กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB idol บทความ

[แคมป์ไอดอล EP.11] เที่ยวงานจุฬาฯ Expo กับ “พี่คาร์บอน-พี่ไนซ์” สองนิสิตหน้าใสใต้รั้วจามจุรี

เฮนโลว~~ ห่างหายจากการเขียนเว็บมาเนิ่นนาน วันนี้ พี่ฟิวส์ ก็กลับมาพบกับน้องๆ กันอีกเช่นเคยใน แคมป์ไอดอล เฮ่~!! ซึ่งพิเศษมากๆ เลยสำหรับอีพีนี้ เพราะเราได้พา พี่คาร์บอน และ พี่ไนซ์ สองนิสิตหน้าใส จาก Chula Ambassador ตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ในการประชาสัมพันธ์งาน จุฬาฯ Expo 2017 มาพบกับน้องๆ เด็กล่าค่ายในครั้งนี้

จุฬาฯ Expo 2017 คืองานที่จัดขึ้นเนื่องในวาระ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 100 ปี ที่นอกจากจะมีโอเพนเฮ้าส์เหมือนปีก่อนๆ แล้ว ก็ยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ ของจุฬาฯ ที่ผลิตขึ้นเพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย

แต่กว่าพี่ๆ ทั้งสองคน จะมาเป็น Chula Ambassador ได้ ต้องฝ่าด่านการแข่งขันมาหลายขั้นหลายตอนกันเลยทีเดียว เกริ่นกันมาซะขนาดนี้ อยากจะไปรู้จักกับพี่ๆ เค้าล่ะซี่ งั้น.. ไปดูกันโลด~~

สวัสดีครับ พี่ไนซ์ และพี่คาร์บอน อย่างตอนที่พี่ๆ อยู่ม.ปลาย พี่ๆ ได้มีโอกาสไปเข้าค่าย หรือไปดูงานของมหาวิทยาลัยที่ไหนบ้างเอ่ย
พี่ไนซ์ : ตอนเรียนอยู่ที่เตรียมอุดม พี่อยู่สายวิทย์-คุณภาพชีวิต ทางโรงเรียนก็ได้พาไปดูงาน ที่แพทย์ จุฬาฯ ได้ไปดูว่าการเรียนการสอนเป็นยังไง ไปดูอาจารย์ใหญ่ ประมาณนี้
พี่คาร์บอน : ตอนอยู่ม.ปลาย พี่สนใจทางด้านนิเทศศาสตร์นี่ล่ะ ก็ได้มีโอกาสเข้าค่าย ค่ายก้าวแรกสู่รังนก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ

แล้วจากจุดนั้น พี่คาร์บอน และพี่ไนซ์ มาเรียนที่นิเทศและแพทย์กันได้ยังไงเอ่ย
พี่ไนซ์ : จริงๆ ตอนแรกก็ไม่ได้มองหมอไว้อันดับแรก มองเป็นวิศวะเอาไว้ ในครอบครัว พี่ก็เป็นวิศวะไป 2 คนแล้ว บวกกับว่า เรามีญาติคนนึง เป็นหมอเหมือนกัน เห็นว่าเค้าก็สามารถช่วยคนในครอบครัวได้ เวลามีคนเจ็บป่วยไม่สบาย ตัวเองก็เลยรู้สึกว่า อยากจะทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในครอบครัวเหมือนกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ที่มาเรียนหมอนี่เอง
พี่คาร์บอน : ตอนแรกก็ไม่ได้อยากเข้านิเทศเลย เรียนสายวิทย์มา ตอนแรกก็อยากเข้าหมอ เข้าเภสัช แต่พอเรียนไปเรียนมา เราก็รู้สึกว่า ไม่ได้ถนัดทางด้านสายวิทย์ขนาดนั้น ก็เลยอยากเรียนในด้านที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ไม่อยากอยู่ในกรอบ อย่างตอนเราอยู่ม.ปลาย เราเองก็เป็นคนที่ชอบด้านการพูด เป็นตัวแทนแข่งพูดให้โรงเรียนอยู่บ่อยๆ ก็เลยอยากต่อยอดในด้านนี้ ก็เลยเบนสายมาทางนิเทศแทน

