ALL ABOUT CDream Camp #1
- ค่าย CDream จัดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยความฝันของพี่ค่าย ว่าอยากทำให้คนทั่วไปรู้จักอาชีพนักแก้ไขการพูดและการได้ยิน
- ภาควิชานี้อยู่ในคณะแพทยศาสตร์ แต่ไม่ได้จบไปเป็นหมอ จบไปเพื่อเป็นนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
- กิจกรรมไฮไลท์ในค่ายคือการพาน้องๆ เข้าไปดูคลินิกที่ใช้ทำงานจริง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
สวัสดีจ้าา แคมป์รีวิวอีพีนี้ พี่เหมี่ยว ขอพาน้องๆ มาทำความรู้จักกับอาชีพ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ้าฟังแค่ชื่อน้องๆ อาจจะไม่คุ้น เพราะยาวววววววมาก แต่อยากจะบอกว่าคณะนี้น่าสนใจมากๆ สำหรับน้องๆ ที่ชื่นชอบคณะในสายวิทย์สุขภาพ ถ้าพร้อมแล้ว มาทำความรู้จักภาควิชานี้ผ่านรีวิวค่าย CDream กันเลยย
รู้จักกับภาควิชา “ความผิดปกติของการสื่อความหมาย”
หรือชื่อเต็มๆ คือวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย ซึ่งก็คือการเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อสาร ของคนทุกช่วงวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่
โดยจะแบ่งการเรียนเป็น 2 สาขาคือ
- วิชาเอกโสตสัมผัสวิทยา (แก้ไขการได้ยิน)
- วิชาเอกแก้ไขการพูด
จบไปเป็น…นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท
นักแก้ไขการพูด (speech language pathologist)
มีหน้าที่แก้ไขการพูดที่ผิดปกติ เช่นการพูดติดอ่าง ถ้าเป็นในเด็กจะดูแลในส่วนของเด็กที่มีพัฒนาการช้า พูดไม่ชัด เด็กที่มีปัญหาทางสมอง หรือเด็กในกลุ่มซินโดรม จะแก้ไขเรื่องภาษาและการพูดให้เด็ก ในผู้ใหญ่จะดูแลในส่วนของคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง และทำให้การพูดผิดปกติ ก็ต้องฟื้นฟูคนไข้โดยการคิดรูปแบบกิจกรรมให้ฝึกพูด โดยจะทำเป็นคาบ คาบละ 30 นาที แล้วก็ติดตามผลไปเรื่อยๆ
นักแก้ไขการได้ยิน (audiologist)
มีหน้าที่ตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดปกติทางเดินการได้ยิน ตั้งแต่หูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน สามารถตรวจได้ถึงระดับก้านสมอง หรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับระบบการได้ยิน ซึ่งอีกหน้าที่หนึ่งหลักๆ ก็คือการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน คือจะช่วยใส่พวกอุปกรณ์การได้ยิน เช่นเครื่องช่วยฟัง หรือประสาทหูเทียม เป็น 2 หน้าที่หลักๆ ของนักแก้ไขการได้ยิน
รู้จักกับค่าย CDream สื่อความหมายสู่ปลายฝัน
ค่ายที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการริเริ่มจากพี่ปี 4 ที่มีความฝัน อยากทำให้อาชีพนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายเป็นที่รู้สึกแก่คนทั่วไป โดยต้องการจะบอกว่าเราไม่ใช่หมอ เราคือนักแก้ไขการพูด (speech language pathologist) และนักแก้ไขการได้ยิน (audiologist)
เราไม่ใช่หมอ เราคือนักแก้ไขการพูด และนักแก้ไขการได้ยิน
จำลองชีวิตการเรียนจนถึงทำงานใน 1 วัน
กิจกรรม “เส้นทางสายวิชาชีพ”
กิจกรรมแรกจะเป็นการปูเบื้องต้นไล่ไทม์ไลน์การใช้ชีวิตตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 4 ว่าน้องๆ ต้องเจออะไร เรียนวิชาไหนบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียน แต่รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเด็กมหิดลด้วย โดยจะมีพี่ๆ ตัวแทนของแต่ละชั้นปี มาแนะนำและเป็นเวทีเปิดให้น้องๆ ถามตามความสงสัยและความสนใจของน้องๆ
สังเกตการณ์คลินิกจริง!
