บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิเอสซีจี
เซย์ไฮ น้องๆ เด็กล่าค่ายทุกคน วันนี้ แคมป์ฮับ มีโครงการดีๆ มาฝากน้องๆ กันอีกเช่นเคย กับ โครงการเยาวชน คนทำดี โดย มูลนิธิเอสซีจี โครงการดีๆ ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. มารวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป มาโชว์พลังทำดีในการทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำความรู้ที่น้องๆ ได้เรียนมา นำมาลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแบ่งปันรอยยิ้ม เติมความสุขให้กับชุมชนและสังคม ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการสูงสุดถึง 100,000 บาท !!
ที่มาของโครงการ
คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ผู้ใหญ่ใจดีที่ทำคลอดโครงการนี้ ได้บอกกับแคมป์ฮับว่า “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน คืออุดมการณ์ที่มูลนิธิเอสซีจียึดถือมาโดยตลอด มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากร ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน ไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิฯ ตระหนักเสมอว่าการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมความเป็นผู้มีจิตอาสาให้หยั่งรากลึกในใจคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างคนคุณภาพให้แก่สังคม เพราะสังคมต้องการ ‘คนเก่งและดี’ ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้เก่งในตำราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นคนที่มีจิตสาธารณะควบคู่ไปด้วย เราจึงชวนนิสิต นักศึกษาให้นำความรู้ที่เรียนบวกกับพลังจิตอาสาไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ความรู้ในห้องเรียนจะมีคุณค่ายิ่ง หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมได้”
คุยกับรุ่นพี่ในโครงการ “เยาวชน คนทำดี”
น้องๆ คงได้รู้จักกับโครงการนี้ไปประมาณนึงแล้ว เรามาคุยกับรุ่นพี่จากโครงการนี้ ที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์อย่าง “พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา” กันบ้าง
สวัสดีครับ แนะนำตัวให้น้องๆ ทางบ้านรู้จักกันหน่อยครับผม
สวัสดีครับ พี่ชื่อเหนือ ศตวรรษ ดอกจันทร์ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครับ
“พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา” เกิดขึ้นมาได้ยังไงเอ่ย
ไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารานั้นเกิดจากการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยเป็นผลงานวิจัยของอาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำคณะของผม ซึ่งชาวบ้านตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย โดยชาวบ้านได้ฝึกการตีฟองน้ำยางพาราเพื่อทำไส้หมอนยางพารา ซึ่งมีอายุทนทานกว่า ไม่เสื่อมสภาพง่าย และส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะไม่เก็บฝุ่นเหมือนกับไส้หมอนที่ทำจากนุ่น จนโด่งดังเป็นโอท็อปของจังหวัด และได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนยางตำบลศรีฐาน ต่อมาชุมชนได้ประสบปัญหาเรื่องอัตราการผลิตที่ล่าช้าเพราะไส้หมอนขิดยางพารานั้นแห้งช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผมและเพื่อนๆ จึงได้คิดโครงการนี้ขึ้นมาครับ
หลักการทำงานและคุณสมบัติของโปรเจกต์นี้เป็นยังไงบ้างครับ
เราได้สร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์รูปโดมขึ้นมา โดยใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตในการทำหลังคา เพราะแผ่นโพลีฯ จะมีคุณสมบัติโปร่งแสง ทำให้แสงส่องผ่านได้มาก แต่จะสะท้อนกลับได้น้อยทำให้อุณหภูมิภายในโรงอบสูงขึ้น ทำให้ไส้หมอนของชาวบ้านแห้งเร็วขึ้นทันต่อการเพิ่มผลผลิต และโรงอบยังมีพัดลมดูดอากาศ ในกรณีที่โรงอบมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้ พัดลมจะดูดอากาศออกไปภายนอกโรงอบ โดยที่ตัวพัดลมจะใช้พลังงานไฟฟ้าไปในการทำงานจากแผ่นโซลาเซลล์ที่ติตตั้งภายนอกโรงอบ ซึ่งโซลาเซลล์จะเปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายไฟใต้พัดลม ทำให้โรงอบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการตากหรืออบไส้หมอนของชาวบ้าน รวมทั้งยังใช้ตากหรืออบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ของชาวบ้านอย่างเช่น ข้าว พริก หรืออื่นๆ ได้อีกด้วย
โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไรบ้างเอ่ย
นอกจากคุณสมบัติในตัวของมันเองแล้ว โรงอบนี้ยังเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง สร้างความภาคภูมิใจให้กับเราที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ครับ
สุดท้ายนี้ อยากให้เชิญชวน เพื่อนๆ น้องๆ ที่สนใจโครงการนี้ มาสมัครกันหน่อยคร้าบผม
สุดท้ายอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่มีพลังความรู้ ความคิดดีๆ มาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กันนะครับ นอกจากจะได้นำความรู้มาตอบแทนสังคมแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองอีกด้วย
ขอขอบคุณพี่เหนือมากๆ ครับ
ขอบคุณเช่นกันครับ ?
มูลนิธิเอสซีจี ประกาศรวมพลคนร้อนวิชา พลิกตำราทำความดี ร่วม Show Pow ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 15 มิถุนายน 2560 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org หรือโทร 02 586 5218 สนใจติดตามความเคลื่อนไหวโครงการฯ หรือที่ Facebook เยาวชนคนทำดี แล้วมาสมัครกันเยอะๆ นะ โครงการแบบนี้ พลาดไม่ได้แล้ว !!