หลายๆ คนน่าจะรู้จักกับ “พี่เค้ก” เปมิกา จิระนารักษ์ และ “พี่เมือง” สองเมือง ไชยฤทธิ์ ในฐานะนักร้องดูโอ้วง Serious Bacon จากค่าย BOXX MUSIC กันมาเยอะแล้ว วันนี้พี่ๆ CAMPHUB เลยจะพาน้องๆ มารู้จักกับพี่ทั้งสองคนในอีกมุมหนึ่ง กับเรื่องการเรียนในรั้วนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพี่ๆ ทั้งสองคนนี้ก็เรียนในสองสาขาที่แตกต่างกันของคณะนิเทศศาสตร์ โดยพี่เค้กเรียนในสาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง ส่วนพี่เมืองเรียนในสาขาสื่อสารการแสดงนั่นเองง
พอเห็นแบบนี้แล้วหลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่าเอ๊ะ แล้วนิเทศจุฬานี่มันมีกี่สาขากันนะ จริงๆ แล้วคณะนี้มีสาขาให้เลือกเรียนแตกต่างกันถึง 7 สาขาเลย นั่นก็คือ
- การประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
- การโฆษณาและการสื่อสารตราสินค้า (Advertising and Brand Communications)
- การออกแบบและผลิตสื่อ (Media Design and Production)
- วารสารสนเทศและสื่อใหม่ (Journalism, Information, and New Media)
- วาทนิเทศ (Speech Communication)
- สื่อสารการแสดง (Performing Arts)
- การภาพยนตร์และภาพนิ่ง (Film and Still Photography)
โดยแต่ละสาขาก็จะมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป ส่วนสำหรับสาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง และสาขาสื่อสารการแสดงที่พี่เค้กและพี่เมืองเรียนนั้นจะเป็นยังไง หรือพี่ๆ ทั้งสองคนรับมือกับความเครียดในช่วงสอบยังไงบ้าง มาดูในบทความนี้กันเลยย!
ก่อนจะเข้ามาเรียนนิเทศ พี่ๆ เตรียมตัวยังไงมาก่อนบ้าง แล้วอยากเรียนนิเทศอย่างเดียวเลยไหม?
พี่เมือง: ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะเข้าคณะสถาปัตย์นี่แหละ ติวมา 3 ปี ไปสอบมาเรียบร้อยหมดแล้ว แต่ว่าตอนยื่นคะแนนรอบ 3 (รอบรับตรง) เรายื่นไปแค่สถาปัตย์ แล้วก็ไม่ได้ พอจะยื่นรอบ 4 คราวนี้คะแนนถึงทั้งสถาปัตย์และนิเทศ มันเลยขึ้นอยู่กับว่าเราแล้วว่าจะเลือกอะไรเป็นอันดับ 1 แต่ที่ทำให้เลือกนิเทศน่าจะเป็นเพราะพี่สาวเรียนคณะนี้ เราเคยเห็นว่าเขาเรียนอะไร ประกอบกับเราก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้วด้วย เลยเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายว่าจะเข้านิเทศ เรียกว่าหักเลี้ยวในนาทีสุดท้ายเลย
พี่เค้ก: ตอนที่เตรียมตัวเข้านิเทศจุฬาฯ ก็หาข้อมูลเยอะอยู่นะ เพราะเราเป็นคนค่อนข้างเนิร์ดประมาณนึง ตอนรุ่นเรา (สอบเข้าปี 2559) เราสอบรอบรับตรงเข้ามาเลย ใจร้อน ขี้เกียจรอแล้ว ซึ่งการรับตรงตอนนั้นจะมีให้ยื่นคะแนน GAT กับคะแนน PAT 7 เราเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสมา ก็เลยเตรียมสองอันนี้เข้มข้นมาก อ่านหนังสือเยอะมาก ฉลาดที่สุดในชีวิตเท่าที่จะฉลาดได้แล้ว (หัวเราะ) ท่องศัพท์ทุกลมหายใจ บอกกับตัวเองว่าฉันต้องสอบคณะนี้ให้ได้ สุดท้ายเราก็ได้จริงๆ ส่วนเวลาหาข้อมูลก็แบบเวลาเขาเปิดอะไรที่เป็นแนะแนวเกี่ยวกับคณะนี้ เราก็จะไปมีส่วนร่วม อยากจะไปฟังไรงี้ หรือมี Open House ก็มา และปรึกษาคนที่เคยเรียน มีรุ่นพี่ที่เคยเรียน ก็ปรึกษาอยู่บ้าง ว่าเตรียมตัวยังไง อะไรงี้ค่ะ
หลายคนกังวลว่าถ้าไม่มีพื้นฐานจะเรียนนิเทศได้ไหม กลัวจะตามอาจารย์ไม่ทัน พี่ๆ คิดว่าไงบ้าง?
