กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB up level

นักจิตวิทยา vs จิตแพทย์ 2 อาชีพที่คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน!

🤔 นักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ เป็นอาชีพที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าคืออาชีพเดียวกัน จริงอยู่ที่ทั้ง 2 อาชีพนี้มีความคล้ายคลึงกัน แต่วิธีการรักษาก็แตกต่างกันพอสมควรเลย แล้วเราก็เชื่อว่า มีน้องหลายคนแน่นอนที่สนใจทางด้านสุขภาพจิต แต่ถ้าเผลอเข้าเรียนผิดคณะก็อาจจะได้ทำงานคนละเรื่องกันเลย วันนี้เรามาจะแยกกันชัดๆ เลยว่า 2 อาชีพนี้เขาเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง ไม่เป็นได้เป็นประโยชน์กับคนที่อยากมุ่งสู่อาชีพนั้นๆ อย่างเดียว แต่ใครที่กำลังอยู่ในภาวะที่เรารู้สึกแย่มากจนทนไม่ไหว จะจัดการอย่างไรก็ตอบตัวเองไม่ได้ บางทีเราอาจต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ซึ่งเราจะไปหาใครดีระหว่างนักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ ไปดูกัน 👉

📍วิธีการทำงาน

🧑‍⚕️ จิตแพทย์ – เป็นคนวินิจฉัยโรค และสามารถสั่งจ่ายยาให้เราได้ในกรณีที่เราต้องใช้ยาประกอบการรักษา และเน้นที่การรักษาด้วยยาเป็นส่วนใหญ่ มีการรักษาที่ควบคลุมไปถึงส่วนที่เป็นกายภาพมากกว่า เช่น ภาวะซึมเศร้าอาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ สิ่งนี้ก็ต้องไปจัดการที่ต้นตออย่างตัวไทรอยด์แทน

👩‍💼 นักจิตวิทยา – จะไม่สามารถจ่ายยาได้แบบจิตแพทย์ จะเน้นการรักษาด้วยจิตบำบัด การพูดคุยถึงความคิดของเรา อารมณ์ของเรา ช่วยเราหาทางเข้าใจกับปัญหาที่กำลังเกิดกับตัวเราเองได้มากขึ้น 

📍เส้นทางการศึกษา

🧑‍⚕️ จิตแพทย์ – ต้องเรียนแพทย์ทั่วไปในคณะแพทย์อย่างน้อย 6 ปี แล้วต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชอีกอย่างน้อย 3 ปี เพื่อสามารถวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตได้ รวมไปถึงการพิจารณาความผิดปกติจากปัจจัยทางด้านประสาทและสมอง พันธุกรรม รวมถึงโรคอื่นๆ อีกด้วย

👩‍💼 นักจิตวิทยา – เรียนในคณะต่างๆ ที่มีสาขาจิตวิทยา เช่นคณะ จิตวิทยา มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนความคิด จิตใต และพฤติกรรมของมนุษย์ และหากอยากเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชโดยเฉพาะ ต้องต่อหลักสูตรอบรม 6 เดือนเพื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์สาขาจิตวิทยาคลินิกเพิ่มด้วยนั่นเอง

🍃 ชีวิตของเราก็เหมือนสภาพอากาศเลยเนอะว่าไหม? บางวันก็แดดออก บางวันก็ฝนตก บางวันก็พายุเข้า เหมือนกับพวกเราเองที่มีทั้งบางครั้งที่รู้สึกเบิกบาน บางคราวก็รู้สึกเศร้า แต่ชีวิตที่ไม่เคยมีความเศร้าเลยก็เหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งค่าว่าต้องมีความสุขเท่านั้น การมีความเศร้าไม่ใช่เรื่องแย่ แต่คือการให้ตัวเองเราเองได้มีความรู้สึก ปล่อยให้ตัวเองมีความสุขแล้วก็อย่าลืมให้ตัวเองได้เศร้าด้วยนะ แต่ถ้าวันไหนที่เรามีฝนตกแต่ในใจจนน้ำท่วมตามากเกินไปขนาดที่เราควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง แบบนี้แปลว่าเราต้องขอความช่วยเหลือแล้วนะ วันนี้รู้ข้อแตกต่างของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์กันแล้ว ลองถามตัวเองดูว่าเราต้องการความช่วยเหลือแบบไหนแล้วลองไปรับความช่วยเหลือที่เราต้องการกันนะ 

จริงอยู่ที่การเป็นมนุษย์ต้องใช้ความเข้มแข็งเป็นว่าเล่นเลย แต่ไม่ใช่ว่าเรา ‘ต้อง’ เข้มแข็งนะ ถ้าวันไหนอ่อนแอก็แค่อ่อนแอ การยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอและออบกอดตัวเองไว้ไม่ปล่อยตัวเราทิ้งไป สำหรับเรา เราว่ามันคือความเข้มแข็งที่อ่อนโยนที่สุดเลย🌷

อ้างอิง : primocare.com และ yourhealthinmind.org/psychiatry-explained/psychiatrists-and-psychologists

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พัด

ความฝันวัย 5 ขวบคือการเป็นนางเงือก ความฝันวัย 15 ปี คือนักการทูต ความฝันวัย 18 ปี คือผู้กำกับ ความฝัน ณ ปัจจุบันคือการเป็นแม่มด