โครงการ AFTERKLASS Business Camp ปีที่ 5 กับ Young BIZ Accelerator Camp แคมป์อัปสกิลบิ้วท์นักธุรกิจตัวจริงรุ่นใหม่ ที่จัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เสร็จสิ้นกิจกรรมไปอย่างสมบูรณ์ โดย กิจกรรมสุดท้ายของทั้ง 6 ทีม ในช่วง 1st Dollar Stage น้องๆ ได้เผชิญกับความท้าทายในการสร้างยอดขายจริงให้เกิดขึ้น และอัปสกิลการเป็นนักธุรกิจกันอย่างเข้มข้น
ถึงแม้จะเป็น 2 วันสุดท้ายของน้องๆ ในการเข้าร่วมโครงการ แต่การเรียนรู้สิ่งใหม่ยังไม่จบเพียงเท่านี้! เพราะน้อง ๆ ได้ลงมือพัฒนาธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบแผนงานจนถึงการขายจริง พิเศษไปกว่านั้น ยังมีเมนเทอร์จาก BASE Playhouse คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดช่วง Acceleration Camp และการนำเสนอในรอบสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะพิสูจน์ให้คณะกรรมการเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นและสร้างยอดขายได้จริง
แต่สิ่งที่สำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการแข่งขัน นั่นคือการที่ น้องๆ ได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่า ในการเป็นนักธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ กับ ช่วง Inspiration talk ซึ่งมี พี่เอ็ม-ธีรยา ธีรนาคนาท Co-founder ของ CareerVisa Digital และ พี่วิว-พันธ์ทิพย์ ดีเจริญ CEO of BETTERBEAM FOOD CO.,LTD. และเจ้าของแบรนด์ ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ภายในงานนี้ด้วย
โดยช่วง Inspiration talk นี้ได้เริ่มต้นโดยการพูดคุยกับ พี่วิว-พันธ์ทิพย์ ดีเจริญ CEO of BETTERBEAM FOOD CO.,LTD. และเจ้าของแบรนด์ ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน ถึงที่มาที่ไปของการเป็นแบรนด์ชาเย็นในดวงใจของใครหลาย ๆ คน
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ
พี่วิว เล่าว่า พี่วิวเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเอแบค ในด้านธุรกิจ แต่ว่าหลังช่วงจบเป็นช่วงโควิดพอดี ทำให้ค่อนข้างสับสนในการเลือกเส้นทางอาชีพ เนื่องด้วยครอบครัวของพี่วิวประกอบธุรกิจเสื้อผ้าและมีหน้าร้านอยู่ที่บรรทัดทองมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี พี่วิวจึงตัดสินใจกลับมาที่บ้านเพื่อตามหาประสบการณ์ที่นี่
แต่แล้วเส้นทางของเด็กจบใหม่ของพี่วิวก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องด้วยช่วงปีที่พี่วิวเรียนจบ โลกก็เผชิญกับ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบให้ธุรกิจมากมายหยุดชะงัก เนื่องด้วยมาตรการการ Shut down ซึ่งธุรกิจของครอบครัวพี่วิวก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบใหญ่ในครั้งนั้้นด้วย จึงส่งผลให้พี่วิวมองหาเส้นทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ห่างไกลจากเสื้อผ้า และสิ่งนั้นคือ “ของกิน”
“พอเรามาทำคาเฟ่ คาเฟ่กลายเป็นตลาดที่เดือดสุด ๆ”
พี่วิวตัดสินใจเปิดร้านคาเฟ่ โดยมีการเปิดขายหลากหลายเมนู ตั้งแต่กาแฟ ไปยันเมนูที่เป็น non-coffee แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยเพียงแค่กลีบกุหลาบ พอดำเนินธุรกิจไปสักพักพี่วิวพบว่าบริเวณนี้มีร้านคาเฟ่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ตลาดคาเฟ่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง
พี่วิวจึงเริ่มมองหาจุด “ต่าง” ที่ “โดดเด่น” ของธุรกิจของตัวเองโดยการสังเกต และรวบรวมข้อมูลจากการพูดคุยกับลูกค้า สิ่งที่น่าสนใจคือ ลูกค้าหลาย ๆ คนชื่นชอบ “ชา” และเมื่อลูกค้ามาดื่มชาที่คาเฟ่ ชาที่ลูกค้าดื่มมักได้รับคำชมว่าอร่อย กลิ่นหอม มีความเป็นเอกลักษณ์