พี่เค้ก: เราว่าอาจารย์พยายามสอนโดยเริ่มจาก basic ก่อนแหละ ยกตัวอย่างวิชาที่เรียนเกี่ยวกับภาพนิ่ง เขาก็จะเริ่มจากเรื่องพื้นฐานก่อนเลย สอนวิธีการใช้กล้อง การเปิดรูรับแสง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน
พี่เมือง: เราว่าถ้าตั้งใจมาเรียนจริงๆ ก็ทำได้นะ นอกจากครูจะสอนดีแล้ว ในคณะก็มีวิชาที่เปิดให้เด็กคณะอื่นๆ มาเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะทางสายวิทย์หรือสายศิลป์ก็มาเรียนกันเยอะ ซึ่งเขาก็เรียนได้ สนุกด้ว
แล้วเรื่องงานล่ะ ที่เค้าบอกกันว่าเรียนนิเทศไม่ค่อยมีงาน พี่ๆ คิดว่าจริงไหม?
พี่เค้ก: ตอนที่เราจะเข้าคณะนี้ ก็มีคนที่เป็นห่วงว่าสายงานนี้จะมีงานทำไหม แต่ถ้าเราสนใจด้านนี้หรือมีความถนัดจริง ๆ มันก็จะมีงานที่รองรับเราแหละ
น้องๆ คนไหนที่ชอบถ่ายรูป ชอบการแสดง ชอบอะไรที่เราคิดว่ามันคาบเกี่ยวกับความเป็นนิเทศ การเข้ามาในคณะนี้ก็มีส่วนที่จะช่วยเสริมสกิลน้องให้มันมากขึ้น แล้วในอนาคตก็อาจจะได้ทำงานด้านนี้จริงๆ ซึ่งมันก็มีหลายคนในคณะที่ได้รับโอกาสนั้น
พี่เมือง: จริงๆ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องมาเรียนนิเทศเพื่อทำงานด้านนี้อย่างเดียวนะ เรียนนิเทศแล้วไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ นิเทศสายโฆษณาก็มี สายอื่นๆ ก็เยอะ อยู่ที่น้องๆ แหละ ถามตัวเองว่าอยากเรียนอะไร
ไม่จำเป็นว่าต้องมาเรียนนิเทศเพื่อทำงานด้านนี้อย่างเดียวนะ เรียนนิเทศแล้วไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้
พี่ๆ คิดยังไงกับภาคที่เลือกบ้าง ตรงกับที่คิดภาพไหม?
พี่เค้ก: ตอนเข้าคณะมาใหม่ๆ เราอยากเข้าภาคฟิล์มมาก ๆ เพราะอยากลองกำกับหนัง ลองทำหนังสั้น แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้รายละเอียดว่าจะเจออะไรบ้าง ซึ่งพอเข้ามาเรียนภาคฟิล์มจริงๆ มันมีอะไรมากกว่านั้น เช่น การที่จะทำหนังเรื่องหนึ่ง มันมีช่วงพรีโปรดักชันที่เราต้องเขียนบท ต้องมีทีมงานหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกันเตรียมเพื่อที่จะไปสู่ช่วงโปรดักชันที่เราจะไปถ่ายจริง ใช้ทีมงานเยอะมาก ในหนึ่งโปรดักชันก็ต้องมีหลายตำแหน่งที่จะช่วยงานกัน
หลังจากนั้นก็จะมีช่วงโพสต์โปรดักชันอีกที่จะต้องตัดต่ออีก ต้องทำยังไงให้เรียงลำดับเรื่องให้คนดูเข้าใจ ภาพคน หรือสี ต้องเป็นยังไง มันมีรายละเอียดเยอะกว่าที่เราเคยรู้มากๆ ดังนั้นพอเราได้มาทำงานโปรดักชันจริงๆ ก็พบว่าเราเป็นคนไม่ชอบออกกอง แต่ว่าอันนี้มันแล้วแต่คนมากๆ เลยนะ เพื่อนๆ เราก็เอนจอยปกติ เราคิดว่าคนที่ชอบน่าจะเป็นคนที่มีแพชชันในด้านนี้ประมาณหนึ่ง กลายเป็นว่าสุดท้ายเราชอบถ่ายรูปมากกว่า ชอบภาพนิ่งมากกว่า ซึ่งมันก็มีในภาคเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็เลือกที่จะมาทำเพลงเพราะว่าชอบ
มีวิชาไหนที่ชอบเป็นพิเศษในคณะกันบ้างไหม?
