กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
ข่าวประชาสัมพันธ์

นักศึกษา ม.กรุงเทพ เผยวิธีค้นหาแพชชั่น เพื่อการเรียนและทำงานอย่างมีความสุข

ในช่วงเวลาในการตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้นการเลือกเรียนในคณะที่ตรงกับแพชชั่น หรือความถนัด และความฝัน จึงอาจชี้วัดอาชีพในอนาคตของนักเรียนชั้นมัธยมปลายทุกคน แต่อีกสิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การเลือกมหาวิทยาลัยที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการมีแพชชั่นของนักศึกษาให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะอื่นแห่งโลกอนาคต ที่พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

ซึ่งวันนี้ พี่ๆ คนเก่งจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 3 คน มาแนะนำน้องๆ ในโลกการเรียนหลังรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพว่าพี่ๆ มีแพชชั่นการเรียน และความประทับใจ ที่อยากจะแนะนำกับน้องๆ ที่กำลังมองหามหาวิทยาลัยที่ใช่สำหรับคนรุ่นใหม่อย่างไรกันบ้าง



ค้นหาแพชชั่น ด้วยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง

“ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผมเคยมองการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่พอลองค้นหามหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านการสร้างเกมในประเทศ ผมก็พบว่าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีชื่อเสียงด้านการสร้างเกม ที่เหมือนกับการสอนในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาที่เคยค้นหาข้อมูลมา และค่าใช้จ่ายในการเรียนก็ถูกกว่า พอเรียนไปแล้ว จากที่เคยคิดว่าเรียนจบจะหาโอกาสไปเรียนต่อที่อเมริกา ก็เปลี่ยนไปการหาโอกาสในการทำงาน ในวงการนักสร้างเกมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่นี่”

ภูรี แพงมา นักศึกษา ชั้นปีที่ 2 สาขาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าถึงสาเหตุการตัดสินใจเรียนต่อด้านการสร้างเกมที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ



ย้อนกลับไปในช่วงเรียนมัธยมปลาย ภูรี เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชื่นชอบการเล่นเกม จนวันหนึ่งที่เขารู้สึกหมดความท้าทายกับการเล่นเกม จนได้ลองลงแข่งสร้างเกมในกิจกรรมการแข่งสร้างเกมของโรงเรียนทำให้เขาค้นพบว่า โลกของนักสร้างเกมนั้นท้าทายมากกว่าการเป็นผู้เล่นหลายเท่า

“พอเราได้มีโอกาสสร้างเกม เรารู้สึกเหมือนกับเป็นพระเจ้าที่กำลังสร้างโลกใหม่ขึ้นมาใบนึง โลกที่เราจะสร้างกฎเกณฑ์อะไรที่ก็ได้ตามที่เราคิด ที่เราต้องการ แต่ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดว่าจะมาทางสายนักสร้างเกมเต็มตัว กระทั่งได้เข้าโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา หลังจากกลับมาผมได้ข้อคิดมาอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องซื่อสัตย์และตรงไปตรงมากับความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะเราอยากจะทำอะไรก็ตาม ต้องซื่อตรงกับความรู้สึกของเรา เพราะมีเพียงเราเท่านั้นที่ล้มแล้วจะต้องลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง ไม่มีใครเข้ามาช่วยเราทั้งนั้น

เราสามารถทำได้ทุกอาชีพที่เราอยากเป็น ไม่จำเป็นที่ต้องเรียนแพทย์ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นคนเก่ง หรือจะต้องเป็นวิศวกรถึงจะมีรายได้ดี ทุกอาชีพมีความเท่าเทียมกัน ผมจึงเริ่มค้นหาแพชชั่นของตัวเองว่ามีความชอบ และอยากจะเป็นอะไรบ้างที่เคยได้ลองทำมา หลังจากคิดทบทวนทั้งหมด ผมมีความรู้สึกดีกับช่วงเวลาที่เคยสร้างเกมใน Minecraft เป็นพิเศษ จึงตัดสินใจเรียนต่อด้านการสร้างเกม”



