กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB discover with a-chieve

อยากเป็น บ.ก. ต้องทำยังไง? มาเรียนรู้จาก “พี่กาย” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ชื่อดัง “Salmon Books” กัน!

น้องๆ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับสำนักพิมพ์ Salmon Books เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่โตมากับชาว Gen Z อย่างเรา วันนี้พี่ๆ CAMPHUB จะพาน้องๆ มาทำความรู้จักผู้ที่อยู่เบื้องหลังของสำนักพิมพ์นี้ พบกับ พี่กาย ปฏิกาล ภาคกาย” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books มาคุยกับพี่กายกันว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ พี่กายเค้าผ่านอะไรบ้าง


อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB


รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากเป็นบรรณาธิการ?

ต้องเท้าความก่อนว่าเรารู้ตัวว่าชอบการอ่านนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือนิตยสาร ช่วงนึงก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์กีฬาจนอยากเป็นนักข่าวกีฬา แต่ไม่ได้มีความรู้อะไรเรื่องนี้เลย จนกระทั่งช่วงม.ปลายได้อ่านพวก a day, Happening, Bioscope ก็คือไปอ่านสายศิลปะกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น จนเริ่มรู้จักแล้วว่าโลกนี้มีตำแหน่งกองบรรณาธิการอยู่ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร พออ่านนิตยสารไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจว่าถ้าอยากทำงานเกี่ยวกับหนังสือ เราต้องเรียนวารสารฯ ไม่ก็อักษรฯ นี่แหละ 


แล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย พี่กายจบคณะอะไรมาคะ?

ด้วยความที่เราไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง เราก็เลยเข้าคณะนิเทศศาสตร์ที่ม.เอกชน ซึ่งพอเข้าไปเรียนก็พบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราคิดเลย เพราะหลักสูตรจะเน้นไปที่ข่าว สังคม การเมือง และการทำข่าวภาคพื้นสนาม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจตั้งแต่แรก กว่าเราจะได้เรียนในสิ่งที่เราอยากรู้จริงๆ ก็คือปี 3 แล้วเป็นการรู้จากการไปฝึกงานด้วยนะ 



พี่กายฝึกงานที่ไหน?

ตอนนั้นเราฝึกงานที่นิตยสาร Bioscope ซึ่งจะเกี่ยวกับหนังนอกกระแสหน่อยๆ พวกหนังฝรั่งเศส หรือหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เราได้เรียนรู้จากที่นี่เยอะมาก ทั้งได้เห็นการทำงานจริงๆ เห็นการปิดเล่ม ได้ลองเขียน เลยรู้สึกว่ามันสนุกดีนะ พอฝึกงานเสร็จเลยไปคุยกับพี่ที่ทำงานว่า ถ้ามีอะไรก็ส่งมาให้ช่วยได้นะ อยากเขียนครับ (หัวเราะ) 



แล้วสุดท้ายพี่กายได้ทำงานที่นิตยสาร Bioscope ต่อมั้ยคะ?

ทำครับ เขาก็ติดต่อกลับมา เราทำไปได้ประมาณ 8 เดือน ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราแฮปปี้จริงมั้ย จนได้คำตอบว่า เรายังชอบนิตยสารอยู่นะ แต่เราไม่สามารถอยู่กับคอนเทนต์ภาพยนตร์อีกต่อไป เรารู้ตัวว่าไม่สามารถเขียนเกี่ยวกับหนังได้ทุกๆ เดือน สุดท้ายเราก็ตัดสินใจลาออก


แล้วอะไรนำพาพี่กายมาสู่สำนักพิมพ์ Salmon?

ต้องย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน (หัวเราะ) ตอนนั้นเราไม่ได้ชอบพ็อกเก็ตบุ๊กส์ เพราะรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม ซื้อมา 200 บาท ได้อ่านแค่เรื่องเดียวเมื่อเทียบกับแมกกาซีนที่ได้อ่านงานของหลายคน จนกระทั่งได้ลองอ่านของสำนักพิมพ์แซลมอนนี่แหละ ซึ่งหนังสือชุดแรกของสำนักพิมพ์เป็นรวมเรื่องสั้น จะมีเรื่องดังๆ เช่น ทานยาหลังอาหารแล้วดื่มน้ำตามมากๆ พอได้อ่านวรรณกรรมพวกนี้ก็รู้สึกว่ามันเข้าถึงง่ายกว่าคำว่าวรรณกรรมที่อยู่ในหัวเรา แล้วสนุกด้วย เราเลยไปซื้อหนังสือของแซลมอนมาอ่านอีกแล้วก็เริ่มสนใจแซลมอนตั้งแต่ตอนนั้นมาครับ



งั้นพี่กายลองเล่าประสบการณ์การทำงานที่ Salmon หน่อยได้มั้ยคะ?

