กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB up skill with BASE Playhouse

ทำอย่างไรให้กลายเป็นคนน่าเชื่อถือ ด้วย ‘Checklist คิดวิเคราะห์’

สวัสดีค่าน้องๆ ชาว CAMPHUB ทุกคน วันนี้ก็มาพบกับ พี่มะแม้ว ในคอลัมน์ CAMPHUB up skill by BASE Playhouse กันอีกแล้ว กับเคล็ดลับการเพิ่มทักษะเพื่อการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น และเพื่อพิชิตคณะในฝันสำหรับน้องๆ มัธยม โดยเฉพาะในช่วงใกล้สอบนี้ค่า (เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนนะค้า)

ช่วงนี้ยังเป็นช่วงต้นปี น้องๆ หลายคนน่าจะกำลังเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงตัวเองกันอยู่บ้าง สิ่งนึงที่น้องๆ อยากเปลี่ยนน่าจะเป็นเรื่องของ ‘มุมมอง’ ที่อยากให้โตขึ้น หรือเรื่องของ ‘การคิด’ ให้มีหลักการมากขึ้น ซึ่งเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผลก็ถือเป็นทักษะสำคัญมากในปัจจุบัน

ดังนั้น เคล็ดลับที่พี่นำมาฝากในเดือนนี้จึงเป็นเรื่องของการฝึก ‘ทักษะการคิดวิเคราะห์’ ซึ่งพี่เคยเกริ่นไปแล้วในบทความ ‘ทักษะ’ ที่จำเป็นสำหรับ ‘ธุรกิจ’ และ ‘ชีวิต’ วัยมัธยม มีน้องๆ หลังไมค์มาขอวิธีการฝึกทักษะเพิ่มเติมกันพอสมควร วันนี้พี่เลยนำวิธีเปลี่ยนการคิดให้มีหลักการมากขึ้น หรือ ‘Checklist’ การคิดวิเคราะห์ มาให้น้องๆ สำรวจตัวเองว่าเรามีนิสัยเหล่านี้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีเราจะฝึกได้ยังไง และถ้าน้องๆ ทำได้ทั้ง 6 ข้อ ทักษะการคิดวิเคราะห์ของน้องๆ จะเพิ่มขึ้นเยอะเลยล่ะ!

Chechlist คิดวิเคราะห์

 

1. ตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ

การตั้งคำถาม ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาที่เราเล่น Facebook Twitter หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วเห็นข่าวมากมาย ได้อ่านความคิดเห็นของเพื่อน หรือของคนที่ไม่รู้จักกันเลย เราไม่ควรปักใจเชื่อ แต่ควรตั้งคำถาม เพื่อสร้างความเข้าใจจากข้อมูลทุกด้านก่อน เช่น ตอนเด็กๆ เราคงเคยถามพ่อแม่ว่า “ทำไมถึงมีรุ้งกินน้ำเกิดขึ้นหลังฝนตก?” ยิ่งเราสงสัยและตั้งคำถามมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้ความรู้เยอะขึ้นเท่านั้น

หลังจากตั้งคำถามแล้ว น้องๆ ก็ควรนำคำถามนั้นไปถามผู้เชี่ยวชาญ ถามคนทั่วไปที่สนใจเรื่องราวเดียวกันนี้ หรือค้นหาทาง internet จากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ จนได้คำตอบที่ถูกต้อง การทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ผ่านกระบวนการตั้งคำถาม จะทำให้การคิดของเราเป็นกลางและน่าเชื่อถือ

สิ่งที่น่าสนใจและต้องระวังในการตั้งคำถามคือ ลักษณะของคำถามที่ใช้ คำถามที่เราตั้งจะต้องตรงประเด็น และมีรูปแบบที่เหมาะสมกับคำตอบที่เราต้องการด้วยนะคะ  

 

2. ให้เหตุผลกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

การให้เหตุผล เป็นขั้นตอนต่อจากการตั้งคำถาม ถ้าเราได้คำตอบที่ต้องการครบถ้วน จนเข้าใจเรื่องราวดีแล้ว เช่น รุ้งกินน้ำเกิดจากการหักเหของแสง หลังจากนั้นเราจะให้เหตุผลกับเรื่องของแสงได้ดีขึ้น และสามารถคิดเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันได้ เชื่อมโยงเรื่องของแสงและน้ำในปรากฎการณ์อื่นๆ บนโลกนี้ได้อีกเยอะแยะมากมาย และเมื่อเรามีความรู้และเหตุผลรองรับเพียงพอ เราจะคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ได้อย่างแม่นยำเลยล่ะ

มีอีกวิธีนึงที่สามารถฝึกการให้เหตุผลของน้องๆ ได้คือ การเล่นเกมลับสมอง เช่น Sudoku หรือ Crossword การสังเกตสิ่งที่มีอยู่แล้ว และหาเหตุผลในการเติมตัวเลข หรือตัวอักษรลงไป (เพื่อชนะ หรือเพื่อให้ได้คะแนนเยอะที่สุด) ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการมี critical thinking ที่ดีได้

 