ภูรี เล่าถึงแพชชั่นที่เกิดจากการเปิดใจรับฟังเสียงความรู้สึกภายในใจของเขาเอง ก่อนทิ้งท้ายว่าการเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพสำหรับเขาแล้ว คือการสร้างคอนเนคชั่นในการทำงาน ที่ทำให้เขาได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในวงการนักสร้างเกมชาวไทยตั้งแต่ยังเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และรับประกันความสามารถด้วย ผลงานเกม Siam Majestic ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน FiT Game Jam และสอบได้ใบรับรอง Unity Certified Associate : Game Developer ซึ่งเป็นใบรับรองความสามารถการเป็นนักสร้างเกม ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

ไม่มีอะไรที่ยากเกินความพยายาม หากมีใจรักที่จะทำ

ภัทราภรณ์ พราหมณ์วงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ในสาขาออกแบบนิเทศศิลป์



“แต่ก่อนเคยส่งผลงานวาดภาพเข้าประกวด ได้รางวัลเกียรติบัตรมาเป็นความภูมิใจตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม จนถึงชั้นมัธยมเรารู้สึกไม่สนุกกับการวาดภาพ เหมือนตอนเรียนประถม แต่ก็ยังวาดภาพขายผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่อายุ 12 ปี สร้างรายได้ให้กับตัวเอง จนกระทั่งได้มีโอกาสได้ทุนเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงได้รู้ว่ามีอีกหลายอย่างที่เราสามารถนำศิลปะเข้าไปสื่อสารกับผู้ชมได้มากมาย ทำให้เราได้กลับมาใช้ความถนัดเรื่องการวาดภาพ มาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ในระหว่างเรียนและเข้าประกวดแข่งขันในรายการต่างๆ

การเรียนในสาขานี้ค่อนข้างกว้างมากๆ เราอาจจะโชคดีตรงที่เรามีพื้นฐานด้านการวาดภาพมาก่อน จึงรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก และสนุกที่ได้กลับมาทำอย่างจริงจังอีกครั้ง และด้วยบรรยากาศการเรียนที่ ม.กรุงเทพ เราชอบการเรียนในอาคารใหม่ที่ดูทันสมัย มีกิจกรรมการแข่งขันที่ช่วยให้เราค้นหาตัวเองได้มากขึ้น ทำให้การเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออกแบบ แต่ยังสามารถต่อยอดให้เราเรียนรู้เรื่องการทำคลิปในโซเซียลมีเดีย ได้ทำช่องยูทูบ และ ติ๊กต็อก เปิดโอกาสให้เราได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้เราได้เป็น MC (Master of Ceremony) ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในงานกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัย สร้างประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อค้นหาความชอบและพัฒนาตัวเราเอง แต่สิ่งเหล่านี้เราจะต้องขวนขวาย กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยถึงจะสนุก และได้มากกว่าคนอื่นๆ

สำหรับน้องๆ ที่จะเข้ามาเรียนใหม่ แล้วรู้สึกกังวลว่าจะเรียนยาก เรียนไม่จบ แนะนำว่าไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่ปีหนึ่ง อาจารย์จะสอนแบบละเอียด ตั้งแต่ปูพื้นฐาน ไปจนถึงสร้างงานได้จริง สงสัยตรงไหนยกมือถามได้ตลอด อาจารย์จะช่วยสอนให้จนเป็น หากเรามีใจรักในการออกแบบและงานศิลปะ”

ภัทราภรณ์ เผยถึงชีวิตการเรียนสาขา สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ที่มีผลงานการประกวดออกแบบ และโครงการสื่อสารเพื่อสังคมอีกหลายโครงการที่สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนใน สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ที่นี่นักศึกษาจะได้องค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดไปทำสิ่งต่างๆ มากกว่าที่หลายคนจะคาดคิด



