ALL ABOUT P’EIX AND START-UP
- แรงบันดาลใจในการทำ Ooca เกิดจากการที่ประเทศเรามีปัญหาช่องว่างในการเข้าหาผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิตที่ค่อนข้างเยอะ มันคงจะดีถ้ามีเครื่องมือให้คนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
- การที่จะเป็น Founder ต้องเป็นคนที่รู้ว่าอะไรถูกหรือควร มีแพชชั่นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องพร้อมที่จะปรับตัว เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ เรียนรู้ให้ไว มีไอเดียที่ใช่และตลาดที่ใหญ่พร้อมรองรับไอเดียนั้น
- การลงมือทำเป็นการฝึกฝนที่ดีที่สุด หลังจากเราเรียนรู้อะไรมาใหม่ เราก็ต้องลองทำ เอาทฤษฎีที่เราเรียนรู้มาใช้ในการทำงานจริง ให้เราได้ฝึกได้ใช้ความรู้ที่เรียนรู้มา
สวัสดีจ้าน้องๆ ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็ต้องเคยรู้จักกับซีรีส์เรื่อง Start-up กันแน่ๆ เรียกได้ว่าติดอันดับของ Netflix ทั้งเดือนเลยทีเดียว จนทำให้น้องๆ หลายคนก็อยากจะเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจแบบซอดัลมี หรือบางคนก็อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์เทพๆ แบบนัมโดซานนั่นเอง
CAMPHUB inspire with a-chieve วันนี้พี่แอมอยากจะพาน้องๆ ไปรู้จักกับซอดัลมีในชีวิตจริง ว่าจะต้องผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง แล้วจะต้องฝึกฝนตัวเองยังไง ให้สามารถพาธุรกิจ Start-up เติบโตไปได้เรื่อยๆ ซึ่งสำหรับซอดัลมีที่จะมาเล่าประสบการณ์ให้น้องๆ ฟังนั่นก็คื้ออออ.. พี่หมออิ๊ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Ooca นั่นเอง เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ตามไปดูกันเล้ยยย
แนะนำตัวให้น้องๆ ได้รู้จัก
สวัสดีค่ะ พี่ชื่ออิ๊ก กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ จบคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนี้เป็น Founder ของ Start-up ที่ชื่อ Ooca ค่ะ
เล่าให้น้องๆ ฟังหน่อยว่า Ooca คืออะไร
Ooca เป็น Platform ที่จะช่วยทำให้คนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพจิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่ง Ooca ก็จะมีบริการให้เลือกหลากหลายแบบ แต่หลักๆ จะเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าไปเลือกคุณหมอ นัดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาทางออนไลน์ สามารถวิดิโอคอลออนไลน์ได้ คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้งานได้เลย แต่ถ้าหากเป็นบริษัทต้องการให้มีสวัสดิการหรือบริการดูแลจิตใจพนักงาน ระบบของ Ooca ก็ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้หลักของเรา
แรงบันดาลใจที่ทำให้พี่อิ๊กมาทำ Ooca คืออะไร
ประเทศเรามีปัญหาช่องว่างในการเข้าหาผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิตที่ค่อนข้างเยอะ เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะดี ถ้าหากว่ามีเครื่องมือเข้ามาช่วยเหลือให้คนสามารถเข้าถึงบริการด้านนี้ได้ง่ายขึ้น
ถ้าน้องๆ ที่อาจจะกำลังเครียดเรื่องสอบ เรื่องที่บ้าน เรื่องเพื่อน ก็สามารถเข้าไปขอคำปรึกษากับจิตแพทย์-นักจิตวิทยา Ooca ได้ ว่าแต่ต้องทำยังไงบ้าง
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้เลยที่ App Store และ Play Store เสิร์ชคำว่า “Ooca” หรือเข้าไปที่ www.ooca.co หลังจากนั้นกดเริ่มต้นใช้งาน เลือกสมัครสมาชิกและทำการชำระเงิน แค่นี้ก็จะสามารถเข้าไปคุยกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้เลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนเว็บเราจะมีการกำหนดราคาไว้ให้ แต่ตอนนี้เรามีปรับเปลี่ยนให้อาจารย์จิตแพทย์ หรืออาจารย์ด้านจิตวิทยาสามารถตั้งราคาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็จะช่วยให้น้องๆ สะดวกในการเลือกว่าจะคุยกับอาจารย์หรือแพทย์ท่านไหน ยังไงก็ลองเข้าไปเลือกดูนะคะ