เอาตอนสมัครก่อนแล้วกัน   ปี 2011 เราไปงานหนังสือที่จัดตอนเดือนตุลาคมแล้วตรงไปบูธแซลมอน มันบังเอิญมากๆ ที่เราจำ บ.ก. แซลมอนได้ ซึ่งตอนนั้นเขาอยู่ที่บูธพอดี เราเลยเดินเข้าไปหาแล้วถามว่า

“แซลมอนรับกองบรรณาธิการมั้ยครับ”

ง่ายๆ แบบนั้นเลย (หัวเราะ)

พี่เขาก็บอกว่ากำลังจะเปิดรับสมัครให้ติดตามหน้าเฟซบุ๊ก พอดีว่าปีนั้นน้ำท่วม ทำให้เราต้องสมัครงานและตอบคำถามผ่านอีเมล กว่าจะรู้ผลว่าได้ก็อีกเดือนนึง วันที่เข้าไปทำงานก็บอกหัวหน้าไปตามตรงว่าเราไม่รู้เลยว่างานสำนักพิมพ์ต้องทำอะไรบ้าง พี่เขาก็บอกให้มาลองเรียนรู้ดู จากนั้นก็ยาวเลยครับ



ถ้าอยากเป็นบรรณาธิการ จำเป็นต้องชอบอ่านหนังสือหรือชอบเขียนมั้ย? 

เราว่าคนที่เป็น บ.ก. ก็ควรจะชอบอ่านแหละ เราเป็น บ.ก. ประเภทที่ลงไปดูงานทุกอย่างด้วย คือคัดเลือกต้นฉบับด้วยตัวเอง ปรับแก้ต้นฉบับ คอมเมนต์กราฟิกและภาพปก ไปจนถึงตีพิมพ์ เราดูทุกขั้นตอน เลยคิดว่า บ.ก. ก็ควรจะชอบอ่าน ซึ่งชอบอ่านธรรมดาไม่พอนะ เพราะต้องอ่านเรื่องเดิมๆ ได้หลายรอบ และต้องมีแพชชั่นในการอยากนำเสนอสิ่งนึงสุดๆ ถ้าชอบอ่านก็จะมีแต้มต่อในว่าเรื่องไหนคนพูดไปแล้ว เรื่องไหนไม่ต้องพูดก็ได้ เราจะอัปทูเดตและไม่ตกเทรนด์ แต่แนวคิดนี้อาจจะ old school ก็ได้นะ อาจจะมีคนที่ไม่ชอบอ่านแต่เป็น บ.ก. ที่ดีก็ได้ 


แล้วพี่กายคิดว่าอุปสรรคในการทำสายอาชีพนี้มีอะไรบ้าง?

เยอะมากเลย (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าความยากจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ต้องเท้าความก่อนว่าเราไม่ได้เข้ามาในตำแหน่ง บ.ก. เลย เราทำกอง บ.ก. ก่อน ก็ต้องเจอกับคำถามที่ว่า เวลานักเขียนส่งต้นฉบับมา เราปรับแก้ได้มากน้อยขนาดไหน ตอนแรกก็ยังจับทางไม่ค่อยถูกว่าหนังสือแบบไหนคือดีหรือไม่ดี เรายังไม่กล้าตัดสินนักเขียนขนาดนั้น แต่ว่าเราต้องกล้าคอมเมนต์ ซึ่งนี่แหละคือเรื่องยาก ตอนนั้นเราก็ยังเด็ก เพิ่ง 20 ต้นๆ เอง แต่ต้องมาคอมเมนต์ต้นฉบับนักเขียนชื่อดังที่อยู่ในวงการมานาน เลยเป็นความยากลำบากว่าเราจะพูดหรือวิจารณ์เขายังไงให้ดูมีเหตุและผล



แล้วพอได้เป็น บ.ก. อุปสรรคที่ว่ามันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?

อย่างแรกคือเรื่องเนื้อหา ต้องเป็นคนรับผิดชอบเต็มๆ มีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าตีพิมพ์เล่มไหน ให้หนังสือในรอบนี้เป็นเรื่องไหน วางแผนให้สมาชิกในทีมทำงานอะไรก่อนหลัง ซึ่งตอนนั้นในกองก็จะมีเพื่อนในวัยไล่เลี่ยกับเราทำอยู่ มันเลยจะมีเรื่องว่าเพื่อนจะคิดยังไงกับเรา ก็ต้อง balance เรื่องนี้อีก

นอกจากนี้ต้องมาดูเรื่องเงินทุน รายได้ รายรับ กำไร ขาดทุน ต่างจากที่ตอนเป็นกอง บ.ก. ที่ดูแค่หนังสืออย่างเดียวเลย อันนี้เราออกห่างจากตัวหนังสือมากขึ้น มาทำงานด้านการวางแผนจัดการ อยู่กับการประชุม และการคุยกับคนมากขึ้น ซึ่งพวกการบริหารจัดการนี่แหละที่ยากสำหรับเรา เพราะตอนเรียนเราก็คิดแค่อยากทำหนังสือ อยากเขียนหนังสือ ไม่เคยคิดเรื่องบริหารจัดการคนเลย



โห ถึงจะยากแต่พี่กายก็ผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้เลยนะคะ คำถามหนักๆ เยอะแล้ว เรามาที่คำถามเบาๆ กันบ้างดีกว่า ถ้าพี่กายไม่เป็น บ.ก. พี่กายคิดว่าตัวเองจะทำอาชีพอะไรเอ่ย?