“พี่ยังเจออินไซต์ที่น่าสนใจว่า ลูกค้าที่ดื่มชามีพฤติกรรมเหมือนคนดื่มกาแฟเลย โดยลูกค้ากลุ่มนี้หลายคนมักจะดื่มชามากกว่าวันละ 1 แก้ว”
ด้วยอินไซต์ทั้งหมดที่ได้รับนี้ ในเวลาต่อมาพี่วิวจึงตัดสินใจลงเล่นในตลาดชา อย่างจริงจัง ในชื่อแบรนด์ว่า “beams cha (บีมชา)”
Branding เป็นสิ่งสำคัญ
แม้จะมีโปรดักซ์ที่มีคุณภาพ แต่พี่วิว พบปัญหาว่า Branding ของ beams cha (บีมชา) ยังไม่ชัดเจนมากพอ
“พี่จึงตั้งโจทย์ของการตั้งชื่อแบรนด์ให้เป็นคำที่สนุกหู และเป็นชื่อที่หากลูกค้าอ่านแล้วต้องอยากแชร์ลงโซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นที่มาของแบรนด์ที่มีชื่อว่า “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน””
ชื่อแบรนด์ “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ที่ติดหูและหลาย ๆ คนต้องเคยได้ยิน อีกทั้งด้วยสีของแบรนด์ที่ใช้สีส้มซึ่งเป็นสีของชาเย็นเป็นสีหลัก ซึ่งสามารถแสดงแบรนดิ้งของชาเย็นออกมาได้อย่างชัดเจน จึงส่งผลให้ลูกค้าสามารถจดจำได้ว่าแบรนด์นี้ขาย “ชาเย็น” ทำให้เวลาลูกค้านึกถึง “ชาเย็น” ลูกค้าก็จะนึกถึงแบรนด์ “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” ได้นั่นเอง
มากไปกว่านั้น ยังมีการใช้มาสคอสเป็นภาพตัวแทนของแบรนด์อีกด้วย โดยมีมาสคอตที่มีชื่อว่า “น้องไข่มุก” ที่มีรอยยิ้มน่ารักสดใส เข้าถึงทุกเพศทุกวัย ทำให้ช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน แล้วทำไมกินได้ทุกวัน
คุณวิว เผยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาและดูแลให้มีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอนั่นคือวัตถุดิบ โดยแบรนด์ฉันจะกินชาเย็นทุกวันมีการใช้ “ชาเบลนด์พิเศษ” โดยตัวชาเย็นของแบรนด์ มีความพิเศษและแตกต่างจากแบรนด์อื่นคือ ชาเป็นลูกผสมระหว่างชาไทยและชาใต้ซึ่งมีการผสมผสานเข้าด้วยกัน จึงมีความเข้มข้นแต่ก็ยังคงความหอมละมุน ดื่มง่าย และ กินได้ทุกวัน สมกับชื่อ ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน
จากการแชร์ประสบการณ์กับพี่วิว สามารถเห็นได้เลยว่า “การหาจุดเด่นของตัวเอง” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดได้ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการ “ฟังเสียงของลูกค้า” เพราะถ้าเรารู้ว่าลูกค้าชอบอะไร มีอินไซต์อะไร สิ่งนี้สามารถพัฒนาให้ branding ของเรามีความแข็งแรงมากขึ้น และเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้นั่นเอง!
หลังจากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่วิวในเรื่องธุรกิจด้านอาหารแล้ว น้อง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำสตาร์ทอัพ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นที่นิยมและกำลังมาแรงอย่างมากในยุคสมัยนี้ โดยร่วมพูดคุยกับ พี่เอ็ม Co-founder ของ CareerVisa Digital กันเลย
อะไรคือจุดเริ่มต้นของ CareerVisa Digital ?
“พี่จบจากธรรมศาสตร์ เมเจอร์ไฟแนนซ์ เกรดเฉลี่ย 3.74 แต่หลังจากทำงานสายนี้มา 3 ปี ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ทางของตัวเอง ตอนเรียนพี่ทำได้ดีนะ แต่ลึก ๆ แล้วรู้สึกว่าไม่อยากทำอาชีพนี้ไปตลอดชีวิต เหมือนเรากำลังทำอะไรที่ไม่ตรงกับสิ่งที่รักหรือเชื่อว่าใช่สำหรับตัวเอง”
พี่เอ็ม เล่าว่า พี่เอ็มได้มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ และที่นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของเธอ เพราะ Career Center ของมหาวิทยาลัยที่พี่เอ็มได้ไปเรียน มีบริการแนะแนวอาชีพรอบด้าน ดดยมีตั้งแต่การแนะนำการเขียนเรซูเม่ ไปจนถึงช่วยค้นหาเส้นทางอาชีพ ส่งผลให้พี่เอ็มตั้งคำถามว่า “ทำไมมหาวิทยาลัยในไทยถึงไม่มีบริการแบบนี้บ้าง ?”
