สวัสดีค่า มาพบกับ “พี่มะแม้ว” และวิธีฝึกทักษะดี ๆ ใน CAMPHUB up skill by BASE Playhouse กันอีกแล้วววว จากตอนที่ผ่าน ๆ มา น้อง ๆ ก็ได้รู้จักทักษะที่จำเป็นกันไปพอสมควรแล้ว ทีนี้มีน้อง ๆ หลังไมค์มาถามเรื่อง “ทักษะการสื่อสาร” อยากให้พี่ ๆ BASE Playhouse มาแชร์ว่า ทำยังไงถึงจะพูดเก่ง พูดดี โดยเฉพาะตอนพรีเซนต์หน้าห้องเนี่ย ทำยังไงให้ไม่ใจเต้นรัวๆ ?
วันนี้พี่มะแม้วนำเทคนิคดีๆ จาก “พี่ชมพู่ – นภัสรสธร ธนาธัญธรนันท์“ speaker ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจาก BASE Playhouse ที่มีประสบการณ์การสอนหลากหลายคอร์ส โดยเฉพาะคอร์ส Public Speaking ที่เปิดมาแล้วกว่า 10 รุ่น! มาให้น้อง ๆ ได้เตรียมเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ รับรองว่าใคร ๆ ก็อยากฟังเรา!
ก่อนอื่น อยากให้น้อง ๆ รู้ว่า ทักษะการสื่อสาร คืออะไร?
พี่ชมพู่ : ทักษะการสื่อสาร คือ ความสามารถในการสื่อสารและการรับสาร ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ส่งสาร ที่สามารถส่งตัวสาร ไปยังผู้รับสาร ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วผู้รับสารเข้าใจตัวสารได้ชัดเจน หรือการที่ผู้รับสาร เทิร์นกลับไปเป็นผู้ส่งสารออกไปอีกที คือเป็นทั้งผู้พูด และ ผู้ฟัง ซึ่งตัวสารอาจจะเป็นอะไรก็ได้ น้ำเสียง ข้อความ รูปภาพ แต่สำคัญคือ ผู้รับสารต้องเข้าใจ
แล้ว Public Speaking หรือการสื่อสารในที่สาธารณะ สำคัญอย่างไรในวัยมัธยม?
พี่ชมพู่ : วัยมัธยม หรือ ช่วงวัยรุ่น เป็นช่วงที่เด็กๆ ได้ลองค้นหาตัวตนของตัวเอง ได้เจอโอกาสที่ใหญ่ขึ้น มีโอกาสที่เราต้องแสดงตัวตนของเราออกมาในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อ พูดหน้าห้อง พูดโน้มน้าวใจเพื่อน พูดพรีเซนต์โปรเจกต์ หรือต้องขึ้นเวทีเพอร์ฟอร์มอะไรบางอย่าง ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ หากเรามีทักษะการพูดในที่สาธารณะ หรือ Public Speaking นอกจากทำให้เราสื่อสารได้รู้เรื่อง ยังทำให้เรามั่นใจมากขึ้น รู้ว่าต้องพูดอะไร เพื่ออะไร พูดยังไง และผลลัพธ์ทางอ้อมของมันอีกอย่างคือทำให้เราเป็นคนมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย
วิธีเรียกความมั่นใจให้คนที่พูดไม่เก่ง หรือไม่มีความมั่นใจเวลาพูดหน้าห้อง