นั่นดิ เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันแต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ เราว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นนิดหน่อยที่ที่บ้านซัพพอร์ตความชอบเรา พอรู้ว่าเราชอบหนังสือก็ซื้อหนังสือให้อ่าน เหมือนทุกอย่างปูมาหมดให้เรามาทำอาชีพที่เกี่ยวกับการอ่าน ตอนนี้ยังมีความคิดว่าอยากทำร้านหนังสือจังเลย แต่ก็มีช่วงนึงอยากเปิดร้านกาแฟ หรือบางทีก็มีคิดขำๆ ว่าอยากเปิดร้านขายไอติมไผ่ทองเพราะตัวเองซื้อไม่ทัน อยากให้ร้านมันนิ่งๆ อยู่กับที่บ้าง (หัวเราะ)


ย้อนกลับไปตอนเรียนคิดว่าตัวเองเป็นเด็กตั้งใจเรียนมั้ยคะ

เราว่าเราเป็นเด็กกลางๆ ไม่ได้ตั้งใจเรียนเอาแค่พอผ่าน เราจำได้ว่าเกรดช่วงมัธยมเราได้เกรด 2.3-2.5 หลายๆ เทอมติดกัน ถ้าโรงเรียนเราจริงจังกว่านี้เราคงเรียนไม่จบม.ปลายอะ (หัวเราะ) แบบคะแนนมันทุเรศทุรัง แต่อาจารย์ก็คงช่วยๆ ให้มันจบ เราจำได้ว่าช่วงพักกลางวันของวันสอบ O-NET A-NET เรายังไปเล่นเกมอยู่เลย แต่พออยู่มหาวิทยาลัยเรากลับพบว่าถ้าเราตั้งใจเราก็ทำได้เหมือนกันนะ แบบอ่านหนังสือมากขึ้น แล้วก็ได้เกรด 3.5 คือมันดีมากสำหรับเราในวัยนั้น ทั้งๆ ที่ตอนแรกเรียนมหาวิทยาลัยคิดแค่ว่าจะเรียนขำๆ ให้มันจบๆ ไป พอเราได้เกรดดีขึ้นก็เริ่มกดดันตัวเองว่าหลังจากนี้ต้องทำเกรดให้ได้ประมาณเท่านี้เรื่อยๆ จนสุดท้ายได้เกียรตินิยมอันดับสอง เอาจริงตกใจเลย แต่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่สนใจด้วยแหละเลยทำได้



หนังสือเล่มโปรดตลอดกาลของพี่กายคือเรื่องอะไร?

หนังสือที่มีอิทธิพลต่อเราจริงๆ คือ ชิทแตก ของปราบดา หยุ่น เล่มนี้ออกตอนเราอยู่มัธยม ตอนนั้นเราก็ชอบดูหนังฟังเพลงทั่วไปนี่แหละ ได้ยินมาว่าชิทแตกเป็นหนังสือที่วางขายพร้อมกับซีดี คือเป็นหนังสือที่มีซาวน์แทร็กของตัวเอง แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าชื่อปราบดาหยุ่น น่ากลัวสำหรับเรา เพราะเขาเก่งแถมยังได้รางวัลซีไรต์ เลยกลัวว่ามันจะเป็นหนังสืออ่านยากรึเปล่า สุดท้ายก็เลยยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ

แต่พอดีว่ามีเพื่อนคนนึงที่ชอบอะไรคล้ายๆ เรา มันแนะนำเพลงซาวน์แทร็กของหนังสือเล่มนี้มาให้เราฟัง ชื่อเพลง “บัวหิมะ” พอได้ฟังเราก็ชอบ จนเพื่อนบอกว่าถ้าฟังเพลงก็ต้องอ่านหนังสือด้วย แล้วก็ยัดเยียดหนังสือเล่มนั้นให้เราอ่าน เราเลยต้องอ่านเพราะกลัวทำหนังสือมันหาย (หัวเราะ) 

พอได้อ่านปุ๊ปก็เปิดโลกเลย สนุกมาก พี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) เขียนหนังสือได้มันมากๆ ใช้คำได้สนุก จะมีความไซไฟๆ หน่อย หลังจากนั้นเราก็ชอบพี่คุ่นเลย



แล้วถ้าให้แนะนำ “หนังสือควรอ่าน” สักเล่มให้กับน้องๆ ม.ปลาย จะเป็นเล่มไหนคะ?

