กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB discover with a-chieve

สถาปนิกทำอะไร แต่ละสาขาต่างกันยังไง มาหาคำตอบกับพี่พีร์ สถาปนิกแสนสิริ

สวัสดีจ้าน้องๆ ชาว CAMPHUB ทุกคน กลับมาพบกันอีกแล้ว ใน CAMPHUB discover with a-chieve ที่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับอาชีพต่างๆ มากมาย ไหนใครอยากเป็นสถาปนิกบ้าง ยกมือขึ้น! วันนี้ก็ถึงคิวของอาชีพสถาปนิก พี่มุกและพี่ฟิวส์ขอพาน้องๆ ไปพูดคุยกับ พี่พีร์ สถาปนิกสุดเท่ ที่ดูโครงการแนวสูง (คอนโด) ของแสนสิริ แบรนด์ที่หลายๆ คนอยากมาเป็นเจ้าของ แล้วการเป็นสถาปนิก จุดเริ่มต้นคืออะไร เรียนเป็นยังไง เส้นทางการทำงาน รวมไปถึง “สถาปนิก แต่ละสาขาทำอะไรกันนะ?” ทั้งหมดนี้ มาหาคำตอบกัน ที่บทความนี้เลย..


อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB


รู้จักกับพี่พีร์ สถาปนิก แสนสิริ

พี่พีร์ โปษยานนท์ เรียนจบสถาปัตย์ จุฬาฯ ปัจจุบันพี่พีร์มีส่วนร่วมในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายๆ โครงการของบริษัทแสนสิริ อาทิ คอนโด MORI HAUS, THE LINE วงศ์สว่าง และล่าสุด “สิริ แคมปัส” ออฟฟิศรูปแบบใหม่ของแสนสิริ บริษัทที่คว้าแชมป์อันดับ 1 บริษัทอสังหาฯ ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานมากที่สุดจาก WorkVenture

พี่พีร์เริ่มทำงานที่แสนสิริในแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์โครงการบ้านเดี่ยว จากนั้นก็ออกหาประสบการณ์ด้านออกแบบในบริษัทอื่น ก่อนพาตัวเองไปเรียนต่อปริญญาโทเพิ่มเติมที่ Kingston University ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาทำงานที่แสนสิริอีกครั้ง ในแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์โครงการอาคารสูง ลองมาฟังประสบการณ์อันหลากหลาย และมุมมองจากสถาปนิกที่ทำงานจริงมากว่า 15 ปีกันจ้า


MORI HAUS ในเมือง T77 อ่อนนุช
THE LINE วงศ์สว่าง


ย้อนกลับไปตอน ม.ปลาย ทำไมตอนนั้นสนใจจะเรียนสถาปัตย์

ตอนสมัยมหาลัยเราไม่ได้รู้จักว่า “สถาปัตย์” คืออะไร แต่ตอนนั้นเรามีทักษะในการวาดรูปเป็นต้นทุนเลยรู้สึกว่าเป็นข้อได้เปรียบ ประกอบกับชอบเล่นเกม SimCity ไปด้วย ตามกระแสวัยรุ่นตอนนั้น เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสถาปัตย์ได้ไหมครับ (เป็นแรงบันดาลใจที่น่ารักมาก ^^)


ตอนนั้นได้แอบมองเป็นสถาปัตย์ของที่มหาวิทยาลัยไหนไว้บ้าง

มองว่า จุฬาฯ สำหรับเรามีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรม ทั้งด้านการเรียน และทั้งการใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยด้วย เลยเลือกเป็นอันดับแรก ส่วนอีกที่มองไว้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะศิลปากรก็เป็นที่รู้จักดีเกี่ยวกับทางด้านอาร์ตเหมือนกัน



สถาปัตย์จริงๆ แล้วก็มีหลากหลายสาขามาก (ภายใน ภูมิฯ ฯลฯ) แต่ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาสถาปัตยกรรม

ตอนนั้นที่เลือกเรามองว่าเอกสถาปัตยกรรม โฟกัสในเรื่องรูปทรงภายนอก เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นอะไรที่เห็นได้ชัด เป็นสิ่งที่เตะตาคนก่อนจุดอื่น เลยเลือกเรียนเอกสถาปัตยกรรม เพราะในวันนั้นเรารู้จักแต่รูปทรงอาคาร สถาปัตยกรรมสำหรับเราเลยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายที่สุดในมุมมองของเรา จากแรงบันดาลใจในการชอบสร้างเมือง (ผ่านการเล่นเกม) ด้วย


