บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
คอนนิจิวะ มินนะซัง ~!
พบกับบทความพิเศษจากพี่ช้างที่จะพาทุกคนไปพูดคุยกับน้องๆ 3 คน ว่าด้วยทริปทัศนศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ณ ประเทศญี่ปุ่น จากค่าย Power Green Camp 12
ทริปนี้เป็นการเดินทางไปเรียนรู้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลจากประเทศสิ่งแวดล้อมต้นแบบ กับค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือค่าย “เพาเวอร์กรีน” โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล
เรียกได้ว่าจัดเต็มมากๆ เพราะค่ายฯ ว่านานแล้ว (8 วันเต็ม!) แถมยังมีทริปญี่ปุ่นอีก 5 วัน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักค่าย Power Green Camp ก็สามารถคลิกที่รูปด้านบนไปอ่านรีวิวกันก่อนได้ หรือจะเลื่อนลงไปอ่านบทความนี้เลยก็ไม่ว่ากัน :D
ทริปทัศนศึกษาค่ายเพาเวอร์กรีน
ทริปนี้เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากค่ายฯ หลังจากที่น้องๆ เยาวชนทั้ง 70 คนได้เรียนรู้การพัฒนากระบวนการคิด ลงมือปฏิบัติจริงในห้อง Lab ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมเดินทางไปศึกษาในพื้นที่จริง ณ จ.ชลบุรีและระยอง และนำเสนอโครงงานชิงทุนการศึกษารวมกว่า 30,000 บาท เมื่อเดือน ต.ค. 2560
ตัวแทนเพื่อนๆ จากค่ายฯ ทั้ง 3 คนได้เดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 22-26 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีมากกก ยืนยันได้จาก Environment Performance Index (EPI) หรือดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 20 จากทั้งหมด 180 ประเทศ (ลำดับที่ 2 ในทวีปเอเชีย)[1] แถมมีความหลากหลายทางชีวภาพ ความเจริญล้ำหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน
น้องๆ ที่ร่วมเดินทางในทริปนี้ได้เปิดโลกทัศน์ พร้อมศึกษาตัวอย่างการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามแบบฉบับญี่ปุ่นที่ดี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด และนำมาประยุกต์ใช้กับชุมชน หรือท้องถิ่นของตนเองก่อนในระดับเริ่มต้น
คุยกับน้องค่าย
เยาวชนทั้ง 3 คน ที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การสื่อสารภาษาอังกฤษ รวมถึงด้านบุคลิกภาพ พฤติกรรม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น และได้รับคัดเลือกเดินทางไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่
- น้องนันท์ ภัทรลดา สิทธิพล โรงเรียนสารคามพิทยาคม
- น้องไอซ์ อัครพันธ์ ทวีศักดิ์ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
- น้องมายด์ ฐานิญา เมธาสมิทธ์กุล โรงเรียนธิดานุเคราะห์
ขอแสดงความยินดีที่ได้ไปทัศนศึกษาที่ญี่ปุ่นด้วยนะครับ พี่ช้างอยากรู้ว่าน้องได้เป็น 3 เยาวชนดีเด่นที่ถูกคัดเลือกจากค่ายฯ ได้ยังไงเอ่ย
น้องไอซ์ – วันแรกของค่ายฯ พี่ๆ ที่ดูแลจะให้เขียน Essay เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้น ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกนักเรียนจำนวน 15 คน เพื่อสอบข้อเขียนทดสอบความรู้ทางสิ่งแวดล้อม จากนั้นคัดเลือกเหลือ 12 คน เพื่อเข้าสู่รอบสอบสัมภาษณ์เป็นรอบสุดท้าย เพื่อคัดเลือกนักเรียน 3 คนเป็นตัวแทนในการทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นครับ