แต่ถ้าเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐ ก็จะมีช่องทางสามารถเข้ามาใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการนี้จะชื่อว่า “Wall of sharing project” สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wallofsharing.com หรือที่เฟซบุ๊กแฟนเพจก็ได้ ซึ่งก็จะมีสอนวิธีเข้าใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีดีเทลต่างกันเล็กน้อย สามารถเข้าไปเช็กรายชื่อก่อนได้ค่ะว่าเป็นว่าแต่ละมหาวิทยาลัย มีวิธีใช้งานยังไง
ธุรกิจ Start-up คืออะไร แตกต่างจาก SME หรือกิจการอื่นๆ ยังไง
จริงๆ มันแล้วแต่ว่าเราจะยึดหลักการของใคร แล้วแต่ว่าเราพูดถึง Start-up ในมุมมองไหน สำหรับเรามองว่า Start-up คือการทำธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถ้าหากต้องการเป็นธุรกิจ Start-up ที่ขยายตัวได้รวดเร็ว ส่วนมากจะเป็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ไอเดียหลักๆ ของ Start-up คือ ต้องสามารถขยายตัวได้ สามารถทำซ้ำได้ จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็ว แล้วก็ส่วนมากก็มักจะมีโมเดลธุรกิจเป็นการระดมทุนจากนักลงทุน แต่สำหรับบางเจ้าก็มีกลยุทธ์ในการระดมทุนที่ต่างกันไป
การจะทำธุรกิจ Start-up ขึ้นมาสัก 1 บริษัท นี่ ยาก-ง่ายแค่ไหน
สำหรับเราน่าจะยากที่สุดเท่าที่เคยทำอะไรมาซักอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนะ ยิ่งถ้าหากว่าใครมีต้นทุนดี หรือมีคอนเนคชั่นที่ดี ก็จะเริ่มต้นหรือทำอะไรได้ง่ายกว่าจะคนที่เริ่มต้นจากศูนย์
พี่อิ๊กคิดว่าอะไรสำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจ Start-up
Founder เป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ต้องเป็นคนที่ถูกที่ควร การมีแพชชั่นอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ จะต้องเป็นคนที่พร้อมจะปรับตัว จิตใจเปิดกว้างในการเรียนรู้ และในเรื่องของเวลาก็สำคัญ ซึ่งก็คือเวลาที่ใช่ ไอเดียที่ดีมากพอและสามารถทำได้จริง และไอเดียก็จะต้องยิ่งใหญ่มากพอที่จะมีตลาดลูกค้าที่ใหญ่ ที่จะสามารถรองรับไอเดียนั้นได้
พี่อิ๊กคิดว่าคนที่จะเป็นผู้ประกอบการ Start-up ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง
ทักษะของการเรียนรู้สำคัญนะ ต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้ไวที่สุด เพราะเราต้องหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลาให้ทันกับเหตุการณ์ และเมื่อผิดพลาดต้องรู้จักเรียนรู้และทำความเข้าใจตรงนั้น แล้วเดินต่อไปข้างหน้าให้ไวที่สุด
วิธีการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ของพี่อิ๊กคืออะไร
หลังจากเราเรียนรู้อะไรมาใหม่ เราก็ต้องลองทำ การที่เราได้ลองทำ เป็นการเอาทฤษฎีที่เราเรียนรู้มาใช้ในการทำงานจริง ให้เราได้ฝึกได้ใช้ความรู้ เพราะฉะนั้นวิธีการฝึกที่ดีที่สุด คือการได้ลงมือทำจริง
น้องๆ ที่อยากจะโตขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ Start-up ต้องเรียนคณะหรือสาขาอะไร
เรามองว่าไม่จำเป็นเลย เรียนอะไรก็ได้ แต่จริงๆ มองว่าเป็นเรื่องของคอนเนคชั่นมากกว่า และต้องเป็นคอนเนคชั่นที่ดีมากพอที่น่าจะเป็นพาร์ทเนอร์กับเราได้ ในคอนเนคชั่นนั้นอาจจะมีแหล่งตลาดแรงงาน หรือแหล่งเงินทุนที่ดีได้ ส่วนความรู้บางอย่างเราสามารถมาหาทีหลังได้ สามารถเรียนออนไลน์ได้ บางทีการเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำ เราต้องเรียน 4 ปีเลย เราอาจจะต้องศึกษาหาความรู้เอง ที่สามารถใช้ได้จริงและเท่าทันเหตุการณ์
