กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB discover with a-chieve

มารู้จักอาชีพ UX Designer ผู้ออกแบบแอปให้สวย ใช้งานง่าย กับพี่มายมิ้นท์

ALL ABOUT UX Designer

  • UX Designer คือผู้ออกแบบหน้าตาและการใช้งานของแอปหรือเว็บไซต์ ให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ทั้งรู้สึกสะดวก ใช้ง่าย และน่าดึงดูดให้ผู้ใช้เลือกที่จะมาใช้แอปหรือเว็บไซต์ของเรา
  • ทักษะที่สำคัญของ UX Designer ต้องเข้าใจถึงกระบวนการออกแบบอย่างมีระบบ มีความรู้พื้นฐานในการเขียนโปรแกรม รู้จักการดีไซน์ที่สวยงาม และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้เพื่อนำมาใช้ออกแบบแอปหรือเว็บไซต์ของเราให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้
  • หลากหลายหนแห่งที่ให้น้องๆ ได้ฝึกทักษะการเป็น UX Designer ทั้งกิจกรรมในมหาวิทยาลัย การเข้าแข่งขันด้านการทำแอปหรือเว็บไซต์ ค่ายด้านดิจิทัลมีเดีย หรือค่ายที่จัดโดยคณะไอที ด้านดิจิทัล สถาปัตย์ หรือการออกแบบ

ห่างหายกันไปนานเลย สำหรับคอลัมน์ CAMPHUB inspire with a-chieve น้องๆ อาจจะคิดว่าคอลัมน์นี้ไม่มีแล้ว T^T แต่ๆๆ ขอแก้ข่าวนิดนึง คอลัมน์นี้ยังมีอยู่เน้อออ ยังไม่หายไปไหนแน่นอน ในอีพีแรก (เมื่อปีที่แล้ว อย่างนาน..) น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับอาชีพด้านการตลาดดิจิทัลกับพี่มายด์กันไปแล้ว มาอีพีนี้ ขอพาน้องๆ มาท่องโลกดิจิทัลกันอีกครั้ง กับอาชีพ UX Designer นั่นเอง..

น้องๆ ลองนึกภาพว่า เรากำลังจะกดสั่งเสื้อผ้าจาก Shopee น้องๆ ก็จะเริ่มจากค้นหาสินค้า ถ้าถูกใจก็กดเพิ่มในตะกร้า ใส่ที่อยู่จัดส่ง ใส่วิธีชำระเงิน และสุดท้ายก็กดจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้และหน้าตาแอปที่น้องๆ ใช้งานอยู่นั้น ได้ผ่านการออกแบบมาจาก UX Designer นั่นเอง

อยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะ ว่ากว่าจะออกแบบขั้นตอนแบบนี้ได้ เค้าทำยังไงกันบ้าง แล้วต้องเรียนคณะอะไร มีทักษะแบบไหน ถึงจะเป็น UX Designer ได้ วันนี้พี่แอม ชวนพี่มายมิ้นท์ มาพาน้องๆเจาะลึกกันแบบเน้นๆ ถ้าพร้อมแล้ว อย่ารอช้า.. ตามไปดูเลย!

แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักกันซักหน่อยดิจิทัล

ชื่อมายมิ้นท์ ธนาภรณ์ กุศลมโนมัย เรียนจบจากการออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้ทำงานเป็น UX Designer ที่ SCB ในแผนก Wealth platform จ้า

ย้อนไปก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย พี่มายมิ้นท์มีวิธีค้นหาตัวเองในการเลือกคณะเรียนยังไงบ้าง

ย้อนกลับไปตอนนั้น ก็ลองเรียนในสิ่งที่ถนัด ลองอ่านหนังสือ ลองศึกษาเกี่ยวกับภาควิชาต่างๆ ภาควิชาแรกที่เลือกจะลองก็คือวิศวคอม เพราะว่าตอนนั้นพี่เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งออกแบบเกมในรายการต่างๆ หนึ่งในนั้นก็มี Microsoft Imagine Cup ที่เป็นแรงบัลดาลใจให้พี่มากๆ ตอนนั้นก็ไปลองเรียนเขียนโค้ดแบบจริงจัง อื้อหือ ไม่ไหว ทั้งเรียนไม่ทันเพื่อน ทั้งไม่แฮปปี้ ทำการบ้านทีไรเป็นอันเครียด สุดท้ายภาพที่เคยจินตนาการไว้ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์สาวนั่งเขียนโค้ดในออฟฟิศก็ต้องพับเก็บไป