น้องนันท์ – ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่ได้ค่ะ เพราะพูดอะไรเยอะมาก โดยนิสัยปกติเป็นคนชอบพูดค่ะ
ตอนสัมภาษณ์ เขาอาจถูกใจในจุดที่หนูนำเสนอเรื่องทางเดิน ถนน และการคมนาคมในจังหวัดของหนู หนูบอกว่าอยากไปรู้ว่าประเทศนั้นที่สามารถทำถนนที่เป็นหลุมใหญ่ให้ซ่อมเสร็จใน 7 วัน แต่ในบ้านหนูแจ้งแล้วแจ้งอีก ทำท่อแล้วทำท่ออีกก็เป็นหลุม น้ำก็ท่วมเหมือนเดิมค่ะ
ทั้งๆ ที่เนื้อหาน่าจะซีเรียส แต่หนูกลับทำให้พวกเขาหัวเราะได้ตลอดนี่แหล่ะมั้งคะ และพอหนูกลับจากค่ายฯ ได้ไปทำใบปลิวที่โรงเรียนเพื่อแนะนำกิจกรรมค่ายฯ ว่ามีอะไรบ้าง เหมือนเป็นการต่อยอดอีกรอบ เขาเลยน่าจะสนใจจุดเด่นตรงนี้ของหนูที่ดูเป็นธรรมชาติมากในระดับหนึ่งและการนำไปต่อยอดค่ะ
ตอนรู้ตัวว่าเราจะได้เดินทางไปญี่ปุ่นรู้สึกยังไงบ้าง
น้องมายด์ – รู้สึกแบบตื่นเต้นอ่ะ ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่มันจะฟีลแบบแล้วเราจะได้ไปดูอะไร ไปเจออะไรบ้าง (ตอนยังไม่รู้แพลนนะคะ)
น้องนันท์ – รู้สึกดีใจมากๆ ค่ะ เพราะญี่ปุ่นคือประเทศในฝันของหนูตั้งแต่เด็กๆ เพราะหนูชอบดูการ์ตูนค่ะ พอรู้จะได้ไปทั้งตื่นเต้นแล้วก็ดีใจ รู้สึกอีกทีก็ร้องไห้ แต่ก็ต้องรีบเตรียมตัวโดยกลับมาทวนภาษาญี่ปุ่นใหม่ค่ะ เพราะเคยเรียน และรู้ดีว่าที่นั่นใช้ภาษาอังกฤษน้อยมากๆ หนูเลยดูซีรี่ส์ หาวิธีกินแบบเขา วัฒนธรรมต่างๆ วิธีเคารพ กับเริ่มคิดเรื่องจัดเสื้อผ้าทันทีเลยค่ะ!
น้องไอซ์ – รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากครับ เพราะว่าเป็นเมืองที่ผมใฝ่ฝันมานาน การเตรียมตัวก็ศึกษาข้อมูลของสถานที่นั้นๆ เพื่อให้เข้าใจและง่ายต่อการทัศนศึกษา เตรียมอุปกรณ์ให้เรียบร้อย เช่น เครื่องเขียน กล้องถ่ายรูป และที่สำคัญต้องรักษาสุขภาพก่อนเดินทางครับ
มีเหตุการณ์ประทับใจที่อยากเล่าให้ฟังมั้ยครับ
น้องนันท์ – มีเยอะมากๆ ค่ะ! แต่ที่ประทับใจที่สุด คือ ถนนกับการปลูกจิตสำนึกค่ะ
ถนนของเขามีระเบียบ เส้นทางม้าลายสีขาวเห็นชัด ทุกคนทำตามกฎระเบียบ แม้ต่อให้ข้างหน้าเป็นถนนโล่งๆ เขาก็ไม่ข้าม หากไม่มีทางม้าลายเลยค่ะ ทางเดินทางเท้าก็ใส่ใจทุกรายละเอียด ทั้งกับคนที่พิการทางสายตาอีกด้วย ทั้งเรื่องความระเบียบหากรถเมล์มาช้าหรือสาย จะมีสัญญาณส่งไปที่ไฟจราจรให้เป็นสีเขียวเพื่อให้ถึงตามป้ายเป๊ะๆ ตามเวลาอีกด้วยค่ะ
เรื่องจิตสำนึก เขาพาเด็กๆ ร่วมมือกันตั้งแต่เล็กๆ เพราะรัฐบาลไม่ได้มีงบให้มากพอ ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนมาร่วมอาสาทำด้วยกันค่ะ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนสูงวัย โดยทางชุมชนจะยื่นขอโครงการและหางบกันเอง ทำให้เด็กๆ ได้โตมากับการดูแลสิ่งแวดล้อม
มินาคามิเป็นเมืองเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ
ครั้งหนึ่งหิ่งห้อยได้หายไปจากเมืองมินาคามิ ทุกคนเลยช่วยกันปล่อยหอยทากสีดำที่เป็นอาหารของหิ่งห้อย และทำให้น้ำกลับมาใสสะอาด เพื่อเป็นที่อยู่ของหอยทากและรักษาระบบนิเวศ จนเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวได้มาก
นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการทัวร์กำจัดพืชต่างถิ่น ที่ให้คนที่ซื้อทัวร์มาเดินทางไกลในเมืองมินาคามิ ทำเควสถอนพืชต่างถิ่นที่รุกรานอยู่อีกด้วย