มีคำถามในใจน้องๆ หลายคน อยากให้พี่อิ๊กช่วยให้คำตอบ “เรียนจบแล้ว ถ้าอยากทำ Start-up ควรเริ่มเลยไหมหรือต้องหาประสบการณ์ทำงานประจำก่อนดี”
ก็ต้องบอกว่าแล้วแต่คนเลยนะ การเรียนจบแล้วอยากลองทำเลยก็ไม่แปลกแต่ก็จะเป็นการเริ่มทำแบบคลำทาง ซึ่งอย่างน้อยคนทำงานประจำจะเข้าใจโครงสร้างองค์กรเป็นยังไงหรือข้อบกพร่องที่ควรระวัง การที่เค้าเคยเห็นรูปแบบการทำงานหรือโครงสร้างในบริษัทมาก่อนอาจจะช่วยให้หาทางแก้ไขปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นได้ดี ซึ่งก็จะช่วยป้องกันการผิดพลาดได้ สามารถรู้ล่วงหน้าว่าทำแบบนี้อาจจะเกิดปัญหาแบบนี้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ดีคนละแบบ แต่คนที่เริ่มทำก่อนก็จะไม่เสียเวลาและได้เรียนรู้การทำธุรกิจ Start-up เร็วขึ้น
หลายคนมองว่า Start-up มันยาก ต้องลงทุนลงแรงหลายอย่าง และโอกาสประสบความสำเร็จก็น้อย พี่อิ๊กคิดยังไงกับคำพูดนี้
สำหรับเรามองว่าก็เป็นเรื่องจริงนะ คิดว่าก็ยากจริงๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เพราะมันมีความเสี่ยงสูง รวมถึง Ecosystem ในไทยก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ คนที่จะทำจริงๆ ต้องใจสู้มากๆ
อะไรคือแรงผลักดันให้พี่อิ๊กยังไม่ยอมแพ้
บางทีไม่ใช่เรื่องของแพ้ไม่แพ้ เราไม่ได้มองว่าการที่เราทำอยู่คือการไม่ยอมแพ้ การที่เรายังทำเพราะคิดว่ามันมีแนวโน้มที่ดีในการทำต่อไป เพราะเรามองเห็นความเป็นไปได้นั้นอยู่ เราก็เลยทำต่อไป รวมถึงเราอยากจะเห็นผลิตภัณฑ์ของเรา สามารถเลี้ยงตัวเองได้จริงๆ ในอนาคต แต่การที่เราหยุดทำอะไร แล้วไปเริ่มทำไอเดียใหม่ที่ดีกว่า มันไม่ได้แปลว่าตัวเองแพ้นะ แต่มันแปลว่าเราเข้าใจในบริบทว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เข้าใจถึงความเหมาะสม ความเป็นไปได้ แล้วเราเลือกได้ว่าเราจะเริ่มต้นใหม่ และสู้กับมันต่อไป
ตอนนี้มีน้องๆ หลายคนที่อยากเริ่มทำ Start-up ของตัวเอง พี่อิ๊กอยากฝากอะไรถึงน้องๆ กลุ่มนี้บ้าง
ศึกษาความรู้ให้ดี ที่สำคัญต้องตอบตัวเองได้ว่า เราทำ Start-up ตรงนี้ไปเพื่ออะไร ทำไปทำไม ตลาดลูกค้าที่เราจะทำ ใหญ่พอรึเปล่า เราพร้อมที่จะสู้ไปถึงจุดไหนและเราจะทุ่มกำลังมากน้อยขนาดไหน แล้วก็ก่อนจะเริ่มทำอะไรควร แล้วก็อย่าลืมศึกษาความรู้ทางกฎหมาย ตรงนี้สำคัญมากๆ พยายามทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่ส่งผลกับธุรกิจให้ดีๆ
ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเครียดกับการสอบ TCAS
ขอเป็นกำลังให้ทุกๆ คน การสอบเป็นกระบวนการที่สำคัญในชีวิตที่จะทำให้เราเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอีกหนึ่งทางที่จะทำให้เราค้นหาตัวตน การสร้างตัวตนของเยาวชน แต่ถ้าท้ายที่สุด ถ้าไม่สมหวังก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ความรู้มากมายบนโลกใบนี้ ความรู้ทุกอย่างสามารถหาได้จากข้างนอกทั้งหมด จะอ่านเองหรือเรียนอินเทอร์เน็ตก็ได้เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญในการเข้ามหาลัย มันคือการสร้างเครือข่าย สร้างความทรงจำร่วมกับคนหมู่มาก ซึ่งการที่เราสร้างคอนเนคชั่น มันเป็นรากฐานในการฟอร์มตัวตนในชีวิตข้างหน้าของเรา
อยากจะทำ Start-up ต้องมาค่ายนี้!
Triton : โปรเจกต์พัฒนานักธุรกิจเด็กรุ่นใหม่
โปรแกรมนักพัฒนานักธุรกิจเด็กรุ่นใหม่ ให้ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริง น้องจะได้เรียนรู้ทักษะการทำธุรกิจตั้งแต่หาไอเดีย ไปจนถึงสร้างธุรกิจให้เป็นจริง ผ่านกิจกรรม Workshop แบบจัดเต็ม บอกเลยว่าไม่ต้องมีประสบการณ์ก็สมัครได้ รับสมัครถึง 5 กุมภาพันธ์ 2564 เท่านั้น รีบสมัครเลยตอนนี้!