ภาควิชาต่อมาก็คือภาควิชาสถาปัตย์ (ถ้าเรียกว่าสถาปัตย์เฉยๆ ไม่มีคำต่อท้าย ก็คือสถาปัตย์ภายนอกอาคาร ไม่ได้ออกแบบภายในอาคารจ้า) เพราะพี่คิดว่าเราชอบการออกแบบ ไปออกแบบบ้าน ออกแบบตึก พี่ลองเรียนความถนัด ต้องวาดรูป Perspective เรียนโครงสร้างบ้านเบื้องต้น แฮปปี้ใช้ได้เลยนะ แต่อันที่รู้สึกสนุกที่สุดคือสิ่งที่เรียกว่า Sketch design เป็นการออกแบบสิ่งของต่างที่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ตึก เราจะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ตามโจทย์ที่ได้รับ ส่วนใหญ่ในโจทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัย ไลฟ์สไตล์ ความต้องการของผู้ใช้งาน และสิ่งที่ผู้ใช้งานกำลังประสบพบเจอมาให้เรา สิ่งที่เราจะออกแบบต้องช่วยแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานคนนั้น เราสนุกกับสิ่งนี้มากๆ ทำให้เราเริ่มเปิดใจกับภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม (ID) จนตัดสินใจสอบเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ

อาชีพที่คิดไว้ในตอนมัธยม มหาวิทยาลัย และหลังจากเรียนจบ ยังเป็นเหมือนเดิมหรือต่างกัน

ต่างไปมากๆ เลย เพราะตอนมัธยม ไม่รู้จักคำว่า UX Designer ตอนนั้นในความคิดและโลกใบเล็กๆ ของพี่มันแค่คำว่าดีไซเนอร์ สถาปนิก โปรแกรมเมอร์ คือมันเป็นเพียงคำกว้างๆ ไม่ได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ ซึ่งในความจริงคือดีไซเนอร์ก็มีหลายแขนงนี่นา ทั้งดิจิทัลกราฟิก เสื้อผ้า ดีไซน์ฉากในละครในหนัง หรือแม้กระทั่ง UX ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีมากมายหลายแขนงเลย 

สิ่งที่ทำให้ค้นพบว่า พี่มายมิ้นท์อยากจะทำงานด้านนี้ คืออะไร

ตอนเรียนปี 1 เราได้เรียนออกแบบ Physical Product (ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้) แน่นอนว่าในใจมันก็โหยหาการทำ Digital Product (เว็บ แอป หรือโปรแกรมบนอุปกรณ์ดิจิทัล) อยู่หน่อยๆ เพราะตั้งแต่มัธยมมาเราก็อินกับซอร์ฟแวร์มากๆ แล้วโอกาสก็เข้ามาในช่วงปีสอง ตอนนั้นขอบคุณพี่ๆ ชมรม Chula Tech Startup มากๆ ที่เรียกไปช่วยทำชมรมนี้ ตอนแรกตั้งใจจะเป็นแค่สตาฟแต่สุดท้ายก็หลงเข้าไปฟอร์มทีม Startup กับเพื่อนจากคณะวิศวะและบัญชีซะงั้น แน่นอนว่าชมรมชื่อ Chula Tech Startup งานที่ออกมามันต้องเป็น Tech แน่นอน! นั่นคือครั้งแรกที่ทำให้พี่ต้องสวมบทบาท UX Designer

มารู้จักกับ UX Designer แบบเจาะลึกกันเถอะ 

UX ย่อมาจาก User Experience แปลตรงตัวก็คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ดังนั้น UX Designer ก็คือผู้ออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน นั่นเอง