ตอนเตรียมตัวสอบทำอย่างไร และเน้นด้านไหนเป็นพิเศษบ้าง

ติววิชาพื้นฐาน ส่วนเรื่องความถนัดเรามีจุดแข็ง ที่เข้าใจเรื่อง Perspective ก็เลยไปเรียนเสริมเรื่อง Drawing ทำให้คะแนนสอบดีขึ้น เพราะงั้นจึงมองว่าการจะเข้าเรียนสถาปัตย์ ประกอบด้วยกัน 3 ส่วนที่ต้องเน้น คือ

  • พื้นฐานวิชาทั่วไป
  • ความถนัด เพื่อให้มีทักษะและความเข้าใจ เพื่อฝึกฝนในการนำเสนอให้คนอื่นเข้าใจ
  • การสังเกตุสิ่งใกล้ตัว เพราะเป็นการเพิ่มข้อมูลเพื่อประกอบให้เป็นสิ่งใหม่ที่ง่ายขึ้น


พอได้เข้ามาเรียนจริงๆ แล้ว ตรงกับที่คิดไว้ตอนแรกหรือเปล่า

ตอนเด็กๆ เรามองมุมเดียวคือ ความสวยงามคืออะไร แล้วเราอยากทำอะไร พอเข้าไปเรียน แล้วได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า “สิ่งที่เราทำ ทำเพื่ออะไรด้วย?” แล้วเราต้องมีวิธีคิดอย่างไร เพราะฉะนั้นมุมมองมันเปลี่ยนไป

ส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่ได้ในรั้วมหาลัย คือ “วิธีคิด” ซึ่งเอามาใช้ต่อยอดได้ในทุกๆ เรื่อง ในทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาไหน ก็ต้องมีเป้าหมาย มีการวิเคราะห์ข้อมูล มีการพัฒนา และสร้างขึ้นผลลัพธ์ ออกมาให้ตรงเป้าหมาย ไม่ว่าทุกเนื้อหาวิชามันจะเปลี่ยนไปยังไง แต่ถ้าคุณมีวิธีคิดที่ถูกต้อง มีกระบวนการ มีที่มาที่ไป ก็สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง


5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย พี่พีร์ชอบอะไรมากที่สุด

ชีวิตวัยรุ่นในรั้วมหาลัยที่ได้สนุกกับการใช้ชีวิตกับเพื่อนอันดับแรก ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการเรียนและสิ่งที่ชอบ มันคือการเปลี่ยน ทัศนคติ จากมุมมองที่เรามองคนเดียว มุมมองที่เราท่องจำหรือทำตามตำรามา ในมหาลัยมันเริ่มทำให้มองเห็นมุมของการแบ่งปัน การเรียนรู้จากคนอื่น การช่วยเหลือกัน การมีทีมเวิร์คที่จะทำให้เกิดสิ่งแตกต่าง และมีแนวโน้มพัฒนาไปใช้ประโยชน์ มองย้อนหลังไปจะเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราโตขึ้น อีกอย่างการเรียนสถาปัตย์ค่อนข้างที่จะต้องทุ่มเท มีช่วงเวลาที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม ต้องค้างที่คณะกับเพื่อน ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน ได้คุย ได้เล่น ได้สนุก แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อทำงานให้เสร็จ



แล้วทำไมพี่พีร์ถึงได้เลือกมาเป็นสถาปนิกของ “แสนสิริ” หลังจากที่เรียนจบแล้ว

ด้วยแรงบันดาลใจตอนเด็กที่อยากสร้างเมือง เลยมองว่าสถาปนิกอาจเป็นอาชีพที่เหมาะสม ที่เราจะได้สร้างเมือง ออกแบบตึก ทำคอนโด ได้สร้าง ได้พัฒนาเมืองต่างๆ ให้ใหญ่ขึ้น ประกอบกับ แสนสิริเองก็โดดเด่นเรื่องการพัฒนาและออกแบบคอนโดมิเนียม


