กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB review

รีวิวค่าย e-Gear เชื่อมต่อวงจรอิเล็กกับพี่ๆ วิศวอิเล็กทรอนิกส์ ลาดกระบัง [EP.88]

ALL ABOUT วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลาดกระบัง

  • ค่าย 3 วัน 2 คืน ที่จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าผ่านการลงมือทำจริง
  • ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักสูตรเฉพาะที่เปิดสอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่เดียว
  • ออกแบบและสร้างสรรค์โปรเจคสิ่งประดิษฐ์ด้วยมือของตัวเอง จากความรู้และประสบการณ์ตลอดค่าย ร่วมมือกับเพื่อนๆ เพื่อลงมือสร้างชิ้นงานเจ๋งๆ

สวัสดีจ้าน้องๆ ชาวแคมป์ฮับทุกคน สงสัยกันหรือเปล่าว่า โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าทันสมัยต่างๆ ใครคือคนออกแบบและสร้างสรรค์มันขึ้นมานะ วันนี้ “พี่เจมส์” จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมสุดล้ำเหล่านี้ ผ่านค่าย e-Gear จากพี่ๆ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถ้าพร้อมแล้ว ก็ตามมาอ่านได้เลย!!


เคาะประตูทำความรู้จักภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับ “พี่ไหม” ประธานค่าย

พี่ไหม – อลิษา โทโดโรกิ ปี 2 (ประธานค่าย)

“วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์” เรียนเกี่ยวกับอะไร

เราเรียนเจาะลึกไปที่ด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับวิธีหรือกระบวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบของโปรเจคและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือในสายงานอื่นอย่างการแพทย์ ยานยนต์ หรือแม้แต่การพัฒนาโปรแกรมก็ด้วย

ซึ่งขอบอกน้องๆ ไว้เลยว่า ในอนาคตความรู้ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนจะต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างเช่นมือถือสมาร์ทโฟน หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังพัฒนาอยู่ก็ใช่นะ

ในอนาคตวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น


วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เหมือน วิศวกรรมไฟฟ้า!

วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์แตกต่างจากวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเกี่ยวกับการทำงานหรือการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาและสร้างสรรค์ต่อยอดไปสู่แขนงอื่นอย่างการแพทย์ ยานยนต์ หรือนวัตกรรมด้านต่างๆ ส่วนวิศวกรรมไฟฟ้าจะเกี่ยวกับไฟฟ้ากำลังหรือไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้งานตามอาคารและบ้านเรือน

ในประเทศไทยยังมีลาดกระบังเพียงที่เดียว ที่เปิดสอนภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ ฉะนั้นใครที่มาเรียนรับรองว่าจะได้รับความรู้ที่เจาะลึกและโดดเด่นในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแน่นอน

ยังมีลาดกระบังเพียงที่เดียว ที่เปิดสอนภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย


สงสัยจังว่าแต่ละปี พี่ๆ เรียนอะไรกันบ้าง

  • ปี 1 เราจะเรียนปรับพื้นฐานเหมือนภาควิชาอื่น เนื้อหาอย่างแคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี และเขียนแบบ แล้วเทอมที่ 2 จะเริ่มเรียนเขียนโปรแกรม
  • ปี 2 ก็เริ่มเข้าวิชาของภาค เรียนเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขียนวงจร เริ่มที่จะต้องฝึกทำโปรเจคส่งอาจารย์ด้วย
  • ปี 3 เรียนลงลึกขึ้น เน้นในด้านต่างๆ ที่สนใจ ไม่ว่าจะยานยนต์ การแพทย์ ออกแบบวงจร หรือการเขียนโปรแกรม เลือกแล้วก็ไปทำโปรเจคที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ช่วงซัมเมอร์เราก็จะได้ฝึกงานในบริษัทที่เราสนใจอีกด้วย
  • ปี 4 ทำโปรเจคใหญ่ เช่น คนที่สนใจการแพทย์ก็จะทำโปรเจคเกี่ยวกับการตรวจน้ำตาลโดยไม่ต้องมีการเจาะเลือด หรืออย่างของพี่ที่สนใจด้านเซมิคอนดัคเตอร์ ก็เน้นเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นชิ้นงานเกี่ยวกับ “เซ็นเซอร์” นั่นเอง

