บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก เนสท์เล่ไอศกรีม
สวัสดีฮะชาวค่าย พบกับบทความพิเศษจาก พี่ช้าง ที่จะมาแนะนำ “5 ทริคเรียนเร็ว พร้อมสอบในเวลาที่จำกัด” เคล็ดลับการสรุปใจความเวลาเรียนให้เข้าใจง่ายจากประสบการณ์จริงของพี่ช้าง พร้อมแนะนำ App ใหม่ Nestle School ติวฟรีกับรุ่นพี่ท็อปประเทศ ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ บนมือถือของน้องเอง!
ซึ่งต้องบอกก่อนว่าบทความนี้ยาวมากกกกก และเคล็ดลับที่น้อง ๆ จะได้อ่านเป็นทริคง่าย ๆ ที่หลายคนรู้กันอยู่แล้ว (ยกเว้นข้อสุดท้าย) แต่ขาดการลงมือทำจริงอย่างสม่ำเสมอ เพราะความขี้เกียจและข้ออ้างที่ว่าไม่มีเวลา
พี่ช้างเลยอยากแชร์วิธีการปูรากฐานของตัวเองที่เอาไปใช้ได้จริง เพื่อไปให้ถึง “แก่นที่สำคัญที่สุดของการเรียน” ที่น้องจะมีความสุขในการเรียนรู้ และสามารถเตรียมตัวสอบด้วยเวลาที่จำกัดด้วยตัวเองฮับ
ว่าแต่จะมีเคล็ดลับอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
สารบัญบทความ
เนื่องจากบทความนี้ค่อนข้างยาว โดยพี่จะเขียนอธิบายทริคทั้ง 5 ข้ออย่างละเอียด ถ้าน้อง ๆ คนไหนใจร้อนก็สามารถคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้เพื่อวาร์ปไปอ่านทีละข้อได้เลยครับ :D
- ค้นหาแรงบันดาลใจ + ตั้งเป้าหมาย
- ลงมือทำ (เริ่มตั้งใจเรียนตั้งแต่วันนี้)
- สร้างเทคนิคจดเลคเชอร์ของตัวเอง
- คบเพื่อนดี ตามข่าวสาร แบ่งปันต่อ
- รู้จักใช้ตัวช่วย!
1. ค้นหาแรงบันดาลใจ + ตั้งเป้าหมาย
เกรดดีก็อยากได้ ค่ายฉันก็อยากไป ~
ทุกคนอยากทำอยากได้อะไรเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด แต่ด้วยเวลาที่จำกัด เราไม่สามารถทำ “สิ่งที่อยากทำ” และ “สิ่งที่ต้องทำ” ได้ทั้งหมด บางคนเลยเลือกทำทุกอย่างโดยไม่ตั้งเป้าหมายและวางแผน ทำโน่นนี่สลับกันตลอดเวลา สุดท้ายก็ไม่สำเร็จอย่างที่ตัวเองคาดหวังไว้สักอย่าง
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักตัวเอง ตื่นมางง ๆ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ก็ขอให้มาอ่านแคมป์ทริคของพี่ออฟก่อน (กดที่รูปด้านล่าง)
ในวัยเรียน การรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบทำอะไรนั้นเป็นสิ่งจำเป็น
ลองคุยกับตัวเอง คุยกับคนรู้จัก หาความถนัดของเรา แล้วลองลงมือทำอะไรเยอะ ๆ อย่างเต็มที่ เช่น เข้าค่าย / หาข้อมูลมหา’ลัยจากงาน Open House / คุยกับรุ่นพี่
จงให้ความสำคัญกับ “การตั้งเป้าหมาย” และให้เวลากับมัน
รู้จักตัวเองแล้ว ต่อไปก็ต้องตั้งเป้าหมาย
1. วางเป้าหมายใหญ่
การเรียนก็เหมือนการวิ่งมาราธอนครับ น้องต้องรู้ว่าเส้นชัยอยู่ไหน เส้นทางการวิ่งเป็นยังไง จะเตรียมตัวและวิ่งยังไงบ้างให้ไปถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่หกล้มบาดเจ็บไปซะก่อน
ถามตัวเองว่าอยากจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง เราต้องการอะไร เช่น พี่ชอบคอม อยากเรียนมหิดล / มจธ.บางมด อนาคตสนใจทำงานสาย IT
2. ดูจุดยืนปัจจุบัน โยงเส้นเข้าหาเป้าหมายใหญ่
ตอนนี้เรายืนอยู่ตรงไหน ยังห่างจากเส้นชัยแค่ไหน เช่น อยู่ม.3 ต้องเรียนสายวิทย์ – คณิตเพื่อเข้าคณะสาย IT แต่วิชาสายวิทย์ยังห่วยอยู่เลย ต้องได้เกรดเท่าไหร่ถึงจะเรียนสายวิทย์ – คณิตได้?
