กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
ประกวดแข่งขัน

การประกวดภาพถ่าย SCIENCE IS OUT THERE “วิทย์ติดเลนส์”

ปิดรับสมัครแล้ว

ข้อมูลเบื้องต้นของการประกวดแข่งขัน

รูปแบบของการแข่งขัน

การแข่งขันที่ส่งผลงานแล้วรอการประกาศผล

วันที่จัดกิจกรรม

พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565

วันที่รับสมัครวันสุดท้าย

เสาร์ 30 กรกฎาคม 2565

การจัดทีมสมัครเข้าร่วม

บุคคลเดี่ยว

ค่าใช้จ่ายในการสมัคร

ฟรี

คุณสมบัติ (ระดับการศึกษา/ช่วงอายุ/อื่นๆ)

เยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี) ประชาชนทั่วไป

ของรางวัล

ใบประกาศนียบัตร เงินรางวัลและของที่ระลึกรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท

สถานที่จัดกิจกรรม

เป็นกิจกรรมออนไลน์

กิจกรรมนี้จัดโดย (ติดต่อผู้จัด คลิกที่ไอคอนด้านล่าง)

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)


อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB

คำอธิบายกิจกรรม

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “วิทยาศาสตร์” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องวิชาการที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น เรื่องสุขภาพร่างกาย อาหารการกิน การใช้ชีวิต การเดินทาง ติดต่อสื่อสาร สภาพอากาศ ภูมิประเทศ และสภาวะแวดล้อม ล้วนแล้วแต่มีวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น โดยภาพถ่ายนั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย การสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่ายนั้น เป็นกิจกรรมที่ต้องผสานทั้งเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และศิลปะด้านความสวยงามเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผลงานมีความน่าสนใจพร้อมกับถ่ายทอดความหมายเชิงวิทยาศาสตร์

อพวช. ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมถ่ายทอดมุมมอง เรื่องราว ประสบการณ์หรือความประทับใจ ผ่านภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายถึงความงามและความหมายของภาพ ที่สะท้อนความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์รอบตัวที่ประสบในชีวิตประจำวัน นอกห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

ผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานโปรดศึกษารายละเอียดของการประกวดอย่างครบถ้วน และเตรียมข้อมูล 4 ส่วนหลัก คือ ภาพ ชื่อภาพ คำบรรยายประกอบภาพ และข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือเทคนิคที่ใช้สร้างภาพ เพื่อส่งเข้ามาประกวดในประเภท/รุ่นที่ท่านสนใจตามลิงก์ต่าง ๆ ที่แสดงอยู่ด้านล่างนี้

ระยะเวลาส่งผลงาน วันนี้ – 31 ก.ค. 2565 (เวลา 23.59 น.)
ระยะเวลาโหวตผลงานประเภทยอดนิยม 1 – 15 ส.ค. 2565 (เวลา 23.59 น.)

ประเภทที่เปิด ผลงานยอดเยี่ยม และผลงานยอดนิยม
รุ่นที่เปิด ประชาชนทั่วไป และเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี)

