“เพราะพูดง่ายกว่าฟัง” โลกนี้ถึงมีคนอยากพูดมากกว่าคนอยากฟัง หลายคนอาจจะสงสัยว่าพูดจะง่ายกว่าฟังได้ยังไง? นั่นเป็นเพราะว่าความสามารถในการฟังให้เข้าใจต้องอาศัยความอดทนและการจับความรู้สึกของผู้พูด การตั้งใจฟังใครสักคนให้เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ และเข้าใจไปถึงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในแต่ละข้อความมันเลยกลายเป็นเรื่องที่ยาก
แต่กลับกัน คนที่พูดมากๆ พูดไม่หยุด พูดแบบไม่อยากให้ใครพูดแทรก ไม่ว่าใครจะพูดอยู่ก็ต้องแย้งขึ้นมา … การเป็นแค่คนพูดมันเลยง่ายกว่ามาก เพราะเขาไม่ได้ต้องพยายามอะไรทั้งนั้น ไม่พยายามแม้แต่จะควบคุมตนเองให้ฟังคนอื่นให้จบก่อน พาลทำให้คนเบื่อและเซ็งไปตามๆ กัน กับการที่ต้องโดนคนแบบนี้พูดขัดตลอด
รู้ไหมว่า คนลักษณะแบบนี้ จริงๆ แล้วเขามีแนวโน้มว่าอยากจะหลีกเลี่ยงการทำความเข้าใจความรู้สึกในขณะที่กำลังพูดนะ หลายๆ คนคงเคยเจอแบบนี้มาบ้างสัก 1-2 คนในชีวิตแหละ … เอาล่ะ พอรู้เหตุผลหลักๆ ของคนพูดมากกันแล้ว คำถามคือเราจะรับมือกับคนประเภทนี้ยังไงดี เพราะถ้าหากเรามีเพื่อนบางคนที่พูดไม่หยุด หรือเจอคนประเภทนี้ในชีวิตจริงๆ จะให้ทนฟังไปตลอดมันก็คงไม่ไหว แต่จะให้เทเพื่อนไปเฉยๆ เลย ก็คงจะไม่ได้เหมือนกัน มาดู 4 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เรารับมือกับคนพูดมากได้ดีขึ้นกันดีกว่า
รับฟังเขาหน่อยนะ
แน่นอนว่าเพื่อนที่ดีต้องรับฟังเพื่อนอยู่แล้ว ถึงบางครั้งจะมีเพื่อนบางคนที่พูดมากหรือชอบพูดแต่เรื่องไม่สำคัญ จนทำให้เรารำคาญบ่อยๆ แต่อย่าลืมว่าเขาอาจจะพูดเรื่องสำคัญและอยากได้คำปรึกษาจากเราจริงๆ สักวันก็ได้ ดังนั้นก็พยายามฟังเขาก่อนเถอะนะ
พอฟังเข้าใจให้สะท้อนกลับ
สเต็ปต่อมา เมื่อฟังมาสักพักและพอจะเข้าใจแล้วว่าเพื่อนพยายามจะสื่อสารอะไร ต้องลองกล้าขัดจังหวะแล้วถามกลับไปว่า อ๋อ ที่พูดมาคือทั้งหมดคือเธออยากจะบอกสิ่งนี้กับเราใช่ไหม? เธอต้องการบอกกับเราว่า… ใช่ไหม ? ถามย้ำสิ่งที่เขาพูดไปเลย หนึ่งคือเพื่อเช็คให้ชัวร์ว่าเรากำลังเข้าใจผู้พูด และสองคือให้ผู้พูดได้เข้าใจตัวเองด้วยว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร หากเขาพูดประเด็นเดิมๆ วนไปวนมา ไม่จบไม่สิ้น วิธีนี้ก็อาจจะช่วยได้นะ เขาจะได้เข้าสู่ประเด็นสำคัญได้เร็วขึ้น
เตรียมใจว่าจะถูกพูดแทรก
เพราะแน่นอนว่าคนชอบพูดมักจะอยากพูดอย่างเดียว และบางครั้งก็ไม่สนผู้ฟังด้วยว่าเขาจะรู้สึกยังไง แม้เราจะแสดงความเห็นอะไร มันมีโอกาสอย่างแน่นอนที่เราจะโดนคนกลุ่มนี้ขัด แต่ถ้าเราอยากจะหยุดและดึงสติเพื่อนที่พูดไม่หยุด ก็ให้ใช้วิธีถามสะท้อนกลับไปเรื่อยๆ และอาจจะแชร์ความคิดหรือประสบการณ์ร่วมของตัวเองลงไปในเรื่องที่เขากำลังพูดด้วยก็ได้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามฝึกที่จะฟังเราบ้าง
เมื่อฟังต่อไม่ไหวแล้ว ต้องขีดเส้นให้ชัด
หากเรามั่นใจว่าได้ทำหน้าที่เพื่อนที่เป็นผู้ฟังที่ดีจนถึงที่สุดแล้ว แต่เพื่อนก็ยังไม่หยุดพูดสักที ลองทำทั้งสามสเต็ปที่ว่ามาแล้วก็เหมือนจะหยุดเพื่อนคนนี้ไม่ได้ ก็อย่าได้รู้สึกผิดที่จะหยุดบทสนทนาไว้เท่านี้ก่อนนะ อาจลองบอกเพื่อนไปว่าต้องขอตัวเพราะมีธุระที่ต้องจัดการเหมือนกัน หรือลองออกจากบทสนทนาด้วยเหตุผลอื่นๆ เพราะหากเรารับฟังเพื่อนมาเต็มที่แล้วและอยากจะขีดเส้นแบ่งเอาเวลาของตัวเองกลับคืนมาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลย เพราะเวลาและสภาพจิตใจของคนฟังก็สำคัญไม่แพ้คนพูดนะ :)
ถ้าน้องๆ คนไหนอยากเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง ค้นหาตัวเองเพิ่มเติม สามารถพูดคุย สอบถามทีมงาน Learn O Life ได้เลย เรามีทีมงานนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีประสบการณ์ ที่ต่างมีเป้าหมายอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักค้นหาตัวเอง และสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จที่ออกแบบเองได้ ไม่ใช่การเดินตามรอยเท้าของใคร
Facebook Learn O Life LINE @learnolife Website Learn O Life
เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย สำหรับ CAMPHUB check me with Learn O Life อีพีนี้ ถ้าชอบ ก็อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนๆ ได้มาเช็กจิตใจตัวเองไปด้วยกันเยอะๆ น้าาา และน้องๆ ยังสามารถอ่านบทความเพื่อเช็คสภาพจิตใจของตัวเองอีก ได้ที่นี่ แล้วถ้าจิตใจเราพร้อมแล้ว ก็พร้อมที่จะไปหาค่าย หากิจกรรมเข้าเพื่อค้นหาตัวเองกัน หาค่าย กิจกรรม โอเพนเฮ้าส์ ได้ง่ายๆ ที่ CAMPHUB.in.th ได้เลยจ้า สำหรับวันนี้ พี่ๆ CAMPHUB และ Learn O Life ต้องไปก่อน แล้วเจอกันในอีพีหน้าจ้า
เขียนโดย : พี่ๆ ทีมงาน Learn O Life
เรียบเรียงโดย : พี่จา CAMPHUB
รูปภาพประกอบ : พี่จั๊บ CAMPHUB