3. จิ้มจุดระหว่างเส้นเป็นเป้าหมายย่อย
คำถามต่อมาก็คือ “จะทำยังไงให้ไปถึงเส้นชัย”
พี่แนะนำให้น้องย่อยเป้าหมายใหญ่ลงมาเป็นเป้าหมายย่อย แต่ละเทอม แต่ละเดือน แต่ละสัปดาห์ ว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยเรียงตามความสำคัญและเร่งด่วน เป็นจุดต่อจุด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายใหญ่ เช่น
- เทอมนี้ต้องได้เกรด 3.xx เพื่อเรียนสายวิทย์ – คณิต
- อยากพูดนำเสนอหน้าชั้นเก่งขึ้น ต้องฟังเยอะ ๆ และฝึกพูด
- อยากรู้จักคณะสาย IT อยากเจอเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ต้องเข้าค่าย JWC / JPC / WIP Camp / IT Camp ในปีนั้น ๆ
สุดท้ายน้องจะมองภาพใหญ่ออก รู้จักตัวเอง มีเป้าหมายใหญ่ และรู้ว่าต้องทำอะไร
ก้าวแรกนี้สำคัญมาก หลายคนเอาแต่เรียนไปเรื่อย ๆ จนจบม. 6 แล้วก็ยังไม่รู้จักตัวเอง ไปเข้าคณะผิด ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีแรงเรียน ถึงจะสอบได้คะแนนดีเพราะจำเก่งและอ่านหนังสือเร็ว ก็จะไม่มีความสุขในการเรียนอยู่ดี ชีวิตเปลี่ยนเลยนะ
สำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ พี่ขอชื่นชมครับ ตอนนี้ก็ลองพักถามตัวเองดู น้องคิดว่าน้องพร้อมสอบ พร้อมเข้าเรียนมหา’ลัยรึยังครับ?
2. ลงมือทำ (เริ่มตั้งใจเรียนตั้งแต่วันนี้)
หยุดพูด หยุดบ่น ตั้งเป้าหมายได้แล้วก็ลงมือทำซะ
ช่วงแรกอาจเริ่มง่าย ๆ จากการเตรียมตัวและอุปกรณ์ไปเรียนให้ทันเวลา ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังที่อาจารย์สอน พยายามจับประเด็นของเนื้อหาในวันนั้น ๆ ให้ได้ โดยคีย์สำคัญคือความสม่ำเสมอ ถ้าน้องตั้งใจเรียนทุกวันครบ 1 เดือน น้องก็จะชินและมีตั้งใจเรียนเป็นนิสัย
เพราะ “วันนี้” มีวันเดียว ใช้เวลาชีวิตทุกนาทีอย่างมีความหมาย
จำไว้ว่าเป้าหมายที่สำคัญในตอนนี้คือการเรียน น้องอยากเป็นดารา น้องอยากวาดการ์ตูน น้องอยากเล่นดนตรี แต่ถ้าน้องเรียนไม่จบน้องก็เป็นไม่ด๊ายยย
สำหรับน้องที่ยืนอยู่ไกลจากเป้าหมาย เพราะเริ่มช้ากว่า ไม่ตั้งใจเรียนตั้งแต่แรก พี่แนะนำว่าให้ปูพื้นฐานให้แกร่ง ใช้เวลารื้อฟื้นเนื้อหาให้ไม่กลวงสัก 1 เดือนตามวิชาที่เราไม่ถนัดก่อน ให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาจนเราเชื่อมโยงได้ ทำโจทย์เป็น และห้ามเร่งเด็ดขาด
เพราะถ้าน้องรีบเร่ง แต่ยังกลวง ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนแบบไม่ผูกเชือกรองเท้า ไม่มีการเตรียมตัววอร์มอัปร่างกาย ซึ่งอันตรายมาก
