บทความนี้แคมป์ฮับร่วมมือกับค่ายลานเกียร์ คณะวิศวจุฬาฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้กับน้องๆ ที่สนใจคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สวัสดีจ้า น้องๆ แคมป์ฮับกันอีกครั้งนึง หลังจากที่พี่ๆ จากค่ายลานเกียร์ วิศวฯ จุฬาฯ ได้พาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับคำว่า “วิศวกร” ใน EP. ที่ 1 และ 3 ภาควิชายอดฮิต คอม อุตสาหการ เครื่องกล ใน EP. ที่ 2 กันมาแล้ว ซึ่งวันนี้ พี่ๆ ก็จะมาแนะนำให้น้องรู้จักกับ 3 ภาค ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรืออาจไม่คุ้นหูกัน แต่บอกเลยว่าสุดยอดไม่ต่างจากสามภาคก่อนหน้าเลย ไปดูกันเลยว่า มีภาคอะไรบ้าง..วิศวเหมือนแร่.. ที่ไม่ใช่แค่การขุดเหมือง
วิศวกรรมทรัพยากรธรณี หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า วิศวกรรมเหมืองแร่ เป็นสาขาหนึ่งของวิศวฯ จุฬาฯ ที่ถ้าดูจากชื่อแล้วจะรู้สึกว่าต้องถือพลั่วไปขุดแร่ใต้ดินแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ในภาคนี้เราจะเรียนเนื้อหาหลักๆ 3 อย่าง ก็คือ..
- การสร้างเหมือง ซึ่งก็คือการออกแบบโครงสร้างเหมืองนั่นเอง
- การแต่งแร่ คือการนำแร่ที่ขุดมาปรับปรุงคุณภาพให้บริสุทธิ์ขึัน
- การรีไซเคิล คือการนำขยะมาแยกชิ้นแล้วเอากลับมาใช้ใหม่ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
จบไปทำงานอะไร ??
โดยที่หลังเรียนจบ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกทำงานในเหมือง ซึ่งก็มีงานหลายอย่าง ตั้งแต่ออกแบบเหมือง ควบคุมงานภายในเหมือง จนถึงการวางแผนและควบคุมกระบวนการแต่งแร่ หรือจะรับราชการในกรมเหมืองแร่ก็ได้นะ แต่สำหรับใครที่ไม่อยากอยู่ในเหมือง ก็สามารถเป็น Sell Engineer ขายเครื่องจักรกลหนัก และวัตถุระเบิดที่ใช้ในงานเหมืองแร่ก็ได้
ด้วยความที่เป็นภาคที่มีคนเรียนน้อย สถาบันที่เปิดสอนก็น้อย (ในประเทศไทยมีแค่ 4 ที่เองนะ) เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะตกงานเลย น้องผู้หญิงบางคนอาจจะกังวลว่าตัวเองจะเรียนไม่ได้ ความจริงแล้วงานในออฟฟิศที่ไม่ต้องออกไปลุยหน้างานก็มีเหมือนกัน หรือใครที่เป็นสายลุยก็สามารถไปอยู่ในเหมืองได้สบายๆ เลย
วิศวสิ่งแวดล้อม.. รักน้ำ รักปลา รักสิ่งแวดล้อม
มาต่อกันที่ภาคที่สอง วิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือที่พวกพี่เรียกกันว่า ภาคสิ่ง นั่นเอง เมื่อพูดถึงคำว่าสิ่งแวดล้อม น้องๆ หลายๆ คนอาจจะมีจินตนาการไปมากมาย จนถึงการปลูกป่าช่วยโลกเลยก็ว่าได้ แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายของวิศวกรสาขานี้คือการจัดการ ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่น้ำ อากาศ เสียง ไปจนถึงขยะ และของเสีย
แล้วภาคสิ่งฯ ต้องเรียนอะไรกันบ้าง? ภาคสิ่งจะมีวิชาเรียน 3 หมวดหลักๆ ก็คือ..
- ด้านน้ำ เรียนเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำการบำบัดและจัดการน้ำเสียจากโรงงานก่อนส่งกลับสู่สิ่งแวดล้อม
- ด้านอากาศ ศึกษาเกี่ยวกับมลพิษในอากาศ เสียง เพื่อตรวจสอบ ควบคุมมลพิษต่างๆ ในอากาศ ไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด
- ด้านของเสีย เราจะเรียนเกี่ยวกับการจัดการของเสียจากชุมชน และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหารวางระบบจัดการของเสีย ดูแลปัญหาต่างๆ เช่น กลิ่น รวมถึงการสร้างมูลค่าจากของเสีย
น้องๆ จะเห็นได้ว่า การจะศึกษาเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ต้องใช้ความรู้ด้านเคมีและชีววิทยาเยอะมาก สำหรับน้องคนไหนที่ไม่ชอบฟิสิกส์จ๋า ภาคนี้ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เรียนฟิสิกส์เลยนะ มาถึงจุดนี้ น้องๆ หลายคนก็อาจจะสงสัย ว่า วิศวสิ่งแวดล้อมเรียนเคมีเยอะแล้ว มันต่างจาก วิศวเคมี อย่างไร แน่นอนว่าพี่จะไม่บอก แต่จะรอให้น้องๆ ลองมาค้นหาคำตอบกันได้ในค่ายลานเกียร์ ครั้งที่ 18 ด้วยตัวน้องเอง อย่าลืมสมัครละ !
จบไปทำงานอะไร ??
โอเค ขายของจบ เราก็มาดูกันต่อว่าภาคนี้ ทำงานอะไรได้บ้าง?
- อยู่ตามโรงงานต่างๆ คอยดูแลตั้งแต่ระบบบำบัดน้ำ ควบคุมมลพิษทางอากาศ เสียงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
- งานออกแบบ ระบบท่อระบายน้ำภายในอาคาร เป็นต้น
- งานให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (Consult) งานนี้จะเป็นงานในออฟฟิศเป็นหลัก คอยให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
บอกเลยว่าใครที่เรียนภาคนี้ จะดูเป็นคนรักโลกมากๆ ดูดีสุดๆ ไปเลยแหละ
วิศวนิวเคลียร์และรังสี.. ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
วิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ภาคนิวเคลียร์ เป็นภาคที่คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อแล้วคิดว่าจะต้องอันตรายแน่ๆ เรียนไปสร้างระเบิดอะไรอย่างนี้หรอ จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เลย สำหรับภาควิชานี้ หลักๆ แล้วเราจะเรียนเกี่ยวกับรังสีและนิวเคลียร์ ศึกษาเกี่ยวกับรังสีที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ประโยชน์ต่างๆ ของรังสี และการกักเก็บกากกัมมันตรังสี
โดยในปี 4 น้องจะได้เลือกสาขาวิชาย่อย ซึ่งมีให้เลือก 4 สาขาย่อย คือ..
- เครื่องมือนิวเคลียร์
- การใช้งานรังสีทางอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
- นิวเคลียร์กำลัง
- การกำจัดของเสียทางนิวเคลียร์
และเพื่อความเท่ที่ไม่เหมือนใคร ปัจจุบันมีที่จุฬาฯ เพียงที่เดียวเท่านั้นที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี (ไม่เรียนไม่ได้แล้ว !!)
จบไปทำงานอะไร ??
น้องๆ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเรียนวิศวกรรมนิวเคลียร์ไปก็ทำงานได้แต่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องไปต่างประเทศอย่างเดียวแน่ๆ เลย เพราะว่าในไทยก็ไม่มีสักที่หนึ่ง เป็นความคิดไม่ถูกซะทีเดียว เพราะหลักสูตรที่จุฬาฯ ถูกปรับให้กว้างขึ้นได้เรียนเรื่องการใช้ประโยชน์จากรังสีในด้านต่างๆ ได้ด้วย
อ่านแล้วอาจจะยังนึกไม่ออกว่าปกติเค้าใช้ประโยชน์จากรังสีกันยังไง พี่จะยกตัวอย่างให้ฟัง
- ในโรงงานอุตสาหกรรมบางโรงงาน ใช้รังสีในการวัดสิ่งที่ต้องการความละเอียดมากๆ เช่น การวัดความหนากระดาษ วัดรอยรั่วของท่อ วัดการผสมกันของของเหลว
- ในทางการแพทย์และบางอุตสาหกรรม มีการใช้อุปกรณ์นิวเคลียร์ด้วย เช่น เครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้ในการเอกซเรย์ เครื่องผลิตนิวตรอน (ไม่ใช่เครื่องปฏิกรณ์)
- ในอุตสาหกรรมการเกษตร ก็มีการใช้การฉายรังสีอาหารให้มีอายุนานกว่าปกติเพื่อส่งออก
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่รับบัณฑิตสาขานี้อีกด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกด้วยนะ
จริงๆ ก็ยังมีภาคอื่นๆ ที่น้องๆ อาจจะไม่คุ้นเคยอีกมากมายที่รอให้น้องๆ ได้มาค้นหากันต่อ ในค่ายลานเกียร์ครั้งที่ 18 นี้ รีบสมัครกันละ จะปิดรับสมัครแล้วนะ !! เปิดรับสมัครถึงวันอังคารที่ 16 ตุลาคมนี้เท่านั้น รีบๆ ไปสมัครกันเลย ดูรายละเอียดได้ที่ www.camphub.in.th/larngear-camp-18 สำหรับวันนี้ พี่ๆ ค่ายลานเกียร์ วิศวฯ จุฬาฯ ขอตัวไปเตรียมความสนุกที่รอให้น้องๆ มาเจอกันในค่ายกันก่อน แล้วอย่าลืมมาเจอกันนะ บั๊ยบาย :D
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อ..
Facebook : LarnGear Camp
พี่แพ็ค 085-167-2293
พี่ป่าน 087-830-9292
พี่ลูกไม้ 097-921-4568