พี่เมือง: จริงๆ มีวิชาที่เราเรียนเหมือนกัน เป็นวิชาเซตภาพนิ่ง โดยจะเรียนตั้งแต่ Princ Photo มี Portrait สอน Digital Art สอนแต่งรูป สอน Edit รูป เป็นวิชาที่เรารู้สึกว่าเรียนแล้วได้เอามาใช้จริงมาก ๆ อย่างทุกวันนี้เราแต่งรูปได้ค่อนข้างเซียนก็เพราะ อ.ที่สอนเราเลย
พี่เค้ก: 5555555 สมมติอย่างวิชา Portrait Photo เขาก็จะมีสอนวิธีการถ่ายรูปในแบบต่างๆ แล้วก็ให้โจทย์เราเพื่อไปลองถ่ายจริงๆ เป็น Photoshoot จริงๆ แล้วเอามานำเสนอ แล้วเขาก็จะช่วยคอมเมนต์ให้ เราก็เคยถ่ายรูปเมืองไปส่งหลายงานมาก อยู่ใกล้มือ แบบถ้าใครที่ชอบถ่ายรูปหรือรู้สึกอยากมีสกิลด้านการฝึกใช้กล้อง เราว่าวิชาเหล่านี้มันมีประโยชน์
พี่เมือง: เป็นซอฟต์สกิลที่มีประโยชน์ในสายงานเรา อย่างงานวงเราก็ทำรูปเองถ่ายรูปเองบ้าง
พี่เมือง: แล้วก็มีวิชา Music Perform ใคร ๆ ก็เรียนได้เหมือนกัน ของภาค PA
พี่เค้ก: เค้กเก็บเป็นวิชาเสรี ก็เลยได้เรียนวิชานี้
พี่เมือง: ครูตั้งใจสอนมาก แล้วก็เป็นวิชาที่ชอบที่สุดในภาคแล้วตั้งแต่เรียนมา คือเราได้เรียนเรื่องการ Perform โดยใช้ดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องไรงี้ ก็ได้ทำอะไรหลายอย่างที่มันสนุก
แบบนี้การเข้ามาเรียนที่นิเทศจุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่ๆ ได้ทำเริ่มทำเพลงจริงจังด้วยหรือเปล่า?
พี่เค้ก: เราสองคนตั้งแต่มัธยม ก็เคยทำวงทำอะไรของตัวเองอยู่บ้างที่โรงเรียน แล้วพอเข้าคณะก็มีงานที่ให้เราได้มาลองแต่งเพลงทำเพลงของละครนิเทศจุฬาฯ ประมาณนั้น ก็เอามาต่อยอดในการทำเพลงในวงด้วยค่ะ
พี่เมือง: ชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ จริงๆ ก็อยากเล่นมานานแต่ว่าไม่ค่อยมีโอกาส พอมีมาทำวงด้วยกันก็เลยสนุกแล้วก็ทำยาวเลย
เห็นว่าพี่ๆ เรียนการแสดงและภาพยนตร์ การเรียนมันช่วยกับเรื่องทำเพลงยังไงบ้างไหม?