ส่วนตัวพี่ช้างใช้วิธีเขียนเป้าหมายใหญ่แปะบนกำแพง + จดกำหนดการลง Outlook Calendar ไปพร้อมกับตารางเรียนเพื่อบริหารภาพรวมว่าต้องทำอะไรบ้าง หรือบางคนอาจจดในสมุดก็แล้วแต่ความถนัด (เขียนเป็น Checkbox แล้วขีดฆ่าสิ่งที่ทำเสร็จทีละอย่างก็ฟินเหมือนกันนะ)
เมื่อมี To-do List + เป้าหมายที่ชัดเจนก็สบายละ น้องจะรู้ว่าเรียนไปทำไม สิ่งที่ทำอยู่คืออะไร โฟกัสกับการเรียนในห้องได้มากขึ้น เข้าใจ มีความสุข และอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น ไม่ลนช่วงสอบ เชื่อพี่
อย่าเลือกวิธีที่ง่ายแต่ฉาบฉวย สิ่งที่สำคัญคือการลงมือทำ จงตั้งใจเรียนซะ อย่าคิดอย่างเดียว ทำด้วย!
3. สร้างเทคนิคจดเลคเชอร์ของตัวเอง
การจดเลคเชอร์ที่ดีจะช่วยลดเวลาการอ่านหนังสือเตรียมสอบได้อย่างไม่น่าเชื่อ
น้อง ๆ หลายคนอาจเคยเห็นบทความเทคนิคการจดเลคเชอร์มากมาย ทั้งเทคนิคของนักศึกษาโทไดจากญี่ปุ่น ของเด็กไทยตามทวิตเตอร์ หรือของคุณเพื่อนโต๊ะข้าง ๆ ที่จัดเต็มทั้งสีสันอลังการ
แต่พอเหลือบมองเลคเชอร์ของตัวเองก็พบว่า.. ไม่น่าอ่านเหมือนของคนอื่น จดไม่ทัน หรือหนักสุดคืออ่านลายมือตัวเองไม่ออก!
ก็ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า จุดประสงค์ของการจดเลคเชอร์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องสวย บางคนอยากจดทุกอย่าง บางคนจดเพื่อจำ บางคนจดเพราะอาจารย์มอง เพราะงั้นเราต้องเข้าใจจุดประสงค์และสร้างเทคนิคการจดเลคเชอร์ให้เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช่จดตามเพื่อน โดยยึดคีย์หลักคือต้องอ่านออก และเข้าใจในสิ่งที่เขียนก็พอ
ยกตัวอย่างของจริงเลยละกัน ส่วนตัวพี่ช้างเป็นคนขี้เกียจ ต้องการจดให้สั้นที่สุด และเก็บข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อลดเวลาการอ่านหนังสือช่วงสอบ
พอเข้าใจตัวเองแล้วก็จะได้เทคนิคการจดที่เฉพาะตัวขึ้นมา
- เลือกสมุดแบบมีเส้น + ปากกาหัวเล็ก เพราะแบ่งพื้นที่การเขียนง่ายและเป็นระเบียบ
- ปรับการจดให้เข้ากับอาจารย์ บางคนพูดเร็วก็ไม่ต้องจดสวย บางคนสอนตามชีทก็ไฮท์ไลท์เฉพาะส่วนสำคัญและจดเพิ่ม บางคนสอนไม่รู้เรื่องก็ไม่จด (อย่าทำตาม ไม่ดี 55)
- แบ่งหัวข้อเป็นลำดับ ขีดเส้นใต้หัวข้อใหญ่ จัดเนื้อหาและรายละเอียดให้เป็นหัวข้อย่อยตามลำดับ เว้นที่ว่างก่อนขึ้นหัวข้อใหม่
- เลือกใช้ตัวย่อเป็นของตัวเอง โดยเลือกใช้ตามความคุ้นเคย เน้น Keyword ที่สำคัญ และใช้เครื่องหมายเท่ากับ (=) เพื่ออธิบาย เช่น
- การ = ก.