จากที่มันเสื่อมโทรม พวกเขาก็กลับมาช่วยกันดูแลใหม่ ใช้เวลาเป็นปีก็ยังทำงานเรื่อยๆ จนมันกลับมาสวยงาม ทำให้หนูเชื่อว่าพวกเขาจะไม่ทำลายมัน “เพราะความสุขที่สร้างมาด้วยกันจากความลำบากที่จุดเล็กๆ เราก็จะหวงแหนและไม่อยากทำลายสิ่งที่เราอุตส่าห์ทำมาร่วมกัน” ความสุขเหล่านั้นมันยั่งยืนและสอนลูกหลานให้เหลืออะไรไว้กับคนรุ่นหลังได้อีกเยอะแยะเลยค่ะ
เขาไม่ลืมสิ่งเริ่มต้น คือ ระบบนิเวศ เขาไม่เคยทิ้งต่อให้เทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน เขาใส่ใจจุดเล็กๆ ที่บางทีหนูไม่คิดว่ามันน่าสนใจ พวกเขาทำให้หนูตระหนักได้ว่าต่อให้เป็นเรื่องเล็กๆ ถ้าหลายๆ ใจหลายๆ มือมาร่วมกันต่อให้นานดูลำบาก ก็ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้นั่นเองค่ะ
น้องไอซ์ – สำหรับความประทับใจที่ประเทศญี่ปุ่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่มีความเรียบง่าย มีมารยาท เป็นกันเอง
ในทุกการเดินทางหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจในการทัศนศึกษาเรียบร้อย เจ้าหน้าที่หรือวิทยากรชาวญี่ปุ่นจะมาส่งพวกเราขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อไปยังสถานที่อื่น แล้วจะคอยโบกมือจนรถลับสายตา ซึ่งเป็นความงดงาม และความทรงจำดีๆ ที่ชาวต่างชาติได้มาเยือนอย่างมิเสื่อมคลายครับ
น้องมายด์ – ชอบตอนไป National Museum of Nature and Science มาก ก่อนหน้านี้มายด์เคยดูวิดีโอท่องเที่ยวที่เค้ามาที่นี่ มายด์ก็คิดว่า เออน่าเดินจัง คือมันมีหลายชั้น แล้วก็น่าดูน่าเดินมาก
ตัดภาพมาพอได้ไปจริงๆ คือดีมาก อาจารย์คอยอธิบายให้ฟังตลอดว่าแต่ละอย่างคืออะไร จนมีคนพูดขึ้นมาว่า วิทยาศาสตร์นี่มันสากลจริงๆ ตอนนั้นก็คือเชื่อเลย ทั้งๆ ที่อาจารย์อ่านญี่ปุ่นไม่ออก
ประทับใจอีกอย่างคือ ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เค้าจะมีอาสาสมัคร (เค้าเขียนที่เสื้อว่า Volunteer) เป็นลุงๆ ป้าๆ ที่เกษียณอายุแล้วมาคอยอธิบายให้เราฟัง ใครพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ Body Language กัน น่ารักดี ทุกคนดูมีประโยชน์ อีกเรื่องคือ ถ้าเป็นเด็กได้เข้าฟรี เพราะเขาอยากส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่พี่ไอซ์อ่ะเค้าก็แอบมองว่าใช่เด็กป่ะเนี่ยย
การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และสังคมของประเทศญี่ปุ่น มันต่างจากที่เราคิดไว้ไหม
น้องนันท์ – ต่างนิดหน่อยค่ะ เพราะตอนแรกคิดว่าเขาเคร่งครัดกฎเพราะสภาพที่อยู่อยู่แล้ว เลยคิดว่าการมีกฎหมายถึง 3 ชั้นในพื้นที่เขตป่าคุ้มครองเลยไม่น่าแปลกใจค่ะ
แต่ที่แปลกใจกว่าที่คาดคือมีหลายคนบอกหนูไว้ว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนไร้น้ำใจ ก็แอบคิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่พอมาเจอกับตัวเขาเป็นมิตรมาก การต้อนรับของเขาเป็นสิ่งที่น่ารัก วัฒนธรรมที่ให้เกียรติกันและกันไม่ว่าจะเด็กผู้ใหญ่ที่หนูเห็นมันทำให้ภาพที่บอกพวกเขานิสัยเป็นอย่างไรเปลี่ยนไปค่ะ ทำให้หนูมองว่าพวกเขาจริงจังกับสภาพแวดล้อม กับคนในสังคม กับการจัดการบริหารมันมากกว่าที่คิดไว้
น้องไอซ์ – ต่างจากที่คิดไว้มากครับ ตอนแรกคิดว่าประเทศญี่ปุ่นมีการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ
แต่เมื่อได้ไปชมสถานที่จริงแล้วพบว่า แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีการนำเทคโนโลยีคือเครื่องจักรต่างๆ มาใช้ในอุตสาหกรรม แต่การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีการควบคุมและปกป้อง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไปทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความเป็นระเบียบ สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ธรรมชาติมีความสมดุล และพร้อมที่จะพัฒนาในยุคดิจิตอลต่อไปครับ
น้องมายด์ – ไม่ค่อยต่างนะ จากที่ดูข่าวหรืออ่านบทความต่างๆ แต่ก็แอบเห็นขยะชิ้นสองชิ้น 555 แต่ประทับใจในวินัยและความร่วมแรงร่วมใจ ในเรื่องขยะมาก ไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง
คิดว่าทริปนี้ให้อะไรกับเราบ้าง
น้องนันท์ – ให้ทุกๆ อย่างเลยค่ะ ทั้งความอบอุ่นจากไกด์และพี่ๆ เพื่อนๆ ที่มาจากค่ายฯ และบริษัท บ้านปูฯ เขาดูแลหนูดีมากๆ เหมือนครอบครัวคนหนึ่ง ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเสมอ
หนูได้มาเยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องการรับประทานอาหาร เรื่องการแสดงระหว่างรับประทานอาหาร การจิบชา การแช่น้ำ นอกจากนั้นก็ความรู้ที่ได้จากการดูที่หมักสาเกจากหิมะ เขาใช้ภูมิปัญญาจากชาวบ้านมาร่วมทำให้ลดค่าใช้จ่าย ทำให้หนูฉุกคิดได้ว่าเราลืมมองภูมิปัญญาเก่าแก่ที่มีหรือเปล่า ในขณะที่เขานำสองอย่างมาปรับใช้เข้าด้วยกันกับทั้งเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาเก่า เราน่าจะเริ่มกันได้
ทริปนี้ให้ความรู้ความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกของพวกเขาอีกด้วยค่ะ อีกทั้งให้ความคิดหนูเปลี่ยนไป ทำให้หนูอยากทำอะไรมากกว่านี้ อยากใส่ใจทุกอย่างที่เคยมองข้ามแล้วนำมาประยุกต์ เลยอยากขอบคุณทริปนี้ที่ทำให้หนูเริ่มมีเป้าหมายแล้วนั่นเองค่ะ
น้องไอซ์ – ให้ความรู้ใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน แนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่ไม่เคยพบเห็น เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปแบ่งปันสู่เพื่อนๆ นำไปต่อยอดสู่สังคม ให้การศึกษาด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของญี่ปุ่นที่มีการเรียนรู้ในการอยู่กับธรรมชาติ แนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ให้มิตรภาพดีๆ ตลอดการเดินทางไม่ว่าจะเป็นน้องๆ จากค่ายฯ หรือว่าพี่ๆ ทางค่ายฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นศึกษาต่างๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ผม และความอบอุ่นที่ได้เป็นครอบครัวเดียวกันกับ Power Green Camp ครับ
น้องมายด์ – ให้ความรู้ ประสบการณ์ที่ดีและสามารถนำไปเล่าให้เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนฟังได้อย่างดีเลย เหมือนถ้าเราแค่ไปเที่ยวเฉยๆ คงไม่ได้ไปโรงงานเผาขยะ Shin-Koto คงไม่มีเจ้าหน้าที่จากมินาคามิ Biosphere มานั่งบรรยายให้ฟัง ให้เราได้มองย้อนกลับไปมองประเทศเราเองเลยว่า ต่างกันขนาดไหน
และสุดท้ายได้กำลังใจที่ดีในการเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศในอนาคตจากบรรดาอาจารย์ พี่ๆ ทีมบ้านปู พี่ๆ นักข่าว ต่อไปค่ะ