แล้วประสบการณ์ผู้ใช้งานคืออะไร

มีใครเคยทานข้าวด้วยช้อนพลาสติกสั้นแล้วโดนช้อนบาดปากบ้างยกมือขึ้น แน่นอนว่าครั้งถัดไป หากมีช้อนแบบอื่นๆ ให้เลือก น้องๆ ต้องเลือกช้อนแบบอื่นแน่นอน หรือถ้าไม่มีตัวเลือกอื่น น้องๆ ก็คงจะค่อยๆ ทานอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้บาดปากอีกใช่มั้ยล่ะ เมื่อน้องๆ สัมผัสประสบการณ์การถูกบาด น้องๆ จะจดจำ เรียนรู้ที่จะเลี่ยงการโดนบาด นั่นแหละสิ่งที่เรียกว่า UX หรือประสบการณ์การใช้งาน จากตัวอย่างช้อนสั้น มันแสดงชัดเจนว่า UX ส่งผลต่อความคิดของผู้ใช้งาน การตัดสินใจเลือกจะใช้ซ้ำหรือไม่ใช้อีก พฤติกรรมการใช้งานในการใช้ครั้งถัดไปที่ไม่เหมือนเดิม มีการเรียนรู้ มีความคิดบางอย่างต่อสิ่งนั้นที่ได้สัมผัส ทุกๆ ผลิตภัณฑ์และบริการ ล้วนมี UX เป็นของมันเองทั้งหมด ไม่ได้จำกัดแค่แอปหรือเว็บที่จะมี UX ได้ แต่เพราะเว็บหรือแอปเหล่านี้มี UX ที่ซับซ้อนกว่าสิ่งของที่จับต้องได้ ดังนั้น UX Designer จึงเป็นที่ต้องการมากๆ สำหรับบริษัทที่มีเว็บหรือแอปของตัวเอง

UX Designer ใช้หลักการอะไรในการออกแบบ

เพราะหน้าที่ของเราคือการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งาน เราจึงให้ความสำคัญการกับใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก (UDC: User Centric Design) นักออกแบบต้องพยายามเข้าใจความคิด ความต้องการ พฤติกรรม ของผู้ใช้งาน และออกแบบ UX ของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ใช้งาน ไม่ใช่ให้ผู้ใช้งานกลับต้องมาพยายามเรียนรู้ที่จะใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราซะเอง

เล่าถึงงานที่ทำ ให้น้องๆ ฟังหน่อย

UX Designer มีหน้าที่ออกแบบหน้าตาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งาน มีความสะดวกและรู้สึกไม่ติดขัดในการใช้งาน ซึ่งเราก็ต้องเก็บข้อมูลก่อนมาคิดงานจาก 3 ฝั่ง ก็คือจากลูกค้าหรือผู้ใช้งาน คู่แข่งและทีมงานของเรา ซึ่งอาจจะต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและลงสำรวจจริง UX Designer จะต้องสามารถสัมภาษณ์ผู้ใช้งานได้ เพื่อได้มาซึ่งความต้องการหรือความคิดในใจของผู้ใช้งานมาให้ได้  หลังจากนั้นก็เอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ระดมความคิด หาไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้งาน ซึ่งอาจจะเป็นฟีเจอร์ใหม่ๆ หรือเป็นการปรับปรุง UX ของผลิตภัณฑ์เดิมของเรา  แล้วก็นำไอเดียที่ว่าไปทดสอบต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่เราออกแบบมาผู้ใช้งานหรือรู้สึกพอใจมั้ย และใช้งานได้สะดวกมั้ย หลังจากนั้นก็นำผลการทดสอบมาปรับปรุงต่อ แล้วนำไปให้โปรแกรมเมอร์พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาด้วยการเขียนโค้ดจริงๆ นั่นเอง

UX Designer จะต้องสามารถสัมภาษณ์ผู้ใช้งานได้ เพื่อได้มาซึ่งความต้องการหรือความคิดในใจของผู้ใช้งานมาให้ได้

เล่าถึงงานที่พี่มายมิ้นท์รู้สึกภูมิใจที่สุด

น่าจะเป็นงานปรับปรุงเว็บไซต์ Chula GenEd (คณะๆ หนึ่งของจุฬาฯ ที่สอนวิชาพื้นฐานต่างๆ ให้กับนิสิตทุกๆ คณะของจุฬาฯ) ตอนนั้นพี่ทำงานในฐานะ UX Designer ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งและก็ได้โจทย์มาว่าให้ออกแบบหน้าตาเว็บไซต์นี้ให้นิสิตสามารถค้นหาและดูรายละเอียดวิชาเสรีในหมวดต่างๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เราภูมิใจที่เว็บไซต์นี้ได้ถูกนิสิตจุฬาใช้งานจริง อย่างน้อยมันก็เป็นความตั้งใจดีที่จะช่วยพัฒนาเครื่องมือเล็กๆ นี้ให้เพื่อนๆ น้องๆ ในจุฬาฯ สามารถใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ผลงานเว็บไซต์ Chula GenEd ที่พี่มายมิ้นท์ออกแบบ