แล้วเหตุใด ถึงมาลงเอยที่จุฬาฯ..?
พี่ไนซ์ : ครอบครัวของเรา มีความผูกพันกับจุฬาฯ มานาน คนในครอบครัวก็จบจากจุฬาฯ มาหมดเลย อันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ด้วยคุณภาพของทางจุฬาฯ เอง บุคลากรที่จบจากทางจุฬาฯ ไปเอง ก็เห็นว่าสามารถไปทำประโยชน์กับสังคมได้มากมายเลย เราก็เลยอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ เช่นกัน
พี่คาร์บอน : เมื่อเราเห็นผลผลิตของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีคุณภาพ เราก็เชื่อว่า เราก็จะมีคุณภาพเหมือนกับพี่ๆ ที่เรารู้จัก ก็เลยตั้งใจว่า ถ้าได้จุฬาฯ ก็คงจะดีสำหรับเรา

ขึ้นชื่อว่าจุฬาฯ เรื่องสอบเข้านี่ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา ณ ตอนนั้น พี่ๆ ทั้งสองคน อยู่ม.ปลาย เตรียมตัวในการสอบเข้ายังไรบ้างเอ่ย
พี่ไนซ์ : ก็จะอ่านหนังสือ จบเป็นบทๆ ไป แล้วก็ทำข้อสอบไปเป็นบทๆ พอทำจบครบทุกวิชา ก็จะหาข้อสอบรวมในแต่ละปีมาทำ แยกวิชา ทำแล้วก็คอยเก็บคะแนนตัวเองเรื่อยๆ จับเวลาไปเรื่อยๆ อันไหนผิด ก็ไปดูว่าต้องแก้ตรงไหน ส่วนมากจะผิดตรงไหน ก็แก้ๆ เป็นจุดๆ ไป
พี่คาร์บอน : รู้มาว่า นิเทศจะเน้นไปทางสายศิลป์ ก็จะอ่านเยอะมาก อ่านแล้วก็ทำข้อสอบทุกวัน ทำเสร็จแล้วก็ทำใหม่ จะกว่าจะถูกหมด ซึ่งมันก็ไมได้ถูกหมดทุกครั้งนะ แต่ก็ทำให้เราสามารถจับทางข้อสอบได้

ภาพแรกของจุฬาฯ ที่พี่ๆ ทั้งสองคนได้เห็น ได้รู้จักที่นี่ มาจากไหนเอ่ย
พี่ไนซ์ : มาจากครอบครัว เห็นรูปที่แม่รับปริญญาทุกวัน แต่ถ้าเห็นตอนที่โตขึ้นมาหน่อย ก็จะเห็นจากพี่ของตัวเอง ที่ทำกิจกรรมในจุฬาฯ มากๆ
พี่คาร์บอน : สำหรับพี่เอง จะเป็นงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เคยเห็นข่าวของงานนี้ แล้วเรารู้สึกว่า งานใหญ่มาก น่าสนุกมาก ทุกคนดูเต็มที่มาก

มาคุยกันเรื่อง Chula Ambassador กันบ้าง พี่ๆ ทั้งสองคนมาสมัครโครงการนี้ได้ยังไงเอ่ย
พี่ไนซ์ : คือพี่ก็อยู่จุฬาฯ มานานแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ปี 5 แล้ว เรารู้สึกว่า เรายังไม่ได้มาทำกิจกรรมกับทางจุฬาฯ ส่วนกลางมากเท่าไหร่ คือมีก็มีแค่รับน้อง แต่หลังจากนั้นจนถึงปี 5 เนี่ย เราก็แทบจะอยู่แต่ในคณะตัวเอง เราก็เลยรู้สึกว่า เราก็ควรทำอะไรที่ต่างออกไปบ้าง เพราะในอนาคต เราก็คงหาโอการที่จะมาทำอะไรแบบนี้ ก็ยากแล้ว
พี่คาร์บอน : รู้สึกว่า ตอนนี้เราก็อยู่ปี 3 แล้ว อีกไม่นานก็เรียนจบแล้ว ก็เลยอยากทำกิจกรรม ทุกๆ กิจกรรมที่เราคิดว่าเราสามารถทำได้ อยากเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้คุ้ม ซึ่งสำหรับกิจกรรมนี้ เราดูๆ คุณสมบัติ เราก็สามารถสมัครได้ ถ้าเราไม่ชนะ อย่างน้อยเราก็ยังได้ประสบการณ์ รู้ว่าเราต้องมาปรับแก้ตรงไหน รวมทั้งยังได้เพื่อน ได้รู้จักคนใหม่ๆ ด้วย