พี่เค้ก: ก็ช่วยให้เรามีสกิลบางอย่างเพิ่มขึ้นจากตัวเรามากกว่ามั้ง ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าไม่ได้เรียนคณะนี้จะทำเพลงได้แบบนี้ไหม
พี่เมือง: เรียนการแสดงก็ช่วยเวลาต้องไปถ่ายหรือเล่น MV รวมถึงการแสดงบนเวทีด้วย เพราะมันก็มีส่วนช่วยในการแสดงออกของเรานะ
พี่เค้ก: จริงๆ พื้นฐานของนิเทศคือการสื่อสาร เราว่าการเรียนในคณะนี้มีส่วนช่วยให้เราแต่งเพลงหรือทำผลงานให้สื่อสารกับคนฟังได้ดีมากขึ้น หรืออย่างเราที่ได้มาเรียนฟิล์ม ก็จะมีเรียนทำหนังสั้น ซึ่งเราก็ต้องฝึกตัดหนังเอง เลยได้เอาสกิลตัดต่อเล็กๆ น้อยๆ ไปช่วยทำคอนเทนต์ของวงได้บ้าง
แล้วเบื้องหลังของผลงานล่าสุดเพลง ‘ลืมเขาได้ยัง’ พี่ๆ ทำอะไรกันบ้างคะ
พี่เค้ก: มันเริ่มจากเมืองทำดนตรีก่อน
พี่เมือง: ใช่ เราอยากทำเพลงสนุก ๆ เราเลยทำดนตรีขึ้นก่อน แล้วมาแต่งเนื้อเพลงทีหลัง
พี่เค้ก: พอทำดนตรีแล้วก็ส่งมาให้เค้กฟัง เค้กเลยลองขึ้นเพลง จากนั้นจึงลองแต่งด้วยไอเดียที่เรามีอยู่ แล้วเอาให้เมืองไปลองแต่งต่อ ก็เป็นไปตาม step หลังจากนั้นก็จะทำ demo แล้วส่งให้พี่ ๆ ที่ค่ายช่วยฟัง ช่วยคอมเมนต์ ให้เราได้นำมาพัฒนาปรับแก้ต่อค่ะ
พี่เมือง: อย่างโปรดักชันก็จะเป็นทีม MV โดยเขาจะช่วยคิดเส้นเรื่อง คิดไอเดีย ออกไอเดีย ในส่วน MV นี้เราก็เป็นฝ่ายเสนอความเห็น เป็นฝ่ายฟีดแบคซะมากกว่า
พี่เค้ก: ถ้าใครได้ดู MV นี้ก็จะเห็นว่าเป็นคอนเซปต์น่ารักๆ ประมาณว่าเมืองหายตัวไปจากวง เค้กก็เลยต้องเปิดออดิชันเมืองคนใหม่ ซึ่งใน MV ก็จะเห็นเราสองคนแสดงเป็นหลายบทบาท ก็ลองไปรับชมกันได้ค่ะ
ดูพี่ๆ ทำงานกันหนักมากเลย แบบนี้เวลาเหนื่อยทำยังไงกัน?
พี่เค้ก: ช่วงไหนที่เราแบบ “โอ๊ยไม่ไหวแล้ว” ก็จะตามใจตัวเองเสียส่วนใหญ่ กินของที่ชอบ อยากทำอะไรก็ทำ ให้เวลาตัวเองพักผ่อน คนเรามันเหนื่อยทุกวันมันก็ไม่ไหวเนอะ ก็ต้องมีวันที่เราได้พักบ้าง
พี่เมือง: มีคนเคยพูดไว้ว่า ‘ถ้าเราทำงานที่เรารักเราจะไม่รู้สึกเหมือนเราทำงานสักวัน’ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ผิด งานยังไงมันก็คืองาน และมันก็มีวันที่เหนื่อยจริงๆ วิธีการจัดการของเราง่ายมาก เราจะพักทุกอย่าง นอนนิ่งๆ ไม่ก็นอนเล่นโทรศัพท์อยู่เฉยๆ เลย เหมือนเราเป็นประเภทไม่ได้หมดแรงบันดาลใจ เราแค่หมด ‘แรง’ คนเราต้องหาเวลาพักสมองเฉยๆ บ้าง การพักผ่อนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ซึ่งวิธีการพักผ่อนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
‘ถ้าเราทำงานที่เรารักเราจะไม่รู้สึกเหมือนเราทำงานสักวัน’ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ผิด งานยังไงมันก็คืองาน และมันก็มีวันที่เหนื่อยจริงๆ
อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบ
พี่เมือง: อย่างแรกต้องบอกว่าสู้ๆ แหละ แต่ก็อย่าเครียดเกิน สำหรับเรานะ เครียดเกินมันก็ไม่ดี คืออ่านหนังสือหนักได้ บางเรื่องมันยาก แต่เราต้องบาลานซ์ดี ๆ เราเชื่อว่าการสอบเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าสุดท้ายเราไม่มีความสุข มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดี อยากให้น้องๆ เน้นที่ความสุขของตัวเอง ถ้าเรามีความสุข จะทำอะไรมันก็แฮปปี้ อย่าเครียดเกิน ส่วนตัวเราเป็นคนอ่านหนังสือแบบไม่เครียดเลย แต่เราอาจจะเป็นตัวอย่างของความไม่เครียดเกินไป ซึ่งบางทีก็ไม่ดี ต้องบาลานซ์ดีๆ นะ
พี่เค้ก: ตอนนั้นเราเครียดประมาณหนึ่งเพราะอยากเข้าคณะนี้มาก แต่ถ้าย้อนกลับไปก็คิดว่าอาจจะไม่หักโหมเท่าตอนนั้นมั้ง มันจะมีช่วงที่เราพยายามนอนน้อยเพื่อที่จะได้อ่านหนังสือได้เยอะขึ้น ซึ่งสุดท้ายพอเรานอนไม่พอ ตื่นมาก็จะจำไม่ค่อยได้ เลยคิดว่าทำอะไรที่มันพอดีกับตัวเองดีกว่า แบ่งเวลาให้เป็น ให้เวลาตัวเองได้พักด้วย เพราะว่าอ่านหนังสือทั้งวันมันก็เหนื่อยเนอะ ต้องมีช่วงเวลาที่เราได้หยุดบ้าง แต่ก็สู้ๆ ค่ะ มันน่าจะเป็นช่วงหนึ่งที่น้องๆ ทุกคนน่าจะตั้งใจมากๆ เพื่อที่จะเข้าคณะที่อยากเข้าเนอะ เข้าใจว่าการแข่งขันในประเทศมันก็สูง
อ่านหนังสือทั้งวันมันก็เหนื่อยเนอะ ต้องมีช่วงเวลาที่เราได้หยุดบ้าง
จะมีผลงานใหม่ๆ ที่จะออกมาช่วงนี้อีกไหม?
พี่เมือง: ก็คือภายในปีนี้น่าจะมีอีก 1 เพลง
พี่เค้ก: เพลงที่เป็นโปรเจคพิเศษ 1-2 เพลงด้วยกัน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็น่าจะประมาณ 2 เพลงค่ะ รอฟังกันได้ค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะน้องๆ ได้เรียนรู้เทคนิคจากพี่เค้กและพี่เมืองกันไปเยอะเลยใช่ไหม น้อง ๆ คนไหนที่กำลังจะสอบเข้ามหาลัยก็อย่าเครียดจนเกินไปนะคะ หาเวลาพักให้ตัวเองบ้าง เหนื่อยก็พัก หาอะไรกินอร่อยๆ แบบพี่เค้กก็ได้ค่ะ หรือจะปล่อยใจสบายๆ หลับสักแป๊ปแบบพี่เมืองก็ดี ลองเอาไปปรับใช้ดูน้าา
จบแล้ววว.. สำหรับ CAMPHUB idol วันนี้กับพี่เค้กและพี่เมือง หวังว่าน้องๆ จะได้รับแง่คิดและแรงบันดาลใจชั้นดีจากพี่ๆ ไปไม่มากก็น้อย และถ้าน้องๆ มีเพื่อนที่สนใจเกี่ยวกับการเรียนนิเทศ จุฬาฯ ก็อย่าลืมกดแชร์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้อ่านกันด้วยนะคะ และถ้าหากใครไม่อยากพลาดข่าวค่ายหรือบทความดีๆ แบบนี้จากแคมป์ฮับ ก็อย่าลืมแอดไลน์ไว้เลย ที่ @camphub สำหรับวันนี้ พี่เพียงฟ้าและพี่ๆ Serious Bacon ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า บ๊ายบายยย
สัมภาษณ์ พี่เพียงฟ้า CAMPHUB
ประสานงาน พี่แก๊ป CAMPHUB
ขอขอบคุณ BOXX Music, Muzik Move