หลังจากกิจกรรมแรก พี่ๆ จะพาน้องไปดูคลินิกที่ใช้ทำงานจริงในโรงพยาบาล ว่าพี่ๆ เขาทำงานกันยังไง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง โดยแบ่งเป็น 2 เอก คือเอกแก้ไขการพูดก็จะได้ดูห้องเก็บของเล่นโดยเฉพาะ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ส่วนทางแก้ไขการได้ยินน้องๆ ก็จะได้ดูเครื่องมือต่างๆ ได้ลองตรวจ ลองฟังเสียง และนอกจากนั้นยังมีรุ่นพี่มาแชร์ประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนว่าทำยังไง เจอคนไข้แบบไหนบ้าง ให้น้องได้ถามและพูดคุยกัน
กิจกรรม CD talk
รุ่นพี่ศิษย์เก่าตั้งแต่รุ่น 1 (ปัจจุบันมีถึงรุ่น 16) จะมาเล่าถึงการทำงานว่าจบไปแล้วเป็นยังไง ทำงานที่ไหน สามารถทำที่โรงพยาบาลได้อย่างเดียวหรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือไม่ เพราะสามารถนำความรู้เฉพาะทางที่ได้ไปต่อยอดการทำงานทั้งเอกชน และธุรกิจส่วนตัว
แล็บกรี๊ดดดด
ไม่ได้สะกดผิดแต่อย่างใด เพราะว่าครั้งแรกที่น้องๆ ได้ยินคือแทบหลุดกรี๊ดกันจริงๆ นึกว่าพี่ๆ จะให้ทดสอบความรู้แบบแล็บกริ๊งในมหาวิทยาลัยจริงๆ แต่คำถามที่พี่ๆ เอามาถามนั้นก็มีทั้งจริงจังและเล่นๆ ให้น้องๆ ได้คลายเครียดกัน
กิจกรรมสุดท้าย “สู่ปลายฝัน”
ก่อนจากกันสิ่งที่พี่อยากให้น้องๆ ทำมากที่สุดคือการลองย้อนมองตัวเองว่าจริงๆ แล้วเรามีความฝันอะไรกันแน่ เขียนลงกระดาษ แล้วให้เพื่อนๆ ในค่ายเขียนแลกเปลี่ยนเหมือนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
รู้จัก “ความผิดปกติของการสื่อความหมาย” ให้มากขึ้นผ่านประธานค่าย – พี่ปริญญ์
ข้อแตกต่างของทั้ง 2 สาขา
การเรียนจะแตกต่างกัน แก้ไขการพูดจะใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือในการฝึกคนไข้ แต่แก้ไขการได้ยินหัวใจหลักคือใช้เครื่องมือในการวินิจฉัย คนที่มาเรียนก็จะคล่องในการใช้เครื่องมือ กลุ่มคนไข้ที่เจอก็จะแตกต่างกัน แก้ไขการได้ยินจะเจอผู้สูงอายุมากกว่า ส่วนแก้ไขการพูดส่วนใหญ่จะเจอเด็ก
ทำไมถึงเลือกเรียนเอกแก้ไขการได้ยิน
ผมมองว่าเอกแก้ไขการพูด มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลา เพราะเป็นการฟื้นฟู อาจจะ 5 – 10 ปี ที่เราจะต้องอยู่กับคนไข้คนนั้นไป ซึ่งพอได้เรียนในวิชารวม รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา ตรงที่งานมันไม่ได้จบภายในครั้งเดียว แต่ว่าถ้าเป็นเอกแก้ไขการได้ยิน เราตรวจแล้วก็วินิจฉัยวันนั้น ส่งผลให้คุณหมอ ก็จะจบในวันนั้นเลย อาจจะมีนัดติดตามผลนิดหน่อย หลักๆ ไม่เกินประมาณ 1 ปี ที่จะดูว่าคนไข้เป็นยังไงบ้าง ซึ่งรู้สึกว่ามันเหมาะกับเรามากกว่า
ความยากที่พบในการเรียน
ถ้าเป็นเอกแก้ไขการได้ยิน ความยากน่าจะเป็นความกดดันในการตรวจคนไข้ เพราะว่ามีเวลาที่จำกัด การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร็ว อย่างของเอกแก้ไขการพูด ถ้าเราลองแผนฝึกอันนี้แล้วไม่เวิร์ค ครั้งหน้าเราก็สามารถคิดแผนใหม่ได้ แต่ว่าการแก้ไขการได้ยิน คือเราต้องตรวจให้ถูกต้องมากที่สุด ถ้าผลไม่ตรงตามทฤษฎีที่เรียนมา ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ ก็เป็นอีกหนึ่งความยาก และความท้าทาย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพนี้