- ความ = ค.
- และ = +
- ตัวอย่าง = e.g. (ใช้เวลาเขียนเร็วกว่า “ตย.”)
- ประโยชน์ = ปย.
- ผู้ชาย = ผช.
- จดเลขหน้าของหนังสือที่เกี่ยวข้อง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อนั้น ๆ
- จดไม่พอ? เอาโพสต์อิทมาแปะ หรือตีกรอบแยกไว้ข้าง ๆ เนื้อหาหลัก
- ถ้าถ่ายรูปกระดาน / สไลด์แล้ว ก็รีบกลับมาจด กรณีที่อาจารย์แสดงวิธีทำบนกระดาน หรือไม่แจกสไลด์ แนะนำว่าให้ใช้แอป Office Lens ถ่ายรูปเก็บไว้ก่อน แต่อย่าเก็บไว้นาน เว้นพื้นที่ไว้แล้วรีบกลับมาจดสรุป ไม่งั้นจะหารูปไม่เจอ
- สรุปในสรุป ส่วนตัวชอบพิมพ์สรุปในคอมจากเลคเชอร์ที่จดในห้องเรียนอีกครั้ง เพื่อเรียบเรียงลำดับเนื้อหา ทบทวนความเข้าใจ และทำเป็นไฟล์ออนไลน์ให้อ่านบนมือถือหรือที่ไหนก็ได้ แถมเก็บได้นาน ไม่ต้องกลัวหาย
- เอาไปแจกเพื่อน ถ้าเพื่อนเจอจุดผิดก็จะได้แก้ไข ถ้าผิดก็ผิดด้วยกัน ฮ่า
ย้ำอีกรอบว่า “เราจดเพื่ออ่านเองเป็นหลัก”
เพราะงั้นไม่ต้องไปแคร์ว่าจดแล้วมันจะเป็นยังไง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือเราต้องอ่านเข้าใจ มีเทคนิคเฉพาะตัว เอาไปใช้กับการจดโน้ตในห้องเรียนหรือตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในอนาคต
4. คบเพื่อนดี ตามข่าวสาร แบ่งปันต่อ
การคบเพื่อนดีและติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้น้องเป็นคนที่ก้าวทันโลก
ยุคนี้ข้อมูลความรู้มีอยู่ตามอินเทอร์เน็ต ถ้าอยากเรียนดี อยากพร้อมสอบ อยากอ่านหนังสือเร็ว น้องคิดว่าแค่เรียนในห้องจะพอเหรอ?