คิดว่าอะไรที่ทำให้โครงการของ “แสนสิริ” มีความแตกต่างจากที่อื่น

คอนเซปต์ของแสนสิริคือ “Made for life” ดังนั้นแต่ละโครงการของแสนสิริจึงแตกต่างกันออกไป ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น XT Ekkamai ที่ออกแบบโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตในทองหล่อ ก็จะมีความเปรี้ยวๆ จี๊ดจ๊าดหน่อย

หรือโครงการ KHUN by YOO ทำเลทองหล่อ ที่ออกแบบโดย Philippe Starck ดีไซเนอร์ชื่อดัง การออกแบบก็จะมีความฉีก โดดเด่น และแตกต่าง ตอบโจทย์คนใช้ชีวิตกลางทองหล่อ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ก็จะมีความแตกต่าง สีสันโดดเด่น มาจากจุดเริ่มต้นของกลุ่มลูกค้าโครงการนี้ ที่มีความเท่ เก๋ มีสไตล์ แสนสิริให้ความสำคัญกับออกแบบดีไซน์ที่อยู่อาศัยในทุกโครงการ


XT Ekkamai
KHUN by YOO


คิดว่าติด Comfort Zone เรื่องอะไรในงานสถาปนิก

“วิธีการคิด” ที่ควรจะต้องฉีกกรอบเดิมๆ ส่วนหนึ่งทำให้เราเลือกไปเรียนต่อด้าน Master of art Managing in the Creative Economy ที่ Kingston University เพราะอยากฉีกจากกรอบออกไปเลย ในคอร์สมีทั้งคนทำโฆษณา ทำหนัง ทำเพลง ฯลฯ เนื้อหาที่เรียนจะเป็นเคสที่นำมาพูดคุยกันว่าในเคสนี้มีอะไรที่มองว่าสำคัญบ้าง เป็นการยกเคสมาถกกัน หรือเอาโจทย์มาให้ทำร่วมกัน ว่าในมุมมองของคน 5 คนที่คิดต่างกัน มันทำอะไรได้บ้าง ซึ่ง Creative Economy คือเศรษฐกิจใหม่ ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาก่อให้เกิดรายได้ เช่น เกมเสมือนจริง


พี่พีร์ตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Creative Economy หลังทำงานมาสักพัก แล้วได้นำเอาวิชามาต่อยอดงานด้านสถาปัตย์อย่างไรได้บ้าง

ที่ไปเรียนเพราะคิดว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะช่วยเติมเต็มตัวเองได้ทุกวันนี้ ก็กลับมาตอบได้ว่าเป็นความคิดที่ถูก เพราะ Master of art – Managing in the Creative Economy เป็นหลักสูตรที่ให้คนทำงาน Creative หลากหลายสายอาชีพมารวมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้สิ่งใหม่ๆ มักเกิดจากการบูรณาการกันของหลายๆ อย่างที่เอามาตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้ เช่น IoT (Internet of Things) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายและเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น



เทรนด์การออกแบบสถาปัตย์เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วสถาปนิกต้องทำอย่างไรให้ทันกับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค

คิดว่า Social Media ก็อัพเดทเทรนด์เราได้ระดับหนึ่ง คนที่ทำงานดีไซน์จะชอบอัพเดทเทรนด์การออกแบบ ผ่านสถาปัตยกรรมด้านที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว ถัดมาก็จะเป็นประสบการณ์ ในการไปเห็นด้วยตาตัวเอง หรือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

อีกอย่าง คือประสบการณ์การทำงาน ที่ได้จากการออกแบบโครงการ ผ่านการทำงานร่วมกับทีม Marketing และ Research ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล ออกมาได้น่าสนใจ เช่น การออกแบบโครงการในแบบไหนที่จะถูกใจและตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้


แล้ว ‘แรงบันดาลใจ’ ในการออกแบบแต่ละโครงการของพี่พีร์เกิดจากอะไร

แรงบันดาลในการออกแบบในแต่ละโครงการ มันเกิดได้หลายอย่าง เช่น “ทำเลที่ตั้งโครงการ” ซึ่งแต่ละบริบทพื้นที่ก็มีเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตที่แตกต่างกันออกไป