ส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าเราเป็นหมอ ซึ่งเราก็ต้องบอกว่าเราไม่ใช่หมอนะ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เฉยๆ หรือบางคนก็จะถามว่าสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ถ้าคนพูดไม่รู้เรื่องเรียนได้มั้ย
แล้วเรียนได้มั้ยคะ 555
เรียนได้ครับ แค่ว่าถ้าไม่ใช่คนที่พูดเก่ง เขาก็จะเข้าเอกแก้ไขการได้ยิน เพราะว่าเจอคนไข้น้อยกว่า
คาแรคเตอร์ที่ต่างกันของทั้ง 2 เอก
เอกแก้ไขการพูด คนในเอกจะมีเอเนอจี้ค่อนข้างเยอะ เป็นเด็กสายกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่กล้าแสดงออก กลับกันเอกแก้ไขการได้ยิน ส่วนมากจะเจ้าทฤษฎี อาจจะไม่ได้ทำกิจกรรมเยอะ แต่ก็จะมีวิธีคิดของเขา และแสดงออกไปด้วยหลักการ แต่การจะเลือกเอกมันต้องเข้ามาลองก่อน เพราะบางคนก็สลับกันเลย
ความประทับใจในค่าย
มีน้องมาจากยะลา นราธิวาส ซึ่งไกลมาก แต่ตอนอยู่ในค่ายน้องมีแพชชั่นมาก ทำให้คนจัดค่ายรู้สึกดีไปด้วยที่มีน้องๆ อยากเข้าภาคนี้จริงๆ
ทำไมถึงตั้งชื่อว่าค่าย CDream
มันมี 2 ความหมายครับ ความหมายแรกคือเป็นค่ายที่ให้น้องๆ มาตามหาความฝัน ส่วนอีกความฝันหนึ่งคือเหมือนมันเป็นความตั้งใจของรุ่นผมที่อยากจัดมาตั้งแต่ปี 1
*CD ย่อมาจาก Communication Disorders ซึ่งเป็นชื่อภาควิชา
ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าภาควิชานี้หน่อยค่ะ
สำหรับน้องๆ ที่สนใจที่จะเข้าภาควิชานี้นะครับ พี่อยากให้น้องๆ หาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาเพื่อที่จะเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจของน้องๆ แต่สำหรับน้องๆ ที่คิดว่านี่แหละคือความฝันของฉัน พี่รู้สึกยินดีมากๆ เลยครับที่น้องๆ กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นรุ่นน้องของพี่ และจะได้นำความรู้ที่เรียนไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความผิดปกติของการสื่อความหมายให้ดีขึ้น ยังไงยินดีต้อนรับล่วงหน้าครับ
ชวนน้องๆ มาค่ายที่จะจัดขึ้นในครั้งหน้าหน่อย
แต่ถ้าน้องๆ ไม่รู้จะไปหาข้อมูลการเรียนหรือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับภาควิชานี้ได้ที่ไหนพี่ก็ขอนำเสนอค่าย “CDream สื่อความหมายสู่ปลายฝัน” รับรองว่าน้องๆ จะได้ทั้งวิชาการที่อัดแน่น ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเข้าเรียน การดูสถานที่ปฏิบัติงาน ร่วมถึงความสนุกความอบอุ่นที่พี่ๆ พร้อมมอบให้น้องๆ ครับ ครั้งหน้ามาสมัครกันเยอะๆ นะครับ
คุยกันต่อกับพี่ค่าย – พี่เมย์
ทำไมถึงเลือกเรียนเอกแก้ไขการพูด
นักแก้ไขการพูดสามารถสร้างสรรค์ ได้ออกแบบกิจกรรม ได้ทำงานกับเด็กผู้ปกครอง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เหมือนได้ใช้ทักษะการสื่อสาร ซึ่งรู้สึกว่าเราชอบทางนี้ค่ะ
ความยากที่พบในการเรียน
ความจริงมันยากตรงที่เรื่องพัฒนาการความผิดปกติของโรค ถ้ามันไม่เห็นภาพมันก็จะไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอมาขึ้นคลินิกปุ๊บมันเห็นภาพมากขึ้น ก็จะกลับไปเชื่อมโยงกับโรคต่างๆ ได้มากขึ้น