การสมัครเข้าร่วมโครงการ

  • การประกวดในรอบนี้แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือรุ่นประชาชนทั่วไป และเยาวชน (อายุไม่เกิน 18 ปี ณ วันที่ประกาศผลการตัดสิน)
  • ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดที่เป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จะต้องแนบเอกสารเอกสารยินยอมให้เข้าร่วมกิจกรรม และให้เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยผลงาน จากผู้ปกครอง หรือครู/อาจารย์ที่ปรึกษา ในคราวเดียวกับการส่งภาพเข้าประกวด มิเช่นนั้น จะถือว่าภาพดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์การประกวด และถูกตัดสิทธิ์จากการพิจารณาตัดสินรางวัล
  • ผู้ส่งผลงานต้องมีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในเมืองไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อและมอบรางวัล รางวัล อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้พนักงาน ลูกจ้าง และอาสาสมัคร ของ อพวช. ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดนี้
  • ในแต่ละรอบการประกวด ผู้ส่งผลงานสามารถส่งได้ประเภทละ ไม่เกิน 5 ผลงาน (รวมสูงสุดไม่เกิน 10 ผลงาน ในกรณีที่ส่งประกวดทั้งประเภทยอดเยี่ยมและยอดนิยม) โดยแต่ละผลงานจะต้องเลือกส่งประกวดในประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น (ยอดเยี่ยม หรือยอดนิยม) ภาพและคำบรรยายของแต่ละผลงานต้องไม่ซ้ำกัน คำบรรยายต้องเป็นภาษาไทยและสอดคล้องกับหัวข้อของการประกวด
  • ผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดโปรดศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไข/ข้อกำหนดในการส่งภาพเข้าประกวด ที่แสดงอยู่ด้านล่าง ก่อนการส่งผลงานเข้าประกวดทุกครั้ง