แล้วอะไรเป็นแรงจูงใจ ให้พี่ๆ ทั้งสอง มาสมัครโครงการนี้เอ่ย
พี่ไนซ์ : เราอยากท้าทายตัวเอง เพราะหน้าที่ตรงนี้ คือต้องเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์งานนี้กับคนภายนอก ซึ่งเราก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ก็เลยอยากจะลองท้าทายตัวเองว่า เราจะทำอะไรแบบนี้ได้รึเปล่า และเราก็มองว่า จะเป็นประโยชน์กับอาชีพเราในอนาคตด้วย เพราะเราต้องคุยกับคนไข้ สื่อสารกับคนไข้ ทักษะการสื่อสาร ก็เป็นอะไรที่สำคัญเหมือนกันนะ
พี่คาร์บอน : อย่างเราเองเรียนนิเทศ ก็รู้สึกว่า เกรดเฉลี่ย มันไม่ได้สำคัญเท่าประสบการณ์เท่าไหร่ บางคนเรียนเก่ง แต่ทำอะไรไม่เป็น ก็เปล่าประโยชน์ ถ้าเราทำกิจกรรมมาเยอะ ก็เท่ากับประสบการณ์เราก็เยอะ การทำกิจกรรม ยังทำให้เราได้เข้าไปในสังคมใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเราก็อยากให้ Chula Ambassador เป็นหนึ่งในผลงานของเราด้วย

ได้ข่าวว่า การคัดเลือกดุเด็ดเผ็ดมันส์มาก พี่ๆ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า การคัดเลือกเป็นยังไงเอ่ย
พี่ไนซ์ : คัดเลือกมีหลายรอบมาก ตั้งแต่เฟิร์สต์มีต แล้วก็มีสอบข้อเขียนเป็นความรู้เกี่ยวกับจุฬาฯ และความรู้ทั่วไป สอบสัมภาษณ์ ซึ่งก็มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เน้นเกี่ยวกับทัศนคติและความรู้ของเรา พอผ่านรอบนี้ไป ก็ไปเจอกันที่รอบเวิร์กช็อป ทั้งพัฒนาบุคลิกภาพ ทักษะการสื่อสาร และก็รอบสัมภาณ์ เพื่อจะเลือก 20 คนสุดท้ายเข้ามารอบสุดท้าย
อย่างพี่ไนซ์อยู่เมือง Health ซึ่งก็ตรงกับคณะที่ตัวเองเรียนอยู่ แล้วทำไมพี่คาร์บอน ไม่เลือกเมืองที่ตรงกับคณะตัวเอง แต่ไปเลือกเมืองส่วนกลาง
พี่คาร์บอน : ที่เลือกส่วนกลาง เพราะรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง อย่างเราเรียนนิเทศ เราได้ทักษะการสื่อสาร ซึ่งการที่เราอยู่ส่วนกลาง เราได้ใช้ทักษะการสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ภาพรวมของงานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ในวันคัดเลือกรอบสุดท้าย นอกจากจะมีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ของเมืองตัวเองแล้ว ก็ยังมีการแสดงมาโชว์กันอีกด้วย ในวันนั้น พี่ๆ ทั้งสองเอาอะไรมาแสดงกันเอ่ย
พี่ไนซ์ : วันนั้นเตรียมละครเพลงมาแสดง ก็คือมีการแสดงละคร และก็มีร้องเพลงประกอบ ซึ่งเราในทีม Health ก็ช่วยกันคิดการแสดงขึ้นมา มีโอ้ ไนซ์ แนน และก็นัชชี่ นั่งคิดนั่งประชุมกัน เตรียมงานกันเป็นสัปดาห์เลย
พี่คาร์บอน : แสดงละครเหมือนกับเมือง Health เลย ออกแนวๆ มิวสิคเคิล ซึ่งในส่วนของคาร์บอนเอง จะเน้นเต้น เพราะเราก็เคยเป็นทีมเต้นของละครเวทีคณะมาก่อน

หน้าที่ของ Chula Ambassador ต้องทำอะไรบ้าง..?
พี่ไนซ์ : ต้องบอกก่อนว่า Chula Ambassador ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในฝ่ายเนื้อหาในงานจุฬาฯ Expo เพราะฉะนั้นเราก็จะมีหน้าที่ในการวางแผนว่า จะเอาโครงการไหนมาจัดแสดงในงาน ก็ต้องไปประชุมกับฝ่ายเนื้อหาของงาน และก็มีไปโปรโมตงานตามสื่อ ตามช่องทางต่างๆ อย่างที่ทุกๆ คนได้เห็นกัน