พี่ช้างรู้สึกว่าเป็นคนโชคดีที่มีเพื่อนดี รุ่นพี่ดี ครอบครัวดี อาจารย์ดี ที่คอยให้คำแนะนำ บอกข่าวสาร และสนับสนุนให้พี่ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ (รวมถึงการมาร่วมทีมกับ CampHUB) ตามความฝันของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการไปเข้าค่าย ทำกิจกรรม ค้นคว้าเรียนรู้ และพบปะผู้คนในที่ต่าง ๆ ของพี่เอง
ดังนั้น ถ้าน้องมีเป้าหมายและเชื่อว่าการเรียนรู้สามารถทำให้ชีวิตน้องดีขึ้นได้
จงหาเพื่อนที่ดี ตามข่าวสารให้ทันโลก และอย่าลืม “แบ่งปัน” ส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่น้องได้รับมาให้คนอื่น
ซึ่งทำได้หลายวิธีมาก ตั้งแต่การแชร์บทความดี ๆ ในเฟซบุ๊กตัวเอง (ถ้าเรื่องเรียนก็มีเว็บด้านการศึกษาเพียบ ทั้งไทยและต่างประเทศ) ไปจนถึงจัดติวสอนเพื่อนก่อนสอบ ทำให้ความรู้ฝังลึกไปในสมองจนน้องไม่ต้องพยายามจำ แต่เข้าใจ และสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในห้องสอบและชีวิตจริงได้อย่างรวดเร็ว
5. รู้จักใช้ตัวช่วย!
และแน่นอน เพื่อการเรียนรู้และเตรียมสอบในเวลาที่จำกัดแบบนี้ จะต้องมีตัวช่วยที่ดีและสะดวกในการใช้งาน ซึ่งในยุคนี้ตัวช่วยที่สะดวกที่สุดก็คือ App มือถือนั่นเอง
วันนี้พี่ช้างขอแนะนำ “App Nestle School” แอปใหม่จากเนสท์เล่ไอศกรีมที่จะช่วยให้น้อง ๆ ติวฟรีกับรุ่นพี่ท็อปประเทศ ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เอาที่สบายใจ
โดยในแอปนี้จะมีบทเรียน + แบบฝึกหัดแยกเป็นหมวดหมู่ และฟีเจอร์ต่าง ๆ ดังนี้
- ติวฟรีกับรุ่นพี่ท็อปประเทศ ผ่านคลิปช่วยติวที่สนุก เก็ตง่าย หลายวิชา (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โลกดาราศาสตร์)
- ฝึกทำข้อสอบระดับชาติ เพิ่มความพร้อม (GAT / PAT / O-NET) โดยแอปจะมีนาฬิกาจับเวลาให้ เหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง พร้อมเก็บสถิติคะแนน เพื่อให้วิเคราะห์พัฒนาการได้ชัดเจนขึ้น
- ดูสูตรคณิตศาสตร์ใน 1 คลิก รวมสูตรม.ต้น – ม.ปลาย ไม่ต้องเปิดหาในเน็ตให้วุ่นวาย
- คำนวณการแปลงค่า เปลี่ยนหน่วยได้ง่าย ๆ ทั้งความยาว พื้นที่ ปริมาตร น้ำหนัก และเวลา
ทั้งหมดนี้โหลดฟรี! ค้นหา “Nestle School” บน / หรือจิ้มปุ่มข้างล่างเพื่อโหลดได้เลย
ผู้ใช้ iOS โหลดเลย! ผู้ใช้ Android โหลดเลย!
ใครกำลังหาตัวช่วยในการเตรียมสอบที่โรงเรียน / ONET / วิชาสามัญ / สอบเข้ามหาวิทยาลัย / หรือ T-CAS ก็ลองโหลดมาใช้กันได้เลย
เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังทำตามความฝันทุกคน
เป็นยังไงกันบ้างฮะ กับ “5 ทริคเรียนเร็ว พร้อมสอบในเวลาที่จำกัด” ถ้าหากน้อง ๆ คนไหนมีเคล็ดลับวิธีการแบบอื่น ๆ ก็สามารถแชร์ให้เพื่อนและพี่ช้างฟังได้น้า พี่เชื่อว่าความพยายามที่น้อง ๆ ได้ลงมือทำมาทั้งหมดมีความหมายและจะไม่สูญเปล่าแน่นอน
สำหรับวันนี้ก็ขอตัวลาไปก่อน แล้วเจอกันบทความหน้า สวัสดีครับ :)
บทความนี้สนับสนุนโดยเนสท์เล่ไอศกรีม
เขียนโดย : พี่ช้าง แคมป์ฮับ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : Nestle Ice Cream TH