เงื่อนไข/ข้อกำหนดในการส่งภาพเข้าประกวด

  • ประเภทยอดเยี่ยม : ผู้สนใจเข้าร่วมประกวดส่งภาพถ่ายพร้อมคำบรรยาย ตามหัวข้อที่กำหนดเท่านั้น โดยไฟล์ภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัล กล้องจากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโดรน (drone) ควรมีขนาดภาพด้านที่สั้นที่สุดของภาพไม่ต่ำกว่า 2300 pixels และต้องมีขนาดไฟล์ไม่ต่ำกว่า 2 MB โดยส่งในรูปแบบนามสกุลไฟล์ .JPEG และต้องมีคำบรรยายภาษาไทยของแต่ละภาพมีความยาวระหว่าง 250-700 ตัวอักษร (character) ในรุ่นประชาชนทั่วไป หรือระหว่าง 150-700 ตัวอักษร (character) ในรุ่นเยาวชน โดยคำบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และมีความเชื่อมโยงสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์ หรือแสดงถึงสาระความรู้ แรงบันดาลใจในด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาพ และมีความเป็นเหตุเป็นผล
  • ประเภทยอดนิยม : ผู้สนใจเข้าร่วมประกวดส่งภาพถ่ายพร้อมคำบรรยาย ตามหัวข้อที่กำหนดเท่านั้น โดยไฟล์ภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัล กล้องจากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโดรน (drone) ควรมีขนาดภาพด้านที่สั้นที่สุดของภาพไม่ต่ำกว่า 1,200 pixels โดยส่งในรูปแบบนามสกุลไฟล์ .JPEG และต้องมีคำบรรยายภาษาไทยของแต่ละภาพมีความยาวระหว่าง 250-700 ตัวอักษร (character) ในรุ่นประชาชนทั่วไป หรือระหว่าง 150-700 ตัวอักษร (character) ในรุ่นเยาวชน และคำบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และมีความเชื่อมโยงความเป็นวิทยาศาสตร์ หรือแสดงถึงสาระความรู้ แรงบันดาลใจในด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาพ และมีความเป็นเหตุเป็นผล
  • ภาพที่ส่งไม่จำกัดเทคนิคในการแต่งภาพ แต่ห้ามทำให้ภาพเสียความหมายอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ห้ามใช้การตัดต่อภาพ และเป็นภาพที่สามารถหาข้อมูลการถ่ายภาพ (exif) ได้
  • ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดเวทีสาธารณะหรือการประกวดภายในของชมรม สมาคม หรือองค์กรต่าง ๆ รวมถึงไม่มีข้อผูกมัดเรื่องลิขสิทธิ์ภาพจากหน่วยงานใด เช่น ต้องไม่เคยถูกเผยแพร่หรือตีพิมพ์ เป็นต้น
  • ภาพที่ส่งไม่จำกัดรุ่นอุปกรณ์การถ่ายภาพ หากใช้โดรน (Drone) ในการถ่ายภาพ จะถือว่าผู้ส่งผลงานได้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการใช้โดรนเพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมีส่วนรับผิดชอบต่อผลบังคับทางกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว
  • ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้ถ่ายภาพที่ส่งเข้าประกวดด้วยตนเอง และต้องเป็นภาพที่จับองค์ประกอบของภาพที่ปรากฏในขณะที่กดชัตเตอร์จริง (การทำซ้ำจากฟิล์มต้นฉบับ Film Duplication ไม่สามารถส่งประกวดได้) ไม่สามารถเพิ่มเติมหรือลบองค์ประกอบของภาพภายหลังจากการกดชัตเตอร์แล้ว แต่สามารถตัดส่วนของภาพได้ (Crop) และสามารถปรับแต่งภาพได้เฉพาะการปรับสี แสง น้ำหนักของภาพ การลบรอยฝุ่นเท่านั้น โดยการปรับแต่งดังกล่าวต้องไม่ทำให้เกิดความสูญเสียหรือทำให้ภาพเสียความหมายอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสิ่งที่จับภาพไว้ และห้ามมีการตัดต่อภาพ ห้ามนำผลงานของผู้อื่นมาส่งแทน และห้ามส่งผลงานในนามผู้อื่น หากตรวจพบจะตัดสิทธิ์รางวัลที่ได้รับและตัดสิทธิ์ในการส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งต่อ ๆ ไป หากมีปัญหาข้อสงสัย ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้ชี้ขาด
  • ผู้ส่งผลงานต้องรักษาภาพต้นฉบับไว้ ในกรณีที่ทีมงานมีข้อสงสัย สามารถร้องขอให้ผู้ส่งผลงานแสดงภาพต้นฉบับที่แท้จริงได้
  • ผู้ส่งผลงานต้องรับรองและยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าของภาพและเนื้อหาข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ร่วมกิจกรรมการประกวด โดยไม่มีการนำรูปภาพหรือเนื้อหาข้อมูลในการบรรยายของผู้อื่นมาเข้าร่วมกิจกรรมการประกวด ซึ่งถือเป็นการละเมิดทางทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้นละเมิดสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น หากมีการร้องเรียนในทางแพ่ง ซึ่งมีค่าสินไหมทดแทนในฐานละเมิด หรือการร้องเรียนใด ๆ ที่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในภาพหรือเนื้อหาข้อมูลนั้น ๆ รวมทั้งการละเมิดต่าง ๆ ผู้ส่งผลงานประกวดจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว โดยทาง อพวช. จะไม่รับผิดชอบต่อ ความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ไฟล์ภาพรวมทั้งคำบรรยายที่ส่งเข้าประกวดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ อพวช. แต่ลิขสิทธิ์ของภาพทุกภาพยังคงเป็นของผู้ถ่ายภาพอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ผู้เข้าประกวดยินยอมตกลงให้ อพวช. มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์และเผยแพร่ภาพบางส่วนหรือทั้งหมด ตลอดจนสามารถปรับปรุง และดัดแปลงเนื้อหาในคำบรรยายของทุกผลงานได้โดยชอบ เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร และประชาสัมพันธ์งานด้านการตลาด
  • ภาพที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดต้องมีความเหมาะสม ต้องไม่มีเจตนามุ่งร้าย ส่อเสียด หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม และเสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม หรือสถาบันอันเป็นที่เคารพ ไม่ขัดกับศีลธรรม จรรยาบรรณ หรือละเมิดสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น หากผลงานนั้นละเมิดสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น ผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการลบภาพถ่ายและเนื้อหาที่ ไม่เหมาะสม ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และขอสงวนสิทธิ์ในการ ตัดสิทธิ์ผลงานที่พบว่ามีการทำซ้ำ ลอกเลียนแบบ ดัดแปลง แก้ไข จากภาพหรือแหล่งภาพที่ขัดกับกติกาการประกวดนี้เพื่อใช้ร่วมกิจกรรมการประกวดครั้งนี้
  • หากภาพที่ส่งเข้าประกวดปรากฏใบหน้าบุคคล ที่สามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพได้ ผู้ส่งภาพเข้าประกวดจะต้องแนบเอกสารเอกสารยินยอมให้ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จากบุคคลในภาพ/ผู้ปกครองของบุคคลในภาพ ในคราวเดียวกับการส่งภาพเข้าประกวด ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ มิเช่นนั้น จะถือว่าภาพดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์การประกวด และถูกตัดสิทธิ์จากการพิจารณาตัดสินรางวัล
  • ภาพที่ได้รับรางวัลต้องส่งไฟล์ภาพต้นฉบับ และชื่อโปรแกรมหรือ application ที่ใช้ (หากมีการร้องขอจากคณะกรรมการ) มาทาง email: [email protected] เพื่อยืนยันการรับรางวัล และภาพต้นฉบับนั้นต้องมีข้อมูลการถ่ายภาพ (exif) หรือเป็นภาพที่สามารถหาข้อมูลการถ่ายภาพ (exif) ได้
  • อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณายกเลิกสิทธิ์ของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด หรือการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนใด ๆ หากพบว่ามีการทุจริต หรือส่อเจตนาทุจริตในการร่วมกิจกรรมการประกวด หรือการรับรางวัลใด ๆ รวมทั้งหากตรวจสอบพบการกระทำผิดกติกาการประกวดในภายหลัง อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิ์ในการรับรางวัล โดยให้มีผลย้อนหลังในการยกเลิกสิทธิ์นั้นได้เช่นกัน
  • ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิ์รับรางวัลสูงสุดได้เพียงรางวัลเดียวต่อ 1 รอบการประกวด
  • อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เงื่อนไข และรางวัลได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ผู้ส่งผลงานทุกท่านถือว่ารับทราบและยินยอมปฏิบัติตามกติกาการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดฉบับนี้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ
  • ผู้ส่งผลงานต้องกรอก ชื่อ-นามสกุลจริง ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล ที่สามารถติดต่อได้จริง
  • ผู้ส่งผลงานสามารถร้องเรียนผลการประกวดได้ 1 ครั้ง หลังจากการประกาศผลการตัดสินภายใน 3 วัน โดยร้องเรียนผ่าน Email: [email protected]
  • การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดในทุกกรณี

การพิจารณารางวัล

เกณฑ์การพิจารณารางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทภาพถ่ายยอดนิยม จำนวน 3 รางวัล คือยอดนิยมสูงสุด รองอันดับ 1 และรองอันดับ 2 ซึ่งพิจารณาจากคะแนนกดโหวตรูปภาพจาก www.nsm.or.th/contest และความสวยงามของภาพความถูกต้องของเนื้อหา รวมถึงการบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน โดยคณะกรรมการผู้พิจารณาคือผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ อพวช.

ประเภทภาพถ่ายยอดเยี่ยม จำนวน 4 รางวัล คือยอดเยี่ยมสูงสุด รองอันดับ 1 รองอันดับ 2 และชมเชย (ถ้ามี) โดยตัดสินจากความสวยงามของภาพ ความถูกต้องของเนื้อหา รวมถึงการบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการผู้พิจารณาเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ อพวช. ทั้งนี้ การตัดสินในรอบแรก กรรมการแต่ละท่านจะให้คะแนนแต่ละผลงานที่ส่งเข้าประกวด คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็นส่วนของภาพและคำบรรยาย 60 และ 40 คะแนนตามลำดับ หลังจากนั้น ภาพที่ผ่านเข้ารอบซึ่งเป็นภาพที่ได้สูงสุด 5-10 ภาพแรก และได้คะแนนในแต่ละส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (30 และ 20 คะแนนตามลำดับ) จะถูกนำมาพิจารณาในการตัดสินรางวัลในที่ประชุมของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง

ประกาศผลการตัดสิน : Science is out there “วิทย์ติดเลนส์” ภายในวันที่ 20 ส.ค 2565
ที่เว็บไซต์ www.nsm.or.th/contest ทั้งนี้ หากกำหนดการประกาศผลภาพถ่ายจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้จัดจะแจ้งให้ผู้ส่งภาพเข้าประกวดและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ต่อไป

รางวัลสำหรับการประกวด มีดังนี้

ประเภทผลงานยอดเยี่ยม
รุ่นประชาชน
ชนะเลิศ 10,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 1 8,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 2 6,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
ชมเชย (ถ้ามี) 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

รุ่นเยาวชน
ชนะเลิศ 6,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 1 4,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 2 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
ชมเชย (ถ้ามี) 1,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

เยาวชนที่มีผลงานประเภทยอดเยี่ยมผ่านเข้ารอบสุดท้าย จะได้รับใบประกาศนียบัตร

ประเภทผลงานยอดนิยม
รุ่นประชาชน
ชนะเลิศ 3,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 1 2,500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 2 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

รุ่นเยาวชน
ชนะเลิศ 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 1 1,500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รองชนะเลิศอันดับ 2 1,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร

รางวัลพิเศษ (Special Award)
คัดเลือกจากผลงานทั้งหมด ทั้งประเภทยอดเยี่ยมและยอดนิยม ทั้งรุ่นประชาชนทั่วไปและเยาวชน
โดรน (Drone) DJT Tello EDU (89DJI001) 1 ตัว

หมายเหตุ :

  • ผู้รับรางวัลที่เป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จะต้องแนบเอกสารยินยอมให้โอนเงินรางวัลจากผู้ปกครอง ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ร่วมกับเอกสารสำคัญอื่น ๆ เพื่อยืนยันการรับรางวัล
  • ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลทั้งสองประเภทจะได้ร่วมแสดงในคลังภาพถ่ายและแบนเนอร์บนเว็บไซต์ของ อพวช. รวมทั้งจะได้รับการเผยแพร่ในบทความบนเว็บไซต์ หนังสือภาพ นิทรรศการภาพถ่าย หรือสื่อการเรียนรู้หรือประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ อพวช. จัดทำด้วย

เงื่อนไขการรับรางวัล

หลังจากการประกาศผลรางวัลบนเว็บไซต์ www.nsm.or.th/contest ให้ผู้ที่ได้รับรางวัลรอรับรายละเอียดการรับรางวัลทางอีเมลที่กรอกไว้ตอนส่งรูปภาพประกวด โดยเจ้าหน้าที่จะส่งรายละเอียดไปให้ทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ* และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ส่งอีเมลแล้ว ให้ท่านส่งรายละเอียดกลับมาตามข้อมูลที่แจ้งในอีเมลภายใน 10 วันทำการ (ถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ) หากพ้นกำหนดนี้จะถือว่าท่านสละสิทธิ์ในการรับรางวัล
*หมายเหตุ หากไม่ได้รับอีเมลภายใน 3 วันทำการ ให้โทรแจ้งที่ 02-577-9999 ต่อ 1472 หรือ Facebook : NSMthailand

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี
โทร. 02-577-9999 ต่อ 1472 หรือ www.nsm.or.th หรือ Facebook: NSMthailand หรือ Email: [email protected]


CAMPHUB ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ หากมีข้อสงสัยน้องๆ สามารถสอบถามจากผู้จัดได้โดยตรงนะครับ

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

ทีมข่าวค่าย/กิจกรรม CAMPHUB

ส่งข้อมูลค่ายและกิจกรรมการศึกษามาประชาสัมพันธ์ที่เว็บแคมป์ฮับ ฟรี! คลิกเลยที่ www.camphub.in.th/sendcamp