นอกจากทฤษฎีที่เราว่ามันยากแล้ว เรื่องการเจอผู้ปกครอง ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ยาก เพราะว่าเราเข้าใจแบบนี้แล้วเราจะถ่ายทอดออกมา ให้ผู้ปกครองที่เขาดูแลเด็ก 24 ชั่วโมง มากกว่าเราที่เจอแค่ครั้งละ 30 นาที ให้เขาเข้าใจแล้วก็ทำตาม และนำไปปรับใช้กับลูกเขาได้เนี่ยรู้สึกว่ายาก
ส่วนใหญ่จบออกมาเป็น “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย”
ใช่ค่ะ พอจบมาต้องไปสอบใบประกอบโรคศิลปะ ถ้าสอบผ่านทุกคนก็จะได้เป็นนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขการพูด หรือการได้ยิน จะเรียกเป็น speech กับ audio
มีคนที่ไปทำอาชีพอื่นมั้ย
ส่วนใหญ่จบมาก็ทำอาชีพนี้ก่อน แต่ก็มีคนที่ไปต่อยอด เช่น ไปเป็นนักแก้ไขการพูดในโรงเรียน หรือต่อยอดทางธุรกิจของเล่น เพื่อผลิตสื่อออกมาให้ตรงกับความต้องการของเด็ก อย่างนักแก้ไขการได้ยินก็ทำงานในบริษัทเครื่องช่วยฟัง หรือตามโรงงาน
ข้อแตกต่างของหมอกับนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายเราจะอยู่กับคนไข้ในระยะยาว หมอจะวินิจฉัยก่อน แล้วก็จะส่งมาให้นักแก้ไขการพูด และเราก็ทำการประเมินด้วยทางของเราอีกทีหนึ่งว่ามีปัญหาจริงมั้ย แล้วก็มาวางแผนในการฝึก คือเราทำงานแบบหลายอาชีพร่วมกันค่ะ ถ้าสมมติมีด้านร่างกายร่วมด้วย ก็จะส่งต่อไปให้นักกิจกรรมบำบัด หรือนักกายภาพบำบัด
ทำไมถึงจัดค่ายนี้ขึ้น
เราอยากทำให้คนรู้จักว่ามันมีอาชีพนักแก้ไขการพูด และก็นักแก้ไขการได้ยินนะ ไม่ใช่ว่าใส่ชุดคลินิกแล้วจะเป็นหมอทุกคน
อยากทำให้คนรู้จักว่ามีอาชีพนักแก้ไขการพูด และก็นักแก้ไขการได้ยิน
กิจกรรมไฮไลท์ในค่าย
กิจกรรมสังเกตการณ์คลินิก เพราะส่วนน้อยมากที่จะได้เห็นพื้นที่จริง เพราะมันเป็นสิทธิของคนไข้เราไม่ค่อยอนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีธุระอะไรขึ้นไปบนคลินิกเลยค่ะ
ความรู้สึกน้องค่ายรุ่นแรก “น้องแวน” และ “น้องวิงหวิง”
ทำไมถึงตัดสินใจมาสมัครค่าย CDream
น้องแวน : ไม่เคยได้ยินชื่อของสาขานี้มาก่อน เห็นว่าเป็นค่ายที่จัดขึ้นครั้งแรกด้วยคงมีอะไรที่น่าสนใจให้ลองทำอยู่แน่ๆ เลยลองสมัครมาครับ
น้องวิงหวิง : เพราะอยากมาค้นหาตัวเองว่าตัวเองเหมาะกับสายวิทย์สุขภาพหรือเปล่าหรือเพราะแค่ตามกระแส ประกอบกับอยากรู้จักสาขาวิชานี้ด้วย เป็นสาขาที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย
กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคืออะไรคะ
น้องแวน : กิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับศิษย์เก่าครับ เพราะว่ามีพี่ๆ ที่จบไปแล้วมาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ทางการเรียน การทำงาน รวมถึงเรื่องที่ไม่ได้เจอในหนังสือ ทำให้ผมสนุกมากๆ ในกิจกรรมนี้ครับ
น้องวิงหวิง : เป็นช่วงที่เดินไปดูงานในโรงพยาบาล คือทางค่ายเค้าพาไปดูว่าเออเนี่ยในการรักษาต้องทำยังไง แถมยังได้ลองอุปกรณ์อีกด้วยนะคะ
ใน 1 วันที่ทำกิจกรรมได้ความรู้อะไรบ้าง
