กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB up tcas with TCASter

TCAS64: สรุป 7 ประเด็นการรับสมัครอย่างละเอียด

สวัสดีฮะน้องๆ ชาวค่าย ช่วงต้นปีใหม่ 2564 ที่กำลังจะถึงนี้ก็จะมีการเริ่มรับสมัคร TCAS64 กันแล้ว น้องๆ ทีม #dek64 เตรียมตัวกันพร้อมมั้ยเอ่ย

วันนี้ พี่ช้าง เลยจะพาน้องๆ มาดูสรุปประเด็นการเปลี่ยนแปลงของระบบคัดเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือ TCAS64 ที่น่าสนใจ พร้อมกำหนดการฉบับ Official จากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กับบทความแรกของซีรีส์ CAMPHUB up tcas with TCASter กันครับ


รูปแบบการคัดเลือก TCAS64 (5 รูปแบบ 4 รอบ)

การคัดเลือกก็ยังมี 5 รูปแบบเหมือนเดิม ได้แก่

  1. Portfolio
  2. โควตา
  3. Admission 1 (รับตรงร่วมกัน)
  4. Admission 2 (รับกลางร่วมกัน)
  5. รับตรงอิสระ

ซึ่งการคัดเลือก 5 รูปแบบนี้จะกินเวลายาวตั้งแต่ 5 ม.ค.64 – 15 มิ.ย.64 และถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ใน 4 รอบการคัดเลือก โดยรูปแบบ Admission 1 และ Admission 2 จะคัดเลือกพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกว่าเป็น “Admission”


การคัดเลือกแบบ Admission ใหม่ (เลือกได้สูงสุด 10 อันดับ)

หลายคนอาจสงสัยว่าถ้ารอบ Admission 1 และ Admission 2 ถูกคัดเลือกพร้อมกัน หน้าตาจะออกมาประมาณไหน

ซึ่งขออธิบายให้น้องๆ เข้าใจว่า มันเป็นการเปิดให้น้องๆ เลือก คณะ และมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า โดยเกณฑ์ที่ต่างกันระหว่าง Admission 1 และ Admission 2 จะสามารถนำมาใช้เลือกพร้อมกันได้

เช่น คณะ A มหาวิทยาลัย A อาจเป็นรับทั้ง 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบ Admission 1รูปแบบ Admission 2
  • รับ 30 คน
  • ใช้คะแนนวิชา A 50% + วิชา B 50%
  • รับ 15 คน
  • ใช้คะแนนเกรด 20% + O-NET 30% + วิชา A 30% + วิชา B 20%

น้องสามารถนำการเปิดรับทั้ง 2 รูปแบบมาเรียงในอันดับของน้องๆ ได้เลย

เช่น..

  • อันดับ 1 คณะ A มหาวิทยาลัย A เกณฑ์คะแนน Admission 1
  • อันดับ 2 คณะ A มหาวิทยาลัย A เกณฑ์คะแนน Admission 2

ซึ่งทำให้น้องจะต้องมานั่งพิจารณาว่า คะแนนของตนเองนั้นใช้เกณฑ์แบบไหนจะเวิร์คกว่ากัน โดยน้องๆ สามารถเลือกในรอบ Combined Admission ได้สูงสุดถึง 10 อันดับลยทีเดียว

ดังนั้นหากใครต้องการเลือกรอบนี้จะต้องพิจารณาคะแนน ความน่าจะเป็นโอกาสสอบติดที่เขี้ยวขึ้นกว่าเดิมแน่นอน


ระบบการใช้ตัวสำรอง

ถึงแม้รอบ Combined Admission จะมีการให้น้องๆ รวบเลือกทีเดียวทั้งรูปแบบ Admission 1 และ Admission 2 แต่ก็ยังมีสิ่งดีๆ ตรงที่ว่าระบบจะมีการประมวลผลตัวสำรองขึ้นมาด้วย

ตามปกติแล้ว หากการประมวลผลที่ผ่านมา ถ้าสมมติคณะ A มหาวิทยาลัย A รับ 30 คน ถ้าคะแนนน้องอยู่อันดับที่ 31 ต่อให้มีตัวจริงสละสิทธิ์ น้องๆ จะไม่ได้รับสิทธิ์ขยับขึ้นมา แต่ปัจจุบันได้มีการปรับให้ใช้ระบบตัวสำรอง โดยมีกระบวนการดังนี้

  1. เลือกคณะตามอันดับที่ต้องการ
  2. มีการประมวลผลรอบแรกและประกาศผลออกมา
  3. มีการกำหนดช่วงวันและเวลาให้ยืนยันสิทธิ์และสละสิทธิ์
  4. มีการให้แจ้งความจำนงว่าจะให้ประมวลผลใหม่ในอันดับใดบ้าง
  5. มีการประมวลผลใหม่ ถ้ามีที่นั่งว่างจะขยับขึ้น
  6. ประกาศผลอีกครั้ง และยืนยันสิทธิ์ให้อัตโนมัติถ้าติด แต่ถ้าไม่ติดจะเป็นการไม่ใช้สิทธิ์อัตโนมัติ และไปต่อรอบต่อไปได้ตามกระบวนการ

ตามขั้นตอนนี้ สิ่งที่น่าสังเกตุคือ

กรณีคนที่ติดอันดับ 1 ในการประมวลผลครั้งแรก ก็ตัดสินใจเลยว่าจะเอาหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเอา แต่ถ้าใครไม่เอาก็ไม่ต้องกดยืนยันสิทธิ์