พี่ชมพู่ : อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนกังวล เอาจริงๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากความกลัว กลัวจะเป็นลม กลัวพูดได้ไม่ดี กลัวเค้าไม่ชอบสิ่งที่เราพูด กลัวตัวเองดูเด๋อด๋า ซึ่ง ความจริงแล้ว คนที่เป็นนักพูดเก่งๆ หรือ ดูแล้วมั่นใจมากๆ ตอนอยู่บนเวที จริงๆ เค้าก็มีความกังวล มีความกลัวเหมือนพวกเราเหมือนกัน แต่จากประสบการณ์และองค์ความรู้ในทักษะการพูด ทำให้เค้าสามารถจัดการกับตัวเองได้ดีกว่า คือ กลัวอยู่แหละ ก็ไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น
- วิธีแรก ที่สามารถจัดการกับความไม่มั่นใจหรือความกลัว คือ การเตรียมตัว การเตรียมตัวมาก่อนจะช่วยเราได้มากๆ ทั้งการเตรียมสิ่งที่จะพูด ความเข้าใจในเนื้อหา รู้ว่าจะพูดอะไร เพื่อที่เวลาเราตื่นเต้น บางทีเราจะหลุดเนื้อหาไป แต่ด้วยการเตรียมตัวและเข้าใจในเนื้อหาอย่างดีรวมถึงฝึกซ้อมบ่อยๆ ถึงจะมีโมเม้นงงๆ เอ๋อๆ บนเวที แต่เราก็จะรู้ว่าตัวเนื้อหาหลักๆ ที่เราจะพูด คืออะไร เพราะเราได้ทำความเข้าใจมันมาอย่างดี
- วิธีที่สอง คือ Face your fear แต่พี่จะบอกน้องๆ เสมอว่า Fear it but do it anyway ความกลัวเป็นกลไกตามธรรมชาติ เราสามารถจัดการดูแลมันได้ เทคนิคง่ายๆ ที่อยากแนะนำ คือ การฝึกหายใจ ทุกครั้งก่อนขึ้นพูด จะเป็นช่วงที่เราล่กที่สุด แพนิคที่สุด มือสั่นปากสั่นก็ตอนนี้แหละ จนร่างกายเรามันรวน สิ่งที่เราทำได้คือ Calm ร่างกายของเราก่อน เรียกสติกลับมา หายใจเข้าออกยาวๆ จะช่วยได้
- วิธีสุดท้าย คือ วิธีที่สำคัญที่สุด คือ Be Authentic พูดง่ายๆ คือ เป็นตัวของตัวเองนี่แหละ ความกังวลใหญ่ๆ ที่คนมีคือ จะพูดดีไหมนะ พูดแล้วจะดูโง่ไหมนะ นี่ฉันพูดอะไรออกไป คนฟังจะคิดยังไง จริงๆ ถ้าเราทำข้อแรกมาดีพอ เราไม่ต้องห่วงข้อนี้มากเลย เพราะเนื้อหาที่เราเตรียมมา มันดีพอให้คนฟังได้รับประโยชน์อยู่แล้ว แต่ยังไงก็ตาม เราไม่สามารถบังคับใจใครให้ชอบในสิ่งที่เราพูดทุกอย่างได้ เหมือนกับคนชอบกินอาหารไม่เหมือนกัน อาหารที่คนอื่นชอบ เราอาจจะไม่ชอบก็ได้ เพราะฉะนั้น การลากเอาความชอบของคนอื่นมาเป็นเกณฑ์วัด จะทำให้เรากดดันเกินไป เพราะมันอยู่นอกเหนือการควบคุม เพราะฉะนั้น โฟกัสที่ตัวเรา ความจริงใจของเรา ความตั้งใจที่อยากจะสื่อสารอะไรบางอย่างออกไป แล้วทำจุดของเราให้ดีที่สุด แค่นี้พอ
มีความมั่นใจแล้ว ทีนี้น้องๆ รู้เรื่องอะไรบ้าง เพื่อการสื่อสารที่ดี
พี่ชมพู่ : ต้องเข้าใจ 3 เรื่อง คือ Who What How อันแรกคือ Who is the audience ผู้ฟังของเรา หรือคนที่จะได้รับตัวสารของเราออกไปคือใคร เราจะได้เข้าใจบริบทและออกแบบตัวสารให้สื่อถึงคนฟังได้ดีที่สุด อันดับที่สองคือ What is the Content เนื้อหาของเราคืออะไร ใจความสำคัญ หรือ Key Message ของเราคืออะไร หลายๆ ครั้งคนพูดสะเปะสะปะ ฟังรวมๆ แล้วก็ดีนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรกลับไป เพราะมันขาด Key Message ที่โดนใจและเหมาะกับผู้ฟัง สุดท้ายคือ How to deliver วิธีการที่เราจะส่งตัวสารของเราออกไปคือทางไหนได้บ้าง เราจะเล่าแบบไหน เราจะใช้น้ำเสียงยังไง ใช้เครื่องมืออะไร ซึ่งถ้าเวิคตั้งแต่ปัจจัยตัวแรก ปัจจัยต่อมา จะง่ายขึ้น และยิ่งทำยิ่งเห็นภาพมากขึ้น
วิธีการฝึก Public Speaking ง่าย ๆ ที่น้อง ๆ ทำได้เอง ไม่ต้องรอครูสั่งให้พูด
พี่ชมพู่ : ถ้าเอาแบบครีเอทีฟเลย คือ ลองพูดกับตัวเองดู ฟังดูตลกนะ แต่ถ้าเราลองสังเกตนักพูดเก่งๆ หรือพวกที่เขาพูดเก่งๆ เค้าก็ทำแบบนี้ แบบ พูดคนเดียว โฮสจัดรายการตัวเองขึ้นมาเลย ผู้ฟังมีคนเดียว คือ เรา เรา เรา และ เรา 5555 จริงๆ หลักการมันคือ การฝึกซ้อมนี่แหละ เพราะเอาจริงๆ อยู่ๆ จะให้เพอร์เฟกต์บน Stage เลยมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างต้องผ่านการซ้อมมาก่อน และการพูดกับตัวเองคือการฝึกที่ดีมาก หัวข้อมัน Flexible กว่า และเราควบคุมเองได้ ซึ่งพอเราฝึกพูดไปบ่อยๆ จนชิน เราจะเริ่มเข้าใจกระบวนการว่า อ๋อ มันต้องพูดแบบนี้นะ การเกริ่นเป็นแบบนี้ จุดนี้พีคแฮะ ซึ่งถ้าเราไม่ลองเล่น หรือ ลองซ้อมกับตัวเองก่อนก็จะไม่มีทางรู้เลยว่า จังหวะของเรา ไสตล์ของเรามันเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเขิน อาย หรือคิดว่ามันประหลาด มันคือเรื่องปกติ เหมือนนักกีฬาจะออกสนาม เขาก็ต้องซ้อม เราจะขึ้นเวที เราก็ต้องซ้อม ลองหยิบโจทย์ง่ายๆ เช่น Self Reflection วันนี้เป็นยังไง ทำไมเราถึงทำสิ่งนี้ ที่มาเป็นยังไง ลองเล่าเรื่องราวตัวเองฝึกไปเรื่อยๆ พร้อมกับลองฟังตัวเองไปด้วย สกิลการพูดเราจะเริ่มคมขึ้น
เป็นยังไงกันบ้างกับคาถา เอ๊ย! วิธีการเรียกความมั่นใจ และวิธีฝึกทักษะการพูดแบบง่าย ๆ ที่พี่มะแม้วและพี่ชมพู่นำมาฝากในวันนี้ และแน่นอนว่า BASE Playhouse ยังมีเทคนิคการฝึกทักษะดีๆ มาให้น้องๆ ได้อ่านกันเรื่อยๆ ทั้งในเว็บ CAMPHUB ใน Facebook Page และใน Medium ของ BASE Playhouse ด้วย
ส่วนน้องๆ ที่อยากจะมาฝึกทักษะกับพี่ๆ แบบเจอกันตัวเป็นๆ เรียนรู้และฝึกฝนผ่านวิธีการสุดเข้มข้นแบบเต็มวัน BASE Playhouse ก็มีคอร์สมากมายตามทักษะที่น้องๆ สนใจ อยากฝึกทักษะไหนรีบบอกพี่ๆ ได้เลยทาง Line: หรือทาง Facebook page: BASE Playhouse ก่อนแต่ละคอร์สจะเต็มน้า อย่าลืมติดตามเทคนิคดีๆ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในบทความถัดไปด้วยน้า
เขียนโดย พี่มะแม้ว BASE Playhouse
ตรวจทาน พี่ออฟ CAMPHUB
กราฟิก พี่เต้ย CAMPHUB