อย่างที่สองคือ “ปลายทาง” ว่าเราต้องออกแบบสำหรับใคร ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร หรือแรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร เช่น ชอบเที่ยวแบบไหน ชอบออกกำลังกายไหม หรือต้องการความเป็นความเป็นส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน อย่างโครงการบ้านเดี่ยว BuGaan ที่มาในคอนเซปต์ “My home speaks for myself” ที่ออกแบบจากตัวตนของลูกค้า และคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวแต่ก็มีพื้นที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ และพื้นที่รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย เหมาะกับผู้อยู่อาศัย

นอกจากนี้ สถาปนิกเองก็จะต้องทำการบ้านด้วยว่า กลุ่มลูกค้าต้องการบ้านในพื้นที่เท่าไหร่ สมมุติว่า เราเป็นเชฟ เรามีวัตถุดิบอะไรให้ลูกค้าเลือกบ้าง จะเลือกเสิร์ฟอะไรให้คนทานอาหารแล้วแฮปปี้


BuGaan โยธินพัฒนา

เพราะอะไรที่ทำให้พี่พีร์ทำงานร่วมกับแสนสิริมาจนถึงปัจจุบัน พี่ชอบอะไรที่แสนสิริ

สิ่งที่ตัวเราประทับใจที่สุดคือวิสัยทัศน์ผู้บริหารในการมองไกล ให้โจทย์ความท้าทายกับพนักงานอยู่เสมอ ดันให้เราพัฒนาตัวเอง กระตุ้นตัวเองตลอดเวลา ในการสร้างสรรค์ ที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ที่ตอบรับความต้องการลูกค้าได้ตรงจุด จริงๆ โดยส่วนตัว ผมเป็นคนสบายๆ แต่อยู่ที่นี่ ทำให้เราพัฒนามากกว่าคาแรกเตอร์ตัวเอง

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมการทำงานก็สำคัญ ที่แสนสิริให้ความสำคัญกับความสุขของพนักงาน เขามองว่าถ้าพนักงานแฮปปี้ งานก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย เห็นง่ายๆ จากสิริ แคมปัส เป็นออฟฟิศแสนสิริแห่งใหม่ ที่เราย้ายเข้ามาอยู่ประมาณปีนึง ผู้บริหารให้ความสำคัญ กับการดีไซน์เพื่อให้การทำงานรู้สึกสบาย มีที่นั่งหลากหลายจุด มีสวนตรงกลาง มีร้านกาแฟ และพื้นที่ที่ออกแบบมา ให้ได้พูดคุยกัน ปรึกษากัน รู้สึกได้ใช้ชีวิตมากกว่าการมาทำงานอย่างเดียว มีโซนสุขภาพให้ได้ออกกำลังกาย โต๊ะปิงปอง มีคลาสเต้นซุมบ้า และฟิตเนสขนาดใหญ่มาก จะไปเล่น ไปออกกำลังกายตอนไหนก็ได้ ไม่ได้มีการจำกัดเวลา แต่ก็ต้องทำงานให้เสร็จแค่นั้นเอง



ในหนึ่งโครงการบ้านหรือคอนโด สถาปนิกต้องทำอะไรบ้าง และมีการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ในหนึ่งทีมที่ดูหนึ่งโครงการ ประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพ ต้องทำงานร่วมกันหลายองค์ความรู้ ทั้งการออกแบบ การตลาด การก่อสร้าง ทีมออกแบบจะเข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่การดูที่ดิน ว่าควรพัฒนาอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด จากนั้นศึกษาข้อมูลทั้งหมด และออกแบบสร้างสรรค์ พัฒนาโครงการ ฝ่ายพัฒนาผลิดภัณฑ์ จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้านการก่อสร้าง พร้อมการควบคุมด้านดีไซน์ คุณภาพในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อส่งต่อให้ฝ่ายขาย และการดูแลลูกค้าต่อไป