โห เรียกได้ว่าทำโปรเจคกันจนเซียนเลย

ใช่ค่ะ ภาควิศวอิเล็กของเราเน้นการปฎิบัติและลงมือทำ เราจะถูกสอนตั้งแต่จุดเริ่มต้น อย่างการเอาแผ่นทองแดงมาพิมพ์ลายเส้นวงจร คือเริ่มทำเองทุกอย่างตั้งแต่ 0 แล้วค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น อย่างปี 2 ไหมก็ได้ทำโปรเจคเป็นวงจรไฟ LED ที่สามารถรันออกมาเป็นชื่อตัวเองได้ พอขยับมาเป็นปี 3 ที่ไหมสนใจด้านเซมิคอนดัคเตอร์ ก็ทำเป็นเซ็นเซอร์น้ำฝน ที่เมื่อฝนตกเซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณไปหยุดมอเตอร์ให้เก็บผ้าที่ตากไว้อยู่ได้ กว่าจะเสร็จก็เหนื่อยแทบแย่เหมือนกัน ฮ่าๆ

ภาควิศวอิเล็กของเราเน้นการปฎิบัติและลงมือทำ เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ 0 แล้วเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ


ตามมาชมรีวิวค่าย e-Gear กันบ้าง!

วันที่ 1

ประเดิมวันแรกด้วยการพาน้องๆ มาเริ่มต้นทำความรู้จักการเรียนแบบวิศวอิเล็กตั้งแต่เบสิค! พี่ๆ จะสอนพื้นฐานให้น้องได้ลงมือเองตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็นการบัดกรี ต่อโฟโต้บอร์ด(Protoboard) แล้วลุยกันต่อกับการลองเขียนโปรแกรม

ช่วงดึก ก็มาสนุกกับกิจกรรมฐานสุดตื่นเต้นที่พี่ๆ เตรียมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นการพาน้องๆ ขึ้นไปดู “เสาโทรฯ” แลนด์มาร์กยอดฮิตประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบังแห่งนี้ บอกเลยว่าขึ้นไปดูตอนกลางคืนจะได้ไฟจากยอดเสาที่เด่นออกมาสวยสุดๆ แล้วยังมีเกมและกิจกรรมอีกเพียบ ทั้งการสันทนาการร้องเพลงสนุกๆ กับพี่และเพื่อนๆ อีกด้วย

มาเริ่มต้นทำความรู้จักการเรียนแบบวิศวอิเล็กตั้งแต่เบสิค!


วันที่ 2

ลุยต่อกันวันที่ 2 วันนี้น้องๆ จะมีความเชี่ยวชาญและชินมือจากวันแรกกันบ้างแล้ว พี่ๆ เลยให้น้องมาจับกลุ่มกัน เอาความรู้ที่ได้รับมาตลอดค่ายมาสร้างสรรค์เป็นโปรเจคของตัวเองบ้าง อยากจะทำอะไรออกมาแบบไหน ก็ลองแลกเปลี่ยนกับเพื่อนแล้วลงมือออกแบบได้เลย

กิจกรรมนี้น้องๆ แต่ละกลุ่มได้ทำให้เห็นเลยว่าทุกคนครีเอต ไม่มีใครยอมใครกันสุดๆ มีโปรเจคให้เห็นมากมายอย่างกังหันลม ไปจนถึงระบบรดน้ำต้นไม้โดยการตรวจจับความชื้นกันเลย

ร่วมลงมือช่วยกันสร้างสรรค์โปรเจคของตัวเอง


วันที่ 3

พาน้องๆ แวะไปไหว้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนร่ำลา และส่งน้องๆ แยกย้ายกันกลับบ้านของตัวเอง


ลองมาคุยกับพี่ค่าย “พี่จอน”

พี่จอน – กฤตพล สุขประเสริฐ ปี 1 (พี่ค่าย)

“พี่จอน” รับผิดชอบงานส่วนไหนในค่าย

ผมเป็นพี่ที่คอยดูแลน้องๆ ครับ ตามติดไปดูแลน้องๆ ทุกกิจกรรม ผมจะเน้นหนักไปทางการประสานงาน คอยดูตารางกิจกรรมต่อไปว่าพร้อมสำหรับน้องหรือยัง พอได้เห็นน้องแต่ละคนที่มาจากหลากหลายที่สนิทกัน ทำให้ผมมีความสุขมากเลย

ประทับใจอะไรในค่ายมากที่สุด

ประทับใจน้องๆ ทุกคนเลยครับ น้องทุกคนสนุกและตั้งใจใส่เต็มในทุกกิจกรรมมากๆ ให้เลือกก็ชอบวันที่ 2 ที่สุดเพราะมีกิจกรรมเกี่ยวกับภาคค่อนข้างเยอะ ช่วงกลางคืนที่น้องๆ มาทำอาหารทานด้วยกันก็เป็นอะไรที่น่าจดจำมากครับ