3. คิดอย่างเป็นระบบ วางแผน จัดระเบียบสิ่งต่างๆ รอบตัว

สิ่งสำคัญของการคิดวิเคราะห์คือการจัดระเบียบสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นลำดับ จะได้ไม่สับสน ขั้นตอนนี้สำหรับมือใหม่พี่แนะนำให้ใช้เครื่องมือช่วย เครื่องมือง่าย ๆ คือปากกาและกระดาษ วาดแผนภูมิมโนทัศน์ (mind mapping) ไปเลย เช่น การวิเคราะห์ว่าส่วนประกอบของพืชมีอะไรบ้าง ถ้าเราคิดอยู่ในหัวเฉยๆ ไม่ได้จดอะไรเราต้องลืมและสับสนแน่ๆ เราลองวาดแผนภาพแล้วไล่ส่วนประกอบ แยกเป็นประเภทต่างๆ ก็จะช่วยได้ หรือจะใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ หรือ tablet เพื่อช่วยในการวางแผน วาดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นกราฟฟิค ก็ดูดีไม่เบาเลย วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้เราอ่านหนังสือแล้วจำได้ง่ายและนานขึ้นด้วยนะ

 

4. ไม่ใช้อารมณ์ในการคิดและตัดสินใจ

อารมณ์จะทำให้เราลัดขั้นตอนของการตัดสินใจ เพราะเราจะต้องการคำตอบที่รวดเร็ว จนลัดขั้นตอนของการใช้เหตุผลไป เช่น ตอนที่เราทะเลาะกับเพื่อน หรือเข้าใจผิดกันกับเพื่อน การใช้อารมณ์นำเหตุผลจะทำให้เราคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก 100% ไม่ได้สนใจความคิดของเพื่อน และคิดในแง่ลบว่าเพื่อนไม่ยอมฟังเหตุผลของเรา ทำไมเพื่อนเราเปลี่ยนไป? ทั้งที่จริงๆ แล้วเพื่อนก็ยังเป็นคนเดิม เพราะฉะนั้น เราต้องควบคุมสติ และเปิดใจรับฟังเหตุผลของคนอื่นด้วยน้า 

 

5. ไม่ใช้อคติ (bias) และประสบการณ์ส่วนตัวในการคิด

ทุกการคิดต้องหาหลักฐานมาสนับสนุน หรือพยายามหาข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้มาใช้ และคิดไว้เสมอว่า ต้องแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นออกจากกัน บางอย่างอาจเป็นแค่ข้อคิดเห็นที่ไม่มีหลักฐานรองรับ เราจะใช้มาเป็นเหตุผลเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้น้า พี่แนะนำให้ลองฝึกอ่านข้อความต่าง ๆ ในหนังสือ หรือใน social media แล้วคิดดูว่า อันนี้คือข้อเท็จจริง มีหลักฐานรองรับ หรือเป็นแค่ข้อคิดเห็นของคนอื่นเท่านั้น

 

6. ใช้ข้อเท็จจริงประกอบการคิดอยู่เสมอ

ข้อนี้ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วเลย ถ้าเราตัดอคติออกจากการคิดได้ แสดงว่าเราคิดบนพื้นฐานความเป็นจริงแล้ว พยายามหาข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้มาประกอบการคิดของเราอยู่เสมอ เพื่อความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องนั่นเอง

Checklist เทคนิคทั้ง 6 อย่างที่พี่นำมาฝากในวันนี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงตัวเองในปีหน้า เพื่อให้น้องๆ เป็นคนใหม่รับปีใหม่อย่างมั่นใจ ขอแค่น้องๆ อย่าลืมฝึกทำบ่อยๆ จะได้เป็นคนที่คิดวิเคราะห์เก่งขั้นสุดไปเลย 

สำหรับการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ในปีนี้ นอกจากจะต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นพื้นฐานแล้ว BASE Playhouse ยังมีเทคนิคการฝึกทักษะดีๆ มาให้น้องๆ ได้อ่านกันเรื่อยๆ ทั้งในเว็บ CAMPHUB อย่างที่น้องๆ กำลังอ่านกันอยู่ ใน Facebook Page และใน Medium ของ BASE Playhouse ด้วย ส่วนน้องๆ ที่อยากจะมาฝึกทักษะกับพี่ๆ แบบเจอกันตัวเป็นๆ เรียนรู้และฝึกฝนผ่านวิธีการสุดเข้มข้นแบบเต็มวัน BASE Playhouse ก็มีคอร์สมากมายตามทักษะที่น้องๆ สนใจ อยากฝึกทักษะไหนรีบบอกพี่ๆ ได้เลยทาง Line: หรือทาง Facebook page: BASE Playhouse ก่อนแต่ละคอร์สจะเต็มน้า

อย่าลืมติดตามเทคนิคดีๆ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในบทความต่อไปน้า กระซิบว่าพี่มะแม้วไม่ได้มาคนเดียว แต่จะพาผู้เชี่ยวชาญในทักษะนั้นมาอธิบายน้องๆ ด้วย รับรองว่าสนุก สาระแน่นคูณสอง และนำไปใช้ได้จริงเหมือนเดิม แล้วเจอกันในบทความถัดไปค่า  

เขียนโดย พี่มะแม้ว BASE Playhouse
ตรวจทาน พี่ออฟ CAMPHUB
กราฟิก พี่เต้ย CAMPHUB

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

BASE Playhouse

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ออฟ

เราพี่ออฟ สาระไม่ค่อยมีหรอก หน้าตาดีไปวันๆ :p
หากน้องๆ มีปัญหาอะไร เข้ามาสอบถามได้น้า เดะตอบได้จะตอบให้

ข้อมูลผู้เขียน

พี่เต้ย

‘ค่าย’ ไม่ได้เป็นเพียงคำในภาษาไทยเท่านั้น แต่คำว่า ‘ค่าย’ เป็นทั้งจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ใหม่ๆ และมิตรภาพอันอบอุ่น มาเข้าค่ายกันเถอะ