การที่เราได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ให้อะไรกับเราบ้าง
พี่ไนซ์ : ได้หลายอย่างเลย ได้พัฒนาตัวเองทั้งในเรื่องการสื่อสาร และด้านบุคลิกภาพด้วย ได้รู้จักคนใหม่ๆ และยังได้พักผ่อนด้วยนะ คือพี่ก็จะเรียนเครียดมาก เวลามาเจอน้องๆ ที่ทำแอมบาสฯ ด้วยกันเนี่ย เค้าก็จะมีความสดใสมากๆ เราก็จะรู้สึกว่าแฮปปี้มาก ที่ได้มาทำงาน ส่วนเรื่องการบริหารเวลา ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ที่เราได้เรียนรู้จากตรงนี้
พี่คาร์บอน : ก็อย่างที่บอกไปก่อนหน้าเลยว่า ได้ประสบการณ์ ได้เพื่อน ได้รู้จักคนใหม่ๆ ได้ทำสิ่งใหม่ๆ เพราะประสบการณ์แต่ละอย่างก็ฝึกเราหลายๆ อย่าง อย่างเรื่องการบริหารเวลา เราต้องบริหารเวลาให้ดียิ่งขึ้น เพราะเรามีภารกิจมากขึ้นละนะ เราต้องจัดสรรเวลาของตัวเองให้ดีขึ้น

พี่ๆ ช่วยเล่าให้น้องๆ ฟังหน่อยว่า ทั้ง 5 เมืองใน จุฬาฯ Expo 2017 นั้นมีอะไรบ้าง
พี่ไนซ์ : เมือง Health ก็คือเมืองแห่งสุขภาพล่ะเนาะ แปลตรงตัว คือหลายๆ คนอาจจะมองว่าเมือง Health ก็ต้องมีแต่เรื่องสุขภาพ โรคภัยต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว ในเมืองของเราเนี่ย จะแบ่งเป็น 3 เขตย่อยๆ ออกมา อันแรกก็จะเป็น Physical เกี่ยวกับเรื่องโรคภัยต่างๆ การรักษาแบบใหม่ๆ การดูแลสุขภาพตัวเอง ส่วนต่อมาก็คือ Mental เกี่ยวกับจิตใจ ก็คือปัญหาทางจิตใจที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็มีเยอะมาก มีอันนึงที่อยากนำเสนอมากๆ อย่างเสื้อคลายเครียด ใส่แล้วคลายเครียดจริงๆ รึเปล่า อันนี้ต้องมาดูกัน ส่วนอันสุดท้ายก็เป็น Environment ก็คือไม่ว่างสิ่งแวดล้อมจะเป็นยังไง ก็ย่อมส่งผลกับสุขภาพของเราทั้งนั้น ก็จะมีโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะมานำเสนอที่งานด้วยเช่นกัน
พี่คาร์บอน : ของส่วนกลาง ก็จะเป็นการนำเสนอภาพรวมของงาน ว่างานในครั้งนี้มีอะไรบ้าง ลักษณะของงานเป็นอย่างไร จัดกิจกรรมที่ไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร อันนี้ล่ะ คือสิ่งที่เราต้องนำเสนอ ทำงานที่น่าสนใจอยู่แล้ว ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเชิญชวนหาหลายๆ คนมาชมงานของเราเยอะๆ
ส่วนของเมือง Human ก็จะเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนเรามากยิ่งขึ้น เช่นการแบ่งแยก สิทธิเสรีภาพต่างๆ การสร่งเสริมสิทธิมนุษยชน
เมือง Smart ก็จะเกี่ยวกับการส่งเสริมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
และ Inter ก็จะเกี่ยวกับการให้ชาวต่างชาติ และนิสิตนานาชาติ มีส่วนร่วมกับนิสิตไทยมากยิ่งขึ้น จะมีการดีเบต การสัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ

เฉลิมฉลอง จุฬาฯ 100 ปี ทางจุฬาฯ ก็เลยจัดงาน จุฬาฯ Expo 2017 นี้ขึ้นมา พี่ๆ ทั้งสองช่วยขยายความให้ฟังหน่อยว่า งานครั้งนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไงเอ่ย
พี่คาร์บอน : งานจุฬาฯ Expo 2017 จริงๆ แล้วถือว่าเป็นงานจุฬาฯ Expo ครั้งแรก เพราะครั้งก่อนๆ จะเป็นงาน จุฬาฯ วิชาการ แต่ครั้งนี้ ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งครบรอบ 100 ปี ก็จะถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองด้วย ก็เลยเปลี่ยนจากจุฬาฯ วิชาการ เป็นงานนี้แทน เพื่อต้องการให้งานนี้ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น กลุ่มเป้าหมายก็เพิ่มมากขึ้น เนื้อหาในงานก็จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะจะไม่ได้แค่เปิดโอกาสให้น้องๆ นักเรียนเข้ามาดูว่าแต่ละคณะเรียนอย่างไรเพียงอย่างเดียว แต่เราเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาเห็นว่าจุฬาฯ กำลังทำอะไรอยู่ ทั้งนวัตกรรมต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นเพื่อสังคม เราก็เลยอยากให้รู้ว่า จุฬาฯ เป็นสถาบันที่พัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อสังคมจริงๆ

จุฬาฯ วิชาการ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “CU Academic Expo” แต่พอปีนี้ เราไม่ได้มีแต่เรื่องการศึกษา เลยตัดคำว่า Academic ออก จนกลายเป็น “จุฬาฯ Expo 2017” นั่นเอง

ถึงงานนี้ ใครๆ จะมาก็ได้ แต่ถ้าเป็นน้องๆ ที่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ จะได้เจอกับอะไรที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยบ้าง
พี่ไนซ์ : น้องๆ จะได้เห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น ว่าแต่ละคณะทำอะไรกัน และในงานก็ยังมี CU Tour ด้วย ก็นอกจากนิทรรศการส่วนกลางที่เราจะพาน้องๆ ทุกคนไปชมแล้ว แต่ละคณะเองก็มีผลงานและนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน CU Tour จึงจัดกิจกรรมให้กับน้องๆ ได้ทั้งสาระและความสนุกมากที่สุดโดยใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยเราจะพาน้องๆ ไปชมตามกลุ่มคณะใดกลุ่มคณะหนึ่งที่น้องๆ สนใจ
พี่คาร์บอน : น้องๆ อาจจะงงว่านิทรรศการส่วงกลาง กับของที่แต่ละคณะแต่ละภาควิชาจัด ต่างกันยังไง จะบอกว่า ส่วนกลางที่เราแบ่งเป็น Health Smart และ Human เราไม่ได้แบ่งตามสายคณะสาขานะ แต่เราจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างคณะมากยิ่งขึ้น ใครจะไปคิดว่า อย่างผลงานจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็ไปอยู่ในเมือง Health ได้ คณะที่น่าจะอยู่แค่ในเมือง Human แต่ผลงานจากคณะนี้ ก็มาอยู่ในเมือง Health ได้เหมือนกันนะ ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง ก็ต้องมาติดตามกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมของ CU Tour.. คลิก!!

พี่ๆ ทั้งสองมีอะไรที่ภูมิใจนำเสนอ ที่อยากให้น้องๆ มาดูกันบ้างเอ่ย
พี่ไนซ์ : ถ้าสำหรับในเมือง Health แล้ว ความรู้ต่างๆ ที่จะได้พบเจอ ยังสามารถในกลับไปดูแลสุขภาพตัวเอง สุขภาพคนรอบตัว และสุขภาพคนในครอบครัวได้อีกด้วย
พี่คาร์บอน : ถ้าคิดแทนน้องๆ นะ คิดว่าน้องๆ จะเซอร์ไพรซ์มาก เมื่อมาเห็นนวัตกรรม เพราะน้องๆ จะได้เห็นนวัตกรรมที่แต่ละคณะนำมาโชว์ ให้เห็นว่าแต่ละคณะเจ๋งยังไง ในแบบที่น้องๆ คาดไม่ถึง ก็เป็นไปได้

น้องๆ อาจจะคิดว่า นวัตกรรมต้องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเท่านั้น แล้วในด้านศิลป์ มีนวัตกรรมอะไรมานำเสนอบ้าง
พี่คาร์บอน : นวัตกรรม จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีก็ได้ อย่างคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็มีนาฏยบำบัด คือการใช้ท่านาฏศิลป์ที่มาอยู่แล้ว มาช่วยในการผ่อนคลายร่างกาย อะไรๆ ที่พัฒนาขึ้นมา ก็ล้วนเรียกว่าคือนวัตกรรมทั้งสิ้น ก็ถ้าน้องๆ อยากรู้ว่าช่วยให้หายผ่อนคลายยังไง ก็มาดูกันให้ได้นะ

