ แต่เด็กรุ่นใหม่เขาสามารถพลิกแพลงได้ แล้วในยุคเขาเนี่ย วัตถุดิบหรือเครื่องไม้เครื่องมือ เขามีมากกว่าเรา
ทำไมป้าป้อมดูเข้าใจเด็กรุ่นนี้ เพราะหลายครั้งผู้ใหญ่ก็จะชอบหงุดหงิดหรือดุเด็กๆ เวลาที่ทำแล้วไม่ได้ดั่งที่คาดหวัง มีเคล็ดลับอะไรให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในการคุยกับวัยรุ่นมั้ย
จริงๆ ในแง่การทำงานทุกอย่างที่อยากจะบอกก็คือเราเป็นผู้ใหญ่ก็จริง แต่เราต้องเปิดใจให้เด็ก ตัวเราเนี่ยจะมีความโชคดีที่มีลูกชายสามคน อยู่ในวัยที่พวกเขาแหละจะเป็นคนสอนเรา เขาจะมีวิธีพูด สอนให้เราลองนู่นนี่ เราไม่ต้องเห็นจะต้องติดอยู่กับหลักเกณฑ์เก่าๆ มาลองดู มันทำได้ ก็ยินดีจะรับ เพราะฉะนั้น การเข้าครัวด้วยกัน คุณเอาเทคนิคเรานะ แต่เราก็ฟังคุณด้วย และจริงๆ มันต้องมีฐานความเป็นครูไง เวลาทำคุณต้องสอนมากกว่าสั่ง ถ้าสั่งแต่สอนไม่เป็นเขาก็ทำไม่ได้
ป้าป้อมคิดเห็นอย่างไร ที่คนรุ่นใหม่อยากทำตามความฝัน แพชชั่นของตนเอง เช่น การทำธุรกิจ ร้านอาหารเป็นของตัวเอง
เราคิดว่าพื้นฐานมันเปลี่ยนไป คุณเรียนจบไม่ต้องไปทำงานบริษัทหรืออะไร ไม่ต้องทำงานเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นก็ได้ ตอนนี้คุณทำอะไรก็ได้ วิธีทำมาหากินมันมีเยอะ เช่น ออนไลน์ ถ้าบางทีรู้เทคโนโลยีก็ทำได้
ส่วนคนที่อยากทำงานสายอาหาร ถ้าเขาตรงรักจริงๆ เรียนตรงสายไปเลยก็ดี และไม่ใช่เรียนอย่างเดียว ต้องหาประสบการณ์ด้วย แต่ว่าอย่าเพิ่งฝันหวาน เพราะงานในสายอาหาร ไม่ใช่งานที่จะได้เงินเยอะเหมือนธุรกิจเงินเป็นล้านหมื่นแสน คุณต้องทำได้ทุกตำแหน่ง ตรงนี้งานหนักนะ ถ้าไม่มีใจรักจริงๆ อยู่ไม่ได้
ฝากผลงานของป้าป้อมตอนนี้และในอนาคตหน่อยค่ะ
ตอนนี้นะคะ มาสเตอร์เชฟประเทศไทยซีซั่น 4 กำลังออนแอร์เลย สนุกเข้มข้นแน่นอน เพราะทีมงานคิดโจทย์ได้เหลือเชื่อมาก กรรมการเองก็ไม่รู้จนถึงหน้างาน เด็กจะไม่ตื่นเต้นไปกว่าเราหรือ อีกอันก็ครัวชั้นสูง ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตามขาประจำจริงๆ หรือขาจรซึ่งเข้ามาดูเยอะ และขอบคุณที่เอาไปลองทำจริงๆ ถ้าอะไรที่แก้ไขได้ บอกมาจะนำไปแก้ไขนะคะ และอีกอย่างคือหนังสือสำรับที่ทุกคนอยากได้กำลังจะมาแล้วค่ะ เมื่อไหร่ที่จะเปิดจองจะแจ้งให้ทราบกันอีกทีนะคะ
ป้าป้อมมีอะไรที่อยากบอกน้องๆ ที่กำลังตามหาความฝัน หรือค้นหาตัวเองอยู่ไหมคะ
เชื่อไหมว่าตอนมัธยมปลาย เราคิดอะไรก็ผิด คือแบบอยากเรียนอะไร ดูสิ อยากเรียนบัญชีบ้าง รัฐศาสตร์บ้าง แล้วสุดท้ายมันได้ใช้ไหมล่ะ ก็ไม่ แต่ถ้าทำอะไรดีเนี่ยทำเถอะ ถ้าชอบและมีความสุขกับตรงนั้น แล้วเอามันไปใช้ในชีวิตต่อได้ก็ทำเลย สิ่งที่ลืมไม่ได้คือคุณพ่อคุณแม่ที่รักเราเสมอ อย่าเมินเฉยต่อคำแนะนำหรือคำเตือนสติของพ่อแม่
inspirer ป้าป้อม หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล
บทความ พี่แบม CAMPHUB
สัมภาษณ์ พี่ฟิวส์ CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่โอ CAMPHUB
ขอขอบคุณ เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป และสำนักพิมพ์แสงแดด