วิศวอิเล็ก โดดเด่นและแตกต่างจากสาขาอื่นยังไง

เป็นสายงานที่ต่อยอดได้กว้างครับ แทบทุกอย่างจะต้องใช้ไฟฟ้า และไฟฟ้าส่วนนี้คือไฟฟ้าควบคุมในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โลกของเรากำลังจะเข้าสู่ยุค AI ก็ต้องใช้ไฟฟ้าและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในการควบคุมทั้งหมด ถึงโลกเปลี่ยนไปยังไงเราก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ

วิศวอิเล็กเป็นสายงานที่ต่อยอดได้กว้าง ถึงโลกเปลี่ยนไปยังไงเราก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ


แล้ววิศวอิเล็กที่โดดเด่น ควรเป็นแบบไหน

คนที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ ชอบที่จะลงมือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มีความสร้างสรรค์ เพราะพวกเราเป็นภาคที่หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะทำอะไร โลกก้าวหน้าไปเรื่อย ถ้าหยุดคิดก็ตามไม่ทัน ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ

ความท้าทายในการเรียนวิศวอิเล็ก

พวกเราต้องลงมือทำโปรเจคกันเยอะมาก ตอนคิดก็ใช้เวลามากแล้ว ตอนลงมือทำถ้าพลาดนิดนึงก็อาจต้องเริ่มทำใหม่ทั้งหมดอย่างเป็นขั้นตอน แต่มันก็ไม่ได้มีแต่ด้านความลำบาก เพราะทุกครั้งที่เราผิดพลาด เราจะระมัดระวังมากยิ่งขึ้น พอทำรอบสุดท้ายก็เหมือนเราเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ ไปแล้ว จุดแข็งที่ภาคเราได้ทำโปรเจคเยอะ เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง

ทุกครั้งที่เราผิดพลาด เราจะระมัดระวังมากยิ่งขึ้น พอทำรอบสุดท้ายก็เหมือนเราเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ ไปแล้ว

ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่สนใจวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้อยู่

ช่วงม.ปลายก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อีกนิดม.6 ก็โค้งสุดท้ายแล้ว ถ้าอยากได้อะไรที่ยาก เราต้องพยายามให้มาก ถ้าทำได้ยังไงก็คุ้มค่าแน่นอน เราเหนื่อย นอนหลับคืนเดียวก็หายแล้ว แต่ถ้าวันประกาศผลแล้วไม่เห็นชื่อเรา นอนหลับกี่คืนมันก็ไม่ลืมนะ ที่ลาดกระบังมีความเป็นพี่น้องมาก ช่วยเหลือดูแลกัน ถ้าเข้ามาได้ พี่ๆ ที่นี่ก็พร้อมต้อนรับน้องๆ ทุกคนเสมอ ลุยให้เต็มที่นะน้องๆ

เราเหนื่อย นอนหลับคืนเดียวก็หายแล้ว แต่ถ้าวันประกาศผลแล้วไม่เห็นชื่อเรา นอนหลับกี่คืนมันก็ไม่ลืมนะ


ขยับมาคุยกับน้องค่าย “น้องอ้อมแอ้ม” และ “น้องฟีฟ่า”

น้องอ้อมแอ้ม – อภัสนันท์ จึงสวัสดิ์ โรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ ธนบุรี

ทำไมถึงสนใจค่ายนี้

น้องอ้อมแอ้ม : หนูสนใจในวิศวคอมพิวเตอร์กับวิศวไฟฟ้าอยู่ พอเห็นค่ายเกี่ยวกับวิศวอิเล็กเลยสนใจไปด้วย อยากรู้ว่าวิศวอิเล็กคืออะไร จะเหมือนหรือต่างจากวิศวคอมพิวเตอร์หรือวิศวไฟฟ้ามากแค่ไหน

น้องฟีฟ่า : เห็นค่ายนี้จัดเป็นครั้งแรกเลยอยากไปค่ะ ถ้าได้เป็นรุ่นแรกก็น่าจะเจ๋งดี ฮ่าๆ หนูชอบไปค่ายด้านวิศวอยู่แล้ว แล้วก็ยังไม่รู้ว่าวิศวอิเล็กเกี่ยวกับอะไร

เห็นค่ายนี้จัดเป็นครั้งแรกค่ะ ถ้าได้เป็นรุ่นแรกก็น่าจะเจ๋งดี ฮ่าๆ

น้องฟีฟ่า – ภิธาราวดี ถูกอย่าง โรงเรียนสาธิตมศว.ประสานมิตร ฝ่ายมัธยม

ไปค่ายมา 3 วัน ได้อะไรกลับมาบ้าง

น้องอ้อมแอ้ม : ในค่ายพี่ๆ จะสอนเกี่ยวเรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า การบัดกรี และการเขียนโค้ด ซึ่งมันเหมือนเป็นศาสตร์ของทั้งวิศวคอมและวิศวไฟฟ้ารวมเข้าด้วยกัน ทำให้หนูได้มีความรู้หลายๆอย่าง นอกจากนั้นก็ได้พี่ๆ และเพื่อนใหม่มาคอยให้คำปรึกษา