จะมาเป็น UX Designer จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมั้ย 

ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดของเว็บหรือแอปมาบ้าง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเราจะรู้ข้อจำกัดในการออกแบบ รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังออกแบบสามารถเขียนโค้ดขึ้นมาได้ง่าย ยากขนาดไหน ประเมินเวลาที่โปรแกรมเมอร์ต้องใช้ในการสร้างมันขึ้นมา มันคุ้มค่ากับผลัพธ์ที่จะได้มากน้อยแค่ไหนได้

ทักษะที่สำคัญของการเป็น UX Designer แล้วจะฝึกทักษะยังไงได้บ้าง

หลักๆ ก็จะมี 4 ทักษะสำคัญๆ ด้วยกัน

  • อย่างแรกเลย ต้องเข้าใจถึงกระบวนการการออกแบบอย่างมีระบบ มีสเต็ปการที่ทำงานที่ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ
  • อย่างที่สอง จะต้องใช้งานโปรแกรมพื้นฐานของ UX Designer เป็น เช่น Adobe XD, Figma หรือโปรแกรมอื่นๆ ถ้าน้องๆ อยากลองก่อน ก็สามารถลอง และฝึกการใช้งานจากยูทูบได้เลย
  • อย่างที่สามก็คือ ทักษะในการดีไซน์ รู้ว่าออกแบบแบบไหนถึงจะสวย ถึงจะเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานที่เราต้องการ ความรู้ศิลปะต่างๆ ก็สำคัญนะ ใช้สีอะไร ตัวอักษรสีไหนอยู่บนพื้นหลังสีไหนไรงี้
  • และทักษะสุดท้ายก็คือ ทักษะในการวิเคราะห์ เราจะต้องเอาข้อมูลมากมายที่เราหามาได้ มาวิเคราะห์ว่าเราควรจะดีไซน์หน้าตาการใช้งานแอปหรือเว็บเราแบบไหนให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด อันนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันเลย

การเรียนในคณะสถาปัตย์ ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมั้ย

ช่วยนะๆ เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือการที่พวกเราถูกสอนให้ยึดผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงวิธีการผลิตอยู่เสมอ เรานำแนวคิดนี้มาใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทรวมทั้ง Digital Product ด้วย เรื่องที่สองคือเราต้องใช้เครื่องมือออกแบบในคอมพิวเตอร์ได้ Photoshop Illustrator เป็นพื้นฐาน ซึ่งมันทำให้เราสามารถเรียนรู้โปรแกรมอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นมากๆ เพราะเราพอเข้าใจวิธีใช้งานโปรแกรมมาแล้ว โปรแกรมอื่นๆ เลยไม่ได้กินเวลาในการเรียนรู้จากเรามาก

พี่มายมิ้นท์มีวิธีหาแรงบันดาลใจในการออกแบบยังไงบ้าง

แรงบันดาลใจของพี่มาจากการที่เราอินกับปัญหาที่ผู้ใช้งานต้องเผชิญ มันทำให้เราคิดอยากแก้ไขปัญหานั้นมากๆ ยิ่งถ้ามีวิธีแก้ปัญหานั้นแล้ว ให้คิดถึงวันที่สิ่งที่เรากำลังออกแบบ จะช่วยผู้ใช้งานให้ชีวิตดีขึ้นได้ จะยิ่งมีแรงในการทำงาน

นอกเหนือจากการฝึกทักษะที่บอกไปแล้ว หากิจกรรมอื่นๆ บ้างรึเปล่า 

หาทำหลายอย่างเลยพี่ทำชมรมในจุฬาฯ เจอเพื่อนๆ ต่างคณะ โลกกว้างขึ้นอีกขั้นนึงเลย อีกอย่างที่ชอบไม่แพ้กันคือ Hackathon เป็นการแข่งกันสร้างผลิตภัณฑ์ในเวลาจำกัด ทำงานข้ามวันข้ามคืนไปเลย สำหรับพี่มันคือการสานสัมพันธ์ในทีมมากๆ เพราะเราต้องนั่งทำงานด้วยกันข้ามวันข้ามคืนผ่านชั่วโมงกดดัน รับฟังคำแนะนำจากผู้มีความรู้ และขึ้นพรีเซ้นในเช้าวันสุดท้ายของการ Hackathon 