มาที่เรื่องไลฟ์สไตล์กันบ้างกันดีกว่า ก่อนที่พี่ๆ จะมาเป็น Chula Ambassador วันว่างๆ พี่ๆ ทั้งสองคนทำอะไรบ้างเอ่ย
พี่ไนซ์ : พี่เป็นคนติดบ้านนะ เวลาอยู่บ้าน ก็ชอบนั่งเล่นกับพ่อแม่ ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ก็วันเสาร์อาทิตย์ ก็อาจจะมีออกไปดูหนัง ไปนั่งทานข้าวชิลล์ๆ บ้าง
พี่คาร์บอน : คือพี่เป็นเด็กหอ ถ้าวันว่างๆ ก็จะอยู่ที่หอ ชนิดที่แบบไม่ไปไหนเลย ติดเตียงมาก จะลุกขึ้นมาอีกทีก็คือกินข้าว อาจจะไปออกกำลังกายบ้าง แล้วก็กลับมานอนดูหนัง รู้สึกว่าไม่อยากออกไปไหน มันร้อน 5555

อย่างนิเทศจบไป ก็มีหลากหลายอาชีพที่รองรับ หมอก็มีหมอสาขาต่างๆ พี่ๆ สองคนมองกันไว้รึยังเอ่ย ว่าอยากทำอาชีพอะไรกัน
พี่ไนซ์ : พี่อยากเป็นหมออายุรกรรม ซึ่งก็คือหมอทั่วๆ ไปตามคลินิกนั่นเอง เพราะเราสามารถดูแลคนรอบๆ ตัวได้มาก เพราะสาขานี้เรียนกว้างมาก
พี่คาร์บอน : อยากทำวิทยุโทรทัศน์ ชอบเวลาเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจะทำผลงานออกมาซักงานนึง ถ้าเราได้เห็นผลงานที่เราทำมาเนี่ย ก็จะภูมิใจมากๆ ใช้ความคิดแบบนอกกรอบออกไปเรื่อยๆ หาแนวคิดใหม่ๆ รู้สึกว่าสนุกดี ชอบ

ที่มาที่ไป ของชื่อพี่คาร์บอน มาจากไหนหรือครับ เอกลักษณ์มาก 5555
พี่คาร์บอน : จริงๆ มีคนถามมาเยอะมาก อย่างที่บ้าน ชื่อก็จะแปลกๆ หมดเลย ที่ชื่อว่าคาร์บอน เพราะแม่อยากปลูกฝังให้อยากเรียนสายวิทย์ หมอ เภสัช ประมาณนี้ แต่สุดท้าย ก็มานิเทศนะ 5555

เห็นกิจกรรมแน่นเอี๊ยดแบบนี้ พี่ๆ ทั้งสองมีวิธีจัดการเวลา ให้กับทั้งเรื่องเรียน และกิจกรรมยังไงกันบ้าง
พี่ไนซ์ : อย่างเวลาพี่มาทำงานเสร็จ ก็จะรีบกลับบ้าน อย่างถ้าปกติเรากลับบ้าน ก็จะมีโมเมนต์พักผ่อนก่อนใช่มั้ย แต่อันนี้ก็ต้องมาตั้งใจอ่านหนังสือเลย และอย่างในเวลาเรียน ก็ต้องพยายามเก็บให้ได้ในห้อง บางทีอาจารย์สรุปท้ายคาบให้ ก็ต้องรีบฟังรีบจดให้เสร็จในห้องเลย แล้วเวลากลับมาทวนที่บ้าน ก็จะได้ง่ายขึ้น และก็ต้องเล่นน้อยลง อย่างเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องตื่นให้เร็วขึ้น รีบมาอ่านหนังสืออะไรงี้
พี่คาร์บอน : จะไม่ได้อ่านหนังสือนะ เพราะตอนนี้ปี 3 แยกเข้าภาควิชาแล้ว ก็จะไม่มีหนังสือให้อ่านละ ก็จะเป็นโปรเจกต์ชิ้นนึงมาให้ทำ อีกเดือนสองเดือนค่อยส่ง ถ้าว่างจากงานตรงนี้ ก็ต้องรีบไปทำงานที่คณะต่อเลย