น้องแวน : ได้รู้จักสถานที่การเรียนการสอน รู้ว่าแต่ละเอกเรียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร เรียนต่างกันยังไง มีอาชีพอะไรบ้างหลังจากเรียนจบแต่ละสายแล้วก็ได้รู้ว่านักแก้ไขการสื่อสารไม่เหมือนกับหมอครับ 555
น้องวิงหวิง : ได้รู้ว่าคณะแพทย์ก็มีสาขานี้ด้วย แถมเป็นที่เดียวที่เปิดสอนในสาขานี้อีกต่างหาก ได้ความรู้เกี่ยวกับการเรียน การทำงาน การรักษาผู้ป่วย สุดท้ายได้รู้ว่ารอยยิ้มของคนไข้ (อาจจะหายป่วยหรือไม่หาย) คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข
สุดท้ายได้รู้ว่ารอยยิ้มของคนไข้ คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข
ระหว่างนักแก้ไขการพูดกับการได้ยินจะเลือกอะไร
น้องแวน : ผมชอบทั้งสองอย่างเลยครับ แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ ผมคงเลือกเป็นนักแก้ไขการพูด เพราะว่าก่อนหน้านี้ผมเป็นคนพูดไม่ชัด ผมเลยอยากให้คนอื่นที่มีปัญหาแบบผมได้หายจากอาการนั้นๆ ครับ
น้องวิงหวิง : เลือกนักแก้ไขการพูดค่ะ เพราะคิดว่าการพูดมันสามารถสื่ออะไรได้หลายๆ อย่าง คือหนูจะเป็นคนที่ชอบสังเกตเวลาคนพูด หนูอยากจะรักษาให้ผู้ป่วยด้านการพูดกลับมาพูดเป็นปกติ เพราะการพูดเป็นอะไรที่สำคัญมาก
พอได้เข้าค่ายรู้หรือยังว่าความฝันของตัวเองอยากเป็นอะไร
น้องแวน : สำหรับค่ายนี้ก็เป็นคณะที่น่าสนใจนะครับ ผมชอบ แต่ว่าถ้าถามความรู้สึกตอนนี้ผมยังคงสนใจในคณะอื่นๆ อยู่มากกว่านิดหน่อย ยังไงก็ขอขอบคุณพวกพี่ๆ มากๆ ที่จัดค่ายนี้ขึ้นมานะครับสนุกมากๆ เลย
น้องวิงหวิง : ก่อนมาค่ายคือความฝันของหนูเยอะมาก แต่พอมาค่ายนี้ ทำให้รู้เลยค่ะว่าหนูอยากเป็นนักเวชศาสตร์ แก้ไขการพูด
สุดท้ายลองเปรียบเทียบค่าย CDream เป็นสี
น้องแวน : สีเงินครับ เพราะเป็นสีที่ไม่มีสีไหนผสมได้ เหมือนกับสาขานี้ที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร แม้จะไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ก็มีความพิเศษในตัวเอง
น้องวิงหวิง : สีส้ม เพราะสีส้มเป็นสีที่ดูสดใสแต่ในเวลาเดียวกันก็ดูเข้มแข็ง จริงจัง ก็เหมือนในค่ายจะมีช่วงเล่นเกมสนุกสนาน ได้หัวเราะ และมีช่วงที่เราต้องเรียนรู้อย่างตั้งใจ เก็บเกี่ยวความรู้ให้ได้มากที่สุด
เป็นยังไงกันบ้างเอ่ยย กับแคมป์รีวิวอีพีนี้ ที่น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกให้กับน้องๆ ที่สนใจสายวิทย์สุขภาพได้ หรือน้องๆ คนไหนที่รู้จักกับอาชีพ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” แล้วมีความฝันที่อยากจะช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ถ้าจัดค่ายครั้งหน้าต้องลองไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้วว อย่าลืมติดตามแคมป์ฮับไม่พลาดทุกข่าวค่ายนะจ๊ะ เจอกันใหม่อีพีหน้า บัยบายย
ติดตามแคมป์ฮับไม่พลาดทุกข่าวค่าย
[button color=”facebook” size=”medium” link=”https://www.facebook.com/CampHUBth/”] Facebook CampHUB [/button] [button color=”line” size=”medium” link=”http://line.me/ti/p/~@camphub” icon=”fa-comment” target=”_blank”]Line CampHUB [/button]
เขียนโดย : พี่เหมี่ยว แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณรูปภาพ : ค่าย CDream สื่อความหมายสู่ปลายฝัน