หลายๆ คนพูดติดตลกว่า “ศาสตร์ของฮวยจุ้ยมักจะขัดแย้งกับการออกแบบ” แต่ ในมุมมองของสถาปนิกอย่างพี่พีร์คิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ผมมองว่า ศาสตร์ของฮวงจุ้ย ก็สามารถทำให้เข้ากับการออกแบบได้ แสนสิริก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน เช่น คอนเซปต์ของโครงการ BuGaan ที่มีคำว่า House number 8 บ้านหมายเลข 8 ในทุกหลัง เพราะเลข 8 เป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืน ความมั่นคง กลายเป็นความหมายของความมั่งคั่งยั่งยืน หรือการคัดพันธุ์ต้นไม้ที่เสริมเรื่องฮวงจุ้ย เช่น ต้นมั่งมี ต้นกวักนาง มาใช้ในโครงการ หรืออย่างโครงการ TIGER LANE ที่เรียกได้ว่าตั้งอยู่บนที่ดินท้องมังกร ย่านเสือป่า-เยาวราช ก็เป็นทำเลที่ตอบรับในเรื่องศาสตร์ของฮวงจุ้ย กลุ่มลูกค้าก็ชื่นชอบ ทำให้ปิดขายโครงการได้อย่างรวดเร็ว


TIGER LANE เสือป่า-เยาวราช


คิดว่าสิ่งสำคัญในตัวของ ‘สถาปนิกที่ดี’ ต้องมีอะไรบ้าง

ในมุมมองของตัวเราเอง คิดว่าเป็นเรื่องของ Passion ในการอยากนำเสนอสิ่งที่ดีให้กับคนอื่น เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

อย่างที่สองคือ Mindset สิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้ดี และสามารถทำได้คือการปรับ Mindset ตัวเองให้ Positive ในทางบวก อันนี้ผมว่าสำคัญมาก

อย่างที่สาม คือการเป็นคนช่างสังเกต มีความสงสัย อยากรู้อยากเห็น เพื่อตั้งคำถาม สิ่งนี้จะเสริมให้เราต่างจากคนอื่น อย่างโน้ตอุดม สิ่งที่ผมว่าเขาเก่งมากคือ การเป็นคนช่างคิด และสามารถพลิกมุมการสังเกตมาใช้ประโยชน์ได้ ในมุมนึงที่ใช้ประโยชน์คือเอามาพูดให้คนตลกได้ แต่ในสิ่งที่เขาพูดในอีกแง่มุมนึงมันมีความหมายแฝง มีมุมที่น่าคิดและนำไปใช้ประโยชน์ได้

สุดท้ายคือ การให้กำลังใจและเชื่อมั่นในตัวเอง มุ่งมั่นโฟกัสในสิ่งที่เราตั้งใจทำให้ออกมาดี อาจจะไม่ได้ 100% แต่สัก 70% ก็จะเป็นความภาคภูมิใจและความสุขใจให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องรอจากใคร สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจในการทำงานที่ดีต่อไปได้



อยากให้พี่พีร์ฝากแนะนำน้องๆ ม.ปลาย ที่อยากเป็นสถาปนิกและกำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันหน่อยค่าา

อย่างแรกที่ต้องเตรียมตัว คือการเรียนที่ต้องอัพเดทความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งที่เพิ่มเติมคือต้องมองว่า จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองคืออะไร และพยายามเร่งจุดแข็งตัวเองให้เด่นเพื่อเสริมจุดอ่อน ให้ตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น และอยากให้สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ไม่ว่าจะด้านการเรียน หรือการทำงาน อยากให้เริ่มต้นแรงบันดาลใจก่อน มันจะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ไปถึงปลายทางได้


แล้วสำหรับน้องๆ ที่ยังคงมีความลังเลจะตัดสินใจอย่างไรดี

ลองศึกษาตัวเองจาก Social Media ใหม่ๆ เช่น การเข้าฟังใน Clubhouse หรือปรึกษาเพื่อน รุ่นพี่ หรือคนในครอบครัว น่าจะทำให้ได้เห็นภาพของตัวเองชัดเจนขึ้น การออกไปทำกิจกรรม เข้าค่าย เวิร์กช็อป หาประสบการณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตัดสินใจเช่นกัน หรืออยากจะมาฝึกงานที่แสนสิริก็ยินดีนะครับ ☺



inspirer พี่พีร์ โปษยานนท์
บทความ พี่มุก CAMPHUB
สัมภาษณ์ พี่ฟิวส์ CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่ซัน CAMPHUB
ขอขอบคุณ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)


กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ซัน