บางครั้งแพชชั่นอาจหลบซ่อน อยู่ในสุขความสนใจเพียงเล็กน้อยที่เราคิดไม่ถึง

“ในช่วง ม.ปลาย เวลาเพื่อนๆ สนใจจะทำกิจกรรมอะไร ผมก็มักจะเข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ ผมเคยสมัครสอบโรงเรียนนายร้อย แต่สอบไม่ติดเพราะเตรียมตัวมาน้อยเกินไป หรือจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ตอนเรียนจบ ม.6 ผมก็เคยสอบมาแล้ว อะไรที่อยู่ในความสนใจของนักเรียนในการเรียนต่อในคณะที่มีชื่อเสียงผมลองมาหมดแล้ว จนถึงเวลาที่ต้องเลือกจริงๆ ผมกลับนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยอ่าน หนังสือเล่มนั้นชื่อ “พ่อรวยสอนลูก” ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องการบริหารเงิน อ่านจบเล่มแรกก็ไปซื้อเล่มต่อมาของนักเขียนคนเดียวกัน รู้สึกว่าเรื่องการเงินเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ผมเลยค้นหามหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านการเงิน ก็เจอมหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดสอนด้านการเศรษฐศาสตร์ จึงเลือกที่เรียนต่อที่นี่ด้วยเหตุผลหลายอย่างตั้งแต่ อาจารย์ผู้สอน การออกแบบหลักสูตร และสภาพแวดล้อมในสถาบันที่ทำให้ผมรู้สึกอยากจะเข้ามาเรียนที่นี่” อุดร เปลี่ยนโพธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ย้อนความหลังในการค้นหาแพชชั่นของตัวเอง



อุดร เล่าอีกว่า การเรียนที่สาขาเศรษฐศาสตร์ ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าได้เลือกทางที่ถูกต้องเพราะ ทางคณะผลักดันให้นักศึกษาได้สอบใบนักวางแผนการเงิน CFP โดยให้ทุนในการสอบ เพื่อให้นักศึกษาเมื่อเรียนจบไปแล้ว สามารถสมัครเป็นนักวางแผนการเงินได้ทันที ในขณะที่สภาพแวดล้อมการเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาคารเรียน บรรยากาศการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และกลุ่มเพื่อน ก็มีส่วนผลักดันรู้สึกอยากเรียนอยากค้นคว้าหาความรู้จากที่นี่มากขึ้น

“ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนที่เรียนเก่งอะไรมากนักแต่ อาศัยการเรียนในสิ่งที่ชอบแล้วโฟกัสในสิ่งนั้นจนประสบความสำเร็จ ประกอบกับการสอนของอาจารย์ที่สอนเป็นลำดับ สงสัยอะไรถามได้ทันที ตั้งแต่ไม่รู้อะไรมาก่อนเลยจนมีความเชี่ยวชาญสามารถสอบใบ CFP ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมากก็สามารถเข้าเรียนที่สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้ความรู้ไปต่อยอดการลงทุนตามความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างแน่นอน”

อุดร กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งผลการเรียนในระดับที่สามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืนยันความสุขและความสำเร็จที่กำลังรอเขาในเส้นทางสายนักวางแผนการเงิน



จากประสบการณ์และคำแนะนำของรุ่นพี่ทั้ง 3 คน เราจะเห็นได้ว่าการมีแพชชั่นเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพที่เราอยากจะทำในอนาคต ในขณะเดียวกันหลายคนอาจมีปัญหาในเรื่องการหาแพชชั่นของตัวเองไม่พบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเรามีความชอบและความถนัดในด้านใด เพราะแพชชั่นนั้นอาจจะเป็นความสนใจเล็กๆ ที่เรามองข้าม อาจถูกกลบด้วยกระแสอาชีพยอดนิยมในสังคม หรือแพชชั่นนั้นดูไม่มีความเป็นไปได้ ที่จะเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับเรา แต่ไม่ว่าจะแพชชั่นนั้นจะถูกซุกซ่อนด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลองปลดปล่อยออกมาด้วยความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง แม้เป็นความสนใจเสี้ยวหนึ่งในความคิด แต่หากลองลงมือทำด้วยความพยายามที่จะทำให้สำเร็จด้วยใจรัก ทุกแพชชั่นสามารถต่อยอดเป็นอาชีพใหม่ได้เสมอ สร้างทุกแพชชั่นให้มีความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"