น้องฟีฟ่า : ได้ทักษะการต่อวงจรและการบัดกรีว่ามีวิธีการที่ถูกต้องยังไง ต้องต่อตัวต้านทานยังไง แล้วได้พี่ๆและเพื่อนๆ ที่สนิทกันมาด้วย

วิศวอิเล็กเหมือนศาสตร์ที่รวมทั้งวิศวคอมและวิศวไฟฟ้าเข้าด้วยกัน

กิจกรรมที่ชื่นชอบในค่ายคือกิจกรรมไหน

น้องอ้อมแอ้ม : ชอบที่ให้ทำโปรเจค ออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นงานกลุ่ม ทำให้เราเห็นทัศนะคติและฝีมือของเพื่อน พี่ประจำกลุ่มก็ให้คำแนะนำดีมากๆ ทำให้เรามีความคิดในการต่อยอดโปรเจคไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมฐานคืนแรก ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ค่ายวิศวสุดวิชาการให้กลายเป็นค่ายสนุกๆ ที่ทำให้เราได้สนิทกับเพื่อนไปเลย

น้องฟีฟ่า : ชอบตอนพี่ๆให้ต่อวงจรกับบัดกรี รู้สึกสนุกที่ได้ลงมือทำ รู้สึกมันเป็นสิ่งที่ใช่ตัวหนูเลย ส่วนโปรเจคพวกหนูทำเป็นทำสวนปลูกผลไม้ที่ควบคุมอุณหภูมิได้และมีระบบน้ำ แล้วกลุ่มพวกหนูก็ชนะด้วยนะ ฮ่าๆ ช่วงกลางคืนก็มีกิจกรรมที่พี่ๆ มาชวนเล่นกีต้าร์ร้องเพลงด้วยกันค่ะ มีของอร่อยๆ ให้กินเยอะมากด้วย

ค่ายนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์ค่ายวิศวสุดวิชาการให้กลายเป็นค่ายสนุกๆ ที่ทำให้เราได้สนิทกับเพื่อนไปเลย

ชวนเพื่อนๆ มาค่าย e-Gear ครั้งหน้ากันหน่อย!

น้องอ้อมแอ้ม : อยากให้ทุกคนลองมาค่ายนี้ หลายๆคนอาจคิดว่าค่ายวิศวเป็นค่ายวิชาการ หรือเพื่อนๆ เด็กวิทย์คณิตที่ดูเก็บตัว แต่ไม่ใช่เลย เพื่อนๆ ทุกคนดีมาก จบค่ายไปเราก็ยังคุยกับพี่ๆ และเพื่อนได้เหมือนเดิม แล้วยังทำให้เราได้รู้ว่าเราชอบอะไร ได้ทดลองทำในสิ่งที่เรากำลังลังเลด้วย

น้องฟีฟ่า : ถ้าคิดว่ามันใช่ก็มาเลย เราจะได้รู้จริงๆ ว่าเราชอบหรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับคณะมาก่อนอาจจะทำให้เราไม่ไหวด้วย อย่างให้หนูเขียนโค้ดตลอดก็อาจจะ ต้องมีอะไรมาส่งเสริมกันด้วย ซึ่งมาค่ายนี้ก็ได้รู้จักวิศวอิเล็กที่เป็นการรวมความรู้หลายอย่างเข้าด้วยกัน กลายเป็นเป้าหมายของหนู

ถ้าคิดว่ามันใช่ ..ก็มาเลย! เราจะได้รู้จริงๆ ว่าเราชอบหรือเปล่า


เจ๋งใช่ไหมล่ะน้องๆ กับค่าย e-Gear ของพี่วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลาดกระบัง ใครจะคิดว่าภาควิชาที่มีแห่งเดียวในประเทศไทยนี้ จะสามารถต่อยอดไปเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอุตสหกรรมต่างๆ ในอนาคตได้ ถ้าใครเป็นคนที่ชอบสร้างสรรค์และออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ แบบนี้ก็สามารถกดติดตามที่ เพจ Electronics-Gear KMITL และ CAMPHUB ไว้ได้ จะได้ไม่พลาดข่าวสารค่าย e-Gear ครั้งหน้า สำหรับวันนี้ “พี่เจมส์” ก็ขอตัวลาไปก่อน ซียูวน้าาา..!!


ติดตามแคมป์ฮับไม่พลาดทุกข่าวค่าย

อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB

Line CampHUB


เขียนโดย : พี่เจมส์ แคมป์ฮับ

ขอบคุณรูปภาพ : Electronics-Gear KMITL

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

James (พี่เจมส์)