ให้พี่คาร์บอน และพี่ไนซ์ ช่วยฝากอะไรถึงน้องๆ ม.ปลาย ที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่
พี่ไนซ์ : พยายามหาให้เจอ ว่าเราชอบอะไร อย่างเช่น อาจจะมาดูที่งานจุฬาฯ Expo ก็ได้ มาดูว่าแต่ละคณะมีนวัตกรรมอะไรที่น่าสนใจ โตไป เราอยากจะเป็นคนแบบไหน เราอยากจะออกไปทำอะไรให้สังคม ก็มาดูกันได้นะ
พี่คาร์บอน : ถ้ายากมากว่าจะเลือกเรียนอะไรดี ก็ขอให้ตัดชอยซ์เอาละกัน ว่าเราเหมาะกับอะไร พยายามตัดอันที่ไม่ใช่ออกไปให้เร็วที่สุด จะได้ไม่ต้องมาลังเลใจ ให้เราทำสิ่งที่รู้สึกว่าเราอยากทำมากที่สุด เพื่อที่จะได้มีความสุขในระยะยาวที่มากกว่า

สุดท้ายนี้ ก็ขอให้พี่ๆ ทั้งสอง เชิญชวนน้องๆ และคนที่สนใจ มางาน จุฬาฯ Expo 2017 กันด้วย !!
พี่ไนซ์ : ใครอยากจะมาค้นหาตัวเอง มางานนี้ก็ถือว่าคุ้มมากๆ เพราะว่า มันไม่ใช่ทุกครั้ง ที่มางานเดียว แล้วจะดูได้ทุกคณะพร้อมๆ กัน แล้วก็จะเป็นการนำเสนอในรูปแบบผลงานจริงๆ เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ใช่แบบพูดลอยๆ มาดูกันเถอะมา นะๆๆๆ
พี่คาร์บอน : อยากจะให้น้องๆ มาจริงๆ เป็นงานที่คนจัดเองก็ตั้งใจจัดมาก อย่างคนทำ เราก็อยากให้งานออกมาดี ถ้าอย่างนั้น คนที่คุ้มมากที่สุด ก็คือคนที่ได้มางาน เพราะถ้ามางานนี้ น้องๆ จะไมได้แค่ความรู้ แต่น้องๆ จะได้ทั้งความสนุก และมากไปกว่านั้น น้องๆ จะเห็นตัวเองชัดขึ้น ว่าจริงๆ แล้ว เราอยากทำอะไร เราอยากเรียนคณะไหน ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เป็นงานที่คุ้มมากๆ ถ้าพลาดงานนี้ รองานจุฬาฯ ฉลองครบ 200 ปีเลยนะ 5555 มาเถอะมา

เพื่อสังคม เพื่อประชาชนของเรา
นิยามของ “จุฬาฯ Expo 2017” ในแบบของพี่ไนซ์

ทำวันนี้.. เพื่ออนาคต
นิยามของ “จุฬาฯ Expo 2017” ในแบบของพี่คาร์บอน

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น้องๆ หลายคนก็คงอยากจะเจอพี่ๆ ทั้งสองตัวเป็นๆ แล้วล่ะซี่ น้องๆ สามารถมาพบกับพี่ๆ ทั้งสอง และพี่ๆ จาก Chula Ambassador ทั้งทีมได้ที่งาน จุฬาฯ Expo 2017 มหกรรมนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ เฉลิมฉลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบรอบ 100 ปี วันที่ 15-19 มีนาคมนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าอยากรู้ว่าในงานมีอะไรให้เราได้เข้าไปดูบ้าง คลิกที่นี่เล่ยยย!! ส่วนตอนนี้ พี่ฟิวส์ ต้องขอตัวไปก่อน สำหรับวันนี้ สวัสดีจ้า ฟิ่ววววว~~

แคมป์ไอดอล : ยุทธนา เชื้อคำเพ็ง (พี่คาร์บอน) ณัฐนิช พรเทพารักษ์ (พี่ไนซ์)
พี่ตากล้อง : พี่ซัน พี่โอ แคมป์ฮับ
สัมภาษณ์ : พี่ฟิวส์ แคมป์ฮับ
ตัดต่อวีดีโอ : พี่นะเอย แคมป์ฮับ
กราฟิก : พี่อัยย์ แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณสถานที่ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"