กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
บทความ

แนะนำวิศวฯ “โยธา เครื่องมือวัสดุ สิ่งแวดล้อม” แห่งวิศวฯ บางมด และมารู้จักกับ “บางมด ราชบุรี” [EP.3]

กลับมาเจอกันอีกครั้งใน EP ที่ 3 แล้ว วันนี้พี่จะมาแนะนำ 3 ภาควิชาสุดท้ายของ วิศวฯ บางมด นั่นก็คือ.. วิศวกรรมโยธา เครื่องมือวัสดุ สิ่งแวดล้อม และใครคิดว่า วิศวฯ บางมด มีแค่ที่บางมดแล้วล่ะก็ ขอบอกเลยว่าคิดผิด ถ้าอยากรู้ว่า วิศวฯ บางมดอยู่ที่ไหนบนโลกนี้อีก ก็ไปดูกันเลยยย


วิศวกรรมโยธา.. รู้จริง ปฏิบัติจริง อุปกรณ์ครบครัน

เริ่มต้นที่ภาคแรกคือ.. ภาควิชาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) จะเริ่มเรียนตั้งแต่พื้นฐานของความรู้ที่ต้องใช้ในการนำไปใช้ออกแบบโครงสร้าง มีทั้งตึกสูง บ้านจัดสรร เขื่อน ถนน สะพาน ฯลฯ เราจะได้เริ่มเรียนตั้งเเต่งานก่อสร้างขั้นเเรกๆ คือ การใช้กล้องสำรวจ เพื่อทำแผนที่เส้นชั้นความสูง โดยแอบกระซิบว่าเป็นการได้ไปทำนอกสถานที่ด้วย นอกจากนี้เรายังได้ลองทำแล็บอีกมาก ทั้ง..

  • แล็บดิน ที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของดิน
  • แล็บน้ำ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมการไหลของน้ำ
  • แล็บทดสอบวัสดุ เช่น เหล็ก ไม้ คอนกรีต ฯลฯ

ขอบอกเลยว่าทั้งสนุก ทั้งน่าตื่นเต้น ในที่นี้เนื้อหาที่เรียนจะมีด้วยกันหลากหลายด้านเนื่องจากวิศวกรรมโยธาคือวิศวกรรมที่ครอบคลุมถึงสิ่งปลูกสร้างรอบตัวเรา ดังนั้นจึงจะเเบ่งออกได้เป็นหลายสาขา ได้แก่..

  • การออกแบบโครงสร้าง
  • การจัดการการก่อสร้าง
  • การขนส่ง
  • การออกแบบฐานราก
  • อุทกวิทยา
  • ธรณีวิทยา
  • และอื่นๆ

ในส่วนของหลักสูตรปริญญาตรี ช่วงปี 1 ถึงปี 2 จะได้เรียนวิชาพื้นฐานซะส่วนใหญ่ อาจมีวิชาภาคแทรกมาบ้าง แต่พอปี 3 จะได้เรียนรู้วิชาภาคอย่างเต็มที่เลย ที่สำคัญช่วงปริญญาตรี 4 ปี น้องๆ จะได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของเเต่ละสาขาของวิศวกรรมโยธาอย่างคร่าวๆ และหากน้องๆ สนใจศึกษาต่อด้านใดด้านหนึ่งก็สามารถเรียนต่อปริญญาโทในด้านที่เราสนใจได้อีกด้วย


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

เมื่อจบไป น้องๆ จะสามารถเป็นวิศวกรโยธาที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง บำรุงรักษาเกี่ยวกับอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งหมด และการออกแบบระบบการขนส่งต่างๆ หรือเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมโยธาต่างๆ อาจจะเป็นเซลล์เอนจิเนียร์ ขายอุปกรณ์การก่อสร้าง ขายบ้าน ขายคอนโด หรืออาจทำงานด้านการตรวจเช็ค ตรวจสอบอาคารก็ได้ นอกจากนี้อาจเป็นวิศวกรคุมไซต์งาน คอยตรวจเช็คว่าการก่อสร้างดำเนินเป็นไปตามแผนงานรึไม่ หรืออาจทำหน้าที่เป็นวิศวกรประเมินราคาก็ได้หากไม่อยากคอยประจำอยู่ที่ไซต์งาน รึหากอยากทำด้านออกแบบก็จะต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกและฝ่ายอื่นๆ เราสามารถเลือกทำงานได้ทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนเลย


วิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ.. สายโรงงานมาทางนี้

มาต่อกันที่ภาคต่อไป นั่นก็คือ.. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ (Tool & Materials Engineering) จะมุ่งเน้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องมือ และวิศวกรรมวัสดุเพื่อเพิ่มคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยระดับปริญญาตรีของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ จะมีด้วยกันถึง 3 สาขาวิชา ได้แก่.. วิศวกรรมเครื่องมือ วิศวกรรมวัสดุ และวิศวกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

วิศวกรรมเครื่องมือ

เน้นการออกแบบผลิตเครื่องมือ และเลือกใช้เครื่องมือในกรรมวิธีการผลิตชิ้นส่วนโลหะและอโลหะ เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพและต้นทุนการผลิตต่ำ

วิศวกรรมวัสดุ

เน้นการศึกษาความก้าวหน้าและเทคโนโลยีและวัสดุวิศวกรรมเป็นหลักเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าในงานวิศวกรรมสมัยใหม่ โดยแบ่งกลุ่มเป็น 5 วัสดุหลักๆ ได้แก่ ยาง โลหะ เซรามิกส์ พอลิเมอร์ แก้ว และวัสดุผสม วิศวกรที่ผ่านการศึกษาหลักสูตรนี้มา จะมีความรู้ทางด้านสมบัติ กรรมวิธีการผลิต และการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ในกรรมวิธีการผลิตอย่างเหมาะสมเป็นอย่างดี

วิศวกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

เน้นการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์และการควบคุมกรรมวิธีการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จากวัสดุประเภทโลหะและอโลหะและเพื่อการวิจัยและพัฒนา

ในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรนอกจากจะได้ศึกษาวิชาเรียนที่เกี่ยวกับสาขาวิชาของตนเองแล้ว ยังจะได้ศึกษาในวิชาเรียนที่เกี่ยวกับสาขาวิชาหรือภาควิชาอื่นเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันอีกด้วย เช่น วิชา Electrotechnology (Power) จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิชา Engineering Mechanics และวิชา Mechanics of solid จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิชา Engineering Economics จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นต้น


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

น้องๆ สามารถเป็นวิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรมได้ทุกประเภท เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือกลโดยเฉพาะแม่พิมพ์พลาสติก และขึ้นรูปโลหะเพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถทำงานในหน่วยงานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนได้อีกด้วย


วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม.. ไม่ได้ปลูกต้นไม้อย่างที่ใครคิด

และเราก็เดินทางมาถึงภาควิชาสุดท้าย นั่นก็คือ.. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) ถ้าพูดถึงวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ทุกคนต้องเคยคิดว่า มีหน้าที่ปลูกต้นไม้หรือเก็บขยะ แต่จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ปลูกต้นหรือเก็บขยะอย่างที่ใครๆ คิด สิ่งที่เราเรียนก็คือการแก้ไขและจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางเสียง อากาศ ดิน น้ำ และขยะ หลักๆ ที่บางมดจะเน้นการเรียนเกี่ยวน้ำ ตั้งแต่การบำบัดน้ำเสีย ออกแบบถังบำบัดเพื่อไม่ให้ค่าน้ำเสียเกินกว่ามาตรฐาน แต่ก็มีอย่างอื่น อย่างเช่น ขยะ เราจะเรียนวิธีการจัดการขยะที่ถูกต้องและไม่เสียค่าใช้เยอะจนเกินไป

สำหรับในปี 1 เราจะเรียนพื้นฐานที่ปูพื้นฐานนำไปใช้อื่นๆ อีกด้วย ฟิสิกส์ แคลคูลัส เคมี Drawing ที่สำคัญสำหรับน้องๆ ที่จะตัดสินใจเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจะมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเคมี ชีวเคมี ค่อนข้างเยอะคำนวณกับท่องจำครึ่งๆ เลย แต่เราก็มีแล็บสนุกๆ ที่ต้องเรียนเยอะมาก บางวิชาได้ไปส่องกล้องกับภาคโยธาด้วยนะ


จบไป.. ทำอะไรได้บ้าง?