สุดท้ายแล้ว ฝากอะไรถึงเพื่อนๆ ที่กำลังสนใจในสิ่งแวดล้อมและค่าย Power Green Camp หน่อย
น้องนันท์ – อยากให้ทุกๆ คนมาลองสัมผัสกับสิ่งที่เป็นมากกว่าค่ายนะคะ เราไม่ได้แค่เพียงประสบการณ์ความรู้ แต่เราจะได้ประสบการณ์ชีวิตอีกด้วย อยากให้ได้ลองสัมผัสกับคำว่าสิ่งแวดล้อมของจริงมากเลยค่ะ มาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวกันนะคะ
น้องไอซ์ – อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมทำให้เราเจริญเติบโตมาถึงทุกวันนี้ เราต้องอย่าลืมบุญคุณของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ อยากจะให้ทุกคนมีความคิดที่เป็น Green สร้างสังคมแห่งการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในใจ
และสุดท้ายนี้อยากจะประชาสัมพันธ์ค่าย Power Green Camp หากน้องๆ สนใจในสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ อยากจะให้สมัครค่ายนี้ เพราะว่าค่ายนี้ให้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความอบอุ่น และมิตรภาพดีๆ จากเพื่อน พี่ น้อง ที่รอน้องๆ ทุกคนอยู่ แล้วมาเป็นครอบครัวแห่งการอนุรักษ์ เยาวชนชาว Power Green กันนะครับ
น้องมายด์ – คือมายด์มาค่ายนี้เพราะสนใจ แล้วก็ชอบด้านสิ่งแวดล้อมจริงๆ พอเห็นว่ากิจกรรมมีอะไรก็ยิ่งอยากไป ถ้าใครแบบชอบ แต่ไม่ค่อยมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ให้ลองมา เพราะมายด์ก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น แนะนำเลยค่ายนี้ เพราะทุกอย่างในชื่อค่ายฯ พวกน้องๆ จะได้คำตอบในการเข้าค่ายเลย
และใครที่ไม่แน่ใจว่าจะมาดีมั้ย หรือไม่แน่ใจว่าจะชอบด้านสิ่งแวดล้อมรึเปล่า ก็ลองมากันดู เพราะในค่ายมีทั้งกิจกรรม ทำโครงงาน เรียน แล้วก็ทัศนศึกษา คือก่อนหน้านี้มายด์ก็ไม่แน่ใจว่ามหา’ลัยจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดีไหม พอมาค่ายนี้ก็ได้คำตอบเลยว่า ใช่! อยากให้มากันเพราะ เราจะได้รู้จักกับคนที่ชอบสิ่งแวดล้อมเหมือนกับเรา และก็รู้ว่าคนอื่นมีทัศนคติในเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไง มากันเยอะๆ นะ
เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย กับบทสัมภาษณ์ความประทับใจและทริปทัศนศึกษาค่าย Power Green Camp ตอนนี้ ~
สำหรับน้องๆ ที่สนใจค่ายฯ นี้ก็สามารถจิ้มดูรายละเอียดค่าย Power Green 13 ได้ที่นี่เลย :)
ติดตามค่าย Power Green Camp
[button color=”website” size=”medium” link=”http://bit.ly/PWGCampWeb” icon=”fa-external-link” target=”_blank”]เว็บไซต์ค่าย[/button] [button color=”facebook” size=”medium” link=”http://bit.ly/PWGCampFB” icon=”fa-facebook” target=”_blank”]สอบถามพี่ค่ายทาง Facebook[/button] [button color=”twitter” size=”medium” link=”http://bit.ly/PWGCampTW” icon=”fa-twitter” target=”_blank”]Twitter @powergreencamp[/button] [button color=”download” size=”medium” link=”http://bit.ly/PWGCamp13Regis” icon=”fa-download” target=”_blank”]โหลดใบสมัครตรงนี้เลย![/button]
เขียนโดย: พี่ช้าง แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณรูปภาพ: บมจ.บ้านปู และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล
อ้างอิง:
1. ^ 2018 Environmental Performance Index