และสิ่งที่สนุกและรักที่สุดก็คือการไปค่าย YWC (Young Webmaster Camp) ขอเล่าให้ฟังว่า YWC เป็นค่ายทำเว็บที่สร้างนักพัฒนาเว็บไซต์มืออาชีพมา 17 ปีแล้ว ตอนนี้ก็กำลังเปิดรับสมัครน้องๆ รุ่น 18 อยู่นะ!! ในค่ายจะแบ่งน้องๆ ออกเป็น 4 สาขาตามความสามารถก็คือคอนเทนต์ การตลาด โปรแกรมมิ่ง และดีไซน์ ตอนที่เป็นน้องค่าย YWC15 ประทับใจมากๆ ที่ในค่ายมีการสอนเนื้อหาด้านวิชาการแบบอัดแน่น แต่สิ่งที่ทำให้หลงรักค่ายนี้แบบสุดๆ ก็คือความเป็นพี่ค่ายน้องค่าย พี่ๆ ดูแลแบบดีมากๆ ทำเต็มที่ทุกกิจกรรมจริงๆ แล้วสุดท้ายก็รักค่ายนี้มากกว่าเดิม รู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ ที่ตอนนั้นตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวนี้

พี่มายมิ้นท์ได้อะไรบ้างจากการเข้าค่ายหรือกิจกรรมบ้าง

สิ่งที่ได้มามันมากเกินกว่าจะนึกออกทั้งหมดเลยละ สำหรับพี่ ารเข้าค่าย แข่ง Hackathon คือหนึ่งในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะด้านทักษะ เพิ่มความรู้ และ การได้เข้าไปเจอผู้คนที่ความสนใจในเรื่องเดียวกันมันทำให้เราได้พูดคุยถึงเรื่องเหล่านั้น ได้อัพเดทความรู้ในโลกที่หมุนเร็วมากๆ ที่สำคัญมากๆ เราได้เพื่อนๆ น่ารักๆ เต็มไปหมดเลย หลายๆ คนซี้กันมากๆ ทำค่ายด้วยกันแปปเดียวมองตาก็รู้ใจ เพื่อนๆ พี่ๆ ระดับเทพๆ หลายๆ คนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรามากๆ เห็นเขาขยันก็อยากขยันบ้าง เห็นเขาเก่งก็อยากเก่งบ้าง เป็นไฟในการทำงานให้กันและกันมาตลอด

ถ้าอยากเป็น UX Designer ต้องเรียนคณะหรือสาขาอะไร

เป็นคำถามที่ตอบตรงตัวเลยไม่ได้จริงๆ พี่คิดว่าการเลือกคณะให้ตรงสายงานเป็นเรื่องที่ดีแต่สำคัญกว่าการเลือกคณะมันคือ การวิ่งไล่ตามทักษะสำคัญด้วยตัวเองมากกว่า พี่เองและทุกๆ คนในทีม UX ของบริษัทก็เรียนจบมาจากคณะและภาควิชาที่แตกต่างกัน หรือถ้าใครสนใจคณะไอทีแล้วก็อยากเป็น UX Designer ก็สามารถเป็นได้เช่นกันนะ คณะไอทีเดี๋ยวนี้ก็มีสอนวิชา UX ด้วย ถ้าได้เรียนคณะนี้ ความรู้เรื่องโค้ดน้องก็จะได้ เรื่อง UX น้องก็จะรู้ด้วยจ้า

ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ TCAS กันหน่อย

พี่เชื่อมากๆ เลยว่าน้องๆ เต็มที่กับการเตรียมตัวสอบมากๆแล้ว น้องๆ ต้องเชื่อในความตั้งใจนั้นของน้องๆ เองด้วยนะ การที่เรารู้ตัวว่าเราทำมันอย่างเต็มที่และดีที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ คือความสำเร็จที่น่าภูมิใจที่สุดแล้วน้า

อยากเป็น UX Designer ต้องลองเข้าค่ายนี้!

Young Webmaster Camp (YWC)
[ใกล้ปิดรับสมัครแล้ว!!]

โอกาสในการเรียนรู้ด้านเว็บไซต์และด้านดิจิทัลมาถึงแล้ว ค่ายคนทำเว็บที่จะพาคุณไปพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ฝึกทำงานจริงผ่านการ Workshop พร้อมยกทัพเหล่ากูรูในแวดวงดิจิทัลมาให้ความรู้อีกเพียบ! ตอนนี้ใกล้ปิดรับสมัครแล้ว ใครสนใจรีบสมัครด่วนๆเลย ถึง 7 พ.ย. นี้เท่านั้นนะ สมัครได้เลยตอนนี้จ้า!