กรณีคนที่ติดอันดับ 2 ลงมา เลือกได้เลยว่าจะเอาเลยไหม ถ้าเอาก็กดยืนยันสิทธิ์ แต่ถ้ายังไม่เอา สามารถที่จะรอประมวลผลครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการให้แจ้งความจำนงว่าจะให้ประมวลผลในอันดับไหน ต่อมาก็จะมาประมวลผลอีกครั้ง แต่ตอนแสดงความจำนง ต้องติ๊กในอันดับที่ตนเองเคยได้ด้วย เพื่อเป็นการการันตีว่า
ถ้าประมวลผลใหม่ จะไม่ได้อันเดิม


ระบบห้ามสละสิทธิ์ข้ามรอบการคัดเลือก

โดยปกติแล้ว น้องๆ ที่จะไปสมัครรอบถัดไปหากยืนยันสิทธิ์มาแล้ว จะต้องทำการสละสิทธ์ก่อนถึงจะไปคัดเลือกได้

ความโหดของรอบนี้คือ “การที่ไม่อนุญาตให้น้องสละสิทธิ์ข้ามรอบได้” ยกเว้นรอบ 1 Portfolio เพื่อให้น้องได้พิจารณาคะแนนตัวเองที่ประกาศมาทีหลัง ดังนั้นกำหนดการจะเป็นดังนี้

  1. คนที่ยืนยันสิทธิ์รอบ 1 Portfolio สามารถสละสิทธิ์ได้ 2 ช่วง
    • 24 – 25 ก.พ. 2564
    • 12 – 13 พ.ค 2564
  2. คนที่ติดรอบโควตา สามารถสละสิทธิ์ได้ช่วงเดียวคือ 12 -13 พ.ค. 2564 เท่านั้น
  3. คนที่ติดรอบ Admission ไม่อนุญาตให้เกิดการสละสิทธิ์ขึ้น ถ้าไม่เอาไม่ต้องกดยืนยันสิทธิ์

ดังนั้นใครที่สอบติดแล้วต้องคิดให้ดีขึ้นและไวขึ้นมากๆ ว่าจะเอาหรือไม่ เพราะไม่สามารถพาสิทธิ์ข้ามรอบได้เหมือนเดิม


การคัดเลือกในรอบ Portfolio (มหาวิทยาลัยกำหนดวันรับสมัครเอง)

รอบ Portfolio และโควตาจะให้อิสระกับมหาวิทยาลัยในการกำหนดวันรับสมัครเอง และสมัครที่เว็บไซต์ แต่ไฟนอลสุดท้ายจะประกาศผลในวันที่ 22 ก.พ. 2564 ซึ่งการสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องติดตามประกาศมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด

เข้าค่ายแล้วก็เอาใบประกาศมาใส่ Portfolio ได้นะ อ่านบทความแคมป์ฮับ รีวิวได้ที่นี่เลย

ระบบ MyTCAS.com ในการบริหารจัดการสิทธิ์เหมือนเดิม

ปีนี้สำหรับ #dek64 ที่ยังไม่มีบัญชีผู้ใช้ จะเปิดระบบให้เข้ามาลงทะเบียนใน MyTCAS.com ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.เป็นต้นไปเหมือนเดิม ไม่ต้องรีบสมัครในวันแรก เพราะเปิดให้สมัครยาวๆ ไป ซึ่งขึ้นกับน้องๆ จะใช้ในการคัดเลือกรอบไหน

ส่วนเด็กซิ่วที่เคยสมัครคัดเลือกเมื่อตอน TCAS63 ที่เคยมีบัญชีแล้ว สามารถใช้อันเดิมได้ไม่ต้องสมัครใหม่


ยุบเนื้อการสอบรายวิชาใหม่ (ไม่มีการสอบคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป)

โดยมีการยุบรายวิชาคณิตศาสตร์ 2 เป็นวิชา O-NET คณิตศาสตร์ และวิชาวิทย์ศาสตร์ทั่วไป ใช้ O-NET วิทยาศาสตร์แทน เพื่อลดการซ้ำซ้อนของรายวิชา

แปลว่าเด็กซิ่ว ถ้าจะใช้วิชาคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ก็สมัครได้แต่จะไปสอบรวมกับ O-NET ของ #dek64 ปัจจุบัน


ดูคลิปอัปเดต TCAS64 โดย TCASter (8 นาที)


ไม่พลาดข่าวสาร TCAS

ติดตามข่าวสารการสอบ TCAS เพิ่มเติมได้ที่ tcaster.net หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น TCASter ที่รวมข้อมูลการสอบ TCAS ไว้ในที่เดียว

ผู้ใช้ iOS โหลดเลย! ผู้ใช้ Android โหลดเลย!


เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย กับบทความสรุป 7 ประเด็นการรับสมัคร TCAS64 ~

และสำหรับน้องๆ ทีม #dek64 ที่อยากจะอัปเดตข่าวสารการสมัครสอบทุกรอบก่อนใครก็สามารถติดตามได้ที่ CAMPHUB up tcas with TCASter เลย


เขียนและเรียบเรียงโดย: พี่ช้าง แคมป์ฮับ และ TCASter
กราฟิก: พี่อัยย์ แคมป์ฮับ

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ช้าง

พี่ช้าง ทีมงานแคมป์ฮับสุดคิ้วท์ นักศึกษาคณะ ICT มหิดลที่มีใจรักในค่าย :)