พอกลับมาไทย พี่เอ็มจึงลองคุยกับเพื่อนที่ไปแลกเปลี่ยนอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง พี่เอ็มและเพื่อนเห็นตรงกันว่าควรจะมีพื้นที่ที่ช่วยให้นักศึกษาค้นหาตัวเองและค้นหาอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง พี่เอ็มจึงตัดสินใจล่ารายชื่อเพื่อนร่วมคณะโดยได้รายชื่อประมาณ 40 คน พอเอารายชื่อไปยื่นกับอาจารย์ ทำให้พี่เอ็มและเพื่อนได้มีโอกาสนำเสนอให้ผู้บริหารคณะฟัง แต่พอเวลาผ่านไปมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่ม อาจารย์คนหนึ่งจึงบอกกับพี่เอ็มและเพื่อนว่า ‘ถ้าระบบไม่ทำให้เกิดขึ้น ก็ทำเองสิ’ คำนั้นกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พี่เอ็มและเพื่อนเริ่มสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาเอง เพื่อช่วยนักศึกษาค้นหาอาชีพและเป้าหมายในชีวิต
“นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่รู้ว่า เส้นทาง B2C หรือธุรกิจที่เน้นช่วยคน คือสิ่งที่พี่อยากทำจริง ๆ ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลกำไร แต่คือการช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้กับคนอื่น”
พอจบระบบอุดมศึกษา พี่เอ็มได้ไปทำงานที่ ปตท. ในฐานะเด็กทุน อีกทั้งยังได้รับทุนจากบริษัทไปเรียนต่อที่ Kellogg School of Management ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งการไปเรียนที่นั่นทำให้พี่เอ็มได้ค้นพบคุณค่าของชีวิตของตัวเอง
“สิ่งที่พี่อยากทำจริง ๆ ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลกำไร แต่คือการช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้กับคนอื่น”
ในช่วงที่พี่เอ็มทำงานกับรัฐวิสาหกิจ พี่เอ็มกลับรู้สึกว่ามันไม่ง่ายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องด้วยองค์กรมีกฎระเบียบและมีความซับซ้อนมาก การจะทดลองอะไรใหม่ ๆ อาจส่งผลกระทบได้ พี่เอ็มจึงเริ่มคิดว่า “ถ้าเรายังทำงานในระบบที่มีข้อจำกัดมากขนาดนี้ เราคงไม่มีอิสระในการกำหนดทิศทางหรือสร้าง Impact ได้ตามที่ตั้งใจ”
สุดท้าย พี่เอ็มตัดสินใจว่าถ้าอยากทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้จริงคงต้องเริ่มจากการสร้างอะไรเป็นของตัวเอง นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มโปรเจกต์ “CareerVisa” ซึ่งพี่เอ็มได้เริ่มทำหลังเลิกงานระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงใช้ทุนของบริษัท
การคุยกับ User สำคัญกว่าที่คิด
“ก่อนหน้านี้เราเข้าใจว่าคนอื่นมี pain point เหมือนกันกับเรา ทุกคนต้องยอมจ่ายแน่เลย แต่พอคุยกับ user จริง ๆ มันไม่ใช่”
หลังจากเริ่มโปรเจกต์ พี่เอ็มได้มีการสอนและทำเวิร์กชอปเกี่ยวกับเรื่องอาชีพทั้งให้บริการแก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีหลายคนให้ความสนใจ แต่สิ่งสำคัญที่ได้พบจากผู้ใช้บริการจริงคือ “ความคาดหวังให้บริการนี้ฟรี” โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ให้มหาวิทยาลัยหรือองค์กรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้
พี่เอ็มพบว่าหากใช้วิธีการเดิมจะไม่สามารถไปต่อได้รอดเพราะต้องใช้เวลาส่วนตัวไปกับการสอนและดูแลโปรเจกต์ อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินเดือนให้ทีมงาน จึงเริ่มคิดว่าต้องสร้างโปรดักต์ที่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเข้ามาดูแลการดำเนินงานตลอดเวลา โดยคนสามารถเข้ามาใช้งานได้ตลอด แม้ในช่วงที่เจ้าของโปรดักต์จะนอนหลับอยู่ก็ตาม
นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเว็บไซต์ และเข้าร่วมโครงการ dtac accelerate เพื่อสร้าง Impact (Scale Impact) ให้ไปได้ไกลขึ้น โดยพี่เอ็มตั้งเป้าหมายไว้ว่าพอออกแอปพลิเคชันแล้ว คนจะดาวน์โหลดและนำไปใช้งานกันอย่างแพร่หลาย โดยแอปพลิเคชันนี้เปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับการประเมินผล (Assessment) แต่ถ้าต้องการ Full Report ก็จะมีค่าบริการ 500 บาท โดยการให้บริการฟรีในขั้นแรก ซึ่งพี่เอ็มเผยว่า วิธีการนี้เป็นกลยุทธ์ในการดึงคนเข้ามาใช้งาน
“แนวคิดของเราคืออยากให้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ง่าย ๆ ผ่านมือถือและได้ลองทำ Assessment เพื่อค้นหาตัวเองก่อน ซึ่งนี่คือก้าวแรกในการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้คนค้นหาเป้าหมายในชีวิตและอาชีพที่เหมาะสม”
หากย้อนกลับไปตอนเริ่มต้น พี่เอ็มไม่ได้ตั้งใจจะสร้างสิ่งนี้ให้กลายเป็น Product ในรูปแบบนี้ตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่พี่เอ็มคิดมีเพียงเรื่องเดียว คืออยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
พี่เอ็มย้ำว่า การมี Vision ที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือระหว่างทาง เราต้องพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง
“ทางข้างหน้ามันอาจจะเป็นโค้งหักศอก หรือทางที่ทำให้เราตกเขา แต่ถึงจะล้มก็ต้องลุกให้ได้ แล้วกลับมาสู่เส้นทางใหม่ให้เร็วที่สุด และสิ่งสำคัญคือ เราต้องสามารถปรับเส้นทางของเราได้เสมอและอย่ายึดติดกับวิธีการเดิม ๆ จนเกินไป และจงจำไว้ว่าวิธีการเปลี่ยนได้ แต่เป้าหมายและความตั้งใจต้องไม่เปลี่ยน”
จงเตรียมตัวเองให้พร้อม เพื่อรอ “จังหวะเวลา” ที่ใช่
พี่เอ็ม กล่าวว่า สตาร์ทอัพมีโอกาสเฟลประมาณ 95 % เราต้องคิดว่าเรามีโอกาสเพื่อเป็น 5% นั้นคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่พี่เอ็มรู้จัก ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ครั้งแรก หรือทำสตราท์อัพได้กำไรตั้งแต่ธุรกิจแรก แต่ที่สามารถทำครั้งที่ 2 ที่ 3 หรือครั้งต่อ ๆ ไปได้ดี เพราะว่าเขาล้ม และเรียนรู้จากการล้มมาแล้ว นั่นคือสิ่งสำคัญที่เราต้องลุกให้ได้หลังจากที่เจ็บจากการล้มมาแล้ว
และพี่เอ็ม ย้ำกับน้อง ๆ ว่า timing หรือ จังหวะเวลา เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความสำเร็จมักขึ้นอยู่กับจังหวะที่ใช่ พี่เอ็ม ย้ำว่า ไม่ได้ให้น้อง ๆ พึ่งพาโชคชะตาหรือไปมูเตลูขอพรจากฟ้าฝน แต่สิ่งที่น้อง ๆ ต้องทำคือเตรียมตัวเองให้พร้อม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในระหว่างที่เรารอให้โอกาสเข้ามา เพราะเมื่อถึงวันที่ timing เหมาะสม และเราเก่งพอที่จะรับโอกาสนั้น แล้วคนจะนึกถึงเรา
“จงอดทนและอยู่ในเกมให้นาน จนกว่าจะเจอจังหวะที่ใช่ (Perfect Timing) เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการรีบคว้าโอกาสตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น แต่เกิดจากการพร้อมที่จะคว้าโอกาสอยู่เสมอ”
สามารถเห็นได้ว่าทั้งพี่วิวและพี่เอ็ม ต่างต้องผ่านอุปสรรคมากมายก่อนที่จะสามารถปั้นธุรกิจของตนให้เติบโตและมั่นคงได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่ในการทำธุรกิจคือ “ประสบการณ์” เพราะยิ่งทำมาเรื่อย ๆ การได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์นั้นก็จะยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโตจากสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามานั่นเอง
และแน่นอนว่า AFTERKLASS #BusinessKAMP ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้น้อง ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ของการเป็นนักธุรกิจ ผ่านการเรียนรู้จริง เล่นจริง ทำจริง เจ็บจริง เติบโตจริง แบบนี้ต่อไป สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ อย่าลืมติดตามรายละเอียดการรับสมัคร AFTERKLASS #BusinessKAMP รุ่นต่อไปได้ที่นี่เลยนะ!