Junior Webmaster Camp (JWC)

หรือน้องๆ ที่สนใจ YWC แต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ก็สามารถมาสมัครค่ายนี้ได้ ค่ายนี้จะช่วยให้น้องๆได้เรียนรู้ทักษะตามความสนใจ 4 สาขา ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมมิ่ง คอนเทนต์ ดีไซน์ และการตลาด ที่สำคัญยังมีพี่ระดับเทพในแต่ละด้านมาให้ความรู้อีกด้วย ยังไงถ้าปีหน้าค่ายนี้กลับมาอีกครั้งละก็.. พี่ๆ แคมป์ฮับจะรีบมาบอกแน่นอน รอติดตามชมได้เลย

SoA+D Workshop เรียนรู้ Thinking Process and Design 

ค่าย SoA+D Workshop โดยพี่ๆ สถาปัตย์ บางมด เหมาะกับน้องๆ ที่มี Passion สนใจเรียนต่อด้านสถาปัตย์ฯและการออกแบบ ร่วมกิจกรรม SoA+D Workshop เรียนรู้ Thinking Process and Design พื้นฐานสำคัญที่นักออกแบบควรรู้! สำหรับปีนี้ปิดรับสมัครไปแล้ววว แต่ถ้าปีหน้าพี่ๆ คณะสถาปัตย์ บางมด กลับมาจัดค่ายนี้อีกครั้ง รับรองว่าพี่ๆแคมป์ฮับจะรีบบอกน้องๆ แน่นอน

Multicamp ค่ายมัลติมีเดีย บางมด

ค่าย Multicamp โดยพี่ๆ มัลติมีเดีย บางมด ค่ายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสนุก และมิตรภาพ อบรมความรู้พื้นฐานด้านมัลติมีเดีย อาทิ Programming Design Drawing และกิจกรรมสนุกๆ อีกเพียบ! น่าเสียดายที่ปีนี้ปิดรับสมัครไปเรียบร้อย แต่สำหรับใครที่สนใจค่ายนี้ กดติดตามแคมป์ฮับไว้ได้เลย รับรองว่าถ้าค่ายนี้กลับมาเมื่อไหร่ล่ะก็ พี่ๆ แคมป์ฮับจะรีบมาอัพเดทเลย

อย่างที่พี่มายมิ้นท์บอกเลยว่า การที่จะรู้จักตัวเอง ว่าชอบอะไร หรืออยากเรียนอะไร เราต้องลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง อาจจะกิจกรรม ค่ายหรืองานเปิดบ้านต่างๆ ก็ได้นะ สำหรับค่ายหรืองานเปิดบ้าน ที่ยกตัวอย่างมา เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้ลองฝึกทักษะและได้รู้จักด้าน UX Designer และเช็คกับตัวเองได้ว่า จริงๆ เราอยากจะเป็น UX Designer เหมือนพี่มายมิ้นท์รึเปล่า แต่ถ้ายังไม่จุใจ น้องๆ สามารถหาค่ายที่เกี่ยวข้องกับ UX Designer ทั้งสายไอที ดิจิทัล คอมพิวเตอร์ได้ที่ camphub.in.th/computer และสายศิลปะ การออกแบบได้ที่ camphub.in.th/architect-finearts เลยจ้า!

ยังไงก็ตามพี่แอมเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนที่กำลังค้นหาตัวเองน้าา :)  และสำหรับน้องๆที่ใกล้สอบ TCAS อย่าลืมทบทวนข้อสอบให้มากๆ เพื่อคณะที่เราใฝ่ฝันน้าาา ส่วน CAMPHUB inspire with a-chieve  อีพีหน้า จะเป็นอาชีพอะไร เกี่ยวกับด้านไหน รอติดตามชมกันได้เลย หรือถ้าน้องๆ อยากเจาะลึกอาชีพไหน สามารถส่งเข้ามาได้เลยยยย ส่วนสำหรับอีพีนี้ พี่แอมต้องไปแล้ว แล้วพบกัน อีพีหน้านะจ๊าาา  บ๊ะบายยยยย

แคมป์ฮับอินสไปร์ พี่มายมิ้นท์ ธนาภรณ์ กุศลมโนมัย
บทความ พี่แอม แคมป์ฮับ
กราฟิก พี่อัยย์ แคมป์ฮับ
ถ่ายภาพ Thungphix

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่เหมี่ยว

ADVERTISING | ICT | SU |^^|

ข้อมูลผู้เขียน

แอมมายด์

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"