ทำงานได้หลายอย่างมาก ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน สายงานเรากว้างมากทำได้ทั้งสายโรงงานหรือนั่งออฟฟิศ งานก็จะมี ออกแบบสุขภัณฑ์ เป็นอาจารย์ ไม่ก็เรียนเพิ่มเติมเป็น Safety ในโรงงานได้เพราะทุกโรงงานก็ต้องมีของเสียมลพิษ ดังนั้นก็จะต้องคอยมีทีมวิศวกรรมสิ่งเเวดล้อมตรวจสอบอยู่เสมอเลย เป็นนักวิจัย ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือจะทำงานในพวกงานปะปาที่คอยตรวจเช็คสภาพเครื่องหรือบำบัดน้ำต่างต่าง ถ้าเรียนเฉพาะทางด้านอากาศจะเป็นคอยตรวจเช็คอากาศในสถานที่ต่างๆ ให้มีคนที่อยู่มีสุขภาพที่ดี พวกสายงานกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้หรืออาจะไปทางด้านสายการบริหารจัดการทรัพยากรก็ได้และพวกประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามสถานที่ต่างๆ ประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามสถานที่ต่างๆ ได้ด้วย


จบไปแล้วกับ 3 ภาควิชาสุดท้ายของ วิศวฯ บางมด เป็นยังไงกันบ้าง มีภาคไหนน่าสนใจแล้วเข้าตาน้องๆ บ้างรึยัง??? ขอบอกเลยว่าบทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเล็กน้อยเท่านั้นที่พี่ๆ มาเล่าให้ฟัง ถ้าอยากรู้ลึก รู้ละเอียด และได้ลองทำจริง ก็อย่าลืมมาเข้าร่วมกิจกรรม Engineering Open House Carnival at Bangmod เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้องมอปลาย (หรือเทียบเท่า) คุณครูแนะแนว และผู้ปกครองเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ สัมผัสบรรยากาศ และทำกิจกรรมร่วมกันกับนักศึกษาในภาควิชาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยกำหนดจัดกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2566 แล้วมาพบกันที่ วิศวฯ บางมด ⚙️🐜


เดี๋ยวก่อน! อย่าพึ่งไปไหน.. ใครบอกว่า วิศวฯ บางมด มีแค่ที่บางมดกัน!

รูปภาพจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี)

นอกจาก 10 ภาควิชาที่พี่ได้แนะนำไปแล้วนั้น ภายในงาน Engineering Open house 2023 : เปิดบ้านวิศวฯ มจธ. ยังมีพี่ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ พื้นที่การศึกษาราชบุรี หรือ KMUTT Residential College (RC) ถ้าใครสนใจ บอกเลยว่าพลาดไม่ได้เด็ดขาด ต้องมาให้ได้นะ!!

ขอเชิญน้องๆ พบกับ KMUTT Residential College (RC) แหล่งการเรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์ Generation ใหม่ที่ไม่มีคำว่าน่าเบื่อด้วยการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ฉีกแนวคิดจากมหาวิทยาลัยเดิมๆ นอกจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใครแล้วทาง KMUTT Residential College (RC) ยังมีทุนการศึกษามอบให้กับนักศึกษาที่พร้อมจะเป็นวิศวกร Gen ใหม่โดยในปีการศึกษา 2566 ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเปิดรับทั้งหมด 4 ภาควิชา ได้แก่..

  • ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
  • ภาควิชาวิศกรรมระบบอัจฉริยะ
  • และภาควิชาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม

มาร่วมกันหาคำตอบว่า Residential College (RC) นั้นมีความหมายว่าอย่างไร แล้วการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ฉีกแนวคิดจากมหาวิทยาลัยเดิมๆ เป็นอย่างไรและจะน่าสนใจแค่ไหน มาพบกันได้ที่งาน “Engineering Open House Carnival at Bangmod” ในวันที่ 14-16 ตุลาคม 2566


ขอขอบคุณพี่ ๆ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา เครื่องมือวัสดุ สิ่งแวดล้อม และ RC ที่มาช่วยกันแบ่งปันข้อมูลให้กับน้อง ๆ ทุกคนนะครับ 🙏🙏



กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"