สมัยนี้ใคร ๆ ก็ซื้อของออนไลน์กัน เพราะสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แถมมีโปรโมชันและโค้ดส่วนลดให้เก็บ เพิ่มความคุ้มค่ากันไปอีก! ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนหลาย Gen เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหนึ่งในพฤติกรรมที่ได้รับความนิยมกันมากตอนนี้คือ การใช้จ่ายด้วยระบบ ‘PAY LATER’
📱Gen Z ครองอันดับช็อปปิงออนไลน์มากที่สุด!
มีผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของการซื้อของออนไลน์ในปัจจุบัน จากสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า คนทุก Gen มีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ซึ่งคน Gen Z มีสัดส่วนมากที่สุด คือ 92% ตามมาด้วย Gen Y 78.6% Gen X 66.7% และ Baby Boomer 24.4% นอกจากนี้ยังพบว่าชาว Gen Z ยังเป็น Gen ที่มีการใช้ระบบผ่อนชำระแบบ ‘BNPL’ มากที่สุดด้วย
💸 แล้วระบบชำระแบบ BNPL คืออะไร?
สำหรับระบบชำระแบบ BNPL หรือ ‘Buy Now Pay Later’ ก็คือการ ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลายแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์นำออกมาใช้ในการหาลูกค้า เพราะมีจุดเด่นคือ เราสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้เลยตามวงเงินที่อนุมัติ โดยในการชำระทีหลังจะเป็นการผ่อนจ่ายแบบรายเดือน ที่บางครั้งก็คำนวณดอกเบี้ยมาให้เราแบบเสร็จสรรพ แถมเลือกผ่อนจ่ายขั้นต่ำได้อีก จึงทำให้น้อง ๆ หลายคนมองว่ามันเป็นวิธีที่จะช่วยให้ได้สิ่งของตามต้องการ โดยไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นบางทียังมีโปรโมชันให้ส่วนลดสินค้าเพิ่ม เมื่อเลือกจ่ายเงินด้วยวิธี PAY LATER ทำให้นักช็อปส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อกันภายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะมองว่ามัน ‘คุ้มค่ากว่า’ นั่นเอง
🛒การช็อปปิงออนไลน์ด้วย PAY LATER เป็นวิธีที่ ‘คุ้มค่า’ จริงหรือ?
นอกจาก Gen Z จะซื้อของออนไลน์เยอะที่สุดแล้ว ยังพบอีกหนึ่งผลสำรวจที่น่าสนใจว่า เกินกว่าครึ่งของชาว Gen Z ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เลือกใช้บริการ PAY LATER ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่อาจก่อหนี้เกินตัวมากขึ้นในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้นการที่มีระบบซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ยังเป็นระบบที่กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว แม้ว่าจะมีหนี้เดิมที่ยังผ่อนชำระไม่หมด นอกจากนี้ยังทำให้หลายคนมองว่าการซื้อของไม่จำเป็น คือสิ่งที่ทำได้ ถ้ามีระบบผ่อนชำระอยู่
หนึ่งในบทวิเคราะห์จาก LendingTree ได้เผยว่า BNPL อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดฟองสบู่เศรษฐกิจลูกใหม่ นั่นเป็นเพราะคนใช้ระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังมีมากกว่า 70% อีกทั้งยังใช้จ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้ มากกว่า 42% จ่ายเงินไม่ตรงเวลาตามกำหนดด้วย ซึ่งกลุ่มนี้มีมากกว่าครึ่งที่เป็นคน Gen Z
🛍️ ข้อดี-ข้อเสียของระบบชำระเงินแบบ PAY LATER
ถ้าให้พูดถึงข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการใช้ PAY LATER คือทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเปลี่ยนไป เพราะซื้อของได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องจ่ายก้อนเดียวจบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาระหนี้เพิ่มไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบ
อย่างไรก็ตามระบบ PAY LATER ก็ยังมีข้อดีอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับส่วนลดสินค้า ทำให้เราได้ราคาสุดคุ้ม หากมีวินัยทางการเงิน จ่ายเงินครบตามเวลาก็จะทำให้ได้สินค้าในราคาที่คุ้มมาก ๆ แต่ต้องคอยสังเกตสุขภาพทางการเงินตัวเองบ่อย ๆ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว
💳 ถ้าเกิดไม่ PAY LATER แล้วจะใช้จ่ายแบบไหนให้คุ้มค่า?
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจอยากใช้ระบบจ่ายทีหลัง อยากให้ลองคิดดูอีกสักนิด เพราะการซื้อของออนไลน์ให้ได้ความคุ้มค่านั้นยังมีอีกหลายวิธี เช่น คอยเก็บโค้ดส่วนลดพิเศษช่วงเที่ยงคืน รอซื้อในวันเลขคู่เลขคี่ เช่น 9 เดือน 9 หรือการเลือกซื้อจากร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันแต่ให้ราคาถูกกว่า และเมื่อใช้ร่วมกับโค้ดด้วยก็ให้ส่วนลดแบบสุดคุ้มมากขึ้นได้
ถ้าไม่อยากติดกับดักของการผ่อนชำระแบบไม่รู้จบ ก็สามารถเลือกใช้จ่ายด้วยเงินสด เก็บเงินปลายทาง หรือใช้บัตรเครดิตที่มีความคุ้มค่ากว่าในเรื่องของส่วนลด ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้น้อง ๆ ไม่ต้องปวดหัวกับหนี้ก้อนโต
สุดท้ายแล้วพฤติกรรมการช็อปปิงเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ขึ้นอยู่กับความถนัด และความจำเป็นของแต่ละคน ทั้งนี้ก่อนที่น้อง ๆ จะตัดสินใจใช้จ่ายด้วย PAY LATER อย่าลืมพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าสิ่งที่จะซื้อมีความจำเป็นต่อตัวเราจริงหรือไม่ และควรคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้เพียงพอต่อการผ่อนชำระ รวมทั้งแบ่งเงินเก็บออมไว้บ้างในแต่ละเดือน อย่างน้อยก็เป็นวิธีที่ช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้กับน้อง ๆ ได้
และก่อนที่จะจบบทความ พี่ ๆ มีคำถามส่งท้าย ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้สำหรับบทความนี้ บอกได้เลยว่าไม่ยาก!
คำถาม : เราจะมีวิธีใช้ระบบ PAY LATER อย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด และไม่ให้มีหนี้เกินตัว?
- พยายามเลือกซื้อของที่มีโปรโมชันที่ใช้กับระบบ PAY LATER ได้เท่านั้น
- เลือกซื้อของที่มีความจำเป็นเท่านั้น พร้อมคำนวณค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนให้เพียงพอ
- เลือกซื้อของที่ราคาไม่สูง จะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่เยอะ
- พยายามเลือกผ่อนจ่ายขั้นต่ำ จะทำให้เราผ่อนได้หลายเดือน
เขียนบทความโดย: ทีมงาน AFTERKLASS