อยากแนะนำ Erasmus generation เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้ คือผู้เขียนเขาสอบชิงทุนชื่อ Erasmus ซึ่งเป็นทุนเรียนฟรีที่ยุโรปประมาณ 2 ปีได้ มันน่าสนใจตรงที่เราไม่จำเป็นต้องอยู่ประเทศเดียวตลอด 2 ปี สามารถเดินทางไปประเทศไหนก็ได้ในระหว่างนั้น คือให้สิทธิ์แบบฟรีสไตล์มากๆ และตัวแมสเสจก็ต้องการจะบอกว่าการศึกษามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย คิดว่าถ้าน้องๆ ได้อ่านตั้งแต่มัธยมฯ น่าจะเป็นการสร้างเป้าหมายให้กับใครบางคนได้ ยิ่งในยุคที่คนอยากย้ายประเทศกันด้วย คิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่สามารถสื่อสารกับคนรุ่นนี้ได้ว่าเรายังพอมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพว่าเราจะได้ไปใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ดีกว่า ต่อให้ไม่ใช่ทุน Erasmus เราว่าหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะยังเป็นตัวจุดประกายให้คนอยากลองไปใช้ชีวิตหรือศึกษาต่อที่ต่างแดนดูเหมือนกัน


สุดท้ายนี้มีผลงานอะไรของสำนักพิมพ์ Salmon ให้ติดตามกันบ้าง?

ตอนนี้แซลมอนกำลังมีผลงานใหม่ๆ ทั้งสารคดีการเมืองและหนังสือแปลเล่มแรก  สามารถติดตามได้ผ่านใน FB Page Salmon Books และ IG @salmonsay เลยครับ นอกจากนี้ก็ฝากเพจลูกของเราด้วยชื่อว่า CONT. เป็นเพจที่ต่อยอดมาจากความคิดที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องอ่านแค่หนังสืออย่างเดียวก็ได้ เพราะทุกวันนี้เราก็วนเวียนอยู่กับการอ่านในรูปแบบอื่นๆ เช่น อ่านซับไตเติ้ลใน Netflix อ่านเนื้อเพลงนู่นนี่ เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้การอ่านเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเครียด แล้วก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อเอาความรู้เสมอไป อ่านเพื่อความบันเทิงก็ได้นะ อ่าน Sapiens แล้วปวดหัวก็บอกกันได้ (หัวเราะ) ก็เนี่ยแหละ หรือถ้านึกไม่ออกว่าจะอ่านหนังสืออะไรก็เข้าเพจเราแล้วเราจะแนะนำให้ อาจจะผ่านหนัง ผ่านเพลง มาหมดเลย ก็รวมๆ แล้วอยากบอกทุกคนว่ามาอ่านหนังสือกันแต่ไม่จำเป็นต้องอ่านด้วยความเครียดนะครับ!



เป็นยังไงบ้างคะน้องๆ ได้รู้จักเรื่องราวของบรรณาธิการคนเก่งอย่างพี่กายไปเยอะเลยใช่มั้ย! น้องๆ คนไหนที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ก็ขอให้หาตัวเองเจอนะคะ ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ ตามหาสิ่งที่ตัวเองถนัดไป สุดท้ายมันอาจจะอยู่ใกล้ตัวเรามากก็ได้ อ่านบทความนี้แล้วก็ลองเอาไปปรับใช้ดูน้าาาา

จบแล้ววว.. สำหรับ CAMPHUB discover with a-chieve วันนี้กับพี่กาย หวังว่าน้องๆ จะได้รับแง่คิดและแรงบันดาลใจชั้นดีจากพี่กายไม่มากก็น้อย และถ้าน้องๆ มีเพื่อนที่สนใจเกี่ยวกับการทำงานสายงานนี้ หรือใครกำลังลังงเลหรือค้นหาตัวเองอยู่ว่าชอบอะไร ก็อย่าลืมกดแชร์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้อ่านกันด้วยนะคะ และถ้าหากใครไม่อยากพลาดข่าวค่ายหรือบทความดีๆ แบบนี้จาก CAMPHUB ก็อย่าลืมแอดไลน์ไว้เลย ที่ @camphub สำหรับวันนี้ พี่ปาล์มมี่และพี่กาย Salmon ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า บ๊ายบายยย สัมภาษณ์


สัมภาษณ์ พี่ปาล์มมี่ CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่โอ CAMPHUB
ประสานงาน พี่แก๊ป CAMPHUB
ขอขอบคุณ Salmon Books


กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ปาล์มมี่