Decode your BUSINESS DNA forum
กลับมาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อที่จะพาน้องๆ ร่วมค้นหา DNA Business เช็คว่าใช่ ว่าชัวร์ โดยตัวแทนระดับเทพจาก Inter ทั้งจุฬาฯและธรรมศาสตร์ ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้องๆ พร้อมพาเจาะลึกเทคนิค TCAS – Inter Chula และ Thammasat ซึ่งสำหรับปีนี้ได้ทำการปิดรับสมัครไปหมาดๆ เลย ยังไงถ้าโครงการนี้กลับมาอีกครั้ง พี่ๆ CAMPHUB จะรีบมาอัปเดตน้องๆ ทันทีเลย!
AFTERKLASS Young Tech Start Up Kamp
ค่ายสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ฝันอยากเป็นนักธุรกิจ Start-Up ค่ายนี้จะเทรนนิ่งน้องๆ ตลอด 3 วันจนกลายเป็น Start-Up ระดับมือโปร ตั้งแต่ปูพื้นฐานการทำธุรกิจ การระดมไอเดีย การประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจ ไปจนถึงเทคนิคการ Pitching นำเสนอแผนธุรกิจระดับมือโปร ที่สำคัญงานนี้มีรางวัลให้น้องๆ ที่ทำผลงานออกมาโดนใจกรรมการด้วยน้าาา สำหรับปีนี้ถ้า AfterKlass กลับมาจัดอีกครั้งละก็ พี่ๆ จะรีบมาบอกทันที รอติดตามได้เลยนะ
ค่ายธุรกิจ Business For Youngsters
กลับมาอีกครั้ง กับค่ายธุรกิจที่การันตีคุณภาพกว่า 25 รุ่น ค่ายนี้จะพาน้องๆ ไปเรียนรู้กับโลกธุรกิจจริงเตั้งแต่การสร้างธุรกิจ การตลาด การเงินรวมถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นธุรกิจ เติมความรู้กันให้แบบเน้นๆ ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียที่ดีผ่านกระบวนการ Design Thinking แต่ถ้าค่ายนี้เปิดรับรุ่นที่ 27 เมื่อไหร่ละก็ พี่ๆ CAMPHUB จะรีบมาบอกน้องๆ ทันทีเลยน้าาา
เป็นยังไงบ้าง สำหรับความรู้จากซอดัลมี เอ๊ย! จากพี่หมออิ๊ก Founder คนเก่ง กว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง Start-up ได้ นอกจากต้องฝึกฝนหาความรู้อยู่ตลอดแล้ว จะต้องใจสู้มากๆ เพราะอย่างที่พี่หมออิ๊กบอกเลยว่า ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในการทำ Start-up แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ประสบความสำเร็จนะ เพียงแต่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัญหาตรงหน้า และลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ สู้กับมันต่อไปนั่นเอง สำหรับน้องๆ ที่อยากจะฝึกฝนพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมตัวจะเป็น Founder ของธุรกิจ Start-up สามารถหาค่ายฝึกทักษะเพิ่มเติมได้ที่ camphub.in.th/account-commerce
สำหรับ CAMPHUB inspire with a-chieve อีพีหน้า จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับอาชีพอะไร จะเป็นอาชีพในสายไหน รอติดตามกันได้เลยไม่ว่าจะเป็นที่เว็บไซต์ หรือช่องทาง Facebook, Twitter, IG และ LINE ของ CAMPHUB นอกจากจะมีบทความสนุกๆ แล้ว ยังมีอัปเดตข่าวค่ายดีๆ อัปเดตทุกวันทันทุกข่าวสารแน่นอน สำหรับวันนี้พี่แอมและพี่หมออิ๊กต้องไปก่อนแล้ว น้องๆ อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยน้าาา แล้วพบกันใหม่อีพีหน้า บ๊ะบายจ้าาาา
รู้จัก ‘โลกธุรกิจ’ ฉบับเข้าใจง่ายสไตล์เด็กมัธยม คลิก..
‘ทักษะ’ ที่จำเป็นสำหรับ ‘ธุรกิจ’ และ ‘ชีวิต’ วัยมัธยม คลิก..
Inspirer พี่อิ๊ก กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์
สัมภาษณ์ พี่แอม CAMPHUB
กราฟิก พี่ฟิวส์ พี่ซัน CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่โอ CAMPHUB